คุยกับทูต ทุกสบิลกูน ทูมูร์คูเลก จากดินแดนแห่งทุ่งราบสูงกว้างใหญ่และท้องฟ้าสีคราม มองโกเลีย (3)

บางคนอาจมีความคิดว่า มองโกเลียเป็นประเทศเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกล ไม่มีความสำคัญ และไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยมากนัก

แต่แท้จริงแล้ว ประเทศมองโกเลียมีพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทยถึงกว่าสามเท่า

ทั้งดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันมานาน และปีนี้ย่างเข้าปีที่ 43 แล้ว

“ดังที่ผมได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ มองโกเลียและไทยมีความสัมพันธ์ที่ดำเนินไปอย่างราบรื่นนับตั้งแต่มีการสถาปนาทางการทูตในปี ค.ศ.1974 ความสัมพันธ์ทวิภาคีของเราได้รับการฟื้นฟูอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ต้นปี ค.ศ.1990 เมื่อเราเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองการปกครองจากระบบพรรคเดียวและเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ไปสู่ระบบเสรีประชาธิปไตยแบบหลายพรรคและเศรษฐกิจตลาดเสรี”

“ไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้การสนับสนุนการปฏิรูปประชาธิปไตยของเรา ด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศมองโกเลีย”

เอกอัครราชทูตทูมูร์คูเลก เล่าประวัติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง

แม้มองโกเลียไม่ใช่ประเทศสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ของไทยและสองฝ่ายยังไม่มีความร่วมมือระหว่างกันมากนัก

แต่ทั้งสองมีความพยายามในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเพื่อเป็นช่องทางการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง

โดยคำนึงว่ามองโกเลียเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกทะเล

ส่วนมองโกเลียให้การสนับสนุนไทยในเวทีระหว่างประเทศเป็นอย่างดี และให้ความสำคัญกับไทยในฐานะประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจและมีบทบาทโดดเด่นในเวทีระหว่างประเทศ

มองโกเลียประสงค์จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศ

รวมทั้งต้องการให้ไทยเป็นพันธมิตรในกรอบความร่วมมือต่างๆ

“ความสัมพันธ์ที่ดีของเราเห็นได้จากการแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนในระดับสูงที่สำคัญ ดังเช่นการเสด็จฯ เยือนมองโกเลียของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี ค.ศ.1992 และ 2009 ตามคำทูลเชิญของประธานาธิบดีมองโกเลีย”

“ประเทศไทยจึงได้กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในประเทศมองโกเลีย ทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของประเทศมองโกเลียก็ได้มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1994 และ 2005 ตามลำดับ”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบันทึกเรื่องราวการเสด็จฯ เยือนมองโกเลียเมื่อปี ค.ศ.1992 โดยมีข้อมูลและเกร็ดความรู้ต่างๆ รวมทั้งภาพถ่ายภูมิประเทศและศิลปวัฒนธรรมอันงดงาม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดประการหนึ่งคือ ที่มาของชื่อพระราชนิพนธ์ในชุดการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศลำดับที่ 19 “ไอรักคืออะไร” อันเป็นชื่อของ “นมม้าหมัก” เครื่องดื่มในตำนานแห่งเจงกิสข่าน นั่นเอง

ดังพระราชนิพนธ์ความตอนหนึ่งกล่าวว่า

“…ของประหลาดอีกอย่างก็คือ ถ้วยใบเบ้อเริ่มสำหรับดื่มนมม้าหมัก นมม้าหมักนี้ภาษามองโกเลียเรียกว่า ไอรัก (airak) เป็นของที่คนมองโกลชอบมาก แต่ข้าพเจ้าว่า รสชาติและกลิ่นพิกล พอต้องดื่มทุกวัน ก็พอจะชิน…”

“นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน และ นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปเยือนมองโกเลียในปี ค.ศ.1994 และ 2003 ตามลำดับ”

“นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกที่เยือนมองโกเลียอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ.2013 เพื่อเข้าร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมประชาคมประชาธิปไตย (Community of Democracies – CD) ครั้งที่ 7 ได้ขยายความสัมพันธ์ทางการทูตไทยกับมองโกเลียโดยลงนามเอกสารความตกลงร่วมกัน 3 ฉบับ และ 1 ในจำนวนนี้คือ บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งมองโกเลียว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการหารือว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี เพื่อส่งเสริมและกระชับความร่วมมือระหว่างกัน (Memorandum of Understanding between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of Mongolia on the Establishment of the Consultative Body on Bilateral Cooperation)”

“สำหรับการจัดตั้งกลไกการหารือว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีเพื่อส่งเสริมและกระชับความร่วมมือระหว่างกันนี้ เป็นการออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการทำงานร่วมกันในทุกพื้นที่รวมทั้งภาคธุรกิจและภาคเอกชนในประเทศทั้งสอง ซึ่งผมถือว่ากลไกนี้สำคัญมากเพราะเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักระหว่างที่ผมดำรงตำแหน่งที่ประเทศไทยเพื่อเสริมสร้างและเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าของเรา”

“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซมครั้งที่ 11 (11th ASEM Summit : ASEM 11) ในอูลานบาตอร์ เมืองหลวงของประเทศมองโกเลีย และได้หารือทวิภาคีกับ นายซักเคีย แอลแบ็กดอร์จ (H.E. Mr. Tsakhia Elbegdorj) ประธานาธิบดีมองโกเลียเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2016”

“การแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนดังกล่าวนี้ มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือในกรอบทวิภาคี อันนำไปสู่ความเข้าใจและการประสานประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศของเราทั้งสองเป็นอย่างมาก”

“สําหรับการค้าระหว่างไทย-มองโกเลีย นับว่ายังมีปริมาณไม่มากนัก โดยมีมูลค่ารวม 33.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กันยายน ค.ศ.2016) แต่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่ามองโกเลียยังไม่มีการลงทุนในไทย แต่บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้เข้าไปลงทุนในกิจการเหมืองถ่านหิน (700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยจัดตั้งสำนักงานในมองโกเลียเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2011 และบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH ได้ลงทุน (290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในกิจการด้านสุขภาพ ผ่านการลงทุนของบริษัทย่อยในโรงพยาบาลอูลานบาตอร์ ซองโด (Ulaanbaatar Songdo Hospital – UBSD) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชั้นนำในเมืองหลวงของประเทศมองโกเลีย”

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มองโกเลียมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีมาก เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก คือ เฉลี่ยเติบโตร้อยละ 9.3 ต่อปี เป็นผลมาจากการเติบโตในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ (Mining) หลังปี 2000 เป็นต้นมา (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม – Office of Industrial Economics)

แต่ไทยไม่ได้เป็นประเทศอุตสาหกรรมหนัก การนำเข้าทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตจึงไม่ค่อยคุ้มนัก

ฉะนั้น ที่ผ่านมาทั้งสองประเทศจึงพยายามเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีการลงนามความร่วมมือในด้านนี้ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.2006

รวมทั้งตกลงละเว้นเรื่องการขอวีซ่าสำหรับหนังสือเดินทางราชการและหนังสือเดินทางทั่วไปเมื่อปี ค.ศ.1994

แต่การไม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างไทย-มองโกเลียส่งผลให้การท่องเที่ยวและการค้าขายระหว่างประเทศน้อย เนื่องจากค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องของธรรมชาติ ภูเขา ป่าไม้ ทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์สวยงามดั่งสวรรค์ที่ถูกเนรมิตให้อยู่บนพื้นดินแล้ว

สิ่งที่เป็นเสน่ห์ของมองโกเลียอีกอย่างก็คือ ศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ที่มีความแตกต่างจากที่อื่นๆ

อีกทั้งคนท้องถิ่นยังคงดำรงอยู่ร่วมกันในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน

ผู้ที่เคยไปเยือนกล่าวว่า ไม่ว่าจะเคลื่อนไปมุมไหน นี่คือแผ่นดินที่งดงามไปทุกองศา…มองโกเลีย