เกษียร เตชะพีระ : อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน / ไทยเริ่มหันขวายุคทักษิณ

เกษียร เตชะพีระ

อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน (๙): ยุค ๓ ค.ศ. ๒๐๐๑ – ๒๐๐๖

ไทยเริ่มหันขวายุคทักษิณ

การหันขวาของนายกฯทักษิณจากแนวทางเสรีประชาธิปไตย/สิทธิมนุษยชนไปทางอำนาจนิยมเป็นการบรรจบชุมนุมเข้าด้วยกันของปัจจัยหลัก ๓ อย่างด้วยกัน คือ

๑) แนวโน้มท่าทีการเมืองของทักษิณเอง

๒) ตัวแบบจีน (the China model) และ

๓) แนวทางดำเนินสงครามต่อต้านการก่อการร้ายทั่วโลกของสหรัฐฯ

เหล่านี้ทำให้ทิศทางเสรีประชาธิปไตยและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนยิ่งขึ้นของรัฐบาลก่อนทักษิณ (หลังรัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๐ และในสมัยรัฐบาลชวน) ย้อนรอยถอยหลังกลับตาลปัตร (BZ, p. 129)

-Benjamin Zawacki ประเมินว่าทักษิณไม่เชื่ออุดมการณ์อะไรจริงจัง (BZ, p. 107) ไม่มีแนวคิดที่เป็นจริงว่าสิทธิมนุษยชนควรเป็นอย่างไร (BZ, p. 126) สำหรับทักษิณ ประชาธิปไตยเป็นแค่วิธีการ ส่วนเป้าหมายของเขาคืออำนาจนิยม (อ้างจาก สารสิน วีระผล BZ, p. 129) ทักษิณกระทั่งวิจารณ์ว่าประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งขัดขวางการทำงานเพื่อประชาชนของเขา (BZ, p. 129)

ด้วยวิธีคิดและท่าทีเหล่านี้ของนายกฯทักษิณจึงเปิดช่องนำไปสู่การเมืองแบบอำนาจนิยมที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างร้ายแรงแบบไม่เคยมีมานับแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาทิ การกดดันเล่นงาน NGOs, จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก, สงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด (ยาบ้า) ที่มีผู้เสียชีวิตอย่างต้องสงสัยกว่า ๒,๕๐๐ คน, และการปราบปรามการก่อความไม่สงบ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างดุเดือดนองเลือดในกรณีมัสยิดกรือเซะและกรณีตากใบ เป็นต้น ซึ่งกรณีต่าง ๆ นี้ Benjamin Zawacki วิจารณ์ว่าเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ (BZ, p. 126)

AFP PHOTO / EMMANUEL DUNAND

ขณะเดียวกัน จีนก็ส่งอิทธิพลพอควรต่อแนวโน้มการเมืองเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในประเทศไทยยุคทักษิณ นอกจากนายกฯทักษิณจะให้ความร่วมมือแก่การกดดันจำกัดหวงห้ามฝ่ายค้านของจีนในเมืองไทย (เช่น องค์ดาไลลามะ, ลัทธิฝ่าหลุนกง) แล้ว ทักษิณยังนำเข้าตัวแบบทุนนิยมแบบอำนาจนิยม (authoritarian capitalism) ของจีนมาใช้ด้วย (BZ, pp. 127-28) ซึ่งผู้ลงคะแนนเสียงข้างมากในการเลือกตั้งของไทยก็ยอมรับแนวทางปกครองแบบอำนาจนิยมของทักษิณดังแสดงออกในเสียงสนับสนุนสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดถึงสามในสี่ของประชากรโดยประมาณ เป็นต้น (BZ, p. 129)

อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้มิได้หมายความว่ารัฐบาลทักษิณป่าวร้องให้รับเอาระบอบปกครองจีนมาใช้อย่างเปิดเผย (advocating to expressly adopt) เพราะถึงอย่างไรระเบียบสถาบันการเมืองและรูปการณ์ชนชั้นนำสองประเทศก็ต่างกันมากจนเปรียบเทียบยาก ทว่าโดยจิตวิญญาณและเนื้อหาสาระแล้ว ตัวแบบจีนที่ประกอบไปด้วย [ การปกครองแบบอำนาจนิยม+เศรษฐกิจตลาด] กลายเป็นที่ยึดถือกว้างกระจายทั่วไป ไม่เพียงแต่ในฝ่ายรัฐบาลทักษิณ แต่รวมทั้งในฝ่ายต่อต้านทักษิณอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน (BZ, p. 130)

