“ยูริ กาการิน” นักบินอวกาศคนแรกของโลก กับปริศนาการเสียชีวิต

“ยูริ กาการิน” ชาวรัสเซีย เป็นที่รู้จักภายในชั่วข้ามคืน หลังเขาเดินทางขึ้นไปในอวกาศได้สำเร็จในวันที่ 12 เม.ย. 1961 ทำให้นักบินชาวโซเวียตผู้นี้ถูกจารึกว่าเป็นนักบินอวกาศคนแรกของโลก

เขาเสียชีวิตในเหตุการณ์เครื่องบินตกลึกลับเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว เพียงแค่ 7 ปีหลังประสบความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ที่นับเป็นการปฏิวัติการโฆษณาชวนเชื่อในยุคโซเวียต

การขึ้นไปยังอวกาศช่วงสั้นๆ เป็นเวลา 108 นาทีซึ่งทำได้สำเร็จก่อนความพยายามของสหรัฐเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ทำให้เขากลายเป็นวีรบุรุษของรัสเซียแม้กระทั่งหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991

กาการินเกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 1934 ในหมู่บ้านชนบทห่างไกลคลูชิโน ห่างจากกรุงมอสโกไปทางตะวันตกราว 200 กิโลเมตร โดยพ่อแม่ของเขาทำงานในฟาร์มสังคมนิยมแบบร่วมมือสไตล์โซเวียต

การเรียนของเขาต้องหยุดชะงักจากการบุกรุกของนาซีเมื่อปี 1941 บ้านของครอบครัวถูกทางการยึดไปและบีบบังคับให้พวกเขาต้องย้ายไปอยู่ในกระท่อมที่สร้างจากโคลน

จากความหลงใหลคลั่งไคล้ในเครื่องบินตั้งแต่เด็กทำให้กาการินสมัครเข้าร่วมสโมสรนักบินตั้งแต่อายุ 20 ปี และภายหลังได้รับการฝึกฝนเป็นนักบินขับไล่ของกองทัพ

ในฐานะของสมาชิกกองทัพอากาศโซเวียต เมื่อปี 1959 กาการินเสนอตัวเป็นอาสาสมัครร่วมกับนักบินอีก 19 คนเข้าฝึกบินในโครงการที่เรียกว่าเป็น “ระบบการบินรูปแบบใหม่” นักบินกลุ่มนี้ถูกคัดออกจนเหลือ 6 คน รวมถึงกาการินด้วย

ในเดือนเมษายน 1961 เขาได้รับการเลือกให้ปฏิบัติภารกิจเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ขึ้นบินในอวกาศ โดยมีการประกาศเรื่องนี้ก่อนหน้าการบินเพียงไม่กี่วันเท่านั้น

ถึงตอนนั้น กาการินอายุ 27 ปีและแต่งงานกับนางพยาบาล โดยทั้งคู่มีลูกสาวด้วยกัน 2 คน

Soviet cosmonaut Yuri Gagarin, first cosmonaut in history, poses on the beach of Glasma with his wife Valentina and daughter Jelena, on Glasma beach in June 1960. (Photo by AFP)

ในวันที่ 12 เมษายน 1961 เวลา 09.07 น. ตามเวลาท้องถิ่นของของกรุงมอสโก กาการินอุทานคำพูดอันโด่งดังออกมา “โปเยคาลี” ที่แปลว่า “ไปกันเถอะ” ในขณะที่ยานอวกาศของเขาถูกยิงออกจากฐานและส่งเขาขึ้นไปในวงโคจร

ในเวลา 09.12 น. เขาพูดผ่านวิทยุว่า “ผมเห็นโลกแล้ว มันมหัศจรรย์มาก”

หลังเที่ยวบินที่กินเวลา 108 นาที กาการินกลับสู่โลกด้วยการกระโดดร่ม นับเป็นมนุษย์คนแรกที่เดินทางผ่านเขตแดนของโลกออกไปยังอวกาศ

2 วันต่อมา เขาได้รับการต้อนรับอย่างวีรบุรุษในกรุงมอสโก ผู้คนหลายพันออกมายังท้องถนนเพื่อมอบดอกไม้ให้เขา โดยเขาได้รับการเฉลิมฉลองด้วยการนั่งรถเปิดประทุนไปยังสถานที่ต่างๆ

รัฐบาลโซเวียตส่งวีรบุรุษอวกาศของพวกเขาไปใน “ปฏิบัติการสันติภาพ” ตามสถานที่ต่างๆ และเขาได้พบปะกับผู้นำโลกจำนวนมากตั้งแต่ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ ไปจนถึงประธานาธิบดีฟิเดล คาสโตร ของคิวบา

เขากลายเป็นสัญลักษณ์ที่มีคุณค่ามากเกินกว่าที่จะเสี่ยงในปฏิบัติการอันตรายใดๆ ก็ตาม ทำให้อาชีพในการเป็นนักบินอวกาศของเขาต้องหยุดชะงักลง

(Photo by AFP)

ภาพจากโทรทัศน์ในช่วงไม่กี่ปีหลังจากเที่ยวบินอวกาศของเขาแสดงให้เห็นว่าเขาน้ำหนักขึ้น และดูเหมือนจะไม่อยู่ในสภาพที่สามารถขับเครื่องบินได้

นายพลนิโคไล คามานิน ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกนักบินอวกาศของโซเวียตในเวลานั้น เขียนในไดอารี่ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1995 ว่า กาการินใช้เวลาไปมากในการรับแขก

“ทุกๆ คนอยากดื่มกับกาการิน “เพื่อสานสัมพันธ์” “เพื่อความรัก” และเพื่อเหตุผลอื่นๆ และดื่มจนหมดแก้ว” เขาบอก

กาการินต้องขอให้ทางการยกเลิกคำสั่งห้ามบิน และในปี 1968 เขาได้รับอนุญาตให้กลับมาบินได้ในที่สุด โดยได้รับการฝึกในฐานะนักบินขับเครื่องบินเจ็ตอีกครั้ง

ในการฝึกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 1968 เครื่องบินขับไล่มิกของเขาหมุนขณะบินด้วยความเร็วสูงและตกกระแทกพื้น

กาการิน เสียชีวิตด้วยวัย 34 ปี เหตุการณ์แวดล้อมยังคงไม่แน่ชัด และอุบัติเหตุดังกล่าวถูกปกปิดเป็นเวลาหลายวัน

และหลังจากนั้นราว 16 เดือน สหัฐอเมริกาก็ ก้าวนำสหภาพโซเวียตไปอีกก้าว ด้วยการส่งมนุษย์ขึ้นเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จ

 

การสอบสวนเรื่องดังกล่าวกลายเป็นความลับทางราชการ ส่งผลให้เกิดมีทฤษฎีสมคบคิดออกมาเป็นจำนวนมาก

เอกสารที่ถูกปลดจากชั้นความลับ 50 ปีต่อมาระบุว่าสาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้คือ การหักหลบอย่างฉับพลัน เพื่อหลีกเลี่ยงบอลลูนตรวจอากาศ และทำให้กาการินและนักบินอีกคนสูญเสียการควบคุม อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามอยู่ เอกสารจากการสอบสวนทั้ง 29 ชุดไม่เคยถูกตีพิมพ์แบบเต็มฉบับ

ผู้คนหลายพันเข้าร่วมงานรัฐพิธีศพของกาการินที่จัดขึ้น 3 วันหลังเครื่องบินตก

ทว่า สถานะของผู้บุกเบิกการสำรวจอวกาศผู้นี้กลายเป็นอมตะ โดยมีชีวิตอยู่ในอนุสาวรีย์ ภาพถ่ายและภาพยนตร์ เช่นเดียวกับอาคารและสถานที่ต่างๆ ที่ตั้งตามชื่อของเขาเพื่อเป็นเกียรติ ซึ่งรวมถึงฐานปล่อยยานที่สถานีอวกาศไบโคนูร์ คอสโมโดรมในคาซัคสถานและหลุมบนดวงจันทร์

แม้ว่าการเสียชีวิตของเขายังเป็นปริศนาถึงจะผ่านมา 50 ปีแล้วก็ตามที

 

(Photo by RIA NOVOSTI / AFP)