ไอดอลเกาหลี อ่านหนังสือเฟมินิสม์สะเทือนถึงใคร?

กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์เกาหลีแทบจะทันทีเมื่อ “ไอรีน” (Irene) หนึ่งในสมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดัง “เรดเวลเว็ท” (Red Velvet) สังกัดSM Entertainment กล่าวในงานแฟนมีตติ้งว่าเธออ่านนิยายชื่อ “1982년생 김지영” หรือ “คิมจียอง ผู้เกิดปี 1982” ซึ่งนิยายเรื่องดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตั้งคำถามถึงความเท่าเทียมกันทางเพศ หลังจากงานแฟนมีตติ้ง เธอถูกตั้งกระทู้โจมตีในโลกออนไลน์เกาหลีอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแฟนๆผู้ชายบางส่วนที่ออกมาตอบกระทู้ว่าจะเลิกสนับสนุนเธอ บ้างก็ว่าเสียใจอย่างยิ่งที่ผ่านมาเขาเคยสนับสนุนเธอ หรือหลายรายถึงขั้นทำลายการ์ดรูปไอรีนด้วยการเผาทิ้งแล้วถ่ายรูปมาลงอินเตอร์เน็ต เหตุการณ์นี้สร้างความงุนงงและประหลาดใจให้แฟนๆชาวต่างชาติไม่น้อย ส่วนใหญ่ตั้งข้อสงสัยว่าเนื้อหาของหนังสือ “คิมจียอง ผู้เกิดปี 1982” เป็นปัญหาอย่างไร ?

.
“คิมจียอง ผู้เกิดปี 1982” ประพันธ์โดย “โชนัมจู” ถูกตีพิมพ์ในปี 2016 มียอดขายกว่า 270,000 เล่ม และเป็นที่นิยมในกลุ่มคนเกาหลีทุกวัย ประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่างมุนแจอินเองก็รับไปอ่านด้วยหนึ่งเล่ม จึงไม่แปลกนักหากไอรีนจะเลือกอ่านหนังสือเล่มนี้เพราะความนิยมของตัวหนังสือ
พล็อตของหนังสือเล่าถึงเรื่องราวของ “คิมจียอง” ผู้แต่งให้คิมจียองเป็นดั่งตัวแทนของผู้หญิงเกาหลีที่เกิดในช่วงนั้น โดยเริ่มเล่าเรื่องจากเทศกาลชูซ็อก (Chuseok) หรือเทศกาล Thanksgiving ของประเทศเกาหลี เป็นวันหยุดยาวและวันเทศกาลสำคัญที่จะมีขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หรือช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง โดยชาวเกาหลีถือว่าชูซ็อกเป็นวันครอบครัว วันหยุดยาวมีขึ้นเพื่อให้ทุกคนกลับไปอยู่กับครอบครัว ซึ่งส่วนนี้เองที่เป็นข้อที่ผู้เขียนยกขึ้นมาถกเถียงในหนังสือโดยผ่านตัวละครคิมจียอง ในหนังสือกล่าวว่าเทศกาลชูซ็อกเป็นเทศกาลที่น่าหดหู่สำหรับภรรยา เพราะครอบครัวที่เธอต้องอยู่ด้วยนั้นไม่ใช่ครอบครัวของเธอเอง แต่เป็นครอบครัวของสามี และชูซ็อกไม่ได้เป็นวันหยุดพักผ่อนสำหรับภรรยาแต่อย่างใด เพราะเธอต้องขลุกอยู่ในครัวทั้งวันกับแม่สามีเพื่อเตรียมอาหารหมดทุกอย่างให้กับทุกคนที่จะมา แต่ขณะที่ผู้หญิงนั่งทำครัวงกๆทั้งวัน ผู้ชายกลับได้นั่งพักผ่อนสบายๆและดื่มโซจูสังสรรค์ และเมื่อความเหนื่อยทั้งหมดถาโถมเข้ามา คิมจียองก็วิจารณ์พ่อสามีอย่างตรงไปตรงมาที่พ่อสามีบังคับให้เธอต้องมาหาครอบครัวสามีตลอดในเทศกาลชูซ็อก ทำให้เธอไม่สามารถกลับไปเยี่ยมครอบครัวของเธอได้เลย หลังจากที่ทุกคนได้ยิน ทุกคนก็ช็อคไปตามๆกัน สามีของคิมจียองรีบพาคิมจียองออกมาจากบ้านและบอกว่าเธอดูไม่เหมือนตัวเอง อาจจะมีอะไรครอบงำอยู่ เขาจึงพาเธอไปพบจิตแพทย์


ข้อถกเถียงเรื่องหน้าที่ของผู้หญิงในวันหยุดยาวที่ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นแรงงานภายในครอบครัวทุกวันหยุดไม่ได้มีแค่เฉพาะวันชูซ็อกเท่านั้น แต่วันหยุดเทศกาลซอลลัล (Seollal หรือวันตรุษ) ก็กำลังกลายเป็นที่ถกเถียงในผู้หญิงเกาหลีรุ่นใหม่เช่นกัน ด้วยพวกเธอคิดว่ามันไม่ยุติธรรมสำหรับพวกเธอที่ต้องทำงานหนัก ขณะที่ผู้ชายในบ้านสามารถนอนเอกเขนกได้ทั้งวันอยู่เฉยๆ และหากสลับตำแหน่ง ลองพวกเธอไปนอนเล่นบนโซฟาเฉยๆบ้างพวกเธอจะถูกมองเป็น “ภรรยาที่แย่” ไปโดยทันที เพราะผู้ชายคิดว่างานครัวเป็นงานของผู้หญิงเท่านั้น และผู้หญิงทุกคนต้องทำ มิตรสหายชาวเกาหลีหลายคนก็ทำหน้าเหนื่อยๆก่อนช่วงวันหยุดชูซ็อกเมื่อถูกไต่ถามถึงกิจกรรมที่พวกเธอวางแผนจะทำในช่วงวันหยุด พวกเธอแบ่งปันประสบการณ์ให้ฟังว่าแม้พวกเธอจะยังไม่ได้แต่งงานแต่เธอก็ต้องไปเยี่ยมครอบครัวของฝังคุณพ่อและช่วยคุณแม่และคุณย่าทำอาหารอยู่ในครัว ทำให้พวกเธอไม่ได้รู้สึกว่าชูซ็อกเป็นวันหยุดเท่าใดนัก

.
หนังสือยังกล่าวถึงการถูกหล่อหลอมตัวตนของคิมจียองตั้งแต่เด็กจนโต คิมจียองเกิดเป็นลูกคนกลาง เธอมีพี่สาวหนึ่งคนและน้องชายอีกหนึ่งคน และเธอได้รับการปฏิบัติโดยไม่เท่าเทียมกันกับน้องชายมาตั้งแต่เด็กจนเธอคิดว่าการที่ผู้ชายได้รับปฏิบัติที่ดีกว่านั้นเป็น “เรื่องปกติ” ด้วยว่าสังคมเกาหลีนิยมลูกผู้ชายเหมือนสังคมจีน ลามไปถึงการที่ผู้หญิงต้องยอมรับการถูกลวนลามหรือคุกคามทางเพศในที่ทำงานให้ได้โดยห้ามมีปากมีเสียง (ซึ่งประเด็นนี้ในเกาหลีกำลังถูกกระแส #MeToo ไล่เปิดเผยไปเรื่อยๆ) ซึ่งหนังสือเล่มนี้กล่าวได้ว่าสะท้อนสิ่งที่ผู้หญิงเกาหลีต้องเผชิญในความเป็นจริงแทบทั้งหมดจากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในประเทศเกาหลีใต้

การก้าวขึ้นมามีสิทธิเท่าเทียมทางเพศของผู้หญิงเกาหลีจึงอาจจะเป็นสิ่งที่ผู้ชายเกาหลีรับไม่ได้นัก เนื่องจากพวกเขามีความสุขดีกับการที่ตนเองได้รับสิทธิ์ในพื้นที่สาธารณะมากกว่าขณะที่ผู้หญิงถูกเบียดขับให้อยู่แต่ในพื้นที่ส่วนตัวจนกลายเป็นเรื่องที่ผู้ชายเกาหลีคุ้นชิน การที่จะเห็นผู้หญิงเกาหลีได้รับโอกาสเท่าๆกับผู้ชายพวกเขามองว่าเป็นสิ่งที่ผิด

.
มิตรสหายชาวเกาหลีท่านหนึ่ง (ไม่ประสงค์ออกนาม) กรุณาเล่าให้ฟังว่า “ผู้ชายเกาหลีส่วนใหญ่คิดว่าพวกเขาควรจะได้รับโอกาสในการประกอบอาชีพมากกว่าผู้หญิง พวกเขาคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วในการที่พวกเขาจะได้รับเลือกให้ได้งานก่อน เลื่อนตำแหน่งก่อน หรือได้เงินเดือนมากกว่าผู้หญิง เพราะพวกเขาคิดว่าพวกเขาเสียสละมากกว่าจากการที่ต้องไปเกณฑ์ทหารสองปี และจากสองปีตรงนั้นทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเตรียมตัวเข้าทำงานมากกว่า พวกเขาจึงควรได้รับอภิสิทธิ์ชดเชยและผู้หญิงไม่ควรได้รับโอกาสเท่าพวกเขา”

.
จากการบอกเล่าข้างต้น จึงพอจะทำความเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุผลกลใด “ไอรีน” ถึงได้ถูกโจมตีจากผู้ชายบนโลกโซเชี่ยลมากนัก เพราะเธออ่านหนังสือที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับ “อภิสิทธิ์” เหล่านั้นของผู้ชายเกาหลี ซึ่งพวกเขาอาจจะมองว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่เธอจะสงสัยในเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติในสังคมเกาหลี

. แต่ไอรีนก็ไม่ใช่กรณีแรกที่ถูกชาวเน็ตเหล่านั้นโจมตี ก่อนหน้านี้ “ซนนาอึน” หนึ่งในสมาชิกเกิร์ลกรุ๊ป “เอพิงค์” (Apink) ก็โดนโจมตีบนบัญชีอินสตาแกรมส่วนตัวของเธออย่างหนักเมื่อเธออัพรูปที่ถ่ายกับโทรศัพท์มือถือของเธอเอง และเคสของโทรศัพท์ของเธอแสดงข้อความว่า “GIRLS CAN DO ANYTHING” ทำให้เธอโดนกระหน่ำโจมตีด้วยคอมเม้นต์แย่ๆแค่เพราะพวกเขาเห็นว่าข้อความบนเคสโทรศัพท์ของเธอสื่อความหมายไปในทางเฟมินิสม์

.
ไอดอลที่แม้จะไม่ได้แสดงออกตรงๆว่าพวกเธอสนับสนุนเฟมินิสม์หรือเป็นเฟมินิสต์ก็กลายเป็นประเด็นอ่อนไหวในสังคมนิยมชายได้อย่างน่าประหลาด หรืออาจเป็นเพราะว่าไอดอลคือผู้มีอิทธิพลต่อเทรนด์ในขณะนั้น ทำให้กระแสเฟมินิสม์ในสังคมชายเป็นใหญ่แบบเกาหลีใต้มีแรงกระเพื่อมขึ้นมาและไปสั่นคลอนสภาพที่เป็นอยู่เดิม (Status Quo) และคุกคามความเป็นปกติของความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมหรือเปล่า

.
กระนั้น ทรรศนะที่สะท้อนออกมาจากกลุ่มผู้ชายชาวเกาหลีใต้จากกรณีไอรีนและซนนาอึนนั้น ชัดเจนว่าพวกเขายังไม่พร้อมที่จะแบ่งสันปันอำนาจในพื้นที่สาธารณะให้กับผู้หญิงแม้เพียงนิด แต่เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วที่พวกเขาจะครองอำนาจในพื้นที่สาธารณะนี้ต่อไปและเบียดขับให้ผู้หญิงอยู่แต่ในพื้นที่ส่วนตัวแบบเดิม นอกจากนี้ ปัญหาใหญ่ของกระแสเฟมินิสม์ในเกาหลีใต้ที่ทำให้เกิดแรงต้านมหาศาลคือภาพจำและความเข้าใจผิดของผู้ชายชาวเกาหลีต่อเฟมินิสม์ พวกเขาเข้าใจว่าเฟมินิสม์คือการเกลียดผู้ชายและต้องการสถาปนาความผู้หญิงเป็นใหญ่แทนที่ชายเป็นใหญ่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว เหล่าเฟมินิสต์ไม่ได้เรียกร้องให้ผู้หญิงได้รับสิทธิ์ใดๆมากกว่าผู้ชาย เพียงแต่เรียกร้องความเท่าเทียมกันเท่านั้น

แปลสรุปเนื้อหาจากหนังสือ “1982년생 김지영” เป็นภาษาไทยโดยคุณ @pltxic