ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ตอนที่ 6 : “เกาะของอาจารย์ชัยอนันต์กับเกาะนายสน”

ตอนที่แล้วได้เกริ่นเนื้อเรื่อง the Isle of Pines ของเฮนรี่ เนวิล นักเขียนนักคิดทางการเมืองชาวอังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ดที่ใช้ “เกาะ” เป็นฉากเดินเรื่องเหมือนที่อาจารย์ชัยอนันต์ใช้ “เกาะ” เป็นฉากในข้อสอบ (ข้อสอบของท่านถามว่า “คน 2 คนอยู่บนเกาะ มีการเมืองไหม?”)

สำหรับชื่อเรื่อง ผมเดาว่าที่มาของการตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า “the Isle of Pines” น่าจะมาจากชื่อของตัวเอกในเรื่องที่ชื่อจอร์จ ไพน์ (George Pine) และในภาษาอังกฤษ เวลาใส่ตัว s ในท้ายนามสกุลก็จะมีความหมายหมายถึงสมาชิกในครอบครัวนั้นๆ

เช่น ถ้ามีฝรั่งชื่อ John Smith เวลาใช้ว่า the Smiths จะหมายถึงคนในครอบครัวสมิธ

ดังนั้น คำว่า Pines ในชื่อเกาะ จึงน่าจะหมายถึงคนที่เป็นสมาชิกครอบครัวไพน์ ขณะเดียวกันคำว่า pine ที่ไม่ใช่นามสกุล มีสองความหมาย ความหมายแรกคือต้นสน อีกความหมายหนึ่ง ใช้อย่างไม่เป็นทางการ คือ pine เป็นคำที่ใช้เรียก pineapple อย่างย่อๆ

ขณะเดียวกันเนื้อเรื่องของ the Isle of Pines เป็นเรื่องของการที่สี่หญิงหนึ่งชายไปติดอยู่บนเกาะร้าง และพบว่าเกาะนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร อีกทั้งอากาศและสภาพทั่วไปก็ดูดีงดงาม

เมื่อเงื่อนไขเป็นใจ อีตาจอร์จและสาวๆ อีกสี่คนก็เลยบันเทิงกามกันอย่างหฤหรรษ์เย้ยฟ้าท้าดิน นัวเนียกันทั้งกลางแดดและใต้แสงจันทร์

เมื่อเป็นเช่นนี้ สาวๆ ทั้งสี่ที่กลายเป็นคู่นอนของนายไพน์ ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นสมาชิกครอบครัวตระกูล “Pine” ไป ก็เลยกลายเป็น “Pines” และกลายเป็นชื่อเรื่อง

และผมก็ขอตั้งชื่อแบบไทยๆ ว่า “เกาะนายสน”

หรือใครอยากจะใช้ว่า “เกาะสวาทหาดนายสน” เพื่อสนองอารมณ์ตัวเองก็ไม่ขัด

 

ที่เพิ่งกล่าวไปนี้คือ “การพยายามเดา” ที่มาของชื่อเรื่อง โดยผมในฐานะผู้อ่าน “ลองเดา” ดู ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการเดา แต่ก็เป็นการเดาที่อยู่บนฐานของเหตุผลและความเป็นไปได้

(แต่จริงๆ ชื่อเรื่องมีที่มาที่ไปอย่างไร จะเฉลยต่อไปในภายภาคหน้า!)

นอกจาก “ผมเดา” แล้ว ก็อยากให้ “คุณลองเดา” ดูบ้าง ใครเดาอะไรได้ ก็ลองส่งมาแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ ที่ [email protected] เมื่อเดาแล้ว ควรอธิบายขยายความถึงเหตุและผลด้วยนะครับ)

หลังจากเกริ่นส่วนหนึ่งของเรื่องไปแล้วว่า เมื่อไปติดเกาะกัน และสภาพเกาะก็เอื้อ จึงบันเทิงกันสุดเหวี่ยง ผมเชื่อว่าหลายท่านคงอยากรู้ว่า ผู้แต่งคืออีตาเฮนรี่นั้นบรรยายบทพิศวาสไว้หรือไม่ และอย่างไร?

เช่น จอร์จชวนสาวคนใดคนหนึ่งอย่างสุภาพว่า “ออเจ้าโล้สำเภาเป็นไหม พี่จะสอนให้?”

หรือจอร์จตะลุมบอนนอนกับสาวๆ ทั้งสี่คนพร้อมๆ กันเลย หรือนอนทีละคนแต่ไม่ต้องสุภาพอย่างพี่หมื่น

แต่คำถามก็คือ เขาได้กับสาวคนไหนก่อน? เพราะอะไร?