ดังที่พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณ ให้สัมภาษณ์ Benjamin Zawacki เรื่องนี้ว่า:

“คุณไม่ต้องมีประชาธิปไตยเพื่อจะให้เศรษฐกิจเติบโตและยกระดับชีวิตคนอย่างน้อย ๔๐๐ ล้านคนขึ้นมาจากหลุมสวะหรอก – นี่คือทรรศนะของจีน โลกตะวันตกควรบอกว่าประชาธิปไตยเป็นฟังก์ชัน (ตัวแปรตาม) การเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพในการเสี่ยงเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต แทนที่จะบอกว่าคุณใช้ประชาธิปไตยในฐานะเป้าหมายในตัวมันเองหรือสิ่งดีมีประโยชน์เชิงนามธรรม อย่าคิดนะว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนโง่นักหนา พวกเขากำลังถกเถียงและครุ่นคิดเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับประชาธิปไตยในฐานะอรรถ-ประโยชน์ที่จะช่วยค้ำจุนเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืน ผมได้คุยกับพวกเขามา” (ม.ค. ๒๐๑๕) (BZ, p. 105)

ส่วนสหรัฐอเมริกาภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีบุชผู้ลูกซึ่งหมกมุ่นทุ่มเทกับการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายสากลในอัฟกานิสถาน อิรักและทั่วโลก โดยไม่เลือกวิธีการแม้ผิดกฎหมายสหรัฐฯ ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ และผิดกฎหมายไทยก็ตาม ถึงแก่ใช้การก่อการร้ายโดยรัฐ ลักพาตัว คุมขัง ทรมานต่อผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย เป็นต้น ก็ได้ดึงเอาไทยเข้าไปพัวพันด้วย

ท่าทีของนายกฯทักษิณซึ่งอิดเอื้อนลังเล ไม่ค่อยร่วมมือ ทำให้ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันจากสหรัฐฯในระยะแรก กลับตาลปัตรเป็นร่วมมือเต็มที่ (แลกกับการที่อเมริกาสำนึกบุญคุณ, ให้เงิน, และช่วยปิดเป็นความลับ) ในการลักพาตัวผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย (extraordinary rendition), ขังไว้ใน black sites/ exploitation facility ในไทย เช่น ฐานทัพเรืออู่ตะเภา, ค่ายรามสูรที่อุดรธานี, สนามบินดอนเมือง เป็นต้น มีผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายโดนอเมริกาเล่นงานเช่นนี้ในไทยอย่างน้อย ๑๐ ราย ในนี้ถูกทรมาน ๗ ราย และไทยยังส่งทหารช่างไปอัฟกานิสถานและทหารไทยไปอิรักด้วย ก่อนจะหยุดส่งโดยอ้างว่าติดขัดผลกระทบทางการเมืองต่อปัญหาการก่อความไม่สงบ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (BZ, pp. 134 – 40)

มาตรฐานสิทธิมนุษยชนที่ต่ำของสหรัฐฯในการดำเนินสงครามต่อต้านการก่อการร้ายทั่วโลกกลายเป็นช่องที่นายกฯทักษิณใช้อ้างว่าในเมื่อไทยช่วยหนุนสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นสหรัฐฯก็ควรผลัดกันเกาหลังให้ไทยบ้างในกรณีการก่อความไม่สงบ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ของไทย เสมือนไทยกับสหรัฐฯแลกเปลี่ยน “คูปองอนุญาตให้ละเมิดสิทธิ” (violation vouchers) แก่กันและกัน ในทำนองทียูยังทำได้ ไทยก็ทำได้มั่ง ทั้งนี้แม้ว่าสหรัฐฯจะหนุนช่วยไทยปราบความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยมีนโยบายเน้นความสำคัญเป็นอันดับแรกของสิทธิมนุษยชนก็ตาม (BZ, pp. 140-46)

ฉะนั้นถึงตอนที่ทักษิณเขียนจดหมายฟ้องประธานาธิบดีบุชผู้ลูกว่าฝ่ายค้านของตนในเมืองไทย (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) คุกคามประชาธิปไตย ๓ เดือนก่อนเขาถูกรัฐประหารโดย คปค. เมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๖ นั้น อเมริกาก็อยู่ในภาวะไม่ได้ใส่ใจจริงจังและไม่มีเครดิตที่จะผลักดันเรื่องประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชนในประเทศอื่นแล้ว (BZ, p. 133)

AFP PHOTO / EMMANUEL DUNAND

โครงสร้างประชาธิปไตยเลือกตั้งยุคทักษิณกับกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจต่อจีน

มีข้อมูลที่น่าสนใจมากมายเกี่ยวกับผลกระทบของโครงสร้างการเมืองยุครัฐบาลทักษิณต่อกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยต่อจีนในวิทยานิพนธ์บทที่ ๕ ของคุณเจษฎาพัญ กล่าวคือ

ภายใต้โครงสร้างการเมืองสมัยทักษิณ มีการเปลี่ยนกลุ่มและสถาบันที่เข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่อจีน จาก อำมาตย์, ข้าราชการประจำ, ทหาร, เกษตรกร แต่เดิมพากันหมดลดบทบาทไป ทว่านักการเมืองและพรรคการเมืองที่กุมเสียงข้างมาก, กลุ่มทุนธุรกิจใหญ่, กลุ่มหอการค้าเชียงราย นักวิชาการ กลับเพิ่มขยายและผูกขาดรวมศูนย์บทบาทในกระบวนการนโยบายเรื่องนี้

ในแง่สถาบัน รัฐสภาและคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ลดบทบาทลง ทว่านายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี, คณะที่ปรึกษาพากันผูกขาดรวมศูนย์บทบาทมาก เป็นต้น (เจษฎาพัญ, น. ๓๐๗ – ๘, ๓๑๐ – ๑๒, ๓๑๓) โดยกลุ่มใหม่ที่เข้าไปมีบทบาทนี้แสวงหาผลประโยชน์เข้าตนเป็นสำคัญ จนเกิดปัญหา “conflict of interests” (ผลประโยชน์ทับซ้อน) , “อุปถัมภ์เอื้อต่อผลประโยชน์ของตนเอง”, “rent seeking” (แสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ) (อ้างจาก เจษฎาพัญ, น. ๓๑๐-๑๑)

โดยเฉพาะย่อหน้า น. ๓๑๓ ของวิทยานิพนธ์ที่ขึ้นต้นว่า “ในช่วงนี้ปัจจัยภายในเป็นปัจจัยสำคัญ………กลุ่มผลประโยชน์นอกพลังอำมาตยาธิปไตยที่มีพรรคการเมือง กลุ่มทุนธุรกิจเข้ามามีอำนาจการเมืองในโครงสร้างทางการเมืองภายในประเทศเป็นอย่างมากทั้งโดยตรงและโดยอ้อมและเข้ามามีบทบาท ส่วนร่วมและอิทธิพลในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่อจีน….”

ข้อมูลดังยกมาข้างต้นนี้ดูจะไม่สอดรับกับข้อสรุปของ ดร. เจษฎาพัญ เองเรื่อง “โครงสร้างการเมือง” ยุคทักษิณในบทที่ ๕ (น. ๒๙๗ – ๙๙ แต่โดยเฉพาะที่ น. ๒๙๙) ที่ว่า: “ดังนี้อาจกล่าวได้ว่า โครงสร้างทางการเมืองไม่ได้มีผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่อจีน…..” (?!)

ดังนั้นหากเราจะพยายามทดลองสรุปใหม่ให้สอดรับกับข้อค้นพบของวิทยานิพนธ์บทที่ ๕ นี้ข้างต้น ก็อาจเขียนได้ว่า ในสมัยรัฐบาลทักษิณนั้น:

“โครงสร้างระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยเลือกตั้งได้เปิดออกและกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่อจีนก็ได้เปิดออก โดยเฉพาะต่อกลุ่มพลังนอกอำมาตยาธิปไตยทั้งหลาย แต่อำนาจแบบเบ็ดเสร็จรวมศูนย์ที่ฝ่ายบริหารโดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีผู้กุมเสียงข้างมากในสภาได้ ทำให้ในทางปฏิบัติ กระบวนการกำหนดนโยบายดังกล่าว แม้จะเปลี่ยนกลุ่ม/สถาบันที่กุมอำนาจและได้เข้าร่วมไป แต่กลับมิได้เปลี่ยนลักษณะรวมศูนย์อำนาจเด็ดขาด กีดกันการเข้าร่วมของกลุ่มอื่น ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล และมีลักษณะบนลงล่าง”