ปาฐกถาเผยแพร่ประชาธิปไตย กับเสรีภาพทางศาสนาในภาคใต้ ภายหลังการปฏิวัติ 2475

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

ปาฐกถาเผยแพร่ประชาธิปไตย

กับเสรีภาพทางศาสนาในภาคใต้

ภายหลังการปฏิวัติ 2475

 

รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยควรส่งเสริมให้ราษฎรมุสลิมทางใต้ มีการศึกษาเรียนรู้ภาษาไทย ส่วนขนบรรมเนียมประเพณีและศาสนาเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนตัว รัฐบาลไม่ควรแทรกแซง

(เขมชาติ, 2478, บทนำ)

 

“การเปลี่ยนรูปชีวิตจิตใจ” สมัยประชาธิปไตย

หากมีใครเปิดวิทยุกระจายเสียงเมื่อ 23 มิถุนายน 2478 ในครั้งนั้นจะได้ยินปาฐกถาเรื่อง “วันของเรา” ของสำนักงานโฆษณาการว่า “ท่านยังคงจำกันได้ว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เวลาเช้าตรู่ ประเทศสยามที่รักของเราได้ชุบตัวใหม่ เปลี่ยนแปลงรูปร่างตลอดจนชีวิตจิตใจจากอีกอย่างหนึ่งมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง…” (สำนักงานโฆษณาการ, 2504, 834)

“การเปลี่ยนรูปชีวิตจิตใจ” นั้นจำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับราษฎร ดังความที่รัฐบาลแถลงถึงคำมั่นสัญญาว่า “การชี้แจงบอกเล่าให้ราษฎรทราบว่ารัฐบาลจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ นอกจากจะทำให้ราษฎรมีโอกาสคอยเตรียมรับอาการกระทำนั้นแล้ว ยังจะได้ประโยชน์จากคำถามว่า ราษฎรจะพอใจหรือไม่ เมื่อเห็นว่าราษฎรส่วนมากไม่ค่อยนิยมวิธีการอย่างนั้นนัก ก็พอที่จะมีเวลาแก้ไขได้ทัน ทั้งการที่บอกเล่าว่ารัฐบาลจะทำอย่างนั้นอย่างนี้นั้น จะได้เป็นเครื่องประกันว่ารัฐบาลต้องทำ จะบิดพลิ้วหลีกเลี่ยงมิได้ อันเป็นวิธีหนึ่งที่ก่อให้ราษฎรเกิดความเชื่อถือรักใคร่ในรัฐบาล” (สำนักงานโฆษณาการ, 2477, 8-9)

ดังนั้น เมื่อระบอบการปกครองถูกเปลี่ยนแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับราษฎรก็ย่อมเปลี่ยนแปลงตามในลักษณะที่รัฐบาลจำต้องรายงานสื่อสารให้กับประชาชนทราบเรื่องการบ้านการเมืองตลอดเวลา

ไพโรจน์ ชัยนาม และเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ กับคณะปาฐกถาฯ ถ่ายที่นราธิวาส 2478

การปาฐกถาภาคใต้

ด้วยเหตุที่รัฐบาลตระหนักดีว่าสังคมขณะนั้นอุดมการณ์ตามระบอบเก่ายังไม่หมดไป และยังคงกระแสของการต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นคลื่นใต้น้ำอยู่จึงจำต้องให้ข่าวสารเพื่อเชื่อมประสานระหว่างรัฐบาลกับประชาชนทั่วทุกภาคด้วย (สุวิมล พลจันทร์, 145)

หากเราติดตามคณะปาฐกถาของสำนักงานโฆษณาการไป นอกจากพวกเขาจะไปเดินสายภาคอีสานและภาคอื่นๆ แล้ว พวกเขายังเดินทางไปภาคใต้ด้วย หลักฐานที่หลงเหลืออยู่ในบันทึกของพวกเขาคือ งานเขียนของเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ หนึ่งในคณะฯ บันทึกที่สิ่งเขาพบเห็นไว้ว่า

ราษฎรทางใต้สุดนั้นส่วนใหญ่พวกเขาพูดไทยไม่ได้ ดังนั้น รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยควรส่งเสริมให้พวกเขามีการศึกษา ได้เรียนรู้ภาษาไทย ส่วนขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนาเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนตัว รัฐบาลไม่ควรแทรกแซง (เขมชาติ, 2478, บทนำ)

สอดคล้องกับเนื้อหาในหนังสือคู่มือพลเมืองที่ถูกแจกจ่ายแก่ราษฎร ระบุถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 11 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาหรือลัทธิใดๆ และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อของตน เมื่อไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมของประชาชน” (สำนักงานโฆษณาการ, 2479, 163) รวมทั้งนายปรีดี พนมยงค์ เคยกล่าวถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนาภายหลังการปฏิวัติไว้ว่า “หลัก 6 ประการที่เราวางไว้นั้น ก็ได้ระลึกถึง Democracy ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน คือถือว่าคนทุกคนมีเสรีภาพ เลือกถือศาสนาได้ตามใจสมัคร เราจะไปบังคับให้บุคคลถือศาสนานั้นศาสนานี้ไม่ได้…” (รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20/วันที่ 26 สิงหาคม 2475, 177)

การไปปาฐกถาเผยแพร่ประชาธิปไตยที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา 2478

ดังนั้น การรับรู้การเปลี่ยนแปลงและบรรยากาศทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับราษฎรเป็นเจ้าของประเทศ และมีอำนาจสุงสุดในการปกครองนั้นถูกเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง อันสะท้อนให้เห็นในความรู้ความเข้าใจของผู้นำทางศาสนา ที่ได้ปาฐกถาอันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญหรือ “อุดังอุดังตูโบะฮ์” ของดะโต๊ะยุติธรรมศาลจังหวัดนราธิวาส เมื่อ 2479 ความว่า

รัฐธรรมนูญย่อมให้เสรีภาพแก่ชนชาวสยามทั่วไป มีสิทธิเท่ากันหมด ตระกูลก็ดี ศาสนาก็ดี ไม่เป็นเครื่องทำให้เกิดสิทธิแตกต่างกันเลย รัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพที่จะประกอบกิจตามลัทธิศาสนาของตน ผู้นับถือศาสนาอิสลามสามารถสร้างสุเหร่า เดินทางไปเมกกะและประกอบกิจอื่นๆ

และที่เสรียิ่งกว่านั้น คือรัฐบาลระบอบประชาธิปไตยยังส่งเสริมศาสนาอิสลาม เช่น ตั้งดะโต๊ะยุติธรรม อีกทั้งหลักบัญญัติในรัฐธรรมนูญตรงกับหลักบัญญัติของศาสนาอิสลามเป็นส่วนมาก เช่น การปรึกษาหารือด้วยความเห็นของส่วนมาก และให้เสรีภาพเท่ากันหมด (ศรัญญู เทพสงเคราะห์, 2563, 40-41)

คณะปาฐกถาที่นราธิวาส 2478 เช่น ไพโรจน์ ชัยนาม เขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ สมบุญ เหล่าวานิช สมประสงค์ หงสนันท์ และบรรจง วิลลักซ์

คณะปาฐกถาเผยแพร่ประชาธิปไตย

พลันเมื่อปาฐกถาเผยแพร่ประชาธิปไตยของสำนักงานโฆษณาการตามนโยบายของรัฐบาลคณะราษฎรเริ่มเมื่อต้นปี 2477 นั้น นักพูดที่ออกไปปาฐกถามีหลายคนและมีหลายคณะ เช่น ไพโรจน์ ชัยนาม อำพัน ตัณฑวรรธนะ เขมชาติ บุณยรัตนพันธุ์ บรรเจิด กาญจนินทุ สมประสงค์ หงสนันท์ สมบุญ เหล่าวานิช ชวาลา สุกุมลนันทน์ และบรรจง วิลลักซ์ เป็นต้น การเดินทางไปชนบทในสมัยนั้นยากลำบากมาก

การตะลอนของคณะฯ ของเหล่าคนหนุ่มเป็นงานสมบุกสมบันชนิดค่ำไหนนอนนั่น ไพโรจน์ ชัยนาม เล่าว่า “ต้องเดินทางลำบากไปด้วยกัน กินนอนร่วมกัน บางครั้งต้องไปกินนอนที่ศาลาวัด แต่เราก็สบายดีกันทุกคน การเดินทางเช่นนี้พวกเราหลายคนกลับชอบซึ่งเป็นการไปในที่คนหนุ่มๆ ในกรุงไม่มีโอกาสไปเห็นอย่างเรา” (สมบูรณ์, 2515, 13)

รัฐบาลส่งคณะปาฐกถาไปตามที่ต่างๆ ของประเทศที่กันดาร เดินทางยากลำบาก ส่วนอำเภอเมืองของจังหวัดต่างๆ นั้น กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการชี้แจงให้ประชาชนทราบแล้ว เหลือแต่พื้นที่รอบนอกที่เหลือจำนวนมากเป็นหน้าที่ของคณะปาฐกถา