การถามว่า จอร์จได้กับสาวไหนก่อน เมื่อไรและอย่างไรนั้น มันดูจะเข้าทำนองความหมายของกิจกรรมทางการเมืองของฮาโรลด์ ลาสส์แวลล์ (Harold Lasswell) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่ว่า การเมืองเป็นเรื่องของการที่ใครได้อะไร เมื่อไร และอย่างไร? (ย้อนดูศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช (3))

จะตอบคำถามนี้ได้ คงต้องเริ่มจากการให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวสาวๆ ทั้งสี่คนก่อนว่าหล่อนเป็นใคร?

เฮนรี่ เนวิล แต่งเรื่องให้สาวทั้งสี่คน ประกอบไปด้วย 1.ลูกสาวของเจ้านายของนายจอร์จ 2.สาวรับใช้สองคน และ 3.สาวผิวดำที่เป็นทาส

จอร์จนอนกับใครก่อน?

 

สมมุติว่าท่านผู้อ่านได้รับมอบหมายให้แต่งเรื่องต่อ โดยคุณครูวิชาเรียงความได้กำหนดโครงเรื่องไว้ว่า นายจอร์จจะต้องได้กับสาวทั้งสี่คน ท่านจะแต่งเรื่องต่อไปอย่างไร? และเพราะอะไร?

คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการสมมุติความเป็นไปได้และการให้เหตุผลที่เป็นไปได้สำหรับการกำหนดตัวเลือก (choice) สาวคนแรกที่จอร์จจะต้องมีอะไรด้วย

เช่น ในบรรดาสาวทั้งสี่นี้ ใครสวยที่สุดก็น่าจะดึงดูดใจให้จอร์จเลือกที่จะมีอะไรด้วยก่อน

การให้จอร์จเลือกคนสวยที่สุด ก็น่าจะมาจากเหตุผลเรื่อง “อารมณ์ความใคร่” เป็นแรงขับที่ทำให้ตัดสินใจเลือกเป็นสำคัญ

ขณะเดียวกันถ้าให้จอร์จมีอะไรกับคนที่สวยที่สุดแล้ว และที่เหลือคือสวยน้อยลงมาเรื่อยๆ… อือมม…น่าคิด…จอร์จน่าจะเทความอยากกระหายทั้งหมดไปกับคนที่สวยที่สุดไปแล้วก็ได้

และหลังจากเสร็จสมอารมณ์หมายกับคนที่สวยที่สุดไปแล้ว เมื่อหันมาเจอคนที่สวยต่ำลงมาเรื่อยๆ อีก 3 คน จอร์จอาจจะไปต่อไม่ไหวหรือไม่อยากไปต่อ!

 

ผมขอชวนคุณผู้อ่านลองนึกถึงตอนที่เราเปิดจันอับออกมา (อ้าว…โธ่…ไม่รู้สิท่าว่าจันอับคืออะไร?)

ดังนั้น ขออธิบายก่อนนะครับ ผมรู้จักคำว่า “จันอับ” ครั้งแรกในชีวิตตอนยังไม่ประถมเจ็ด (ประถมเจ็ด…ไม่รู้จัก…ช่างมันเถิดครับ หลายเรื่องในเมืองไทย นอกจากมันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์แล้ว ประวัติศาสตร์ของมันยังหายไปอีกด้วย) จากการอ่านนวนิยายเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ “พี่จิตต์” (สุจิตต์ วงษ์เทศ “บุรุษผู้ไร้กระดุมเสื้อเม็ดบน”) เคยเขียนเกี่ยวกับจันอับใน “สี่แผ่นดิน” ไว้ โดยยกข้อความบางตอนที่แม่ช้อยเอ่ยปากถามแม่พลอยว่า “นั่นห่ออะไร แม่พลอย” “ห่อจันอับ” พลอยตอบ “ฉันได้มาจากบ้านเมื่อเช้านี้ กินด้วยซีช้อย” ว่าแล้วพลอยก็แก้ห่อจันอับออกมาวางบนตัก…

พี่จิตต์แกอธิบายขยายความไว้ว่า “จันอับ เพี้ยนจากคำจีนแปลว่ากล่องใส่ของ แต่ไทยหมายถึงขนมหวานอย่างแห้งของจีน…ยุคกรุงศรีอยุธยามีขนมจันอับขายแล้ว มีโรงทำเครื่องจันอับด้วย

หนังสือภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา (เอกสารจากหอหลวง) บันทึกว่า มีพวกจีนตั้งโรงทำเครื่องจันอับและขนมแห้งจีนต่างๆ หลายชนิดหลายอย่างอยู่ตลาดน้อย ใกล้ประตูช่องกุดท่าเรือจ้างข้ามไปวัดพนัญเชิง”

(นี่ถ้าคุณ “รอมแพง” แต่งบุพเพสันนิวาสภาคสอง และมีตอนกินขนมจันอับ ไม่รู้ว่าจันอับจะขายดีเป็นที่นิยมเหมือนมะม่วงน้ำปลาหวานหรือหมูสร่งหรือเปล่านะ?)

