‘สกาจตุรงค์’ คืออะไร?

ญาดา อารัมภีร

หมากรุกและสกา กีฬายอดนิยมสมัยโบราณ มีหลักฐานมาแต่สมัยสุโขทัยว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ศาสตร์’ หรือความรู้ของผู้ที่จะปกครองบ้านเมืองต่อไป จารึกหลักที่ 3 หรือจารึกนครชุม บันทึกเกี่ยวกับความรู้หลากสาขาของพระมหาธรรมราชาลิไทยก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ว่าทรงเชี่ยวชาญ ดังนี้

“…เมืองอันใดก็รู้สิ้น อันรู้ศาสตร์ … อ … อยูกต สกาจตุรงค์กระทำยนตร์ ขี่ช้าง … คล้องช้างเป็นพฤฒิบาศศาสตร์ก็ … นับตวงถ้วนไซร้ยังมากกลา …” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

‘สกาจตุรงค์’ คือ สกาและหมากรุกนั่นเอง แม้จะมีคำกล่าวขานกันมาว่า ‘สกา’ คือกีฬาของพระราชา ดังใน “มหาภารตยุทธ” ที่ศิลปินแห่งชาติทั้งสอง ท่านอาจารย์กรุณา และศาสตราจารย์พิเศษเรืองอุไร กุศลาสัย แปลและเรียบเรียงไว้ตอนหนึ่งว่า

“สกาเป็นกีฬาในร่มซึ่งกลุ่มชนในวรรณะกษัตริย์โปรดปรานเป็นนักหนา และเมื่อได้เชิญใครแล้ว ก็ยากที่ผู้รับเชิญจะปฏิเสธได้ เพราะจะเป็นการเสียมารยาทและผิดประเพณีของวรรณะกษัตริย์ไป”

เท่าที่พบในวรรณคดีไทย การเล่นสกามิได้จำกัดแค่แวดวงกษัตริย์ แต่แพร่หลายทุกระดับชั้นทุกเพศทุกวัย เป็นความบันเทิงในชีวิตประจำวัน นิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” เล่าถึงการเล่นสกาเพิ่มสีสันความรักเป็นระยะๆ ทั้งตัวละครรุ่นใหญ่ชั้นอาและรุ่นเล็กชั้นหลาน ดังตอนที่สุดสาครเห็นพระเจ้าอาศรีสุวรรณเล่นสกาพนันจูบแก้มกับนางรำภาสะหรียามดึก

“มองเขม้นเห็นพระองค์ทรงสกา นางรำภาแพ้นับเบี้ยทับคะแนน

ถึงเจ็ดเบี้ยเสียหายถวายแก้ม พระจูบแถมเถียงท้วงทำหวงแหน

ต้องจูบคืนยืนดูอดสูแทน ทำหนุ่มแน่นน่าเบื่อเหลือรำคาญ”

นางรำภาสะหรีแพ้ทีหนึ่งเสียจูบหนึ่งที แต่ศรีสุวรรณอ้างว่าเสียสองต้องจูบคืนอีกทีหนึ่ง ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง

 

รุ่นใหญ่รุ่นเล็กพนันจูบกันทั่วหน้า ดังตอนที่หัสไชยเล่นสกากับพี่น้องสองสาว พระธิดาพระอภัยมณีกับนางสุวรรณมาลี ชั้นเชิงรุ่นหลานสูสีรุ่นอา

“เขาวุ่นวายฝ่ายกษัตริย์หัสไชย ไม่ห่างไกลสร้อยสุวรรณจันทร์สุดา

อยู่ในห้องสองนางเคียงข้างที่ พูดเซ้าซี้สรวลสันต์ด้วยหรรษา

พระชวนน้องสององค์ทรงสกา ทอดหกห้าหูช้างได้ข้างซ้าย

นางทอดถูกลูกบาศก์เดินพลาดแต้ม ต้องปรับแถมทับเบี้ยต้องเสียหาย

ต้องถูกจูบลูบแก้มยิ้มแย้มพราย …………………………………………….”

สกาใช่จะเป็นกีฬาของกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์เท่านั้น ชาวบ้านธรรมดาก็เล่นเพื่อความเพลิดเพลิน ดังจะเห็นได้จาก ‘มหาฤกษ์’ หรือหลวงจักรปาณี (ฤกษ์) บรรยายไว้ใน “นิราศกรุงเก่า” ตอนหนึ่งว่า

“บางคาบชวนนุชตั้ง ตีสะกา พะนันนา

ลางเปลี่ยนกลกรีฑา ต่อแต้ม

ขวยพักตร์พี่อัปรา นางร่ำ ไปแม่

พลางแม่หะเหยเย้ยแย้ม ยั่วย้วนสรวลสรร ฯ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

คนรักกันชวนกันเล่นสกา ชายเป็นฝ่ายชวนสาวเล่นสกาพนันเสียด้วย สู้ไม่ได้ เปลี่ยนไปเล่นไพ่ต่อแต้ม แพ้สาวอีก สาวก็หัวเราะชอบใจยั่วเย้าต่างๆ นานา

ต่อแต้มสมัยก่อนไม่เหมือนสมัยนี้ที่ใช้ไพ่ป๊อก “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ อธิบายว่า

 

“ต่อแต้ม, เปนชื่อไพ่เครื่องเล่นอย่างหนึ่ง, เขาทำด้วยงาช้างยาวสักสองนิ้ว, กว้างสักนิ้วหนึ่ง, เจาะเปนรูๆ เรียกว่าแต้ม, เมื่อเล่นเอาแต้มวางต่อให้ถูกต้องกัน” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

‘สกา’ แค่ ‘เรื่องเล็กๆ’ ในวรรณคดีไทย

แต่ ‘เรื่องใหญ่’ ในวรรณคดีแขก

ฉบับหน้า สกาพลิกชีวิต •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร