เหตุเกิดที่แม่สอด… เปิดโลกธุรกิจค้าวัวชายแดน วิกฤตหนัก เมื่อรัฐไทยสั่งปิดด่าน

ถ้าจะกล่าวถึงธุรกิจเนื้อสัตว์ในไทยในภาพรวม เป็นที่รับรู้กันว่า หมู-ไก่ เป็นอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่ส่วนแบ่งในตลาดส่วนใหญ่เป็นของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในประเทศ ขณะที่เนื้อวัวยังไม่ใช่

กลุ่มทุนขนาดใหญ่ยังไม่สามารถเข้ามาชิงการนำส่วนแบ่งทางการตลาดเนื้อวัวให้เป็นรายใหญ่ได้ การค้าขายวัว-เนื้อวัว จึงยังเปิดโอกาสมีการทำธุรกิจ ตั้งแต่การเลี้ยง การขุน ดูแล รักษา ไปจนกระทั่งค้าขายให้รายย่อย เกษตรกร ผู้ประกอบการขนาดเล็กเข้ามาทำธุรกิจนี้ได้อยู่

โดยเฉพาะหนึ่งในธุรกิจสำคัญที่หลายคนอาจจะไม่รู้จักคือ ผู้ประกอบการค้าวัวข้ามชายแดน ที่มีลักษณะการนำเข้าเนื้อวัวมาจากพม่าผ่านทางชายแดน

ไล่ลงมาตั้งแต่ แม่ฮ่องสอน แม่สะเรียง และคึกคักมากที่สุดคือ บริเวณด่านแม่สอด จ.ตาก

เป็นธุรกิจที่ทำกันมาอย่างยาวนาน เฉพาะที่แม่สอด มีการนำเข้าวัวมายังประเทศไทย มากกว่า 100,000 ตัวต่อปี

 

ก่อนความไม่พอใจระเบิดออก

ถึงจุดนี้ก็อาจมีคำถามขึ้นว่า เป็นการนำเข้าวัวจากพม่า จะมาตีตลาดเนื้อวัวไทยหรือไม่? คำตอบคือไม่ใช่

วัวที่นำเข้าจากพม่า เมื่อเข้ามายังประเทศไทย ผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฏหมาย มีการกักกันสัตว์ตรวจดูแล อาจจะขุนให้วัวอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีกนิด โดยผู้ประกอบการไทย จากนั้นก็นำส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านเช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน รวมถึงมาเลเซีย

เป็นธุรกิจที่รายได้เข้าประเทศไทยจำนวนไม่น้อย มีคนไทยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ดำรงอยู่ต่อเนื่องยาวนาน จนยากจะจินตนาการถึงปริมาณ

แต่แล้วก็เกิดปัญหาขึ้น เมื่อทางการไทยสั่งชะลอการนำเข้าวัวจากพม่า พูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือปิดด่าน ที่ไม่ใช่ 1 เดือน หรือ 3 เดือน แต่ลากมายาวนานแล้วเกือบปี ด้วยข้ออ้างเรื่องโรคปากเท้าเปื่อย ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นในหน้าฝนของภูมิภาคนี้

แม้ผู้ประกอบการนำเข้าวัวจะทำตามขั้นตอนการกักกันสัตว์ทุกอย่างจะทำตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ที่กำหนด แต่จนแล้วจนรอด ทางการไทยก็ไม่ยอมเปิดด่าน สร้างความเดือดร้อนกับผู้คนในห่วงโซอุตสาหกรรมนี้อย่างหนัก

ท้ายที่สุด ความไม่พอใจก็ระเบิดออกมา เพราะหวังเฝ้ารอมาเป็นเวลาเกือบปี ภาครัฐนอกจากไม่ยกเลิกคำสั่งชะลอการนำเข้า กลับออกประกาศเพิ่มการชะลอนำเข้าโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่บอกด้วยว่าห้ามเพราะอะไร จะกักกันโรคอะไร

กลุ่มผู้เลี้ยงโคพื้นบ้านชายแดน กลุ่มผู้นำเข้าโค กระบือ แพะ แกะ จากประเทศพม่า สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร และแม่ฮ่องสอน กว่า 400 คน ปิดถนนทั้ง 2 ฝั่งจราจรทั้งขาเข้า และขาออกเมืองแม่สอด-เมืองตาก เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2566 มีการขออนุญาตชุมนุมอย่างถูกต้อง ใช้เวลาราว 5 ชม. เพื่อแสดงสัญลักษณ์ความไม่พอใจ ต่อการไม่ตอบสนองของภาครัฐที่เกิดขึ้น

นั่นคือยกแรก… เพราะจนถึงวันนี้ภาครัฐก็ยังนิ่งเฉยไม่ตอบสนองต่อความเดือดร้อนใดๆ ที่ภาคประชาชนร้องบอก

 

เปิดพรมแดนธุรกิจนำเข้าวัว

“อานัส แสนพรม” ผู้นำเข้าวัวชายแดนอ.แม่สอด เล่าสถานการณ์ที่ชานแดนแม่สอด ว่า ขณะนี้เกิดปญหาชายแดนปิด ภาครัฐได้มีการชะลอการนำเข้าวัวจากพม่า ทำให้กระทบหลายๆภาคส่วน ตั้งแต่ประชาชนคนธรรม พ่อค้า ภาคการขนส่งวัว ภาคอาหาร ธุรกิจฟาง หนักสุดคือเจ้าของท่าวัว เพราะลงทุนเยอะ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ ก็จะครบ 1ปีเต็มพอดี ถือว่ากระทบหนักมาก แย่มากๆ

อานัส ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ในแต่ละปี ธุรกิจนำเข้าวัวจากพม่าตกประมาณปีละแสนกว่าตัว ตามขั้นตอน เมื่อนำวัวเข้ามาก็จะนำมากัก ที่ “ท่ากักวัว” 28 วัน ตามที่กฏหมายและมาตรฐานของกรมปศุสัตว์กำหนด เมื่อกักตัวเสร็จ ตรวจโรคเสร็จ ฉีดวัควีนเสร็จ ตัวไหนที่ปอดภัย ถึงจะสามารถผ่านออกมา นำเข้ามาที่ตลาดวัวแม่สอด ซึ่งเป็นขั้นตอนซื้อขายได้

“อย่างผมเป็นพ่อค้าคนกลาง ก็คือซื้อมาขายไป ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เขมร จีน เวียดนาม ลาว พ่อค้ามาเลย์ ก็จะมาซื้อวัวจากตรงนี้ คนที่นำไปขุนเองในประเทศต่อก็มี”

“วัวพม่าส่วนใหญ่ส่งออก ไม่ค่อยได้ใช้ในประเทศไทย ไม่ได้ทำให้ไทยเสียสมดุลอะไรเลย เวลาเข้ามาก็ต้องเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฏหมายหมด เวลาต่างชาติมาซื้อไป ก็ต้องเสียภาษีส่งออกอีกต่อหนึ่ง” อานัส ระบุ

เขาขยายภาพให้เห็นว่า ธุรกิจนำเข้าวัวจากพม่า ไม่ได้สร้างผลประโยชน์ให้กับคนกลุ่มเล็ก แต่สร้างรายได้ให้คนหลายกลุ่มในประเทศไทย นับตั้งแต่คนเลี้ยงชาวไทย ที่ซื้อมาแล้วนำมาขุนให้อ้วน พอโตได้ที่ก็ขายออกต่างประเทศ นอกจากคนเลี้ยงก็ยังมีในส่วนผู้ลงทุน ต่อเนื่องกันไป วัวคอกหนึ่ง 20-30 ตัว ก็ต้องใช้คนเลี้ยงหลายคน ก็เป็นรายได้

จากนั้นก็เป็นภาคการผลิต ขนส่งอาหาร คือการอัดฟาง ขายฟาง พอไม่มีวัวเข้ามาก็ไม่มีการใช้ฟาง ธุรกิจเหล่านี้ก็ลำบาก ในส่วนภาคขนส่ง ก็เดือดร้อนหนัก ผู้ขนส่งวัวไม่มีรายได้ การนำเข้าวัวเฉพาะที่แม่สอด มากกว่าแสนตัวต่อปี หรือเฉลี่ยคือเดือนละหมื่นตัว ต้องใช้รถขนส่งจำนวนมาก จนธุรกิจขนส่งวัวเติบโตไม่น้อย ตอนนี้เจ้าของรถหลายคน ก็ตัดสินใจขายรถทิ้งแล้ว เพราะด่านปิดมาเกือบ 1 ปี

พ่อค้าคนกลางอย่างตนเองก็ลำบาก พอวัวไม่เข้ามา รายได้ทั้งหมดก็หายไปเลย

 

คนเดือดร้อน-รัฐสูญรายได้พันล้าน

กระทั่งนำมาสู่การตัดสินใจปิดด่าน อานัสเล่าว่า เพราะพวกเราอยากเรียกร้องสิทธิ์จากคนที่ไก้รับผลกระทบจริงๆ แต่ที่น่าห่วงคือหากครบกำหนดประกาศเพิ่มเวลาฉบับสุดท้าย ก็อาจจะเกิดการปิดด่านแบบยาวนานเกิดขึ้น นั่นแปลว่าปัญหาจะหนักกว่านี้

