เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : เรื่องเกิดที่ฝาง

ภาพจาก สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

“ที่อำเภอฝาง ครั้งหนึ่งมีศาลเคลื่อนที่อยู่ที่เชียงใหม่ ต้องผลัดกันไปคนละสิบห้าวัน ปล่อยจำเลยที่ไม่ควรแม้แต่จะถูกฟ้องไปคนนึง ลงจากบัลลังก์พักหนึ่งได้ยินเสียงถังน้ำ เสียงกุกๆ กักๆ ที่บัลลังก์ เดินออกไปดู จำเลยคนนี้กำลังเช็ดถูบัลลังก์อยู่ เห็นเราแกก็คุกเข่าพนมมือแล้วพูดว่า ผมไม่มีอะไรจะตอบแทนท่าน เลยขอทำความสะอาดให้ เขาคิดเขาเองได้ยังไง เจ้าหน้าที่ศาลบอกว่าเขามาขอเครื่องมือไปเอง จุกที่คอ ปลื้ม พูดไม่ออก”

ข้อความนี้ส่งมาทางไลน์จากเพื่อนที่เป็นผู้พิพากษา ที่อ่านแล้วรู้สึกว่าไม่เล่าไม่ได้แล้ว

ต้นเรื่องของเรื่องนี้มาจากกฎหมายใหม่ที่ให้โอกาสคนจนไม่มีหลักทรัพย์ได้ประกันตัว ซึ่งเราจะได้ยินมาระยะหนึ่งแล้ว เป็นเรื่องน่าแปลกที่เมืองไทยเพิ่งจะมีกฎหมายนี้ น่าแปลกที่ไม่มีใครคิดบ้างว่ามีแต่คนมีเงินเท่านั้นหรือถึงจะประกันตัวออกไปได้ และมีโอกาสได้สู้คดี

แล้วถ้าไม่มีทรัพย์ จะเอาอะไรมาประกันตัวล่ะ

ในที่สุดก็มีผู้เสนอความคิดว่า ดียิ่งกว่าทรัพย์อีก ก็คือ “ความดี” ยังไงล่ะ

 

ผู้เขียนยังไม่เห็นโฆษณาธนาคารชุมชนหนองสาหร่าย ที่มีผู้เล่าให้ฟังว่าใช้คุณงามความดีจากชาวบ้านรอบข้างมาค้ำประกัน ก็รู้สึกว่าสังคมไทยก้าวหน้าไปไกล ไม่ได้ก้าวหน้าทางวัตถุหรือเทคโนโลยี แต่เป็นความก้าวหน้าทางจิตใจ ที่เรียนรู้ที่จะยกระดับจิตใจขึ้นไป มองเห็นความดีงามเป็นสิ่งจับต้องได้

ต่อแต่นี้ไป คนไม่มีเงินจะไม่สิ้นไร้ไม้ตอก มีความดี ยิ่งกว่ามีทรัพย์

อยากจะคิดว่าหลายๆ อย่างที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมไทย มาจากบุญญาบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระผู้ซึ่งเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้คนไทยหันมามองที่ความดีงามอันเป็นแก่นแท้ ไม่หลงงมงายและสุกเอาเผากิน

การจะใช้ “หลักทรัพย์” มาค้ำประกัน เป็นเรื่องทำกันง่ายๆ ไม่ได้คิดลึกซึ้ง ขาดมิติทางสังคม ต้องชมผู้เกี่ยวข้องที่คิดได้นอกกรอบกว่าที่เคยๆ กันมาว่า ความดี ก็ค้ำประกันได้ สิ่งนี้ยกระดับสังคมให้สูงขึ้นมาอีกไม่รู้เท่าไหร่ แก้ปัญหาสังคมเรื่องความเหลื่อมล้ำที่เป็นนโยบายที่รัฐบาลประกาศโครมคราม

กฎหมาย เป็นเรื่องของสังคม

มีไว้เพื่อทำให้สังคมเป็นสุข มิใช่ทำให้สังคมเดือดร้อน

 

มีเรื่องของกฎหมายอยู่อีกเรื่องหนึ่งซึ่งกำลังถูกหยิบยกมาปฏิรูป ซึ่งมีที่มาจากพระบรมราโชวาท “ให้สติ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เช่นกัน

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ประธานการจัดงานวันนิติศาสตร์ จุฬาฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงเตือนนักกฎหมายและนักปกครอง ข้อความตอนหนึ่งว่า

“แต่บังเอิญกฎหมายบอกว่าบุกรุกไม่ได้เขาจึงเดือดร้อน ป่าสงวนฯ นั้นเราขีดเส้นบนแผนที่ เจ้าหน้าที่จะไปถึงได้หรือไม่ก็ชั่ง และส่วนมากก็ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ไป ดังนั้น ราษฎรจะทราบได้อย่างไรว่าที่ที่เขาอาศัยอยู่เป็นป่าสงวนฯ เป็นหน้าที่ของผู้รู้กฎหมายที่จะต้องไปทำความเข้าใจ คือไม่ได้ไปกดขี่ให้ใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด แต่ไปทำให้ต่างฝ่ายต่างเข้าใจว่าเราอยู่ร่วมประเทศเดียวกันต้องอยู่ด้วยกันด้วยความอะลุ่มอล่วย ไม่ใช่กดขี่ซึ่งกันและกัน”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทรงทราบดีว่าอะไรเป็นอะไร เพราะพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วทุกแห่งในประเทศไทย ทรงพบว่าชนเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่ในเขตป่าตั้งแต่บรรพบุรุษ บางชาติพันธุ์ เช่น ลัวะในจังหวัดน่านอยู่ในป่ามาตั้งแต่ก่อนคนไทยจะอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ด้วยความเคยชินในการอยู่ที่สูง คุ้นเคยกับการทำเกษตรกรรมบนที่สูง และใช้ป่าเป็นธนาคารสำหรับปัจจัยสี่ หาอาหาร ยารักษาโรค สร้างที่อยู่อาศัย ด้วยความสงบสุขและพอเพียง เขาจึงไม่ย้ายลงมาบนพื้นราบ

คนพวกนี้เป็นผู้อนุรักษ์ป่าต้นน้ำให้พวกเรา คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ

ด้วยพระราชดำรัสที่ทรงทิ้งไว้เป็นมรดกเช่นนี้คือที่มาของการปฏิรูปกฎหมายในเรื่องป่าสงวนฯ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ราษฎร ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือ คปค. กำลังทำงานกันอยู่ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ให้สัมภาษณ์วิทยุรัฐสภาว่า เมืองไทยมีกฎหมายแยกเป็นทรัพยากร เช่น กฎหมายป่าไม้มี 5 ฉบับ กฎหมายน้ำก็มีอยู่ 20 ฉบับ กฎหมายชายฝั่งก็จะมีเฉพาะ ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือกฎหมายป่าไม้ที่มีอยู่ 5 ฉบับ คือกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ กฎหมายอุทยานแห่งชาติ กฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า และกฎหมายสงวนป่า วิธีการคิดของกฎหมายคือต้องไปวงเป็นเขตขึ้นมา พอวงแล้วก็ประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ วงเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ วงเป็นเขตคุ้มครองสัตว์ป่าพันธุ์พืช วงเป็นพื้นที่จัดการสงวนป่า เมื่อกำหนดขึ้นมาก็แปลว่าห้ามคนเข้าไปอยู่อาศัย

ไพโรจน์บอกว่ามันมีข้อเท็จจริงทางสังคม คือมีชุมชนที่อาศัยในเขตเหล่านี้อยู่แล้วโดยเฉพาะในภาคเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีภูเขา พี่น้องชาติพันธุ์เขาอาศัยอยู่ในที่สูง อย่างเช่นที่แม่ฮ่องสอน พื้นที่ 70-85% เป็นป่าหมดทั้งจังหวัด

ในกฎหมายบอกว่าต้องให้เจ้าหน้าที่ไปเดินสำรวจ ไปแจ้งประชาชนให้ทราบ ถ้ามีก็แจ้งให้ออก

แต่ในความเป็นจริงวิธีการของเจ้าหน้าที่คือดูแผนที่เท่านั้น ประชาชนไม่มีใครแจ้งก็ไม่ทราบ ประชาชนก็เลยอยู่อย่างผิดกฎหมาย

แนวคิดแบบนี้คุณพลเพชรบอกว่าถ้าคิดให้ลึกซึ้ง มันเกิดจากความคิดว่าถ้ามีคนอยู่ในป่า คนจะทำลายป่า จะใช้ทรัพยากร และคิดว่าหน่วยงานรัฐเท่านั้นจึงจะสามารถดูแลป่าได้ อำนาจรัฐเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ในขณะนี้คนที่อยู่ในป่ามีหลายล้านครอบครัว ถ้าเอาเขาออกมาจะให้อยู่ที่ไหน ไม่มีคำตอบ

 

ข้อเสนอที่ไพโรจน์เอ่ยถึงคือการกำหนดโซนให้คนอยู่อาศัย รวมทั้งเปลี่ยนแนวคิดในการดูแลว่าแทนที่หน่วยงานรัฐจะดูแล ก็ให้ประชาชนในชุมชนช่วยกันดูแลป่าด้วย ซึ่งนี่คือวัฒนธรรมในการดูแลทรัพยากร

ผู้เขียนกำลังนึกถึงกรณีของบิลลี่ที่หายตัวไป และยังไม่มีข้อสรุป (แม้ว่าทุกคนก็เดาได้ว่าเกิดอะไรขึ้น) ก็พอดีไพโรจน์ก็ยกเรื่องนี้เป็นตัวอย่างว่า

“อย่างเช่นปากะยอเนี่ย วิธีเกษตรของเขาคือหมุนเวียน ซึ่งคนในเมืองมักจะเข้าใจว่าเลื่อนลอย คือสมมติว่าเขาทำอยู่ช่วงนี้ 5 ไร่ เขาก็ทำครบฤดูกาลที่ได้ผลผลิต เขาก็ทิ้งไว้และหมุนไปอีกที่หนึ่งเพื่อให้ฟื้นตัวอย่างธรรมชาติโดยไม่ต้องไปดูแลอะไรมัน พอมันฟื้นก็หมุนกลับมาทำ เพราะฉะนั้น เขาเรียกไร่หมุนเวียนนะครับ”

ฟังดูไม่ต่างอะไรจากคนลัวะที่น่าน ที่ผู้เขียนได้ไปสัมผัสมาแม้แต่น้อย

ก็เมื่อเห็นความสำคัญของกฎหมายว่าต้องทำอย่างใช้ความละเอียดอ่อนไตร่ตรองเช่นนี้ก็ต้องโมทนาสาธุให้กับนักกฎหมายที่ช่วยกันรื้อขึ้นมาปฏิรูปเพื่อความสงบสุขของสังคมด้วยนะคะ

คนจนถูกเอารัดเอาเปรียบ

ผู้หญิงและเด็กถูกเอารัดเอาเปรียบ ถ้าแก้กฎหมายให้ครอบคลุมได้ ยังดีกว่าความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นไหนๆ