เต๋า เตาปูน : All Politics is Local เมื่อการเมืองล้วนคือเรื่องของท้องถิ่น

ทันทีที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะย้ายสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำอิสราเอลไปที่นครเยรูซาเลม เขาก็ได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากทั่วโลกในชั่วข้ามคืน

เพราะเป็นการส่งเสริมให้อิสราเอลเป็นประเทศเดียวที่อ้างสิทธิในเยรูซาเลม

นโยบายนี้ได้รับการประณามจากหลายฝ่ายว่านี่คือการกระทำที่สิ้นคิด ป่าเถื่อน และหักหาญน้ำใจอย่างรุนแรง ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ความตึงเครียด และสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน

ซึ่งไม่กี่วันหลังจากนั้นก็เกิดการประท้วงทั่วโลก เกิดความตึงเครียด การใช้กำลัง และการเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมาก

นโยบายของทรัมป์ทำให้เกิดข้อสงสัยกันไปทั่วโลกว่า ทรัมป์วางบทบาทของสหรัฐอเมริกาไว้อย่างไรในการเมืองโลก

ทรัมป์มองบทบาทและสถานภาพของเยรูซาเลมอย่างไร

ทั้งๆ ที่เยรูซาเลมเป็นเมืองที่มีความหมายอย่างลึกซึ้งต่อพี่น้องชาวมุสลิมเช่นเดียวกับที่มีต่อพี่น้องชาวคริสต์และชาวยิว

และเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ รากเหง้า ตัวตน และความทรงจำ

มีการคาดการณ์อย่างไรต่อผลของนโยบายนี้

มีการคำนวณถึงผลด้านลบของนโยบายนี้หรือไม่

ได้มีการปรึกษามิตรประเทศอื่นๆ (นอกจากอิสราเอล) ไว้บ้างไหม

 

แม้ว่าประชาคมโลกจะก่นด่าและตะลึงงันกับการประกาศข้างเดียวเช่นนี้ของทรัมป์

แต่ถามจริงๆ ว่า ถึงที่สุดแล้วทรัมป์จะต้องแคร์อะไรไหม

ทำไมทรัมป์จะต้องไปแคร์อะไรกับเสียงก่นด่าของประชาคมโลก เพราะสำหรับทรัมป์แล้ว นี่คือการทำสัญญาที่เขาเคยให้ไว้ตอนหาเสียง

ทรัมป์เคยปราศรัยไว้เช่นนี้จริงๆ ว่า “จะอยู่เคียงข้างอิสราเอลและย้ายสถานทูตไปที่เยรูซาเลม”

จากการปราศรัยของทรัมป์ในหลายๆ เวที เขามักจะพูดว่า อิสราเอลคือมิตรประเทศที่ใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐอเมริกา

การสนับสนุนอิสราเอลจะทำให้เกิดสันติภาพในตะวันออกกลาง

เพราะสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลเป็นพันธมิตรในการต่อต้านการก่อการร้าย

และเขาก็ได้รับความยกย่องสนับสนุนจากคนจำนวนมากที่เห็นด้วยกับนโยบายของเขา

เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า การเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกานั้นไม่ใช่แค่เรื่องของการต่อสู้เชิงนโยบาย แต่มันก็คือเรื่องของภาพลักษณ์ และการรู้ทันสื่อ

นักการเมืองอาจไม่ได้เก่งหรือดูดีมาแต่กำเนิด แต่พวกเขาเหล่านี้จะต้องได้รับการสนับสนุนจากนักสร้างภาพลักษณ์มืออาชีพ

นักการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งจะต้องมีบุคลิกที่ชนะใจคน และใช้สื่อให้ถูกต้อง

ซึ่งตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้งปรากฏอยู่ในโทรทัศน์ ซึ่งทำให้การแพร่กระจายของทีวีไปทั่วสหรัฐอเมริกา ทุกบ้านเรือนมีทีวี และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คือทำให้เคนเนดี้ที่มีบุคลิกดีกว่า สามารถเอาชนะนิกสันผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองมากกว่าในการรณรงค์หาเสียงประธานาธิบดี ค.ศ.1960

การรณรงค์หาเสียงในสหรัฐอเมริกาจึงต้องมีการอบรมบุคลิก และการพูดในที่สาธารณะ

เช่นเดียวกับการแต่งหน้า รองเท้า ทำผม การจัดเน็กไท สีสูท และเสื้อผ้า

ซึ่งถ้าเป็นผู้หญิงก็อาจจะมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นกว่านี้ เช่น แม้แต่เรื่องสีลิปสติกก็อาจจะเป็นเรื่องสำคัญ

 

นอกจากจะต้องมีภาพลักษณ์ที่ดูดีและรู้เท่าทันสื่อแล้ว นักการเมืองจะต้องรู้และเข้าใจว่า การเมืองล้วนคือเรื่องในท้องถิ่น (All Politics is Local)

หมายความว่า นักการเมืองต้องพูดในสิ่งที่คนอยากฟัง ซึ่งนั่นก็คือการที่นักการเมืองจะต้องเข้าใจประชาชนของเขา รู้ว่าประชาชนมีปัญหาอะไร ต้องการอะไร อยากฟังอะไร

เขาอาจจะยังไม่ได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ประชาชนก็ได้ พวกเขาแค่ต้องพูดในสิ่งที่คนอยากฟัง ซึ่งจะทำให้ประชาชนพอใจ ซึ่งจะมีผลให้เขาได้รับเลือกมาเป็นผู้แทนของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

และสำหรับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์นั้น คะแนนนิยมที่ได้เพิ่มมากขึ้นยังเป็นตัวช่วยสร้างแรงกดดันให้ ส.ส. และ ส.ว. ในสภาคองเกรสช่วยผลักดันนโยบายของเขาให้ประสบความสำเร็จ

แต่สำหรับนักการเมืองที่แคร์บทบาทตัวเองในเวทีโลกนั้นเล่า แท้จริงแล้วนโยบายต่างประเทศก็คือการหาทางออกให้กับปัญหาของประเทศ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของสังคม จากประเด็นปัญหาสาธารณะในท้องถิ่น มาเป็นประเด็นสาธารณะหรือบทบาทของตนเองในเวทีโลก

หากย้อนดูในอดีต ผู้ก่อสงครามในแต่ละครั้งล้วนเกิดจากปัญหาของประเทศตนเอง

การวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันจึงต้องมามองว่า อะไรคือสิ่งที่คนอเมริกันต้องการมากที่สุด

เพราะสำหรับนักการเมือง นโยบายก็คือนโยบาย มันไม่มีนโยบายต่างประเทศที่แตกต่างจากนโยบายภายในประเทศ เพราะโจทย์มันมีเพียงข้อเดียวคือการรักษาและเพิ่มพูนฐานเสียงภายในประเทศหรือภายในเขตเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด

ด้วยเหตุนี้บางครั้งนโยบายต่างประเทศจึงไม่ได้ออกมาจากการคิดคำนวณถึงผลประโยชน์แห่งชาติอย่างละเอียด มันอาจไม่ได้เกิดมาจากการเจรจาระหว่างประเทศ และมันอาจจะไม่ได้เกิดจากการตัดสินตกลงใจของหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศ

ในปัจจุบันนโยบายต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่จะช่วยรักษา “ฐานเสียง” และ “การสนับสนุน” ภายในประเทศ ที่จะต้องรักษาไว้ให้เหนียวแน่น

เหตุผลในการประกาศนโยบายของทรัมป์ จึงไม่ได้ถูกมองแค่เรื่องการเมืองระหว่างประเทศ

แต่มันคือผลของปัญหาของสังคมอเมริกันที่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ (จากวิกฤติซัพไพรม์ปี ค.ศ.2008) ปัญหาความมั่นคง (จากเหตุการณ์ 9-11 และการก่อการร้ายในใจกลางเมืองหลายเมืองในสหรัฐอเมริกาในตลอดช่วงระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา)

และนี่ก็คือปัญหาของสังคมอเมริกัน นี่คือสิ่งที่ประชาชนอเมริกันมีความกังวลใจ นี่ก็คือสาเหตุที่ทำให้ทรัมป์กำหนดนโยบายต่างประเทศขึ้นมาเพื่อส่งเสริมสถานภาพของเขาในการเมืองภายในประเทศ

การเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของสังคมอเมริกัน แล้วฉวยโอกาสพูดในสิ่งที่คนอเมริกันอยากฟัง การพูดถึงการให้ความสำคัญกับอเมริกาก่อน (America First) คำสัญญาในการทำให้สหรัฐอเมริกากลับไปหาวันชื่นคืนสุข (Make America Great Again) จึงได้เป็นพลังในการสนับสนุนให้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นจากประชาชนอเมริกัน

ณ ที่นี้ ผลประโยชน์แห่งชาติในเวทีระหว่างประเทศ จึงไม่ได้มีความสำคัญมากไปกว่าความกังวลในเรื่องปัญหาปากท้อง และความสงบภายในประเทศ และการโหยหาการกลับสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้งของสหรัฐอเมริกา

 

หากยังจำได้ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งในปีที่ผ่านมานั้น โพลและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่านางคลินตันมีคะแนนเสียงนำนายทรัมป์ แต่นั่นเป็นเพราะโพลทั้งหลายนั้นไม่ได้ทำโดยเข้าไปนั่งในใจคนอเมริกัน

ไม่ได้เข้าใจว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่หาเสียงด้วยความจริงทางเลือก (alternative truth) หรือพูดง่ายๆ ว่า โกหก ถึงได้สามารถกวาดคะแนนเสียงอย่างมโหฬาร (แม้จะไม่ได้เป็นเสียงส่วนใหญ่) จนทำให้ได้ชัยชนะทางเทคนิคและได้กลายมาเป็นประธานาธิบดีแห่งประเทศมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกา และทำนโยบายสุดโต่งอย่างมากมายในปัจจุบัน

นโยบายสุดโต่งของทรัมป์ ผู้ซึ่งไม่ได้แคร์อะไรนอกจากการเมืองภายในประเทศ จึงได้ออกนโยบายต่างประเทศที่ไม่แคร์ประชาคมโลกออกมามากมาย

ตั้งแต่การประณามผู้อพยพชาวเม็กซิโก การไม่สนับสนุนการค้าเสรี การประกาศจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ

การประกาศให้ใช้กฎหมายอย่างรัดกุมในการจัดการกับผู้ลักลอบอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

การไม่ให้คนมุสลิมจาก 7 ประเทศเข้าสหรัฐอเมริกา

จนกระทั่งการสนับสนุนให้อิสราเอลเป็นเจ้าของเยรูซาเลมเพียงประเทศเดียว

จะเห็นว่านโยบายส่วนใหญ่ของทรัมป์ในสายตาชาวโลกดูเหมือนจะเป็นนโยบายที่เห็นแก่ตัว คับแคบ ไม่สร้างสรรค์ สร้างผลกระทบด้านลบทั้งต่อประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศคู่เจรจา

ทรัมป์จึงไม่ใช่แค่นักฉวยโอกาสธรรมดาๆ เขาคือผู้ที่เข้าใจมากที่สุดว่า การเมืองล้วนคือเรื่องของท้องถิ่น และการประกาศให้เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลก็คือส่วนต่อขยายจากนโยบายท้องถิ่นของเขานั่นเอง