“ลองคิดดูนะครับ ประชาชนทั่วไป ไม่ได้ทำงานมาเป็นสิบเดือน ไหนจะบ้าน ไหนจะลูกเรียน ไหนจะค่าใช้จ่าย ทุกๆอย่างมันเกิดความลำบากหมด เมื่อไม่มีเงิน เราขาดรายได้หมดเลย ไม่รู้จะทำยังไง เราตัดสินใจปิดถนน เพราะอยากให้เปิดด่าน เราไม่ได้ต้องการทำลายการขนส่ง เราแค่อยากให้เขารู้ ว่าเราได้รับความเดือดร้อน”

ทั้งนี้หลังการตัดสินใจประท้วงครั้งแรก จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการยืนยันที่เป็นลายลักษณ์อักษรใดๆ มีเพียงข่าวลือที่ได้ยินมา บ้างก็ว่าวันที่ 25 มกราคม จะเปิดด่าน บางคนก็บอกว่าสิ้นเดือน บางคนก็บอกกำลังวางตัวหมอ เดี๋ยวจะเปิด มันเกิดเรื่องราวหลากหลาย ไม่มีอะไรชัดเจน

อานัส เล่าให้ฟังส่วนตัวเขา ที่ต้องผ่อนบ้านผ่อนรถ ก็ต้องเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้หมด มีการค้างค่างวด มีเพื่อนที่ขายฟางอยู่สุโขทัย พิษณุโลกโทรมาหา ว่าฟางขายไม่ออก ไม่มีเงินที่จะไปใช้จ่ายในบ้าน ชีวิตประจำวัน ส่งค่างวดรถ ฝั่งรถพ่วงก็โทรมาปรึกษาว่าคงจะต้องขายรถ เพราะแบกรับภาระไม่ไหว ไม่มีงาน

อานัส ยืนยันว่า ธุรกิจนำเข้าวัวต่างชาติ สร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนไทยมากกว่าที่คนทั่วไปคิด เริ่มตั้งแต่เจ้าของท่าวัว ธุรกิจท่าวัวริมด่าน พอวัวเข้ามาตลาดชั้นในก็มีการซื้อขาย ทั้งชาวแม่สอดและต่างเมืองที่เข้ามา และธุรกิจนี้ไม่ได้มีแค่แม่สอด เพราะไล่มาตั้งแต่ แม่ฮ่องสอน แม่สะเรียง ก็ล้วนได้รับผลกระทบนี้

ชาวพิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร จำนวนมากที่ทำอาชีพขุนวัว คนขายอาหารสัตว์ ไปยันผู้รับจ้างเลี้ยงโค กระบือ พ่อค้าที่ส่งออกต่างประเทศ ทั้งไปที่อีสาน ไปทางใต้ ก็มี เขาใช้วัวจากทางนี้เป็นหลัก มันสร้างอาชีพหลากหลาย อย่างรถพ่วง ก็ได้ค่าเที่ยว เป็นอาชีพขนส่ง รัฐบาลก็เก็บภาษีนำเข้าได้ปีๆนึง 200 กว่าล้าน เฉพาะที่แม่สอด ถ้าเป็น 5-6 จังหวัดที่ติดชายแดน ถ้าคิดตามภาษีอย่างถูกต้องที่รัฐเสียไปหลักพันล้านต่อปี นั่นคือแค่ส่งออก อย่าลืมว่าตอนส่งออกกก็ได้ภาษีอีก ไม่ว่าจะเป็นเขมร ลาว เวียดนาม มาเลย์ อันนี้คือประเทศได้

 

วัวพม่าไม่ได้ทำวัวไทยราคาตก

อานัส แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า คนไทยทั่วไปคิดว่าการนำเข้าวัวพม่าเข้ามา ทำให้วัวบรามันในไทยราคาตก แต่จริงๆแล้วมันไม่ใช่ ตอนนี้ชายแดนปิดมากว่า 11 เดือน คลาดวัวบรามันในประเทศไทยก็ยังไม่กระเตื้องขึ้น มีแต่ราคาลง ก่อนหน้านี้อยู่ที่ 80 กว่าบาท ตอนนี้วัวพม่าไม่เข้า กลับเป็นว่า วัวบรามันราคาร่วงลงมากว่าเก่าเหลือ 70 กว่าบาท ราคาไม่ขึ้นทั้งๆที่ปิดชายแดนมาเกือบปี ถ้ามันมีผลกระทบจริงๆ ราคามันต้องดีขึ้น แต่นี่มันไม่ขึ้นมิหนำซ้ำยิ่งร่วงลงไป เพราะต่างประเทศไม่เข้ามาซื้อวัวพม่าที่ไทย จริงๆวัวพม่าที่นำเข้ามาแสนกว่าตัวต่อปี ไม่เพียงพอต่อความต้องการต่างประเทศ บางคนซื้อ 5 รถพ่วง แต่ได้ไปแค่ 3 รถพ่วง ที่เหลือต้องเอาวัวบรามันหน้าแก่เข้าไปผสม เพื่อให้เต็ม 5 พ่วง นี่ต่างหากทำให้ราคาวัวไทยดีดขึ้น

