ฟังวัยรุ่นเล่าเรื่องหนักๆ ในสังคม “เยนา” เจเนอเรชั่นใหม่ “เพลงเพื่อชีวิต”

มีวงดนตรีเกิดขึ้นมากมายในยุคนี้ ที่การทำเพลงไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป ซึ่งนั่นไม่ใช่แค่กระบวนการผลิตเท่านั้น หากยังรวมถึงวิธีการโปรโมตด้วย

เพราะในยุคการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์อย่างทุกวันนี้ คนทำเพลงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสื่อกระแสหลักให้ช่วยโฆษณาอย่างในอดีตแล้ว เพราะเพียงแค่อัพโหลดเพลงลงยูทูบ หรือเฟซบุ๊กของตัวเอง ถ้าเพลงดีจริง มันก็ย่อมดังได้ไม่ลำบากยากเย็น

สิบปีมานี้ แม้วงการเพลงไทยสากลจะดูซบเซาอันเนื่องมาจากอยู่ในช่วงปรับตัวเข้าหาสื่อสมัยใหม่ โดยเฉพาะค่ายใหญ่ ที่ต้องสูญเสียเม็ดเงินจากการจำหน่ายซีดี

แต่ในความซบเซานั้นมีความคึกคักและความหลากหลายเกิดขึ้นกับศิลปินอิสระ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบแนวดนตรี เนื้อหาที่หลากหลายจากการกล้านำเสนอ

ในความคึกคักและหลากหลายที่ว่านี้ มีวงดนตรีวงหนึ่งเด่นขึ้นมาอย่างช้าๆ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป

ว่ากันว่าพวกเขานำเสนอ “เพลงเพื่อชีวิต” รูปแบบใหม่ ตรงกับความต้องการของกลุ่มคนสมัยใหม่ ที่เพลงเพื่อชีวิตยุคเก่าอย่าง คาราบาว, คาราวาน, พงษ์เทพ กระโดนชํานาญ, พงษ์สิทธิ์ คําภีร์ ฯลฯ ไม่สามารถเข้าถึงคนเจเนอเรชั่นนี้ได้แล้ว

พวกเขาคือ YENA : เยนา

เยนา คือวัยรุ่น 3 คน ประกอบด้วย กุล กีตาร์ นำร้อง โฟน เบส ร้อง และเย กลอง “เยนา” เน้นเครื่องดนตรี 3 ชิ้นตามจำนวนสมาชิก แนวดนตรีมีความเป็นโฟล์ก มีลักษณะการร้องที่เน้นเสียงประสาน

จังหวะเพลงของพวกเขาฟังสบายๆ แต่บ้างก็ดุดัน โดยเนื้อหาในนั้นล้วนแล้วเป็นการเสียดสีสังคม ให้ความสำคัญกับคนตัวเล็กๆ พูดถึงความเหลื่อมล้ำ ฟังแล้วคิดถึงเพลงของ “คาราบาว” ในยุคแรกก่อนจะดังเปรี้ยงปร้างในอัลบั้มประวัติศาสตร์ “เมดอินไทยแลนด์” เมื่อ “คาราบาว” พูดถึงเรื่องที่ใหญ่ขึ้น

“เยนา” แตกต่างจากศิลปินอินดี้มากมายก่ายกองในประเทศนี้ ตรงที่เลือกที่สะท้อนปัญหาสังคมผ่านเนื้อหาเพลงที่หนักหน่วง ในท่วงทำนองที่ไพเราะน่าคล้อยตาม

ซึ่งต่างจากวงดนตรีวัยรุ่นส่วนใหญ่ที่มักพูดถึงเพลงรัก เรียกได้ว่าความรักถูกพูดถึงในทุกมุมมองแล้ว ผ่านบทเพลงในประเทศนี้

“เยนา” เริ่มต้นเมื่อประมาณ 8 ปีก่อน ตอนที่พวกเขายังเรียนมหาวิทยาลัยปี 3 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองไทยร้อนแรง และการแพร่สะพัดของวาทกรรมทางการเมือง ด่าเสียดสีกันไปมาตามหน้าสื่อมวลชน กระทั่งนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด

วงดนตรีเริ่มขึ้นเมื่อกุลและโฟน ซึ่งเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เรียนมัธยม นั่งคุยกันรินถนนว่าอยากทำวง ดังนั้น จึงต้องเริ่มหามือกลอง และด้วยความบังเอิญ เพราะระหว่างที่คุยกันนั้น “เย” ซึ่งรู้จักโฟน ก็ได้ปรากฏตัวอย่างไม่มีการนัดหมาย โพนจึงบอกกับกุลว่า นี่คือเย มือกลองที่คิดว่าจะชวนเข้าวง

การเกิดขึ้นของวงเยนา ทำให้คิดถึงการก่อตัวของวงพังก์ร็อก The Ramones ในปี 1974 เพราะ “เย” เปิดเผยว่า เขาไม่เคยมีวงดนตรีมาก่อน เขาตีกลองได้ แต่ไม่มั่นใจว่าจะเล่นเป็นวงได้หรือไม่ เมื่อเพื่อนทั้ง 2 ได้ชักชวน เขาก็รับปากทั้งที่ไม่แน่ใจว่าจะเล่นได้หรือไม่ แต่เขาอยากเล่น

หลังจากร่วมซ้อมดนตรีกันเป็นเวลานานพอสมควร พวกเขาก็ได้ลองผิดลองถูกเพื่อค้นหาแนวทางของตัวเอง กาลต่อมาความชัดเจนก็ได้เริ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนในที่สุดพวกเขาได้รับการขนานนามว่าเป็นวงเพื่อชีวิตยุคใหม่

ก่อนหน้านี้มีค่ายเพลงมาชักชวนให้ไปอยู่ แต่มีข้อแม้ว่า พวกเขาจะต้องเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงปฏิเสธไป

เพลงของเยนา เป็น “เพื่อชีวิต” อย่างไรนั้น ขอยกตัวอย่างเพลงเสียดสีสังคม ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นการอธิบายมองมุมทางการเมืองได้เป็นอย่างดี เช่น เพลง “นกพิราบ” กุลสะท้อนมุมมองในการแต่งเพลงนี้โดยเห็นว่า บางทีอาจเป็นเพราะจำนวนที่มากไป จึงทำให้นกพิราบดูไม่มีค่า แลดูไม่สำคัญ ต่างจากสัตว์สงวนที่เพียงเพราะจำนวนซึ่งใกล้สูญพันธุ์ มันจึงดูมีค่าแก่การอนุรักษ์ไว้

ดังนั้น การตายของนกพิราบ จึงไม่ค่อยเป็นเรื่องสำคัญ และกลายเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ เพราะจะได้ลดจำนวน ทั้งที่ความจริงแล้ว นกพิราบหนึ่งตัวก็คือหนึ่งชีวิต ซึ่งทุกชีวิตล้วนรักชีวิตของตัวเอง

กุลเล่าว่า “นกพิราบจะดูสำคัญมากหากมันเหลือน้อยลง แต่เมื่อมันเยอะจึงไม่มีใครสนใจ นกพิราบจะกลายเป็นหมีแพนด้าได้ถ้าเหลือน้อย เพลงนี้พยายามสื่อว่าอะไรก็ตามที่เยอะ ก็ไม่ควรจะถูกลดค่าลงไป เพราะทุกชีวิตย่อมรักชีวิต ทุกชีวิตมีค่าเท่ากันหมด

เพลงนี้จึงเขียนให้นกพิราบและอะไรก็ตามที่มีมาก ซึ่งเมื่อตายไป ก็ควรให้ความหมายกับมันบ้าง ไม่ใช่จะเป็นเรื่องใหญ่เฉพาะการตายของสิ่งที่เหลือน้อย”

อีกเพลง “ชายเหวี่ยงแห” ซึ่งมีท่อนฮุกที่ร้องว่า “ทุกแรงเหวี่ยงของเขาคือการมั่วสุ่มเดาเพื่อเอาชีวิตให้รอดไปอีกหนึ่งวัน คุณไม่มีสิทธิ์ มีเสียงหัวเราะเยาะเย้ยการกระทำของเขา”

เพลงนี้เล่าถึงชีวิตคนจนตัวเล็กๆ ที่กำลังหว่านแหหาปลาในคลองระบายน้ำเสียเมืองกรุง ซึ่งนั่นเป็นเวลาเดียวกับที่หนุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างเห็นเข้า จึงหัวเราะเยาะ เพราะเห็นว่าที่ตรงนั้นไม่น่าจะมีปลาให้หากิน โดยเพลงพยายามสื่อว่า เมื่ออยู่ร่วมโลกเดียวกัน ก็ไม่ควรจะดูถูกซึ่งกันและกัน เพราะบางครั้งชีวิตของคนเรา ก็ไม่มีทางเลือกมากนัก