เขมชาติเล่าเสริมอีกว่า ด้วยครั้งนั้นในชนบทไม่มีถนนให้รถยนต์วิ่งอย่างสะดวก ระหว่างทางต้องพักค้างแรมกลางทางนอนกันตามคบไม้ ไม่สามารถนอนบนดินได้เพราะสัตว์ร้ายชุกชุมมาก ส่วนเมื่อคณะฯ ไปปาฐกถาในดินแดนทางปักษ์ใต้นั้น คณะฯ จะเดินทางด้วยการล่องเรือเป็นหลัก (เขมชาติ บุณยรัตพันธุ์, 2538)

ไพโรจน์ ชัยนาม และคู่มือพลเมือง 2479 อันเป็นผลงานของเขา

สมบูรณ์ เหล่าวานิช อดีตข้าราชการหนุ่มอีกคน เขาติดตามคณะไปทำหน้าที่เสมียนทำบัญชี จดรายจ่ายต่างๆ พร้อมจดบันทึกรายงานการเดินทาง ทางสำนักงานฯ กำหนดแต่เพียงหัวข้อกว้างๆ ให้พูดเท่านั้น นักพูดจะต้องขยายความด้วยตนเอง เขามีหน้าที่จดชวเลขในการพูดเพื่อมิให้นักพูดพูดวกวนจนเกินไป บางครั้งเขาต้องทำหน้าที่เป็นพ่อครัว หุงข้าว ต้มน้ำให้คณะฯ ดื่มกินด้วย นอกจากนี้ เขายังต้องช่วยแจกเอกสารเผยแพร่ เช่น สมุด หนังสือ ภาพรัฐธรรมนูญ (สมบูรณ์ เหล่าวานิช, 2515, 14)

เขมชาติเล่าว่า เขาเดินทางไปทั่วประเทศปาฐกถาให้ผู้คนในชนบทฟังจนเขาล้มป่วยเป็นมาลาเรียอาการเจียนตาย (เขมชาติ, 2478)

ควรบันทึกด้วยว่า ในช่วงแรก ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศอาสาสมัครเข้ามาช่วยรัฐบาลทำหน้าที่ปาฐกถาฯ โดยสำนักงานฯ ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางปาฐกถา แต่ยังดำเนินการไม่ทั่วถึงเพียงพอ ต่อมารัฐบาลจึงมอบหมายสำนักงานฯ ดำเนินการให้ทั่วถึง

อำพัน ตัณฑวรรธนะ และผลงานหลักวิชาการเมือง (2479)

ภารกิจของคณะปาฐกถาสื่อสารทางการเมืองดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น การเดินทางยากลำบากมากขึ้น ต่อมาจึงมุ่งเน้นจังหวัดรอบนอกพระนครแทน เช่น ปทุมธานี นนทบุรี เป็นหลัก โดยเนื้อหาที่บรรยายเผยแพร่เป็นเรื่องรัฐนิยมฉบับต่างๆ รวมทั้งกฎระเบียบต่างๆ ที่สภาวัฒนธรรมที่ราษฎรพึงทราบ เอกสารแจกเป็นภาพการปฏิบัติตามรัฐนิยม ภาพรัฐนิยมที่กรมโฆษณาการจัดทำขึ้น ภาพนายกรัฐมนตรี การเปิดเพลงสมัยรัฐนิยมหรือเพลงสร้างความสามัคคี ความเสียสละต่างๆ ให้ชาติในยามสงคราม รวมทั้งจัดนิทรรศการผลงานรัฐบาลให้ประชาชนได้รับทราบอีกด้วย (สุวิมล พลจันทร์, 90)

กล่าวโดยสรุป รัฐบาลสมัยประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับการสื่อสารทางการเมืองกับราษฎรในการให้ความรู้การเมืองการปกครอง การแจ้งสิทธิ เสรีภาพ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง ตลอดจนรายงานผลงานของรัฐบาลให้ราษฎรทราบอย่างกว้างขวาง ด้วยรัฐบาลตระหนักว่าราษฎรเป็นเจ้าของประเทศและเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

เขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ และนักการเมือง (2478)
สมบูรณ์ เหล่าวานิช และรถยนต์ของสำนักงานโฆษณาการ
การแต่งกายของสตรีชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชตามรัฐนิยม