จิตต์สุภา ฉิน : ใช่เนื้อคู่ไหม ให้เฟซบุ๊กทำนายกัน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อันเผ็ดร้อนนับตั้งแต่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก นายใหญ่ของเฟซบุ๊กถูกสอบสวนชนิดกัดไม่ปล่อยอันเนื่องมาจากประเด็นเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้งาน

ทำให้คนทั่วโลกคาดหวังว่าเนื้อหาที่สำคัญที่สุดของงาน F8 งานประจำปีของเฟซบุ๊กที่เพิ่งจะจัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น ไฮไลต์สำคัญน่าจะอยู่ที่ประเด็นเรื่องนโยบายการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานเพื่อให้ไม่พลาดอีกเป็นคำรบสอง

แต่สิ่งที่ได้รับการพูดถึงอย่างหนาหูที่สุดหลังจากงานจบลง กลับกลายเป็นเรื่องบริการใหม่ที่ซักเคอร์เบิร์กแย้มพรายว่ากำลังจะเริ่มใช้งานได้ภายในปีนี้

ซึ่งก็คือ บริการหาคู่เดตออนไลน์บนเฟซบุ๊กนั่นเอง

ซู่ชิงคิดว่าการที่เฟซบุ๊กจะหันมาเล่นตลาดหาคู่เดตออนไลน์นั้นไม่ได้เกินความคาดหมายเลย

เพราะลองนึกดูสิคะว่าจะมีสถานที่ไหนที่เหมาะสมในการตามหาคู่แท้มากไปกว่าที่ที่รวมคนเป็นพันล้านมาอยู่ด้วยกัน

และทุกคนต่างก็พร้อมใจกันป้อนข้อมูลของตัวเองลงไปอย่างละเอียดถี่ยิบ

ถ้าหากเนื้อคู่ของเราไม่อยู่บนนี้ ก็คงจะมีโอกาสน้อยเต็มทีที่เราจะไปเจอกันที่อื่นได้อีก จริงไหมคะ

สมัยนี้หากเราต้องการมองหาใครสักคนมาเป็นคนรัก บริการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ ทินเดอร์ แอพพลิเคชั่นที่เราสามารถเข้าไปเลือกคนที่เราสนใจได้โดยดูจากภาพโปรไฟล์และประวัติสั้นๆ ชอบใครก็ปาดขวาเก็บเอาไว้ ไม่ปิ๊งคนไหนก็ปาดซ้ายโยนทิ้งไป

ถ้าหากสองคนใจตรงกันปาดขวาเหมือนกันเมื่อไหร่ก็จะสามารถเริ่มบทสนทนากันได้

นอกจากทินเดอร์แล้วก็ยังมีบริการหาคู่เดตออนไลน์อื่นๆ ที่ได้รับความนิยมอีกไม่น้อย

โดยที่ทั้งหมดเป็นบริการเดี่ยวๆ ที่ออกแบบมาสำหรับใช้ในการหาคู่เท่านั้น ไม่ได้เอาไปปะปนกับจุดประสงค์อย่างอื่น

 

ย้อนกลับมาที่เฟซบุ๊ก ตลอดเวลาที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่เฟซบุ๊กขึ้นชื่อว่าทำมาอย่างต่อเนื่องและทำได้ดี ก็คือการสอดส่ายสายตามองหาว่าบริการประเภทไหนกำลังเป็นที่นิยมบนโลกออนไลน์บ้าง จากนั้นก็จะหยิบเอาไอเดียแบบเดียวกันเป๊ะๆ ลอกมาใส่เอาไว้ในแพลตฟอร์มของตัวเองแบบไม่แคร์สื่อ จนหลายครั้งก็ทำให้เจ้าของไอเดียที่แท้จริงถึงกับต้องม้วนเสื่อกลับบ้านเนื่องจากเฟซบุ๊กได้เปรียบเรื่องฐานผู้ใช้ที่ใหญ่กว่าชนิดเทียบกันไม่ติด

