ปริศนาโบราณคดี : “ศ.ศิลป์ พีระศรี” “อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย” กับการล้างอาถรรพณ์อมตะวาจา? (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ
(ซ้าย) แบบร่างปูนปลาสเตอร์รูปครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่หอประติมากรรมต้นแบบ ในโรงหล่อกรมศิลป์ (ขวา) ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี

ตอน 1

นึกว่าฉบับนี้จะได้เขียนเรื่องการคลี่คลายปริศนา “อมตะวาจา” ของครูบาเจ้าศรีวิชัยเกี่ยวกับคำพูดที่ว่า “ตราบแม่ปิงไม่ไหลย้อนคืนสู่เชียงใหม่ฉันใด ตัวเราก็จักไม่กลับไปเหยียบเชียงใหม่อีกฉันนั้น” แล้วเชียว

ปริศนาดังกล่าวคงต้องขอยกยอดไปฉบับหน้า เนื่องด้วย หลังจากที่เปิดประเด็นเรื่อง ใครสั่งให้สร้างอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ตีนดอยสุเทพ (หมายเหตุ คำว่า “ตีนดอย” นี้ รศ.กรรณิการ์ วิมลเกษม ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรโบราณ บอกว่าไม่ใช่คำหยาบ เพราะคำว่า “เชิง” เป็นภาษาเขมร ก็แปลได้ว่า “ตีน” เหมือนกัน)

ได้มีผู้รู้หลายท่านโทรศัพท์มาร่วมแจมแบ่งปันข้อมูล เพื่อช่วยกันไขปริศนาบางประการ พอจะได้ข้อสรุป (ซึ่งก็ยังเป็นท่อนๆ) แต่เนียนขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย ดังนี้

หลวงศรีประกาศ
คนเมืองจันท์สู่ “เพชรล้านนา”

ผู้ให้ข้อมูลระบุว่าอ่านมาจากหนังสือที่ระลึกงานเปิดอาคาร “พุทธสถานเชียงใหม่” (อยู่เชิงสะพานนวรัฐ) หนังสือเล่มนั้นมีข้อเขียนของหลวงศรีประกาศ

ก่อนอื่นจำเป็นต้องขออธิบายให้ทราบว่า “ใครคือหลวงประกาศ”

เชื่อว่าชาวเชียงใหม่ได้ยินชื่อ “หลวงศรีประกาศ” บ่อย แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ท่านผู้นี้มีนามเดิมว่า “ฉันท์ วิชยาภัย” แถมยังเป็นชาวจันทบุรี ไม่ใช่ชาวเชียงใหม่อีกด้วย

แต่ความที่ได้ติดตามผู้มีพระคุณมาอยู่เชียงใหม่ ทำให้ได้มาเป็นทนายความที่นี่ และต่อมาได้เป็นกรรมการสุขาภิบาล เป็นบุคคลรายแรกๆ ที่มีส่วนเริ่มบุกเบิกระบอบประชาธิปไตยของเชียงใหม่

ในยุคที่เป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ถึงหกสมัย และผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่อีกหลายสมัย ได้สร้างผลงานด้านสาธารณูปโภคหลายแห่ง อาทิ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ สนามกีฬาเทศบาล หอนาฬิกานอกประตูท่าแพ สะพานคอนกรีตข้ามแม่น้ำข่า ฯลฯ

และแน่นอนว่า ผลงานชิ้นโบแดงคือการตัดถนนศรีวิชัยจากห้วยแก้วขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพร่วมกับครูบาเจ้าศรีวิชัย

เมื่อเสร็จโครงการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ หลวงศรีประกาศได้มาเป็นกำลังสำคัญในการจัดตั้งพุทธสถานเชียงใหม่ อันเป็นที่มาของการบันทึกความในใจหลายๆ อย่างของท่าน

หนึ่งในนั้นมีเรื่องราวของการก่อสร้างอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ตีนดอยสุเทพรวมอยู่ด้วย

 