“วัวพม่าไม่ได้ทำให้เกิดการเสียสมดุลทางเศรษฐกิจใดๆ เพราะเมื่อนำวัวพม่าเข้ามาในไทย ไทยได้ภาษีถูกต้อง ประชาชนได้ เกษตรกรผู้ขุนวัวได้ พอเลี้ยงได้ 32 เดือนก็ส่งขายต่างประเทศเลย วัวพม่าที่เชือดในไทย มีไม่ถึง 5% เพราะตลาดไทยไม่ต้องการ เนื้อวัวพม่ามันจะเข้ม สีเนื้อต่างกัน วัวพม่าเขาเน้นการขุนและส่งออก” อานัส ระบุ

ผู้ค้าวัวรายนี้เห็นว่า ภาครัฐกลัวเกินไป อย่าลืมว่าแม้ไม่นำเข้าวัวจากพม่านานแล้ว แต่ประเทศไทยเองก็มีโรคนี้ มันมีทุกที่ มันเป็นโรคตามฤดูกาลประจำภูมิภาคนี้ คล้ายๆคนทั่วไปเป็นหวัด พอถึงเวลาหน้าฝน ก็จะเป็น วัวพวกนี้ก็จะเป็นปากเท้าเปื่อย พอพ้นหน้าฝนก็จะหายโดยปริยาย จะไม่เจอเลย อีกอย่าง วัวพม่าพอนำเข้ามาจะกักกันครบตามกำหนด 28 วัน พอบครบ ก็ตรวจโรคซ้ำ ตัวที่มีโรคก็ต้องกลับไป ตัวไม่มีโรคถึงนำเข้ามา คือทำตามมาตรการของกรมปศุสัตว์ทุกอย่าง ระเบียบที่วางไว้ แต่มันก็มีส่วนน้อยที่ลักลอบ จะบอกว่าไม่มีคงไม่ใช่

“ตอนนี้ด่านปิด ก็ได้ยินข่าวดักจับวัวได้บ้างหลายๆที่ คือคนทั่วไปเขาลำบาก เขาก้อยากทำงานเขาก็ต้องหาทุกวิถีทางแหละ ที่จะทำงาน มันเกิดจากการปิดด่าน คนเขาก็หาช่องทาง มันก็เป็นลูปที่วนไป สุดท้ายก็ต้องลักลอบ เขาทำจริงๆ คือคนเขาไม่มีจะกินกันแล้ว ยิ่งปิดด่าน ตลาดปิดการลักลอบยิ่งสูงขึ้น พุ่งขึ้นกว่าเก่า มีแต่การเปิดด่านทำให้ถูกต้องเท่านั้นที่จะทำให้การลักลอบลดลง” อานัส ระบุ

ผู้นำเข้าวัวรายนี้ยังเล่าถึงผลกระทบที่เกิดกับตัวเขาเองว่า ที่ตัวเองดูแลอยู่หลักๆเลยคือ 5 คน ที่เป็นหัวของครอบครัว ตามหลังอีก 20 คน แย่กันหมด ตอนแรกก็ช่วยเหลือได้เท่าที่จะช่วย แต่ตอนหลังก็แบกรับไม่ไหว เราไม่ได้ทำงาน 10 เดือน อยู่ไม่ได้ เงินเก็บก็หมดไป เกิดผลกระทบหลายๆส่วน พอพ่อค้าคนจีนไม่เข้ามา กลับทำให้ราคาตลาดในไทยร่วงลงไปอีก ร่วงหนักเลย พ่อค้าต่างประเทศนี่แหละ ซื้อวัวจากในไทย พยุงให้ราคามันขึ้น มันเป็นห่วงโซ่ของงาน แต่คนอาจไม่เข้าใจ จริงๆเนื้อวัวแต่ละที่ขายยังไม่เท่ากันเลย ภาครัฐเขาไม่ได้มาคุมราคาแบบหมู แบบไก่ วัวมันไม่มีราคากลาง

 

แฉปัญหาที่แท้คือเนื้อกล่อง (เนื้อเถื่อน)

ถ้ายังไม่เปิดด่านอีกในเร็วๆนี้ ในระยะยาวเลยคือธุรกิจนี้ก็จะหายไป ตอนนี้มันอยู่ในขั้นตอนที่ว่าจะเอายังไงกันดีให้ภาครัฐเข้ามาดูแล อยากให้ยกเลิกการชะลอนำเข้า เลิกการปิดด่าน อย่าลืมว่าวัวพม่าไม่ได้เข้ามานานแล้ว และถึงอย่างนั้นในไทยก็ยังมีโรคนี้อยู่ ปากเท้าเปื่อยมันเป็นโรคประจำที่มีกันอยู่

“ที่ผ่านมาไม่เคยมีการปิดด่านเช่นนี้ ยกเว้นกรณี ลัมปี สกิน ระบาดในไทย ซึ่งก็เป็นเชื้อโรคในไทย ไม่ได้มาจากพม่า วัวพม่าไม่มี แต่เป็นเชื้อที่ติดมาจากต่างประเทศ แต่ก็ปิดไม่นานขนาดนี้” อานัส ระบุ

เมื่อถามถึงการร้องเรียนที่เกิดขึ้น ก่อนหน้าการปิดถนนประท้วง อานัสเล่าว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการมายื่นหนังสือเรื่องร้องเรียนที่กระทรวงเกษตรฯ พยายามทำตามระบบ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับที่ดี ขนาดตอนปิดถนน ก็ไม่มีข่าว อยากจะขอให้รัฐบาลมาช่วยดู เปิดชายแดน คนจะได้ทำงาน

“ผมไม่รู้นะเขาปิดกันเพราะสาเหตุอะไร แต่พอปิดแล้วประชาชนคนไทย ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก มากที่สุดเลย”

แต่ที่ห่วงกันเรื่องโรค ยืนยันว่า “เจ้าของท่าวัว” ทำตามกฏของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด ทุกคนพร้อมทำตามรัฐหมดเพื่อให้ระบบมันเดินต่อไปได้ จริงๆ ที่คนห่วงกันคือ วัวพม่า มาทำวัวไทยราคาตก แต่ที่จริง มันพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ ตอนนี้ไม่ได้นำเข้าวัวพม่ามาเป็นปี ราคาไทยยิ่งตกลงไปอีก อันนี้ต้องคิดกันว่ามันเพราะอะไร?

“จริงๆ มันเป็นเพราะเนื้อกล่อง หรือเนื้อเถื่อน เหมือนหมูเถื่อนแหละครับ” อานัส เฉลย

เขาเล่าต่อว่า “พอนำเข้าเนื้อเถื่อนเข้ามา พ่อค้าเขาก็รับวัวน้อยลง แล้วเอาเนื้อกล่องไปผสมขายเพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น เพราะเนื้อกล่องมันถูกอยู่แล้ว นำเข้ามาจากบราซิล หรืออินเดีย อะไรแบบนี้ เข้ามาทางเรือ คล้ายๆหมูเถื่อน ตัวนี้เลยคือหลักๆที่ทำให้ราคาเนื้อไทยตก”

อานัสยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า “สมมติแม่ค้าเขียง รับเนื้อวันละ 5 ตัว คนซื้ออย่างผมที่จะไปจับวัวก็ต้องประเมินเดือนนึง จะซื้อวัว 150 ตัว ยกตัวอย่าง ได้กำไรประมาณ 2,000 วันละประมาณ 10,000 บาท แต่พอเนื้อกล่องเข้ามา จากเดิมเคยรับ 5 ตัว เหลือแค่ 2 ตัว พ่อค้าคนกลางที่ขายวัว จะทำอย่างไรให้รายได้มากที่สุดใกล้เคียงเท่าเดิม ก็ต้องไปกดราคาคนเลี้ยง หรือคนขุนวัว ให้ราคาต่ำกว่าเก่า สุดท้ายก็ราคาตก พ่อค้าคนกลางเขาก็มีค่าใช้จ่ายตามหลังมามาก ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำรายได้ใกล้เคียงเท่าเดิมมากที่สุด

อานัส ทิ้งท้ายโดยออกตัว ขอเป็นตัวแทนภาคส่วนของปัญหานี้ ร้องขอไปถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้เข้ามาดูแล อาจจะเข้มงวดมาตรการมากขึ้นก็ได้ พร้อมและยินดีปฏิบัติตาม ก็มาคุยกันในกรอบที่เป็นไปได้ แค่ขอให้คนได้ทำงาน