บริการที่ลอกแปะมาแล้วในอดีตก็อย่างเช่น On This Day ที่จะนำเอาภาพที่เราเคยโพสต์ไว้เมื่อปีก่อนกลับมาให้ดูใหม่อีกครั้ง ซึ่งได้ไอเดียมาจากแอพพลิเคชั่นไทม์ฮ็อป หรือการโพสต์ภาพแบบมีอายุเพียงแค่ 24 ชั่วโมงของสแน็ปแชตที่ลอกมาใส่ไว้ทั้งในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม (ซึ่งเป็นของเฟซบุ๊กอีกนั่นแหละ) ทั้งหมดนี้ทำไปก็เพื่อดึงให้คนอยู่กับเฟซบุ๊กนานที่สุด ไม่ต้องแอบหนีออกไปใช้บริการอื่นใดที่ไหน อยู่แค่บนเฟซบุ๊กที่เดียวก็มีทุกอย่างที่อยากใช้ครบครันเป็นวัน สต็อป เซอร์วิส

ดังนั้น เมื่อบริการหาคู่เดตออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงหลัง การจะหยิบเอาบริการนี้มาใส่ไว้ในเฟซบุ๊กเสียเลย จึงไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหวังของใคร จะเกินความคาดหวังก็แค่ทำไมเพิ่งนึกจะหยิบมาใช้ก็แค่นั้น

แว้บแรกที่ได้ยินว่าเฟซบุ๊กจะเปิดให้หาคู่เดตออนไลน์ ความคิดที่เข้ามาในหัวของซู่ชิงคือ ไม่มีใครอยากใช้หรอก! เพราะเฟซบุ๊กเป็นที่ที่เราติดต่อเชื่อมโยงกับครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อน เพื่อนร่วมงาน คนรู้จักห่างๆ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่ใช่คนที่เราอยากให้รู้ว่าเรากำลังหาคู่อยู่ทั้งนั้น

ลองคิดว่าถ้าหากคุณพ่อของซู่ชิงเกิดมาเห็นว่าซู่ชิงกำลังหาคู่ออนไลน์อยู่ ก็คงเป็นอะไรที่ทำให้เขินกันไม่ใช่น้อยเลยนะคะ

โชคดีที่เฟซบุ๊กคิดเอาไว้ครอบคลุมหมดแล้ว ว่าการใช้บริการนี้จะต้องสมัครเข้าไปเท่านั้น และระบบจะไม่จับคู่เราเข้ากับคนที่อยู่ในรายชื่อเพื่อนของเรา อันนี้ก็ถือว่าโล่งใจไปได้เปลาะหนึ่ง

ที่เหลือก็จะต้องรอติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไปว่าระบบนี้จะมีวิธีการใช้งานอย่างละเอียดอย่างไรบ้าง

 

เสียงตอบรับหลังจากที่ข่าวเรื่องเฟซบุ๊กจะเปิดให้หาคู่เดตออนไลน์ได้นั้นเท่าที่เห็นในไทยส่วนใหญ่เป็นไปในทางบวก

หลายๆ คนแท็กชื่อเพื่อนมาอ่านข่าวกันอย่างสนุกสนานพร้อมแซวกันว่าพวกเราจะไม่โสดอีกต่อไปแล้ว

ข้อดีของการหาคู่เดตบนเฟซบุ๊กคือเป็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ที่มีปลาให้เลือกนับไม่ถ้วน

แถมมีข้อมูลทั้งหมดของเราครบครัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เรากดไลก์ ประวัติการศึกษา กิจกรรมที่ทำ พ่อแม่พี่น้องเราเป็นใคร เพื่อนที่มีร่วมกัน ฯลฯ

หากเฟซบุ๊กสามารถประมวลผลข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คัดกรองคนที่เหมาะที่สุดมานำเสนอให้เราโดยดูจากความชอบและรูปแบบการใช้ชีวิตที่ตรงกัน ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสการตกหลุมรักได้ในที่สุด

ทว่าโอกาสที่จะเจอเนื้อคู่บนเฟซบุ๊กไม่ได้เป็นผลลัพธ์เพียงอย่างเดียวที่อาจเกิดขึ้นได้ ตรงกันข้าม เรื่องร้ายๆ ก็อาจจะมาจากบริการนี้ได้เช่นเดียวกัน