17 พฤษภาคม 2507
คือวันประดิษฐานอนุสาวรีย์

ข้อมูลจากบันทึกของหลวงศรีประกาศเล่มนั้น ได้กล่าวถึงที่มาของอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยไว้ในมิติที่น่าพิศวง

หลวงศรีประกาศได้เชิญชวนชาวเชียงใหม่ทุกฝ่ายให้ร่วมกันบริจาคเงินสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงครูบาเจ้าศรีวิชัย

โดยตัวเขาได้อาสาเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อติดต่อกรมศิลปากรเกี่ยวกับการว่าจ้างสร้างรูปเหมือนครูบาฯ ในทำนองว่าอยากทราบประมาณการค่าใช้จ่าย เพื่อจะได้กลับไปบอกชาวเชียงใหม่

ปรากฏว่าทางโรงหล่อกรมศิลป์ กลับบอกหลวงศรีประกาศว่า ได้มีผู้มาสั่งทำอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยก่อนหน้านั้นแล้ว ในราคา 50,000 บาท แต่เจ้าของผู้สั่งทำยังไม่ยอมมารับงานเสียที ค้างนานหลายปีแล้ว

หลวงศรีประกาศจึงขอร้องกรมศิลปากรว่า ในเมื่อเจ้าของไม่มารับงานที่สั่งคืน ถ้าเช่นนั้นเป็นไปได้หรือไม่หากชาวเชียงใหม่จะขอรับอนุสาวรีย์ชิ้นนี้ไปแทน

กรมศิลปากรยังไม่ยอมตกลงในครั้งแรก ด้วยเกรงว่าสักวันหนึ่งเกิดเจ้าของผู้นั้นมาขอรับงาน เดี๋ยวกรมศิลป์จะลำบากใจเมื่อไม่มีผลงานมอบให้

หลวงศรีประกาศจึงได้เดินทางกลับมาเชียงใหม่ เฝ้ารอคอยเวลาให้ล่วงเลยอยู่ร่วม 1-2 ปี ในที่สุดก็เดินทางลงไปกรุงเทพฯ อีกรอบ พบว่ารูปเหมือนครูบาฯ ยังอยู่ที่เดิม ไม่มีใครมารับเสียที

จึงเดินหน้าเจรจาต่อรองกับกรมศิลป์อีกรอบ ในที่สุดกรมศิลป์ก็ตกลงมอบให้หลวงศรีประกาศไป โดยหลวงศรีประกาศบอกว่า ไม่ใช่รับมาฟรีๆ ท่านเองก็ต้องจ่ายเงินซื้อในราคา 50,000 บาทเท่าราคาจ้างวานเดิม

ปัญหาคือ หลวงศรีประกาศไม่ระบุวันเดือนปี ที่ไปประสานเจรจากับกรมศิลป์ทั้งสองครั้ง

มิพักต้องไปถามถึงว่า “หลวงศรีประกาศพอจะทราบไหม ว่าประติมากรท่านใดเป็นคนปั้น”

ในบันทึกของหลวงศรีประกาศไม่มีการระบุถึงชื่อศิลปินเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นาม “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” แต่อย่างใดเลย

นี่ถ้าหากว่า ขาดบันทึกหลักฐาน “รูปแบบร่าง” ในหอประติมากรรมต้นแบบ ที่กรมศิลปากรจัดแสดงไว้ คนไทยทั้งประเทศก็คงยิ่งไม่มีใครรู้เช่นกันว่า รูปเหมือนของครูบาฯ สร้างโดยอาจารย์ศิลป์

อาจเป็นเพราะยุคนั้น ไม่ใช่ยุคข้อมูลข่าวสาร หรืออาจเป็นไปได้ว่า ชื่อเสียงของอาจารย์ศิลป์ ยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางนักในระดับคนท้องถิ่น

หลวงศรีประกาศบอกแต่ว่า ตนได้นำอนุสาวรีย์รูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัยขึ้นรถไฟกลับมา ครั้นถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่ย่านสันป่าข่อย ก็พยายามจะนำลงจากรถ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถนำลงมาได้ ถึงกับต้องมีการจุดธูปเทียนดอกไม้ อธิษฐานจิต กล่าวอัญเชิญ ขอขมาต่อดวงวิญญาณครูบาเจ้าศรีวิชัย

จนในที่สุด ก็สามารถนำลงมาได้ โดยมีชาวเชียงใหม่ ทั้งพระสงฆ์ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และเจ้านายฝ่ายเหนือ ตั้งขบวนแห่รอรับที่สถานีรถไฟเชียงใหม่อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงค่อยๆ ได้รับการเคลื่อนย้ายออกจากสถานีรถไฟเชียงใหม่ไปยังบริเวณน้ำตกห้วยแก้ว ใกล้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนถึงบริเวณลานหน้าวัดศรีโสดา สถานที่ประดิษฐานปัจจุบันได้สำเร็จ

หลวงศรีประกาศระบุว่า วันนั้นเป็นวันเดียวกันเป๊ะ กับวันที่มีการทำพิธีเปิดเขื่อนภูมิพลอย่างเป็นทางการ นั่นคือวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2507

เป็นวันที่ตรงกันอย่างเหลือเชื่อ!

“กระแสน้ำปิงได้ไหลบ่า หวนย้อนกลับคืนขึ้นเหนือ จนนองท่วมท้นเต็มเขื่อนภูมิพลถึงเขตอำเภอฮอด…”

การที่กระแสน้ำปิงได้ไหลย้อนกลับขึ้นไปนั้น เนื่องจากทางการสั่งปิดเขื่อนเพื่อใช้งานเป็นครั้งแรก ในการกักเก็บน้ำสำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าและเก็บน้ำไว้ให้เกษตรกรได้มีไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง

วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2507 นั้นมีหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นวันทำพิธีเปิดเขื่อนภูมิพล

แต่ทว่า รายละเอียดในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยเล่า เป็นเช่นไร ใครเป็นประธานเปิดงาน ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส กันบ้าง?

ตอนนั้นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สร้างใกล้เสร็จหรือยัง อธิการบดี มช. มีส่วนร่วมสนับสนุนการจัดสร้างอนุสาวรีย์นี้ด้วยหรือไม่ เพราะต่อมาหน่วยงาน มช. ได้ใช้ประโยชน์จากอนุสาวรีย์แห่งนี้แบบเต็มๆ กล่าวคือช่วงเปิดเทอม มช. จะมีประเพณีรับน้องขึ้นดอยสุเทพ ต้องมีพิธีสักการะอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นประจำทุกปี

ทว่า ข้อความในบันทึกของหลวงศรีประกาศส่วนนี้ ก็ไม่ได้ระบุรายนาม “เจ้าภาพหลัก” และ “เจ้าภาพร่วม” หรือ “เจ้าภาพรอง” ว่ามีใครบ้าง

แต่ที่แน่ๆ คือมีหลวงศรีประกาศเข้าไปเกี่ยวข้องในทุกขั้นตอนแบบเต็มๆ ตามที่สันนิษฐานไว้ในฉบับที่แล้ว

ใครสั่งกรมศิลป์สร้างรูปเหมือนครูบา

บันทึกดังกล่าวอาจกระจ่างชัดขึ้นมาเพียงบางส่วน แต่ก็ยังคนทิ้งความคลุมเครือไว้ให้ขบคิดต่อว่า “ใคร” เป็นผู้สั่งสร้างรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัยครั้งแรก ก่อนที่หลวงศรีประกาศจะได้รับมอบหมายจากชาวเชียงใหม่ให้มาประสานกรมศิลป์

แถมกรมศิลป์ ซึ่งในหลักฐานบอกว่าได้รับเงินค่าจ้าง 50,000 บาทไปแล้ว (จากใครก็ไม่รู้-ผู้สั่งจ้าง) แต่กลับไม่ทราบว่าเป็นใคร ชายหรือหญิง มาจากไหน ไม่มีการบันทึกชื่อเสียงเรียงนามของบุคคลผู้ว่าจ้างนั้น เป็นไปได้ล่ะหรือ เหตุการณ์ทำนองนี้

รับเงินจากบุคคลนิรนามหน้าไหนก็ไม่ทราบ จู่ๆ ก็มาสั่งให้ปั้น เมื่อปั้นเสร็จกลับยังดูดายไม่ยอมมารับคืนอีก ใจคอไม่คิดจะทิ้งหมายเลขที่อยู่โทรศัพท์ไว้ให้กรมศิลป์ติดต่อกลับบ้างเลย

อะไรจะลึกลับซับซ้อนกันขนาดนั้นหนอ

แต่เอาเถอะค่ะ อย่างน้อยที่สุดบันทึกของหลวงศรีประกาศฉบับนั้น ก็ยังมีการระบุว่าไปรับรูปปั้นมาจากโรงหล่อกรมศิลปากรจริง และมีการประดิษฐานจริงในปี พ.ศ.2507

 

คอลัมนิสต์ฝรั่งเศสฟันธง
สร้างระหว่างปี 2499-2502

มีบทความภาษาฝรั่งเศสชิ้นหนึ่ง จากเว็บที่ชื่อว่า Merveilleuse Chiang-Mai (แปลว่า มหัศจรรย์เชียงใหม่) ไม่ระบุนามคอลัมนิสต์ ได้เขียนถึงอัตชีวประวัติและผลงานศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีการเอ่ยถึงอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยชิ้นนี้ว่า น่าจะสร้างระหว่างปี พ.ศ.2499-2502

โดยจัดให้อยู่กลุ่มเดียวกันกับผลงานของอาจารย์ศิลป์อีกสองชิ้นคือ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ดอนเจดีย์ และรูปเหมือนพระยารัษฎานุประดิษฐ์ เนื่องจากทั้งสามชิ้นเป็นผลงานรูปบุคคลสำคัญของไทยกลุ่มสุดท้าย ในช่วงบั้นปลายชีวิตศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ดีนัก ต้องมีลูกศิษย์มาช่วยสานต่อ

เพราะหลังจากปี พ.ศ.2502 เป็นต้นไป อาจารย์ศิลป์เริ่มหันไปปั้นรูปเหมือนบุคคลรายรอบตัวที่สนิทสนมรู้จักมักคุ้นเสียเป็นส่วนมาก

หากข้อสันนิษฐานของนักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้นี้เป็นจริง คือสร้างเสร็จไม่เกินปี พ.ศ.2502 ก็ย่อมแสดงว่า อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย เก็บไว้ที่โรงหล่อกองหัตถศิลป์ นับจากหล่อเสร็จต่ออีกราว 5 ปี กว่าจะมีการอัญเชิญขึ้นสู่เชียงใหม่

ข้อมูลค่อยๆ คลี่คลายทีละเปลาะๆ ถ้าจะให้กระจะกระจ่างมากกว่านี้ เห็นทีแผนถัดไป ดิฉันคงจะต้องขอสัมภาษณ์ เก็บข้อมูลจากฝ่ายโรงหล่อกรมศิลปากรอย่างละเอียดแล้วล่ะค่ะ

จะได้รู้กันชัดๆ เสียทีว่า คนที่สั่งปั้นรูปเหมือนนั้นเป็นใคร มีตัวมีตนจริงหรือไม่ หรือจะยังคงนิรนามต่อไป และหลวงศรีประกาศเดินทางมากี่ครั้งกันแน่ ปีไหนบ้าง

อีกสิ่งหนึ่ง ที่แปลกใจมากก็คือ อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ทั้งๆ ที่เป็นผลงานของศิลปินระดับโลก สร้างโดยโรงหล่อกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นรูปบุคคลสำคัญลำดับแรกสุดในวงการสงฆ์ล้านนา แถมยังเป็นสถานที่ที่มีผู้คนมาเคารพกราบไหว้เป็นอันดับต้นๆ ของเชียงใหม่

แต่กลับไม่ปรากฏว่ามีการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สำคัญของกรมศิลปากรแต่อย่างใด!