ปริศนาโบราณคดี : “ศ.ศิลป์ พีระศรี” “อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย” กับการล้างอาถรรพณ์อมตะวาจา? (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ
(ซ้าย) แบบร่างปูนปลาสเตอร์รูปครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่หอประติมากรรมต้นแบบ ในโรงหล่อกรมศิลป์ (ขวา) ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี

“หอประติมากรรมต้นแบบ” หรือในอดีตคือ “โรงหล่อกองหัตถศิลป” สังกัดกรมศิลปากร ซึ่งตั้งอยู่แนบชิดติดกับรั้วคณะมัณฑนศิลป์ และคณะจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ ถนนหน้าพระลาน ได้มีการจัดแสดงหุ่นประติมากรรมแบบร่างรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย ด้วยวัสดุปูนปลาสเตอร์ ขนาดสูงเพียงไม่เกิน 2 ฟุต ในท่ายืนก้าวขาซ้ายไปข้างหน้า (แต่จะเห็นเป็นด้านขวาของเรา) และยกส้นเท้าขวาสูงเล็กน้อย แขนทั้งสองข้างที่ดูเหมือนว่ามือช่วงล่างจะหักหายไปนั้น แท้จริงเป็นการปั้นค้างไว้จงใจไม่ใส่รายละเอียด เนื่องจากในความเป็นจริงต้องมีการถือเครื่องอัฐบริขารต่างๆ

ผลงานชิ้นนี้เป็นการออกแบบและปั้นโดย “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” ศักราชของปีที่ปั้นรูปประติมากรรมต้นแบบชิ้นนี้ ไม่มีการระบุแน่ชัดนัก เพียงแต่บอกคร่าวๆ ว่าได้นำไปขยายเป็นอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยขนาดเท่าคนจริง หล่อด้วยโลหะรมดำ เมื่อราว พ.ศ.2502

โดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ขยายแบบปั้นด้วยตนเอง และ

มี “อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ” ประติมากรลูกศิษย์เอกเป็นผู้ช่วย

อ.เขียน ยิ้มศิริ
อ.เขียน ยิ้มศิริ

อนุสาวรีย์ชิ้นนี้เมื่อยกมาประดิษฐาน ณ เชิงดอยสุเทพ บริเวณหน้าวัดศรีโสดา จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการจัดตั้งบนฐานสองชั้น ภายในกรอบซุ้มตกแต่งลวดลายประดิษฐ์ใหม่ในทำนองล้านนาประยุกต์ มีการนำ “สร้อยประคำ 108 เม็ด” มาคล้องคอ กับไม้เท้า 1 ด้ามที่มีลักษณะคดเล็กน้อยไม่ตรงทื่อ

จากการสัมภาษณ์ลูกศิษย์ลูกหาสายครูบา บอกว่าไม้เท้าอันแรกที่ครูบาใช้ ทำจากแก่นไม้มะขามแดง หัวไม้เท้าสวมด้วยเหล็กตะบันหมาก

รูปเหมือนนี้ยังไม่มีพัดใบตาล กับบาตรขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นอีกสองสัญลักษณ์สำคัญของครูบาเจ้าศรีวิชัย ผิดกับการนำมาใส่แทบทุกแห่งเมื่อมีการปั้นอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยในยุคหลังๆ

สิ่งที่สงสัยก็คือ ทำไม ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จึงปั้นรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย ในเมื่อสถานะของอาจารย์ศิลป์ในช่วงบั้นปลายชีวิตนั้นเป็นข้าราชการ เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นคณบดีคณะจิตรกรรมฯ เป็นอธิบการบดี (สมัยก่อนใช้ผู้อำนวยการ) มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นประติมากรเอกระดับชาติ ผลงานที่ปั้นทุกชิ้นย่อมเป็น “งานหลวง” ไม่ใช่ “งานราษฎร์”

หากเป็น “งานหลวง” คำถามที่ตามมาอีกก็คือ ใครเป็นผู้ดำริให้มีการปั้นรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย รัฐบาลกลางหรือเป็นการขออนุเคราะห์จากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