แม้ว่าตอนนี้บริการหาคู่ยังไม่เริ่มใช้งานบนเฟซบุ๊ก แต่เฟซบุ๊กก็ถูกใช้เป็นสถานที่ที่มิจฉาชีพเข้ามาล่อลวงเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายอยู่ทุกวัน

หากคุณเป็นหนึ่งในคนที่เคยได้รับข้อความทักทายหวานๆ จากเพศตรงข้ามที่ไม่รู้จัก หรือมาจากต่างประเทศในอีกซีกหนึ่งของโลกที่ไม่รู้ว่าแวะเวียนมาเจอเฟซบุ๊กของเราได้อย่างไร

นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการหลอกดูดเงินเหยื่อผู้อ่อนแอทางอารมณ์ก็ได้ค่ะ

วิธีหลอกล่อเหยื่อของโจรกลุ่มนี้เริ่มจากการส่งอินบ็อกซ์มาพูดคุยทำความรู้จักและใช้คารมล่อลวงให้เหยื่อ (ซึ่งมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย) ตกหลุมรัก ให้ความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าสักวันหนึ่งจะได้เจอกัน แต่งงานกัน และรักกันตลอดไป จากนั้นก็จะมีเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่จะนำไปสู่การเอ่ยปากขอเงินจากเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นการขอให้ส่งเงินค่าตั๋วเครื่องบินไปให้จะได้บินมาหาและพบหน้ากัน หรือเหตุฉุกเฉินเกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นกับคนในครอบครัวทำให้ต้องมาขอหยิบยืมเงินไปก่อน

เหยื่อจำนวนไม่น้อยใจอ่อนหลงเชื่อและโอนเงินไปให้

บางคนไม่ได้โอนเพียงรอบเดียว แต่ยอมส่งเงินให้หลายต่อหลายรอบโดยที่เอาเข้าจริงๆ แล้วก็ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าคนที่ตัวเองตกหลุมรักนั้นคือใครกันแน่ เพราะอาชญากรร้อยทั้งร้อยใช้ภาพและโปรไฟล์ปลอมทั้งหมด

มีผู้หญิงคนหนึ่งในเท็กซัสเสียเงินไปมากถึงสองล้านดอลลาร์จากการถูกหลอกให้รักบนเฟซบุ๊ก

ในไทยเองก็มีเหยื่อแบบเดียวกันนี้เหมือนกันนะคะ ที่น่ากลัวก็คือหลังจากถูกหลอกไม่ค่อยมีใครยอมไปแจ้งความกันสักเท่าไหร่ เพราะเหยื่อมักจะอายไม่กล้าให้เรื่องนี้ถูกเปิดเผยออกไปให้เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือไม่ก็โทษตัวเองที่หลงเชื่อคนง่าย ทำให้อาชญากรรมประเภทนี้ไม่ลดลงแถมจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่ถูกจับตัวมาลงโทษ

ดังนั้น หากเฟซบุ๊กไม่ระวัง การเปิดบริการหาคู่เดตออนไลน์จะเท่ากับการเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้เข้ามาเริงร่าหาเหยื่อกันอย่างสนุกสนาน

ก่อนหน้านี้อาชญากรกลุ่มนี้ต้องเสี่ยงดวงเอาจากการสุ่มทักคนไปทั่วซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะไม่สนใจที่จะตอบกลับด้วยซ้ำ

แต่พอหันมาใช้บริการนี้ล่าเหยื่อแทน โอกาสที่จะประสบความสำเร็จนั้นจะสูงขึ้นมาก

เพราะทุกคนที่มารวมกันก็ล้วนเป็นคนที่พร้อมเปิดใจเข้ามาหาคนที่คิดว่าจะใช่ทั้งนั้น

ถ้าไม่ระวังให้ดีเรื่องราวการพบรักแท้ออนไลน์อันแสนโรแมนติก อาจจะกลับกลายเป็นการนับหนึ่งเก็บเงินใหม่ทั้งหมดเพราะเงินสะสมทั้งชีวิตถูกหลอกสูบไปจนเกลี้ยงบัญชี