นาย ต. : อสังหาฯ เล็กศึกหนัก

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทอสังหาริมทรัพย์หน้าใหม่หรือรายเล็กหลายรายแจ้งเกิดและเติบโต

อาทิ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นต์ นำโดยชานนท์ เรืองกฤติยา นักพัฒนาอสังหาฯ รุ่นใหม่ ที่เติบโตมาพร้อมกับโครงการคอนโดมิเนียมตามสถานีรถไฟฟ้าในเมือง ขึ้นมายืนแถวหน้าอสังหาฯ Top10

ล่าสุด บมจ.ออริจิ้น นำโดยพีระพงศ์ จรูญเอก นักพัฒนาอสังหาฯ รุ่นใหม่อีกคน ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 10 ปีก็ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทอสังหาฯ ชั้นนำด้วยขนาดมาร์เก็ตแค็ปอันดับ 5 ของตลาด

นอกจากนี้ยังมีบริษัทอสังหาฯ รุ่นใหม่ที่กำลังไต่อันดับติดตามกันมา กำลังจ่อรอคิวเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกหลายราย ได้แก่ ออลอินสไปร์, แอสเซ็ทไวส์, เดอะคิวบ์

แต่ทั้งหมดนี้เติบโตรวดเร็วด้วยการทำโครงการคอนโดมิเนียมทั้งสิ้น เพราะ 10 ปีมานี้คอนโดมิเนียมเป็นรูปแบบที่อยู่อาศัยใหม่ที่ตลาดแมสยอมรับ ซึ่งนอกจากการซื้อเพื่ออยู่อาศัยแล้ว ยังมีการซื้อเพื่อการลงทุน และเพื่อเก็งกำไรจำนวนมาก

แต่โอกาสตลาดใหม่ๆ ใหญ่ๆ แบบนี้ หมดเวลาแล้ว ด้วยกำลังการผลิตที่เหลือเฝือและด้วยกำลังซื้อที่อ่อนล้า แถมด้วยหนี้ครัวเรือนสูงกู้ไม่ผ่าน ทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลชะลอตัวลงมาก มียูนิตเหลือขายจำนวนไม่น้อย

ไม่เว้นแม้แต่คอนโดมิเนียมลักชัวรี่ ที่ว่ากำลังซื้อระดับนั้นยังดี แต่ก็มียูนิตเหลือขายเพราะจำนวนผู้ซื้อมีไม่มากด้วยเหตุนี้บริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ จึงมุ่งทำตลาดขายให้กับชาวต่างชาติโดยเฉพาะจีนมากขึ้น บางบริษัทตั้งเป้าขายกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี บางบริษัทก็ตั้งเป้าหลายพันล้านบาท

 

ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ โดยเฉพาะทาวน์เฮาส์ก็เป็นตลาดหนึ่งที่บริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ทุกรายพุ่งเป้าหมายมาที่ตลาดนี้ เพื่อสร้างยอดขายและรักษาระดับการเติบโต

จากเดิมที่ตลาดทาวน์เฮาส์จะเป็นตลาดของนักพัฒนาอสังหาฯ ท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ที่ทำโครงการเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่นั้นๆ คู่แข่งขันที่เป็นบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่มีอยู่เพียงรายเดียว คือ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท เพียงรายเดียวที่ปรากฏตัวอยู่ทุกถนนและแทบทุกซอย

แต่จากนี้ไปนักพัฒนาอสังหาฯ ท้องถิ่นในแต่ละที่คงจะแบรนด์ใหญ่มากขึ้น เพราะแต่ละค่ายเริ่มเดินเครื่องออกตัวกันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น แสนสิริ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ อนันดา แอลพีเอ็น ฯลฯ

เช่นนี้ การแข่งขันคงจะดุเดือดเข้มข้นทุกตลาดทุกทำเล

แต่จะเป็นการแข่งขันที่มีความแตกต่าง

อสังหาฯ รายใหญ่มีต้นทุนดอกเบี้ย 2-3% ขณะที่อสังหาฯ รายเล็กมีต้นทุนดอกเบี้ย 7-8%

อสังหาฯ รายใหญ่ออกหุ้นกู้คราวละหลายพันล้านบาท เพื่อเตรียมไว้ซื้อที่ดินสำหรับทำโครงการล่วงหน้า 1-2 ปี ขณะที่อสังหาฯ รายเล็กก็กู้ธนาคารพาณิชย์ซื้อที่ดิน ต้องแข่งซื้อที่ดินกับรายใหญ่ไปพร้อมกับโน้มน้าวให้ธนาคารเห็นชอบอนุมัติเงินให้ซื้อที่ดิน

นอกจากนี้ แม้แต่ลูกค้าซื้อบ้านคอนโดฯ อสังหาฯ แบรนด์ใหญ่กับแบรนด์เล็ก ยังมีอัตราเงินกู้สินเชื่อรายย่อยและการพิจารณาที่แตกต่างกันอีก

 

ข่าวล่ามาเร็วยังเตือนนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อีกว่า ให้ระวังพลังดูดของอภิมหาโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพยฺ์ One Bangkok ของกลุ่มเบียร์ช้าง ซึ่งมีขนาดใหญ่ถึง 1,600,000 ตารางเมตร ซึ่งจะดึงดูดเอาแรงงานก่อสร้าง ผู้รับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ทั้งหลายทั้งปวงเกี่ยวกับอสังหาฯ เข้าไปทำในโครงการนี้ จนแทบแห้งเหือดทั้งวงการ

หากใครยังพอจำได้ สมัยเริ่มก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งต้องถมดินถมทรายจำนวนมหาศาล ผู้รับเหมาถมดินถูกดึงไปที่นั่นจนทำให้วงการอสังหาฯ ขาดแคลนผู้รับเหมาถมดินกันเลยทีเดียว

จะอย่างไร ปัญหามักมีมาเรื่อยๆ การแข่งขันก็จะรุนแรงขึ้นเสมอ

ดังนั้น ปัญหาจึงมีไว้เพื่อให้แก้ไข การแข่งขันมีไว้ให้สนุกและพัฒนา

แค่เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมตัวเท่านั้นเอง