ในเมื่อรัฐบาลขณะนั้น (ยุคตั้งแต่ พ.ศ.2500 เป็นต้นมา) หมดยุคของคณะราษฎร เข้าสู่ยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้ว ซึ่งหากยังอยู่ในช่วงรัฐบาลคณะราษฎร ก็จะไม่แปลกใจอะไรเลย เพราะคณะรัฐบาลในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานจะมีสายสัมพันธ์อันดีและศรัทธาครูบาเจ้าศรีวิชัยอยู่ลึกๆ (รายละเอียดเรื่องนี้เคยนำเสนอไปแล้วตอนใครลงจอบแรกทางขึ้นดอยสุเทพ 3-4 ฉบับก่อน)

หรือว่าจะเป็นโครงการตกค้างที่มอบหมายผ่านกระทรวงศึกษาธิการหรือกรมศิลปากรมาตั้งแต่ยุคคณะราษฎร และเจ้าของเรื่องเดิมคือกลุ่มของ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ พระยาอนุมานราชธน ได้ส่งมอบมายังกลุ่มของ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ให้ยังต้องสนองนโยบายเดิมให้เสร็จ ก็เป็นเรื่องที่สุดจะคาดเดา

และถ้าหากเป็น “งานราษฎร์” หมายถึงผู้ว่าจ้างเป็นภาคเอกชน ก็ดูจะแปลกๆ ชอบกลเอาการ พลอยทำให้เกิดคำถามตามมาอีกมากมายว่า อาจารย์ศิลป์นอกเหนือจากจะปั้นงานให้รัฐบาลแล้ว ยังรับจ้างทำงานส่วนหนึ่งให้เอกชนอีกด้วยล่ะหรือ

ที่สงสัยเช่นนี้ เนื่องจากมีผู้กล่าวกันหนาหูว่า อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยชิ้นนี้ ผู้จ้างปั้นคือกลุ่มของคหบดีพ่อค้าวาณิชชาวเชียงใหม่ ที่ติดสอยห้อยตามครูบาเจ้าศรีวิชัยมาตั้งแต่ช่วงช่วยกันสร้างทางขึ้นดอยสุเทพแล้ว

คือใครกันบ้างล่ะ

อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยยุคแรกสร้าง ยังไม่มีดอกไม้หรือผ้าจีวรไปห่ม
อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยยุคแรกสร้าง ยังไม่มีดอกไม้หรือผ้าจีวรไปห่ม

บุคคลผู้มีบารมีกลุ่มนั้น จะว่า “หลวงอนุสารสุนทร” รึ ก็สิ้นบุญตั้งแต่ครูบาสร้างทางขึ้นดอยสุเทพยังไม่ทันเสร็จด้วยซ้ำ

ถ้างั้นก็เหลืออีกสองคนที่เป็นบุคคลใกล้ชิดสนิทสนมคอยรับใช้ครูบาช่วงสร้างทางขึ้นดอย คือ “เถ้าแก่โหงว” กับ “หลวงศรีประกาศ”

ตรวจสอบข้อมูลพบว่าเถ้าแก่โหงว คหบดีผู้มั่งคั่งแห่งเชียงใหม่ ก็เสียชีวิตในปี พ.ศ.2499 (ร่วมรุ่นกับฉากสุดท้ายของการเปลี่ยนรัฐบาลจากยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม มาเป็น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์)

ส่วน “หลวงศรีประกาศ” เสียชีวิตปี พ.ศ.2512 กับโจทย์ข้อที่ว่ารูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัยสันนิษฐานว่าน่าจะปั้นเสร็จราวปี พ.ศ.2502 ก็จะเห็นได้ว่าตัวเลขเหล่านี้ค่อนข้างเหลื่อมล้ำซับซ้อนมีเลศนัยแฝงคาบเกี่ยวกันอยู่

กล่าวคือ อาจเป็นไปได้ว่า ช่วงที่เถ้าแก่โหงวยังมีชีวิต คงได้หารือกับหลวงศรีประกาศ ผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ ว่าควรมีการจัดสร้างอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยแบบเป็นทางการ โดยทำเรื่องขออนุญาตผ่านไปยังกรมศิลปากรในนามผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

หากเป็นตามสมมติฐานนี้ก็มีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะงานพระราชทานเพลิงศพครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นพิเศษ (สมัยปัจจุบันใช้ว่าเป็นกรณีพิเศษ แต่ยุคโน้นเรียกว่าเป็นพิเศษ) มีขึ้นในปี พ.ศ.2489 คำพูดสุดท้าย หรืออมตะวาจา ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยกล่าวแก่ หลวงศรีประกาศ (และอาจรวมถึงเถ้าแก่โหงวด้วย) อาจจะยังคงก้องกังวานชัดสองหูของชาวเชียงใหม่ เพื่อรอการไถ่โทษสักวันหนึ่ง อมตะวาจานั้นคือ

“ตราบที่แม่ปิงไม่ไหลย้อนคืนสู่เชียงใหม่ฉันใด
ตัวเราก็จักไม่กลับไปเหยียบเชียงใหม่อีก ฉันนั้น”

เรื่องประเด็นการตีความนัยยะที่ซ่อนอยู่ในอมตะวาจาของครูบาเจ้าศรีวิชัยนี้ มีแง่มุมรายละเอียดที่ต้องให้ถกให้เถียงกันอีกยาว คงต้องขอแยกเก็บไว้วิเคราะห์กันคราวหน้า

ในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะประเด็นที่ตั้งคำถามไว้ตั้งแต่ต้นก่อนว่า ใครเป็นผู้สั่งทำรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัยมาติดตั้งไว้ที่เชิงดอยสุเทพ

 

ต้องขอประทานโทษผู้อ่านด้วยจริงๆ ที่ตัวผู้เขียนเองยังไม่สามารถไขปริศนาข้อมูลในส่วนนี้ได้ เนื่องจากหลักฐานเรื่องนี้ไม่เคยมีการบันทึกไว้เป็นภาพรวมเลย

มีแต่ข้อมูลที่แยกส่วนเป็นท่อนๆ คือทางหอประติมากรรมต้นแบบก็มีแต่หุ่นจำลองที่แสดงให้เห็นว่านี่คือผลงานการปั้นรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัยโดยอาจารย์ศิลป์

แต่ก็ไม่มีรายละเอียดคำอธิบายที่มาที่ไปมากกว่านั้น ว่าอาจารย์ศิลป์รับงานนี้มาจากใคร ทำไมต้องสร้าง สร้างเมื่อไหร่ อาจารย์ศิลป์ศึกษาบุคลิกลักษณะของครูบา โดยใช้รูปภาพของครูบาทั้งหมดกี่ภาพจึงสามารถจินตนาการเป็นสามมิติได้เช่นนี้ ระหว่างครูบากับอาจารย์ศิลป์ ทั้งสองท่านเป็นบุคคลร่วมสมัยกัน เคยมีโอกาสพบหน้าค่าตากันแบบตัวเป็นๆ บ้างหรือไม่

ข้างฝ่ายทางเชียงใหม่ก็เช่นกัน ไม่มีการทำบันทึกที่มาที่ไปของอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยไว้ที่เชิงฐานอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

มีแต่เพียงการบอกว่า รูปเหมือนของครูบาเจ้าศรีวิชัยชิ้นนี้เป็นตัวแทนของผู้นำการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพพร้อมรายชื่อลูกศิษย์ว่ามีใครบ้าง หันไปมองรายรอบอนุสาวรีย์แห่งนี้ พบแต่ข้อมูลเรื่องการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพล้วนๆ

แต่ไม่มีข้อมูลเรื่องการประดิษฐานอนุสาวรีย์

คงเหลือแต่เพียงเรื่องเล่าเชิงมุขปาฐะในทำนองว่า เมื่อทางเชียงใหม่สั่งทำรูปเหมือนครูบาเสร็จ เคยมีการไปรับรูปเหมือนของครูบาจากกรุงเทพฯ เพื่อจะมาประดิษฐานที่เชิงดอยสุเทพนี้ แต่ไม่สามารถนำลงจากรถมาได้ และหลายคนเชื่อว่า สงสัยเป็นเพราะอาถรรพณ์ของ “อมตะวาจา” นั้นนั่นเอง ที่ดวงวิญญาณครูบายังไม่ประสงค์จะเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่

