ต่างประเทศ : “ทรัมป์-คิม” จับมือเบิกศักราชสัมพันธ์ใหม่ ใครวิน?

การจับมือทักทายกันของโดนัลด์ ทรัมป์ และคิม จอง อึน ระหว่างพบเจอกันเป็นครั้งแรกที่โรงแรมคาเปลลา บนเกาะเซนโตซาของสิงคโปร์เมื่อ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้นสูงสุด กลายเป็นอีกภาพประวัติศาสตร์บนเวทีการเมืองโลกยุคใหม่

ที่ก่อนหน้านี้หลายคนไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้

จากการที่สองชาติที่มีท่าทีเป็นปรปักษ์กันมายาวนานตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจนถึงไม่กี่เดือนก่อนหน้าที่ผู้นำทั้งสองชาติคู่ปรับนี้จะตกลงที่จะพบเจอกันในประเทศที่มีความเป็นกลางอย่างสิงคโปร์กันได้

โดยทรัมป์และคิมยังคงสาดคำก่นด่ารุนแรงเข้าใส่กัน ชนวนจากประเด็น “ลิเบียโมเดล” ที่จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาสายเหยี่ยวด้านความมั่นคงแห่งชาติของทรัมป์พ่นออกมา

สร้างความเดือดดาลให้กับฝ่ายเกาหลีเหนือ จนชวนให้คนอดคิดไปไม่ได้ว่าการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ-เกาหลีเหนือน่าจะต้องล่มลงไม่เป็นท่าอย่างแน่นอน

แต่เกิดการกลับลำท่าทีของทรัมป์อีกคำรบเพียงไม่กี่วันก่อนหน้าจะถึงวันประชุมสุดยอด ที่แน่นอนว่ายังมีการเจรจาต่อรองเคลื่อนไหวอยู่เบื้องหลังฉากกันอยู่

โดยเฉพาะการบินไปกล่อมทรัมป์ถึงทำเนียบขาวของมุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่ผู้เขียนมองว่าเป็น “เสาหลัก” ของความพยายามผลักดันที่จะให้เกิดการรอมชอมประนีประนอมของชาติคู่พิพาทที่เกี่ยวข้องให้หันหน้าเข้าหากัน

ด้วยความมุ่งหวังว่าจะสามารถนำความสงบสันติให้บังเกิดบนคาบสมุทรเกาหลีขึ้นได้

 

จนกระทั่งการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งประวัติศาสตร์สหรัฐ-เกาหลีเหนือเกิดขึ้นได้ในที่สุด ดังที่เราได้เห็นภาพบรรยากาศกันผ่านกองทัพสื่อมวลชนจากทั่วโลกเกือบ 3 พันชีวิตที่มาเกาะติดสถานการณ์นี้ที่อยู่ในความสนใจของประชาคมโลก

หลังเสร็จสิ้นการพบหารือและการร่วมวงกินข้าวด้วยกันในบรรยากาศที่ดูชื่นมื่น ทรัมป์และคิมพากันออกมาแถลงข่าวและลงนามในถ้อยแถลงการณ์ร่วมกัน ก่อนอำลาแยกย้ายเดินทางกลับประเทศของตนเองไป

มีหลายคำถามที่เกิดขึ้นทันทีหลังการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ-เกาหลีเหนือครั้งประวัติศาสตร์ปิดฉากลงว่า ก่อผลลัพธ์อันใดบ้าง ใครได้ใครเสียมากกว่ากัน มีอะไรที่จับต้องเป็นรูปธรรมได้บ้างหรือไม่ ที่จะนำไปสู่ “การปลดนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี” ที่เป็น “เป้าหมายสำคัญ” ของการพบปะเจรจากันครั้งนี้ของทรัมป์กับคิม จอง อึน

หากไม่มองโลกในแง่ร้ายเกินไปนัก ก็ต้องบอกว่าแม้การพบกันครั้งนี้จะยังไม่ก่อผลลัพธ์ที่เป็นแนวทางหรือมาตรการที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะปูทางไปสู่การปลดนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีอย่างเต็มรูปแบบดั่งที่หลายฝ่ายคาดหวังเอาไว้ได้ก็ตาม

แต่อย่างน้อยการมาพบเจอกันครั้งนี้ของทรัมป์และคิมก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะช่วยลดบรรยากาศตึงเครียดที่เกาะกุมคาบสมุทรเกาหลีมานานหลายทศวรรษได้อย่างสำคัญ

แต่หากมองให้ลึกอีกด้าน มีหลายทัศนะที่มองว่าการเจอกันของทรัมป์กับคิมไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการประชาสัมพันธ์ชวนเชื่อ

หรือเป็นการแสดงในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น

เพียงเพื่อหวังสร้างชื่อสร้างเครดิตให้กับตัวเองในฐานะผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในความสัมพันธ์สหรัฐ-เกาหลีเหนือ

ที่ทรัมป์ได้ชื่อไปแล้วในฐานะเป็นประธานาธิบดีที่ดำรงอยู่ในตำแหน่งคนแรกของสหรัฐที่ได้พบปะเจรจากับผู้นำเกาหลีเหนือ

ขณะที่คิม จอง อึน เองก็สร้างประวัติศาสตร์ที่รุ่นพ่อและรุ่นปู่ของตนเองไม่เคยทำมาก่อนคือการได้นั่งเจรจาต่อรองกับผู้นำชาติมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐ

แต่ทว่าไม่มีข้อตกลงอะไรที่เป็นรูปธรรม!