“แกงไตปลา” วิพากษ์ความย้อนแย้งในแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งวัตถุประสงค์คือให้พื้นที่ปราศจากความรุนแรง แต่ในทางกลับกัน รัฐเลือกที่จะใช้ความรุนแรงเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหา

ในเนื้อเพลงได้จำลองตัวละคร ซึ่งเป็นทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ เขาไม่อาจปฏิเสธคำสั่งจากเจ้านายในการลั่นกระสุน และกว่าจะได้มาซึ่งเกียรติยศบารมี พวกเขาก็กลายเป็นศพไปเสียแล้ว

เพลง “โถขี้” ที่สื่อถึงความความขัดแย้ง แก่งแย่ง แบ่งชนชั้นในสังคม ขณะที่บางคนทำตัวเหนือคนอื่น แต่สุดท้ายทุกคนก็ต้อง กิน ขี้ เยี่ยว เหมือนกัน

เพลงนี้เขียนท่อนฮุกน่าสนใจว่า “อยู่บนโลกเดียวกัน มีเพียงชั้นบรรยากาศเป็นหลังคา อยู่ในเช้าวันจันทร์เดือนพฤษภาเดียวกัน เธอและฉันส้นเท้าก็เหยียบบนพื้นดิน ยืนบนพื้นที่มีก้อนหินภายใต้ดวงดาวเดียวกัน มีความฝันในยามค่ำคืนที่ยังมี…ความหวัง เหมือนกัน”

แม้เพลงของ “เยนา” จะถูกยกให้เป็นแนวเพื่อชีวิต แต่คอเพื่อชีวิตรุ่นเก่าไม่รู้จักพวกเขา เพราะฐานแฟนเพลงของ “เยนา” คือวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ที่นิยมชมชอบเพลงนอกกระแส “เยนา” สร้างฐานแฟนเพลงจากการโปรโมตเพลงผ่านยูทูบและทัวร์คอนเสิร์ตร่วมกับศิลปินอินดี้หลายๆ วง แฟนเพลงจะได้เจอพวกเขาในเทศกาลดนตรีที่จัดขึ้นทั่วประเทศตลอดทั้งปี

3 สมาชิกวงเยนา ทำเพลงเองในทุกกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งเพลง บันทึกเสียง รวมถึงโปรโมต โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 พวกเขาได้ออกอัลบั้มเต็ม มีทั้งหมด 9 เพลง ผลิตซีดีออกมา 1,000 แผ่นเพื่อจำหน่วยผ่านเฟซบุ๊ก และซีดีแผ่นละ 399 บาทของพวกเขา กำลังจะหมดในไม่ช้านี้

งานเปิดตัวอัลบั้มใหม่ของพวกเขา ได้เปิดขายบัตรคอนเสิร์ต 200 ใบ และบัตรหมดลงในเวลาอันใกล้

โฟนให้สัมภาษณ์ DONT Magazine ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2560 ว่า เพลงของเราอาจไม่ได้เป็นเพลงเพื่อชีวิตขนาดนั้น แต่มันเป็นเพลงที่เล่าถึงชีวิต ซึ่งสิ่งที่ทำให้ไม่เหมือนไปทั้งหมดนั้นน่าจะเป็นดนตรี เพราะด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เขาสั่งสมมาแบบหนึ่ง เราก็สั่งผมมาอีกแบบหนึ่ง จึงเหมือนเจอกันคนละครึ่งทาง

ขณะที่กุลอธิบายเหตุผลที่ไม่ทำเพลงตลาด แต่กลับทำเพลงเพื่อเสียดสีสังคมว่า ถ้าเราไม่ได้ทำเพลงแบบนี้ ก็คงไม่ได้ทำเพลงแบบอื่น เพราะเหล่านี้คือสิ่งที่เราอยากพูดในเพลง ซึ่งการทำเช่นนั้นเราไม่ได้คิดว่าจะต้องรวบรวมความกล้าแต่อย่างใด และจะให้เราทำเพลงรัก เพลงอกหัก ก็คงทำไม่ได้แน่นอน เนื่องจากมันฝืนเกินไป

กุลกล่าวกับรายการ Thaibunterng ช่อง ThaiPBS ว่า เราสนใจในด้านที่ไม่ดีของสังคมเพื่อมานำเสนอเป็นเพลง เพื่อให้คนได้ฉุกคิดว่าสังคมนี้มีเรื่องใดบ้างที่ไม่ดี และเรายังมีความหวังว่าสักวันหนึ่ง เราจะพูดอะไรได้ วิพากษ์วิจารณ์อะไรได้มากกว่านี้