อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : PRELUDE สภาวะโหมโรงก่อนเข้าสู่ความมืดมนอนธการ ของการเมืองไทย (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองอันไร้เสรีภาพ ไร้สิทธิ ไร้เสียง ประชาชนถูกปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดเห็น บ่อยครั้งที่ศิลปะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงออกอย่างแยบยล แทนการพูดออกมาตรงๆ

และหนึ่งในนั้นคืองานศิลปะในนิทรรศการที่เราเพิ่งไปดูมา นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า

PRELUDE

นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งสำคัญของศิลปินชาวกรุงเทพฯ วิทวัส ทองเขียว ที่เปิดไปเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

เดิมที วิทวัสจบการศึกษาศิลปะระดับปริญญาตรี-โท และปริญญาเอก จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยความเชี่ยวชาญทางทักษะและฝีไม้ลายมืออันฉกาจฉกรรจ์ในเชิงชั้นการทำงานจิตรกรรม ทำให้ผลงานของเขาได้รับรางวัลอย่างต่อเนื่องในเวทีประกวดศิลปกรรมระดับชาติ

รวมถึงได้รับการสะสมติดตั้งในองค์กรสำคัญของประเทศ และเป็นที่ยอมรับจากนักสะสมงานศิลปะชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างมาก

จึงนับได้ว่าเส้นทางอาชีพศิลปะของเขานั้นราบรื่นราวกับโรยด้วยกลีบกุหลาบเลยก็ว่าได้

When Things Fall Apart (เมื่อทุกอย่างพังทลาย) (2016), สีน้ำมันบนผ้าลินิน

แต่เนื่องด้วยวิกฤตการณ์ทางการเมืองและสังคมในประเทศไทยในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ที่เรื้อรังต่อเนื่องจนมาปัจจุบัน ทำให้วิทวัสฉุกคิดและหันกลับมาตั้งคำถามว่า “ความจริงคืออะไร”

และใช้เวลาและรวมทั้งความพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อค้นหาคำตอบนั้น

เช่นเดียวกับนีโอ ตัวละครเอกในหนัง The Matrix (1999) ที่เลือกยาเม็ดสีแดง แทนที่จะเป็นยาเม็ดสีน้ำเงิน สิ่งที่เขาค้นพบในโพรงกระต่ายหลังจากนั้นทำให้เขามองโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

วิทวัสใช้ระยะเวลากว่า 3 ปี ทำงานศิลปะซึ่งมีที่มาจากทั้งการวิจัย, ลงภาคสนามพบปะ สัมภาษณ์ผู้คนที่ได้รับความสูญเสียและผลกระทบในหลายด้านจากปัญหาการเมือง ความขัดแย้ง และการกระทบกระทั่งอันเกิดจากทัศนคติที่แตกต่างของผู้คนในชาติ

ประสบการณ์และความสะเทือนใจทั้งหมดที่เขาได้รับเหล่านี้ถูกสื่อสารออกมาในนิทรรศการครั้งนี้ ในรูปแบบของงานศิลปะที่มุ่งเน้นในการนำเสนอแนวความคิดทางการเมืองของศิลปิน และตั้งคำถามต่อระบบในสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความเชื่อ ความศรัทธา, สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยวาทกรรมและมายาคติ จนแทบจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

โดยศิลปินเชิญชวนผู้ชมร่วมสำรวจถึงปรากฏการณ์ของสังคมนี้ผ่านงานศิลปะและวัตถุที่แฝงเร้นด้วยสัญลักษณ์ทางการเมืองอันหลากหลาย เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้ชมได้ตั้งคำถามกับชุดความเชื่อของตนเอง และผลลัพธ์ที่เกิดจากความเชื่อเหล่านั้น

Big Boots (2016), สีนำ้มันบนผ้าใบ

“ที่นิทรรศการนี้ชื่อ PRELUDE (โหมโรง) มันต้องเท้าความกลับไปที่งานชุดก่อนหน้านี้ (นิทรรศการ Mythical Reality ปี 2014) คือเมื่อสามปีก่อนเราเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง เหมือนเราเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่า “ความจริง” ตกลงแล้วมันคืออะไร?

เราก็พยายามหา สุดท้ายก็ยังไม่ได้คำตอบ

ถ้าดูงานตอนนั้นจะเห็นว่าเนื้อหางานค่อนข้างจะครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับความจริงแบบกว้างๆ โดยไม่รู้ว่ามันคืออะไร

แต่ว่างานในนิทรรศการครั้งนี้จะถูกจำกัดวงให้แคบลง ดังนั้น จากเรื่องความจริง ก็กลายเป็นเรื่องของความเชื่อ ว่าตกลงความจริงอาจจะไม่มี แต่มันเป็นแค่ความเชื่อของแต่ละคน แล้วพอจำกัดไปที่ความเชื่อ ก็ลงลึกไปอีกว่า ตกลงความเชื่อที่อยู่ในสังคมนี้คืออะไร?”

