คุยกับทูตตุรกี “เอฟรอน อักกุน” การจัดการปัญหาลี้ภัย ก่อการร้าย และ มุมมองประชาธิปไตยในปัจจุบัน

คุยกับทูต เอฟรอน อักกุน 6 ทศวรรษมิตรภาพไทย-ตุรกี (1)

12 พฤษภาคม ค.ศ.1958 เป็นวันที่ประเทศไทยและสาธารณรัฐตุรกีได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ถือเป็นจุดเริ่มต้นมิตรภาพอันดีระหว่างสองประเทศ จวบจนถึงปี ค.ศ.2018 นี้นับเป็นโอกาสครบรอบ 60 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตอันแน่นแฟ้น

อีกทั้งเป็นปีที่ 95 ของการสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีสมัยใหม่ ซึ่งมุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก (Ghazi Mustafa Kemal AtatÜrk) เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐตุรกีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.1923

ปัจจุบันตุรกีอยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน (HE Recep Tayyip Erdoğan)

วันนี้เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย นางเอฟรอน ดาเดเลน อักกุน (Her Excellency Mrs. Evren Dağdelen AkgÜn) ได้มาสนทนากับเราเนื่องในโอกาสพิเศษดังกล่าวข้างต้น

“สถานเอกอัครราชทูตตุรกีเปิดทำการที่กรุงเทพฯ เมื่อปี ค.ศ.1958 แต่ความสัมพันธ์ของเรามีมาเนิ่นนานนับศตวรรษ ดิฉันมาประจำที่นี่ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2017 โดยเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตตุรกีประจำประเทศไทย”

ไทย-ตุรกี ลงนามใน MOU ข้อตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ 5 กันยายน ค.ศ. 2018

“ดิฉันเคยทำงานที่สถานทูตตุรกีประจำกรุงบรัสเซลส์ ทาชเคนต์ วอชิงตัน ดี.ซี. และอังการา ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเดินทางมาประจำประเทศไทยคือรองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนนโยบายเป็นเวลา 3 ปี”

“การได้มาทำงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับเป็นประสบการณ์ที่สมบูรณ์แบบ เหนือสิ่งอื่นใดดิฉันรู้สึกโชคดีมากที่ได้มาอยู่ในประเทศที่มีพลวัตและมีความสำคัญยิ่งในภูมิภาคนี้ เพราะประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน มีวัฒนธรรมที่น่าสนใจหลากหลาย และประชาชนมีอัธยาศัยดี”

“นับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐในปี ค.ศ.1923 ตุรกีมีความก้าวหน้าที่สำคัญและดำเนินการปฏิรูปอย่างกว้างขวาง สิ่งสำคัญที่สุดคือ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศชาติก้าวขึ้นสู่ระดับใหม่ในกลุ่มประเทศที่ทันสมัยและเป็นประชาธิปไตย”

“ที่ตั้งของตุรกี ณ ทางแพร่งของยุโรปและเอเชีย ทำให้ตุรกีมีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างยิ่ง หรือกล่าวได้ว่า เป็นประเทศที่มีดินแดนอยู่ในหลายทวีป เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ตุรกีจึงได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ตุรกีมีความมุ่งมั่นที่จะตอบสนองต่อความท้าทายในปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพด้วยหลักการที่เชื่อถือได้และมีความรับผิดชอบ”

“ด้วยเหตุนี้ตุรกีจึงดำเนินนโยบายต่างประเทศที่กล้าได้กล้าเสียโดยไม่ลังเลในการริเริ่ม และในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงเรื่องมนุษยธรรม (Enterprising and Humanitarian Foreign Policy) ต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคและประเทศคู่ค้าโดยรอบ จากการริเริ่มอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อส่งเสริมความมั่นคงและความมั่งคั่งในภูมิภาคและส่วนอื่น เพราะการทูตเชิงมนุษยธรรม (Humanitarian Diplomacy) เป็นส่วนสำคัญของนโยบายต่างประเทศของตุรกี”

“ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาอย่างเป็นทางการของตุรกี (ODA) มีมูลค่า 8.142 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2017 เฉพาะการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมีสัดส่วนมากที่สุดใน ODA ของตุรกีถึง 7.208 พันล้านเหรียญสหรัฐ”

ทูตตุรกีเข้าเยี่ยมคารวะนายกฯ ในโอกาสเข้ารับหน้าที่

“ตุรกีนับเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมรายใหญ่ที่สุดในโลกในปี ค.ศ.2017 และเป็นผู้บริจาคที่มีน้ำใจมากที่สุดเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเป็นทางการต่อรายได้ประชาชาติ (0.85%)”

บทบาทของตุรกีต่อการเป็นผู้นำในการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัย

“เราได้ดำเนินนโยบายเปิดประตูสำหรับชาวซีเรียที่ต้องหนีออกจากประเทศของตนในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีชาวซีเรียมากกว่า 3.5 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในตุรกี และอีกประมาณ 230,000 คนอาศัยอยู่ในหนึ่งใน 21 ศูนย์ป้องกันชั่วคราว ตุรกีมีค่าใช้จ่าย 31 พันล้านเหรียญสหรัฐ (รวมถึงเทศบาลและองค์กรพัฒนาเอกชนในตุรกี) ในขณะที่ผลตอบแทนจากประชาคมระหว่างประเทศ อยู่ห่างไกลจากที่คาดการณ์ไว้” ท่านทูตตุรกีชี้แจง

ตุรกีได้ยอมรับผู้ลี้ภัยจำนวน 3.5 ล้านคนจากประเทศซีเรีย โดยที่สหภาพยุโรปต้องจ่ายเงิน 3 พันล้านยูโรเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนดังกล่าวนี้อันเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงปี 2016 เพื่อเป็นการลดจำนวนผู้ลี้ภัยย้ายถิ่นฐานเข้าสู่ทวีปยุโรป ซึ่งตุรกียังไม่ได้รับตามข้อตกลงดังกล่าว

ตุรกีกลายเป็นประเทศที่มีผู้ลี้ภัยมากที่สุดในโลก และกลายเป็นผู้นำในการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัย ซึ่งผ่านสถานการณ์ฉุกเฉินในการจัดหาที่พักพิงปลอดภัยมาแล้ว โดยเน้นให้ความคุ้มครองทั้งการศึกษาและอาชีพ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR จึงเปิดระดมทุนในโครงการ Nobody Left Outside เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างนอก เพื่อให้ผู้ลี้ภัยได้มีชีวิตที่มีความหวังก่อนจะได้กลับบ้านในประเทศซีเรีย

“ตุรกียังคงรักษาสถานะเป็นประเทศเจ้าภาพที่ใหญ่ที่สุดตามตัวเลขของหน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ เด็กชาวซีเรียจำนวนกว่า 600,000 คนยังคงศึกษาต่อในตุรกี อัตราการศึกษาของเด็กซีเรียในวัยประถมศึกษาอยู่ที่ 97 เปอร์เซ็นต์”

“นอกจากนี้ จำนวนวัยรุ่นชาวซีเรียที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยของตุรกียังมีมากกว่า 20,000 คน ชาวซีเรียไม่ได้เป็นชนชาติเดียวที่มองหาที่พักพิงในตุรกี แท้ที่จริงมีประเพณีอันยาวนานในจักรวรรดิออตโตมันและสาธารณรัฐตุรกี ที่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่จำเป็น รวมทั้งชาวยิวซึ่งหลบหนีจากการสอบสวนหาความผิดภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และในยุค 1980 ที่ชาวอิรักและอัฟกันก็เป็นกลุ่มคนที่แสวงหาความปลอดภัยในตุรกีด้วยเช่นกัน”

“เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.2017 ตุรกีเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดด้านมนุษยธรรมครั้งแรก (WHHS) เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านมนุษยธรรมที่มีความยุ่งยากซับซ้อนในปัจจุบัน อันเป็นข้อบ่งชี้อีกอย่างหนึ่งถึงความมุ่งมั่นของตุรกีในการมีบทบาทนำในด้านมนุษยธรรม”

บทบาทของตุรกีในการต่อต้านการก่อการร้ายทั้งภายในและภายนอก

“ในปี ค.ศ.2011 มีสภาต่อต้านการก่อการร้ายทั่วโลก (GCTF) จากการริเริ่มโดยตุรกีและสหรัฐอเมริกา ซึ่งตุรกีเป็นประธานร่วมของ GCTF มากว่า 5 ปี และเป็นประธานร่วมกับสหภาพยุโรป (EU) ที่เรียกว่า Horn of Africa Working Group จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ.2017”

“รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการต่อต้านกลุ่มติดอาวุธ DAESH และกลุ่มก่อการร้ายจากต่างประเทศ หรือแม้ในฐานะเพื่อนบ้านตามชายแดนของประเทศซีเรีย”

“ตุรกียังคงพยายามที่จะทำให้สถานการณ์ทางภาคพื้นดินมีความสงบและยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยผ่านการแก้ปัญหาทางการเมือง”

ระบอบประชาธิปไตยในตุรกี

“ประชาธิปไตยในตุรกีเป็นหนึ่งในความยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา ตุรกีมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตั้งแต่สมัยจักรวรรดิออตโตมัน มาจนถึงมุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก (Mustafa Kemal Atat?rk) ผู้ก่อตั้งตุรกีสมัยใหม่ หลังจากอาณาจักรออตโตมันล่มสลายและเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐตุรกี ในปี ค.ศ.1923”

มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก เป็นผู้บังคับบัญชาของจักรวรรดิออตโตมันเพียงคนเดียวที่ไม่แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากที่จักรวรรดิออตโตมันพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว เขาได้เป็นผู้นำของขบวนการแห่งชาติตุรกีในสงครามประกาศเอกราชตุรกี ได้เอาชนะกองทหารของฝ่ายไตรภาคี ซึ่งนำไปสู่การปลดปล่อยประเทศและการก่อตั้งประเทศในที่สุด

ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก ได้ดำเนินการปฏิรูปประเทศในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศจากจักรวรรดิออตโตมันเดิม ให้เป็นรัฐชาติสมัยใหม่ที่ไม่อิงศาสนาและเป็นประชาธิปไตย

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย

“ในความเป็นจริง เรากำลังเฉลิมฉลองปีที่ 95 ในการสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีสมัยใหม่ที่ใกล้จะถึงนี้ คือ วันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.2018 ตุรกีมีความก้าวหน้าที่สำคัญและดำเนินการปฏิรูปอย่างกว้างขวาง สิ่งสำคัญที่สุดคือ พัฒนาการทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ได้นำประเทศก้าวขึ้นสู่ระดับใหม่ในระบอบประชาธิปไตยของโลกสมัยใหม่ และระบบการปกครองโดยประธานาธิบดีของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน (H.E. Recep Tayyip Erdo?an) ประเทศตุรกีจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีส่วนร่วมในฐานะนักแสดงระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่งและพันธมิตรระดับโลก”

ท่านทูตตุรกี นางเอฟรอน ดาเดเลน อักกุน ให้ความเห็นว่า

“ชาวตุรกีได้ตัดสินใจแล้วว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการปกครองตนเอง และให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยอย่างสุดจิตสุดใจ วันนี้ระบอบประชาธิปไตยในตุรกีจึงมีเสถียรภาพและมั่นคงที่สุด”