พิศณุ นิลกลัด : “ให้ลูกสาวเล่นเทนนิส ดีที่สุด”

พิศณุ นิลกลัด

การแข่งขันเทนนิสยูเอส โอเพ่น แกรนด์สแลมรายการสุดท้ายของปีจบลงเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา

สโลน สตีเฟ่นส์ คว้าแชมป์รายการแกรนด์สแลม ครั้งแรกในชีวิต

ส่วน ราฟาเอล นาดาล ได้แชมป์แกรนด์สแลม ครั้งที่ 16

สิ่งที่คนพูดถึงด้วยความตะลึงในยูเอส โอเพ่น ครั้งนี้ คือเงินรางวัลของแชมป์หญิงเดี่ยวและชายเดี่ยวที่ได้คนละ 3.7 ล้านดอลลาร์ หรือ 122 ล้านบาท เป็นเงินรางวัลแชมป์ที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการแข่งขันเทนนิสทุกรายการที่เคยมี

ตอนที่ สโลน สตีเฟ่นส์ ได้รับเช็ครางวัล 3.7 ล้านดอลลาร์ เธอเห็นตัวเลขแล้วถึงกับตาโต อ้าปากค้าง พร้อมกับอุทานด้วยความตะลึงว่า “That”s a lot of money – oh my god!” เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมลั่นสนาม

แต่กว่าที่แชมป์รายการยูเอส โอเพ่น จะได้เงินรางวัลมากขนาดนี้ และกว่าที่แชมป์ผู้หญิงเดี่ยวจะได้เงินรางวัลเท่ากับแชมป์ผู้ชายก็ต้องมีการต่อสู้ เรียกร้องจากบรรดานักเทนนิสหญิงเป็นเวลานานหลายสิบปี

นักเทนนิสหญิงที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำการต่อสู้สิทธิที่เท่าเทียมของนักเทนนิสหญิง คือ บิลลี่ จีน คิง อดีตนักเทนนิสหมายเลข 1 ของโลก แชมป์หญิงเดี่ยวรายการแกรนด์สแลมครบทั้ง 4 รายการ

นับตั้งแต่ปี 1966 ถึง 1975 เธอได้แชมป์แกรนด์สแลมทั้งหมด 12 รายการ

ตลอดชีวิตการเป็นนักเทนนิสอาชีพ ตั้งแต่ปี 1959 ถึง 1983 ได้แชมป์เทนนิสต่างๆ รวมทั้งสิ้น 67 รายการ ได้เงินรางวัลรวม 1.9 ล้านดอลลาร์ หรือ 62 ล้านบาท เท่ากับครึ่งหนึ่งของที่ สโลน สตีเฟ่นส์ ได้รับจากการเป็นแชมป์ยูเอส โอเพ่น ปีนี้รายการเดียว!

แม้จะเทียบค่าเงินเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ก็ยังถือว่าน้อยอยู่ดี ทำให้ บิลลี่ จีน คิง เป็นผู้นำในการเรียกร้องความเท่าเทียมเรื่องเงินรางวัลของนักเทนนิสหญิงกับชาย ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่มากกว่าเรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องของศักดิ์ศรี

โดยก่อนการแข่งขันยูเอส โอเพ่น ปี 1973 จะเริ่มขึ้น บิลลี่ จีน คิง ยื่นคำขาดกับผู้จัดการแข่งขันว่า จะไม่ลงแข่งหากเงินรางวัลแชมป์ของผู้หญิงกับผู้ชายไม่เท่ากัน

ผู้จัดเกรงว่าภาพลักษณ์จะไม่ดี หาก บิลลี่ จีน คิง แชมป์ยูเอส โอเพ่น ปี 1972 จะไม่กลับมาป้องกันแชมป์ในปี 1973 จึงต้องทำตามคำขาดของเธอ ทำให้ยูเอส โอเพ่น ปี 1973 เป็นครั้งแรกที่เงินรางวัลแชมป์หญิงเดี่ยวและชายเดี่ยวเท่ากัน คือ 25,000 ดอลลาร์ หรือ 827,000 บาท

เรื่องราวการต่อสู้ทั้งในและนอกคอร์ตของ บิลลี่ จีน คิง เพื่อความเท่าเทียมของนักเทนนิสหญิง ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Battle of the Sexes ซึ่งจะเข้าฉายที่อเมริกาในวันที่ 22 กันยายนนี้

โดย เอ็มม่า สโตน เจ้าของรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม คนล่าสุด รับบทเป็น บิลลี่ จีน คิง

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมสมัยก่อน นักเทนนิสหญิงถึงได้เงินรางวัลน้อยกว่านักเทนนิสชาย

ผู้จัดการแข่งขันให้เหตุผลว่า นักเทนนิสหญิงแข่งน้อยเซ็ตกว่านักเทนนิสชาย โดยนักเทนนิสหญิงต้องชนะ 2 ใน 3 เซ็ต

ส่วนนักเทนนิสชายต้องชนะ 3 ใน 5 เซ็ต เมื่อนักเทนนิสชายแข่งมากเซ็ตกว่าก็สมควรได้เงินรางวัลมากกว่า

การแข่งขันวิมเบิลดัน ปี 1968 ร็อด เลเวอร์ แชมป์ชายเดี่ยว ได้เงินรางวัล 2,000 ปอนด์ หรือ 88,000 บาท ซึ่งนับว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับสมัยนี้

แต่เงินรางวัลแชมป์หญิงเดี่ยววิมเบิลดัน ปี 1968 น้อยยิ่งกว่า โดย บิลลี่ จีน คิง แชมป์ในปีนั้น ได้เพียง 750 ปอนด์ หรือ 33,000 บาท!

เรื่องเงินรางวัลที่ไม่เท่าเทียมกันของแชมป์หญิงและชายในวิมเบิลดันเป็นเรื่องที่ถูกวิจารณ์ตลอดว่าเป็นการไม่ให้เกียรติ ไม่ให้ความสำคัญกับนักเทนนิสหญิง ซึ่งนักเทนนิสหญิงเห็นเหมือนกันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของศักดิ์ศรี ความเท่าเทียม มากกว่าเรื่องเงินทอง

ดังนั้น นับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา ทางผู้จัดการแข่งขันวิมเบิลดัน ได้ปรับเงินรางวัลแข่งขันของนักเทนนิสหญิงให้เท่ากับนักเทนนิสชาย

วิมเบิลดัน เทนนิสรายการแกรนด์สแลมที่เก่าแก่ที่สุด เป็นเทนนิสแกรนด์สแลมรายการท้ายสุดที่ปรับเงินรางวัลนักเทนนิสหญิงให้เท่ากับชาย ซึ่งถือเป็นชัยชนะของนักเทนนิสหญิงทุกคน

วงการเทนนิสหญิงมาไกลมากในเรื่องของเงินรางวัล

ในการแข่งขันยูเอส โอเพ่น ปี 1968 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มให้เงินรางวัลนักเทนนิส ปีนั้น เวอร์จิเนีย เวด เอาชนะ บิลลี่ จีน คิง ได้เงินรางวัล 6,000 ดอลลาร์ หรือ 120,000 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนยุคนั้น)

ปีนี้ตอน สโลน สตีเฟ่นส์ รับเช็คเงินรางวัล 3.7 ล้านดอลลาร์ หรือ 122 ล้านบาท ผู้บรรยายชาวอเมริกันของช่อง ESPN ก็พูดทีเล่นทีจริงว่า “พ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลาย หากอยากสนับสนุนให้ลูกสาวเล่นกีฬา เล่นเทนนิสนั้นดีที่สุด”