และเรื่องเล่าก็มีต่อไปอีกว่า กระทั่งมีการสร้างเขื่อนภูมิพลเสร็จ มีการเปิดเขื่อนอย่างเป็นทางการ น้ำแม่ปิงไหลย้อนจากอำเภอสามเงา จังหวัดตาก ขึ้นมาทิศเหนือไปสู่ตำบลดอยเต่า อำเภอฮอด (สมัยนั้นยังไม่แยกเป็นอำเภอดอยเต่า) เมื่อปี พ.ศ.2507

หลังจากนั้นไม่นาน ได้มีการอัญเชิญรูปเหมือนของครูบาลงจากรถอีกครั้ง ปรากฏว่าครั้งหลังนี้ สามารถทำได้สำเร็จ เพราะว่าน้ำแม่ปิงเกิดการไหลย้อนคืนสู่เชียงใหม่แล้ว แสดงว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยยอมให้ชาวเชียงใหม่อัญเชิญรูปเหมือนของท่านมาสถิตที่เชิงดอยสุเทพได้

คำถามที่ตามมามากมายก็คือ อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ถูกนำมาตั้ง ณ สถานที่ปัจจุบันในปี 2507 อันเป็นปีเดียวกันกับการเปิดเขื่อนภูมิพลใช่หรือไม่

ตอนที่อัญเชิญรูปเหมือนมาครั้งแรก และไม่สามารถนำลงจากรถได้นั้น อยากทราบว่าเป็นปีไหน ปีที่อาจารย์ศิลป์กับอาจารย์เขียนช่วยกันปั้นจนเสร็จ ราว พ.ศ.2502 หรือเช่นไร ถ้าเช่นนั้นรูปปั้นนี้ก็ต้องค้างคาอยู่ในรถนานถึง 5 ปีเต็ม เป็นไปได้ล่ะหรือ?

หรือว่าถ้าจะให้ไม่โอเวอร์เกินไปนัก ก็อาจอัญเชิญขึ้นมาหลังจากนั้นเล็กน้อย แต่อย่าลืมว่า อาจารย์ศิลป์ เสียชีวิตในปี 2505 และช่วง 2 ปีหลังนั้น ท่านป่วยหนักแทบไม่รับงานปั้นอะไรอีกเลย

และเมื่อเอาลงจากรถไม่ได้ ชาวเชียงใหม่จะทำอย่างไรต่อ ขับรถเอากลับไปส่งคืนที่กรุงเทพฯ หรืออย่างไร

คืนที่ไหน โรงหล่อกองหัตถศิลป์ ของกรมศิลปากร?

ที่เปิดประเด็นมาทั้งหมดนี้ ก็เพราะเห็นเงื่อนงำและช่องโหว่อะไรหลายอย่างทีเดียว เกี่ยวกับที่มาที่ไปของอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยองค์นี้ ทั้งๆ ที่เป็นอนุสาวรีย์ครูบาที่มีชื่อเสียงมากที่สุด งามสง่ามากที่สุด มีผู้คนหลั่งไหลไปเคารพสักการะมากที่สุด มีเรื่องเล่าขานซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปต่างๆ นานาอย่างมากมาย

แต่แล้วเมื่อแค่โยนคำถาม 2-3 ข้อ เปรี้ยงว่า “ใครมอบหมายให้อาจารย์ศิลป์ปั้นรูปเหมือนครูบา” “สร้างเสร็จปีไหน” “และเอามาประดิษฐานที่นี่ได้อย่างไร ก่อนหรือหลังการเปิดเขื่อนภูมิพล?”

ดูเหมือนว่าจะมีก้อนอะไรติดคอขึ้นมาทันที ทำให้ตอบกันไม่ถูกเลย พวกเรานักวิชาการทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นทั้งหลายคงต้องกลับมาช่วยกันนับหนึ่งใหม่ ตั้งต้นสืบค้นคลำทาง เขียนเรียบเรียงเรื่องนี้ให้เป็นระบบระเบียบ ไม่ใช่พูดกันไปคนละทิศละทาง เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่ไกลตัวมากเกินไปกว่าจะสืบเสาะหาความจริงได้

ตอน 2