บังเอิญตอนนั้นเป็นช่วงที่เราเข้าไปเรียนต่อปริญญาเอก แล้วตั้งชื่องานตอนทำวิจัยว่า “อำนาจแห่งมายาคติในสังคมไทย”

คำว่า “อำนาจ” มันก็เลยเข้ามาร่วมด้วย เพราะอันที่จริงแล้ว ความจริงมันก็ไม่ใช่เรื่องแน่นอนตายตัว มันอยู่ที่ว่าใครเป็นผู้มีอำนาจในการสร้างความรู้และความเชื่อขึ้นมา

จากนั้นมันก็เริ่มสำรวจลึกลงไปเรื่อยๆ ว่า ตกลงอำนาจในสังคมมันมีอะไรบ้าง

ที่แน่ๆ มันถูกกระทำผ่านวาทกรรม

Mindlessly Happy [s]ubjects (2017) (ประชาชนสุขสันต์หน้าใส), สีน้ำมันบนผ้าลินิน, โมเดลคนขนาดเล็ก
ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญมากในการทำให้คนในสังคมเกิดความเชื่อขึ้นมาได้ ซึ่งพอเราจำกัดวงให้แคบเข้า มันก็จะเหลือแค่เรื่องใหญ่ๆ ที่เกี่ยวกับวาทกรรมชวนเชื่อในสังคม แต่เราจะไม่บอกตรงๆ ไม่ฟันธงว่าเราจะพูดเรื่องอะไร ก็ปล่อยให้คนดูตีความกันเอาเอง”

“งานชุดนี้ทำมาตั้งแต่ช่วงปลายของงานชุดที่แล้ว คือสามปีครึ่งที่ผ่านมา พอทำไปทำมา ความคิดมันค่อยๆ เปลี่ยนระหว่างทาง

จนสุดท้ายงานจากต้นกับปลายมันค่อนข้างจะแตกต่างกันเยอะ พอเราเอาทุกอย่างมารวมกันเข้า แล้วมองภาพรวม เราถึงได้เห็นว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ตั้งแต่งานแรกจนถึงงานสุดท้ายที่กลายเป็นงานศิลปะจัดวาง เพราะฉะนั้น การที่เราเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่มันดูกระจัดกระจายมารวมกัน เรารู้สึกว่ามันค่อนข้างกระโดด ก็เลยคิดว่า จริงๆ แล้วงานที่จะถูกกลั่นออกมาได้ดีกว่านี้ก็คืองานชุดหน้า งานชุดนี้ก็เลยเหมือนเป็นแค่การโหมโรง หรือจุดเริ่มต้นที่กำลังจะพูดถึงอะไรบางอย่างที่จะลึกซึ้งในเวลาต่อไปข้างหน้า

ในอีกแง่หนึ่ง เราเปรียบคำว่าโหมโรง เป็นเหมือนกับเวลา เรารู้สึกว่าช่วงเวลาตอนนี้เหมือนกับช่วงเวลาย่ำค่ำ ก่อนที่จะเข้าสู่ความมืดมิด เหมือนดนตรีโหมโรง ก่อนที่จะบรรเลง เหมือนฟ้าฝนที่กำลังมืดครึ้ม

“……….” (2018), สีน้ำมันบนผ้าลินิน

บางคนคิดว่าครึ้มฟ้าครึ้มฝนแล้วเดี๋ยวคงจะสว่าง แต่เราคิดว่าไม่ เราคิดว่ามันน่าจะมืดกว่าเดิม

เรามองว่าสังคมเรากำลังจะไปทางนั้น ตอนนี้อาจดูเหมือนสถานการณ์ในบ้านเรากำลังคลี่คลาย บางคนอาจมองว่ามีความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น จริงๆ แล้วมันกำลังบีบรัดเพื่อรอวันแตกหักมากกว่า

เอาจริงๆ มันเป็นเรื่องปกติของสังคมที่กำลังจะถึงจุดเปลี่ยนน่ะ ที่ทุกสังคมต้องเจออะไรแบบนี้ ก็ไม่รู้จะเรียกว่าโชคดีหรือโชคร้าย ที่เราเกิดมาในยุคนี้ ซึ่งเป็นยุคที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่อะไรบางอย่าง ถ้าเราดูในสังคมตะวันตกในหลายประเทศ เขาใช้เวลาเปลี่ยนเป็นร้อยปี แต่การเปลี่ยนผ่านของเราจะต้องใช้เวลายาวนานสักเท่าไร หรือเราจะเปลี่ยนเป็นอะไร หรือจะข้ามผ่านไปได้หรือไม่

เราเองก็บอกไม่ได้เหมือนกัน”