 

ในแถลงการณ์ร่วมผู้นำสหรัฐ-เกาหลีเหนือมีความยาว 1 หน้ากระดาษ ที่ทรัมป์และคิมลงนามร่วมกันไว้ มีสาระสำคัญอยู่ 4 ข้อ คือ

1. สหรัฐและเกาหลีเหนือมุ่งหมายจะสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันใหม่ตามความปรารถนาของประชาชนของทั้งสองประเทศเพื่อสันติสุขและความเจริญรุ่งเรือง

2. สหรัฐและเกาหลีเหนือจะดำเนินความพยายามร่วมกันในการเสริมสร้างสันติภาพอย่างถาวรและมั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลี

3. เกาหลีเหนือย้ำจุดยืนในปฏิญญาปันมุนจอมที่ทำไว้กับเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561 ที่เกาหลีเหนือมุ่งมั่นจะปลดนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีอย่างเต็มรูปแบบ

และ 4. สหรัฐและเกาหลีเหนือจะค้นหาศพของเชลยสงครามและชาวอเมริกันที่ยังคงสูญหายในช่วงสงคราม และส่งกลับคืนให้

นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนมองว่าถ้อยแถลงดังกล่าวไม่มีความชัดเจนและไม่ได้ก่อผลลัพธ์ที่มีสาระเป็นรูปธรรม

 

ดังความเห็นของแอนโธนี รุจจิโร นักคิดจากสถาบันปกป้องประชาธิปไตยในกรุงวอชิงตัน ที่มองว่าถ้อยแถลงของทรัมป์และคิมไม่ได้มีอะไรใหม่แตกต่างไปจากสิ่งที่เคยมีการเจรจาเมื่อกว่า 10 ปีก่อนระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือ ที่สำคัญยังไม่มีความชัดเจนว่าการเจรจาที่จะมีขึ้นในภายภาคหน้า จะนำไปสู่เป้าหมายสุดท้ายนั่นคือการปลดนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีโดยสมบูรณ์ได้อย่างไร

เป็นความเห็นที่ยังสอดคล้องกับอีแวนส์ รีเวียร์ อดีตผู้แทนเจรจาด้านเกาหลีเหนือของสหรัฐ ที่บอกว่าแทบจะไม่มีสาระที่มีความหมายสำคัญหรือมีอะไรใหม่อยู่ในถ้อยแถลงร่วมนี้ โดยเป็นแค่เพียงลิสต์รายการของจุดมุ่งหมายที่มีแรงบันดาลใจที่จะทำเท่านั้น และว่า เกาหลีเหนือดูจะเป็นฝ่ายชนะจากการที่ดูเหมือนไม่ต้องเสียอะไรเลยในการประชุมสุดยอดครั้งนี้

ขณะที่มินทาโร โอบะ อดีตนักการทูตสหรัฐที่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือมองว่าการประชุมสุดยอดครั้งนี้ดูจะเน้นที่รูปแบบและเป็นไปในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า ซึ่งดูดีทีเดียวเมื่ออยู่ต่อหน้ากล้อง แต่ก็เชื่อว่าภาพที่เกิดขึ้นจะยังช่วยทำให้บรรยากาศความสัมพันธ์ในภูมิภาคผ่อนคลายความตึงเครียดลงได้

และในมุมมองของพอล เฮนลี ผู้เชี่ยวชาญอีกรายจากศูนย์คาร์เนกี-ซิงหัว บอกว่า คิม จอง อึน เป็น “ฝ่ายได้” ในสิ่งที่เขาต้องการจากการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ทั้งชื่อเสียงในเวทีระหว่างประเทศ และการได้รับการเคารพและการปฏิบัติที่เท่าเทียมในการพบกันสองต่อสองกับทรัมป์

ประเด็นปัญหาพิพาทนี้เป็นเรื่องใหญ่และมีความซับซ้อนที่มีหลายตัวแสดงสำคัญที่ล้วนเป็นชาติยักษ์ใหญ่เกี่ยวข้อง ก็คงต้องให้เวลา ที่อาจต้องใช้เวลาดูกันไปยาวๆ ว่าเป้าหมายการปลดนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี ที่ทั้งทรัมป์และคิมให้คำมั่นที่จะทำร่วมกัน จะบรรลุผลสัมฤทธิ์ได้หรือไม่

หรือจะเป็นแค่ปาหี่การเมืองโลก!