พี่จิตต์หรือ “ชายผู้อาภัพกระดุมเสื้อเม็ดบน” ได้อธิบายต่ออีกว่า

“จันอับสมัยรัชกาลที่ 5 หมายถึงขนม 6 อย่าง มีรายชื่อในพระราชบัญญัติอากรจันอับ ร.ศ.111 ดังนี้คือ น้ำตาลกรวด ฟัก, ถั่วก้อน, ถั่วตัด, งาตัด, โซถึง, ปั้นล่ำ, ก้านบัว, ขิงเคี่ยว, น้ำตาลทราย, ขนมเปี๊ยะ, ข้าวพอง, ตังเม, ถั่วงา, ขนมโก๋ทำด้วยแป้งขาวแป้งถั่ววุ้นแท่ง, ตังเมหลอด, น้ำตาลทรายเคี่ยวหล่อหลอมเป็นรูปต่างๆ ขนมซาลาเปา ทำด้วยแป้งข้าวสาลี”

 

ทีนี้เรากลับมาที่การกำหนดการเลือก “สาวคนแรก” ที่จอร์จจะนอนด้วย โดยเปรียบเทียบกับขนมจันอับต่างๆ นานาที่เรียงรายอยู่ถึงเกือบสามบรรทัดเต็ม

ถ้าเราให้จอร์จเลือกนอนกับสาวที่สวยที่สุดก่อน มันก็จะไม่ต่างจากการที่เราเลือกขนมที่เราคิดหรือชอบที่สุดในบรรดานานาขนม เมื่อเลือกแบบนี้แล้ว เกิดอะไรขึ้นตามมา?

สำหรับผม ผมชอบถั่วตัดเป็นที่สุด เวลาผมเจอขนมจันอับ ผมจะเลือกกินถั่วตัดก่อน เมื่อหมดแล้ว ที่เหลือผมไม่ชอบเลย ผมจะไม่กินหรือทนกินต่อไป

ซึ่งถ้าตามตรรกะนี้ หลังจากจอร์จร่วมหลับนอนกับสาวที่สวยที่สุดแล้ว เขาก็ไม่น่าจะอยากต่อกรกับสาวที่เหลือที่ไม่สวยในทันที…

ผมจะกลับมากินขนมจันอับที่เหลือ ก็ต่อเมื่อผมหิว และไม่มีอะไรที่น่าสนใจกินไปกว่าขนมที่เหลือเหล่านั้น

แต่ถ้าผมเลือกกินขนมอันที่ผมไม่ชอบก่อน โดยเก็บถั่วตัดไว้สุดท้าย ผมจะสามารถกินขนมที่ไม่อร่อยนั้นได้ โดยมีของอร่อยที่สุดรออยู่เป็นแรงจูงใจที่ขับเคลื่อนให้กินไปได้เรื่อยๆ เพราะรู้ว่า “เธอที่อร่อยที่สุดรออยู่”

น่าสงสัยว่า การเลือกแบบไหนเป็นการเลือกที่ฉลาดที่สุด หรืออีกนัยหนึ่งเป็น “rational choice”

 

และถ้าจะเปรียบเทียบ “เกาะนายสน” ของเฮนรี่ เนวิล กับ “เกาะของอาจารย์ชัยอนันต์” จะพบความเหมือนและความต่าง ความเหมือนก็คือ

1. คนติดเกาะร้าง

2. มีคนติดเกาะมากกว่าหนึ่งคน

ส่วนความต่างคือ

1. คนติดเกาะอาจารย์ชัยอนันต์มีแค่สองคน ส่วนคนติดเกาะนายสนมีห้าคน

2. คนสองคนที่ติดเกาะของอาจารย์ชัยอนันต์ อาจารย์ชัยอนันต์ไม่ได้ระบุเพศ สถานะทางสังคม แต่ปล่อยให้ปลายเปิด แล้วแต่คนจะคิดจะใส่คอนเทนต์เข้าไปเอง แต่คนห้าคนบนเกาะนายสน เฮนรี่ เนวิล ระบุเพศและสถานะทางสังคมไว้แล้ว …ระหว่างระบุคอนเทนต์ กับไม่ระบุ

คุณคิดว่าอันไหนมันยากกว่ากันในการตอบข้อสอบว่า “มีคนสองคนอยู่บนเกาะ มีการเมืองไหม?”