คุยกับทูต | มุฮัมมัด อับดุล ฮัย บังกลาเทศ มุ่งสร้างวัฒนธรรมในเวทีโลก (จบ)

ไทยและบังกลาเทศเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยว ผ่านโบราณสถานของศาสนาพุทธที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในทั้งสองประเทศ

นายมุฮัมมัด อับดุล ฮัย (H.E. Mr. Mohammed Abdul Hye) เอกอัครราชทูตบังกลาเทศ ประจำประเทศไทยกล่าวว่า

“ในขณะที่เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม เราก็ต้องเดินนำหน้าในด้านวัฒนธรรมด้วย โดยการใช้มาตรการที่จำเป็นเนื่องจากวัฒนธรรมของเราสามารถสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งในเวทีโลกได้”

รัฐบาลบังกลาเทศมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งที่จำเป็นเหมือนในอดีตเพื่อปรับปรุงและพัฒนาวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับความคิดและความเชื่อของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จะได้ไม่ลืมวัฒนธรรมของตนเอง

นายชีค มูจิบู เราะห์มาน (Sheikh Mujibur Rahman) ประธานาธิบดีคนแรกและเป็นบิดาผู้ก่อตั้งประเทศบังกลาเทศ

นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศคนปัจจุบันคือ ชีค ฮาสินา (Sheikh Hasina) ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศมาแล้ว 4 สมัย เป็นบุตรสาวของนายชีค มูจิบู เราะห์มาน (Sheikh Mujibur Rahman) ประธานาธิบดีคนแรกและเป็นบิดาผู้ก่อตั้งประเทศบังกลาเทศ

เธอกล่าวถึงบิดาแห่งชาติ ที่ได้ให้ปรัชญาวัฒนธรรมไว้เมื่อปี 1974 ว่า

“เราต้องสร้างภาษา วรรณกรรม วัฒนธรรมและมรดกของประเทศของเราบนเวทีโลก หากเราต้องการยืนด้วยลำแข้งของเราเองในฐานะประเทศเอกราช”

นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กับเอกอัครราชทูตบังกลาเทศ ประจำประเทศไทย

ในยุคแห่งความเป็นสากล มีการผสมผสานวัฒนธรรมเข้าด้วยกันมากมาย แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เอกลักษณ์ความเป็นไทยลดน้อยลง และยังคงเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติ

“ในฐานะชาวต่างชาติ สำหรับผม สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของวัฒนธรรมไทยที่ผมสังเกตเห็นจนถึงตอนนี้ เห็นจะเป็นความอ่อนน้อมถ่อมตน ความมีอัธยาศัยไมตรี และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของผู้คนที่หลากหลาย ถือเป็นแง่มุมที่น่าสนใจที่สุดของวัฒนธรรมไทย”

“และระหว่างบังกลาเทศกับไทย เราก็มีสิ่งที่เหมือนกันมาก ได้แก่ ข้าว อาหารรสจัด และลมมรสุม”

“นอกจากนี้ ความคิดทางศิลปะของคนไทยเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนบังกลาเทศอาจมาเรียนรู้จากประเทศไทย”

“สำหรับผม การได้เดินทางไปเยี่ยมชมเกาะต่างๆ ของไทยในทะเลอันดามัน ถือเป็นการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผมที่นี่”

“ผมมองว่าในทุกวันนี้เศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยดีขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้การใช้ชีวิตของผมในฐานะเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยสะดวกสบายกว่าที่อื่นมาก”

“ระหว่างที่อยู่ในต่างประเทศหลายปี ผมมักคิดถึงบ้านเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวหมกบริยานี (Dhaka Biriyani) กับผักต่างๆ และส้มตำ คืออาหารไทยที่ผมชอบมากเป็นพิเศษ”

ป้อมลาลบาฆ (Lalbagh Fort)

“หากมีเวลาว่าง ผมมักจะออกไปเที่ยวนอกกรุงเทพฯ เพื่อเยี่ยมชมภูมิประเทศที่ล้อมรอบด้วยขุนเขาและป่าไม้เขียวขจีหลายแห่ง”

“ในบังกลาเทศเต็มไปด้วยโบราณคดีทางพุทธศาสนา มีพระธาตุทางพุทธศาสนามากมาย ซึ่งผมอยากเชิญคนไทยไปเยี่ยมชมสถานที่ดังกล่าว”

โสมาปุระมหาวิหาร (Somapura Mahavihara) คือหนึ่งในโบราณสถานที่สำคัญของบังกลาเทศ ที่บ่งบอกถึงอดีตที่เคยรุ่งเรืองของศาสนาพุทธในดินแดนนี้ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ Paharpur ทางตอนเหนือของกรุงธากา ประมาณ 4-5 ชั่วโมงด้วยรถยนต์

นายมุฮัมมัด อับดุล ฮัย (H.E. Mr. Mohammed Abdul Hye) เอกอัครราชทูตบังกลาเทศ ประจำประเทศไทย

บทบาทเอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำประเทศไทย

“ความมุ่งมั่นของผม คือการเสริมสร้างความสัมพันธ์โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ ให้มีการลงทุนทางภาคการท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างไทยกับบังกลาเทศให้มากขึ้น”

ไทยและบังกลาเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 51 ปี ในวันที่ 5 ตุลาคมที่ใกล้จะถึงนี้ แต่ความสัมพันธ์ในระดับประชาชนมีมาเนิ่นนานแต่โบราณ โดยมีภาษาเป็นมิติหนึ่งของสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม

และจะเป็นรากฐานให้ทั้งสองประเทศเสริมสร้างสัมพันธไมตรีให้เจริญงอกงามต่อไปอย่างมั่นคงและเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง •

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin