ย้อนเวลาเรียบเรียงความทรงจำ ยามย่ำแดนไกลในวัยหนุ่ม ตอนที่ 6

ปล่อยทิ้งเรื่องต่างๆ ค้างไว้ในฉบับก่อนๆ ไม่น้อยทีเดียว จะค่อยๆ พยายามเก็บมาเรียงลำดับบอกเล่าให้มันจบสิ้นกระแสความก่อนเดินทางกลับเมืองไทย

ก่อนจะได้เดินทางกลับมาเยือนประเทศมหาอำนาจอันใหญ่โตมโหฬาร ซึ่งมีผู้คนน่าจะทุกเผ่าพันธุ์มารวมกันอยู่ที่นี่อีกครั้งหนึ่งเหมือนดังที่เคยกล่าวว่า พอได้เดินทางสู่สหรัฐอเมริกาครั้งแรกแล้ว ก็มีครั้งที่ 2 ติดตามมา หากแต่ระยะเวลาทอดยาวออกมาอีกถึง 2 ทศวรรษ

เรื่องไม่ค่อยสบอารมณ์ฝรั่งบ้านนอกสองแม่ลูก ซึ่งถ้าหากไล่เรียงกันมันย่อมจะมาเกี่ยวดองเป็นญาติ เนื่องจากเธอเป็นน้าสะใภ้ของหุ้นส่วนชีวิต

ส่วนลูกสาวซึ่งมีส่วนผสมของฝ่ายพ่อเป็นคนไทยย่อมเป็นหลาน เพียงแต่เขาเกิดและอาศัยอยู่คนละประเทศ ต่างทวีป แตกต่างกันไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง

ซึ่งจะว่าไปเธอกับลูกคงไม่เข้าใจ รวมทั้งไม่พยายามจะเข้าใจผู้สูงอายุจากแดนไกล

ถึงจะเป็นพี่สาวสามี เป็นป้าของเธอและลูกก็ตาม

 

2-3 วันที่ร่วมเดินทางในต่างแดนพูดกันแบบไม่อ้อมค้อมว่าคงไม่ใช่เราเท่านั้นที่อึดอัด 2 แม่ลูกคู่นั้นย่อมมีอาการเช่นเดียวกัน

เขาคงรู้สึกว่าพวกเรา 3 คนซึ่งเป็นผู้เดินทางไปเยี่ยมเยียนไปรบกวนความสุขสบายของครอบครัวเขาเสียแล้ว

แม้ในบางเมือง น้าหมอของหุ้นส่วนชีวิตจะเปิดห้องให้กับครอบครัวเรา 1 ห้อง แต่เมื่อถึงเวลาอาหารก็ต้องร่วมโต๊ะกันอยู่ดี

อาหารเช้า (Break Fast) ของฝรั่งส่วนใหญ่จะหนีไม่พ้นไข่ดาว หมูแฮม ไส้กรอก น้ำผลไม้คั้น ชา กาแฟ และขนมปังเป็นหลัก

ซึ่งการกินอาหารจะต้องใช้มีดกับส้อม ซึ่งมันเป็นเรื่องลำบากสำหรับคนไทยผู้สูงวัยขนาดคุณแม่แน่นอน

คนไทยโบราณส่วนใหญ่จะเปิบด้วยมือ อย่างดีก็แค่ช้อนธรรมดา

การกินอาหารของคุณแม่ผู้สูงวัยย่อมเป็นที่แปลกประหลาดขัดหูขัดตาน่ารังเกียจสำหรับหลานลูกผสมทั้งๆ ที่หุ้นส่วนชีวิตได้พยายามช่วยเหลือดูแลคุณแม่มิได้ห่างไกล ยังไม่วายต้องพบเจอกับอาการออกนอกหน้าของฝรั่งแม่ลูกคู่นั้น

ผู้สูงวัยขนาดคุณแม่ท่านแทบจะไม่รับรู้ หรือสัมผัสอาการที่ว่าอีกแล้ว

แต่ผู้นำพาท่านสู่ดินแดนซึ่งเรียกว่าเจริญแล้วบ้านเมืองใหญ่โต กับหุ้นส่วนชีวิตมองตากันเองพอเข้าใจได้

จึงเป็นที่มาของการแอบไปโทรศัพท์นัดหมายกับน้องจากเมืองดิ มอยน์ (Des Moines) ให้มารับกลับไปยังบ้านของเขาก่อนกำหนด

ต่อมาหลังจากนั้นเราไม่ได้พบเจอกับคุณน้าอีกนานปี

 

พูดถึงแผ่นดินใหญ่โตอย่างสหรัฐ ซึ่งได้ใฝ่ฝันอยากเดินทางไปแสวงหาตั้งแต่วัยเด็กเพราะภาพที่ฝันว่าผู้คนเจริญมากมายนักหนา การศึกษาดีเยี่ยม โดยเฉพาะทางด้านศิลปะนั้นน่าจะเป็นที่ชื่นชอบชื่นชม

แต่พอเอาเข้าจริงแล้วสิ่งที่ฝันมันมีอยู่จริงๆ แต่ว่ามันแค่ส่วนหนึ่ง

คนอเมริกันซึ่งยากไร้ การศึกษาไม่มากมีอยู่ไม่น้อย ซึ่งไม่มีใครเคยยืนยันว่าน้องสะใภ้ฝรั่งของแม่หุ้นส่วนชีวิตนั้นมีการศึกษาถึงขั้นไหน

อยากบอกว่าเท่าที่ได้สัมผัสมาเธอเป็นฝรั่งบ้านนอกตัวอ้วนใหญ่ไร้รสนิยมนางหนึ่งแค่นั้น

อีกเรื่องที่ปล่อยทิ้งไว้ในฉบับก่อนๆ คงเป็นเรื่องน้องชายหุ้นส่วนชีวิตที่ไปได้เมียเป็นลาวอพยพ ซึ่งเขาแทบจะกลายเป็นคนหายสาบสูญ กลับมามีโอกาสได้พบหน้าแม่ซึ่งอายุมากแล้วแต่เดินทางไปถึงอเมริกา เท่ากับเป็นการแจ้งเกิดให้ทุกด้าน

หนึ่งในมวลหมู่ญาติมิตรชมรมลาวอพยพในเมืองนั้นชื่นชมว่ามีรากเหง้าญาติโยม ไม่ได้เป็นคนหลงทางมาคนเดียว

เคยบอกว่าเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวงของผู้นำพากับหุ้นส่วนชีวิตตรงที่ว่า ต่อมาเขาได้ต่อเชื่อมวันเวลาสายสัมพันธ์ และเดินทางมาเมืองไทยจนได้รับส่วนแบ่งมรดกเมื่อแม่เสียชีวิตลง

แต่ด้วยความโลภจึงไม่เพียงพอ เท่าที่ได้คิดว่าน่าจะได้รับการผลักดันจากหลายฝ่าย จึงได้ก่อปัญหาให้กับพี่น้อง ก่อนมรดกที่ว่านั้นจะถูกเปลี่ยนมือสู่ผู้อื่น สร้างปัญหาเดือดร้อนให้กับพี่น้องเพิ่มขึ้นอีก จำเป็นต้องตัดญาติขาดกันไป

จึงต้องสารภาพว่าคิดไม่ถึงจริงๆ “ความหวังดี” จะกลายเป็นความ “ผิดพลาด” จนไม่น่าให้อภัยกับตัวเอง

 

แต่เรื่องดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเวลารวดเร็ว เรายังเชื่อมสายสัมพันธ์กันอยู่อีกนานจนกระทั่งได้บินกลับไปอเมริกาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถ้าหากเราทบทวนรายละเอียดกับสิ่งที่ได้พบเห็นของการเดินทางครั้งแรกอาจจะไม่ตอบรับคำเรียกร้องเชื้อเชิญให้กลับไปเยือนยังถิ่นที่พวกเขาอาศัยอยู่อีก

ถ้าใช้ปัญญาไตร่ตรองให้รอบคอบสักหน่อยขณะที่เราทิ้งคุณแม่ไว้ที่บ้านของเขาโดยบินกลับมายังลอสแองเจลิส (Los Angeles) ก่อนเพื่อจะได้เปิดหูเปิดตาหาความรู้ความบันเทิงพร้อมกับพบปะเพื่อนคนไทยจำนวนมากในแอลเอ (L.A) เพราะไหนๆ ได้เดินทางไกลมาเยือน โดยนัดหมายให้เขาส่งตัวมาสมทบก่อนเดินทางกลับเมืองไทย

ปรากฏว่าแทนที่จะเดินทางมาส่งแม่ด้วยตัวเองเพราะอยู่ในประเทศเดียวกัน กลับส่งแม่ซึ่งท่านช่วยเหลือตัวเองไม่ได้กลับมาคนเดียว

บังเอิญที่ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นนั้นเนื่องจากว่าเพื่อนรักคนที่ให้ที่พักพิงช่วยเหลือเรื่องการเดินทางท่องเที่ยวครั้งนี้พักอาศัยอยู่ในแอลเอ (L.A) มานาน ได้สร้างแต่ความดีช่วยเหลือผู้อื่นเสมอมาตลอดจนถึงปัจจุบัน

เพื่อนเป็นศิลปินมีชื่อเสียงรู้จักในมวลหมู่คนไทยด้วยกัน รวมทั้งคนไทยที่ทำงานอยู่ในสนามบินนานาชาติ ลอสแองเจลิส Los Angeles International (LAX)

และคนไทยคนนี้แหละที่เอื้อเฟื้อพาเราเข้าไปรับคุณแม่ถึงข้างในขณะนั่งอยู่บนรถเข็น (Wheel Chair) ทำอะไรไปไหนไม่ได้หลังจากเรารอรับกันอยู่ข้างนอกนานมาก แต่ไม่ได้พบ

 

พยายามสลัดความหมองใจว่าพวกเขาเห็นแก่ตัวจริงๆ โดยพยายามคิดเสียว่าเขาคงไม่มีเงินค่าเครื่องบินเดินทางมาส่งก็ได้

แต่สิ่งที่คิดนั้นมันได้มาปรากฏหลังจากที่เขาเดินทางกลับมาสร้างปัญหาให้กับญาติพี่น้องเรื่องทรัพย์สมบัติดังกล่าว ทำใจไว้แล้วว่าเมียชาวลาวอพยพของเขา เธอไม่ได้ทำงานการอะไร ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐในฐานะผู้อพยพ ขณะเดียวกันต้องเลี้ยงดูลูกถึง 2 คน

แม้ตัวน้องชายจะโชคดีได้รับการผลักดันให้ได้เข้าทำงานในธนาคารของเมืองดิ มอยน์ ไอโอวา ก็ตาม

อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางฐานะ เมื่อได้รู้จักผู้คนจากเมืองไทยมากขึ้น เพราะบังเอิญมีทหารกลุ่มหนึ่งได้พลัดหลงไปซื้อหาอาวุธ ซื้ออะไรหรือ อะไหล่อะไร? ถึงรัฐไอโอวา (Iowa) ไม่รู้เหมือนกันว่ามีใครได้แนะนำต่อสายให้ได้พบกันจนสามารถทำให้ธนาคารที่เขาทำงานอยู่เปิดแอลซี (Letter of Credit) ในการจัดซื้อ โดยอาชีพสื่อหากไม่ได้เป็นน้องหุ้นส่วนชีวิตมีหวังได้ขุดคุ้ยกันกระจุยแล้ว

อีกอย่างเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มาคิดดูทีหลังมันน่าจะเป็นเรื่องไม่ชอบมาพากลจริง

เป็นเพราะปมด้อย หรือจุดอ่อนของเมียลาวอพยพที่โหยหาอดีตเนื่องจากบ้านแตกสาแหรกขาดมาจากเมืองลาว อยากมีญาติเยอะๆ ต้องการมีหน้ามีตาสานสายสัมพันธ์กับคนเอเชีย จากการได้ร่วมทำอะไรกันไม่รู้? ทหารจากเมืองไทยได้ส่งลูกชายไปอาศัยพักพิงยังบ้านในเมืองนั้นเพื่อศึกษาเล่าเรียนในเวลาต่อมา

ก่อนจะเป็นตัวเชื่อมต่างๆ ในการสร้างปัญหาแก่ญาติพี่น้องในเมืองไทย

 

ผู้นำพากับหุ้นส่วนชีวิตได้ให้การสนับสนุน ให้การต้อนรับอย่างมีหน้ามีตาทุกครั้งที่พาครอบครัว รวมทั้งญาติชาวลาวเดินทางสู่เมืองไทย

คนไทยในสหรัฐโดยเฉพาะในเมืองใกล้เคียงกับดิ มอยน์ มลรัฐไอโอวา (Des Moines-Iowa) มีมากขึ้นเมื่อเกิดอะไรในเมืองไทย ในฐานะที่เรามีสายสัมพันธ์ให้การสนับสนุนพอสมควร ผัวเมียคู่นั้นจึงทำท่าว่าจะเป็นผู้กว้างขวาง

เมื่อเกิด “สึนามิ” (Tsunami) “มหาธรณีวิบัติ” ภาคใต้ 6 จังหวัด โดยเฉพาะ “ภูเก็ต-พังงา” มีคนเสียชีวิตจำนวนมากเมื่อปลายปี พ.ศ.2547 คนไทยในต่างบ้านต่างเมืองพยายามส่งความช่วยเหลือด้วยการสบทมทบทุนกันมา ซึ่งสุดท้ายเกิดมีการยักยอกคอร์รัปชั่นในบางรัฐของสหรัฐ

2 ผัวเมียน้องของหุ้นส่วนชีวิตในเมืองดิ มอยน์ มลรัฐไอโอวา และใกล้เคียงได้รับบริจาคเงินสมทุนช่วยเหลือมหาอุทกภัยครั้งนี้เช่นเดียวกัน ถึงกับเสียค่าใช้จ่ายหอบเงินเดินทางมาเมืองไทยแบบไม่รู้เรื่องอะไร บอกว่าจะมาสร้างบ้านพักอาศัยให้ผู้ประสบภัย

กระทั่งเวลาผ่านไปนานถึงวันนี้ไม่มีใครไปตรวจสอบเงินที่คนบริจาคจากแดนไกลมีความตั้งใจนั้นได้เป็นจริงแค่ไหน อยู่ที่ไหน

มีใครได้อยู่อาศัยบ้านที่ว่าหรือไม่?

 

เราได้เวลาเดินทางกลับเมืองไทย โดยเปลี่ยนเส้นทางบินเพื่อแวะพักยัง “ฮ่องกง” อีก 1 คืน

หาซื้อของฝากเพื่อนพ้องญาติมิตรทั้งหลาย

กลับจากสหรัฐนับว่ามีวิสัยทัศน์เพิ่มขึ้นบ้าง

ส่วนเรื่อง “ผิดพลาด” ที่ลืมไม่ได้จนวันนี้เกิดขึ้นหลังจากนั้นอีกนานปี