เหรียญหลวงพ่อจุ่น วัดโคกบำรุงราษฎร์ พระเกจิดำเนินสะดวก

“หลวงพ่อจุ่น รตนลาโภ” หรือ “พระครูมงคลรัตนาภิรักษ์” วัดโคกบำรุงราษฎร์ ต.ดอนกรวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี พระเกจิที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา

นอกจากการปกครองพระ-เณร พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองแล้ว ยังช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมสั่งสอนธรรมะ อบรมให้กระทำแต่ความดี

ด้านวิทยาคมถือเป็นอันดับต้นในพื้นที่ดำเนินสะดวก ยุคนั้นร่ำลือกันว่า เมื่อครั้งที่วัดนักบุญอันตน ดอนมดตะนอย จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นวัดคริสต์ สร้างเหรียญนักบุญอันตน ยังต้องให้เป็นผู้เสก

ด้านวัตถุมงคล หลายรุ่นล้วนแต่ได้รับความนิยม

โดยเฉพาะเหรียญรุ่น 3 พ.ศ.2514 ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้เหรียญรุ่นแรก

ที่ระลึกในงานฉลองสมณศักดิ์และงานทำบุญอายุครบ 72 ปี สร้างด้วยเนื้อทองแดง และเนื้อทองแดงรมดำ ไม่ได้บันทึกว่าสร้างจำนวนเท่าใด

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มกลม มีหูห่วง ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนครึ่งองค์หันหน้าตรง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนเขียนว่า “พระครูมงคลรัตนภิรักษ์” ด้านล่างเขียนคำว่า “วัดโคกบำรุงราษฎร์”

ด้านหลัง ตรงกลางเป็นอักขระยันต์ มีภาษาไทยล้อมรอบขอบว่า “งานฉลองสมณศักดิ์ทำบุญอายุครบ ๖ รอบ ๒๕๑๔”

จัดเป็นวัตถุมงคลที่หายากและมีราคา ผู้ใดครอบครองมักจะหวงแหน

เหรียญหลวงพ่อจุ่น รุ่น 3

 

เกิดในสกุลใบบน ที่บ้านวัดแก้ว ต.วัดแก้ว อ.บางแพ จ.ราชบุรี เมื่อวันพุธ เดือน 11 แรม 1 ค่ำ ตรงกับวันที่ 20 ตุลาคม 2442 บิดา-มารดาชื่อ นายทิมและนางลำใย ใบบน

ในสมัยเด็ก เรียนหนังสือกับพระอธิการแจ้ง วัดแก้ว จนอ่านได้ทั้งหนังสือไทยและหนังสือขอมตั้งแต่เด็ก ต่อมา ย้ายมาอยู่กับลุงและป้าที่ ต.ดอนกรวย อ.ดำเนินสะดวก

อายุครบ 23 ปี ลุงกับป้าจัดบวชพระให้ ที่พัทธสีมาวัดโคกบำรุงราษฎร์ ต.ดอนกรวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ได้รับฉายาว่า รตนลาโภ โดยมีหลวงพ่อฮั้ว วัดกลางวังเย็น เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการแจ้ง วัดโคกบำรุงราษฎร์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ชม วัดกลางวังเย็น เป็นพระอนุสาวนาจารย์

จำพรรษาอยู่ที่วัดโคกบำรุงราษฎร์นานถึง 10 พรรษา ต่อมาบิดาป่วย จึงกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดแก้ว เป็นระยะเวลา 8 พรรษา เพื่อที่จะได้ใกล้ชิดและดูแลบิดาจนสิ้นชีวิต

เมื่อจัดการงานศพเสร็จจึงกลับมาจำพรรษาที่วัดโคกบำรุงราษฎร์ดังเดิม

พ.ศ.2486 พระอาจารย์เกิด อดีตเจ้าอาวาสลาสิกขาไป ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน

หลวงพ่อจุ่น รตนลาโภ

วัดโคกบำรุงราษฎร์ เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์เล็กๆ ในหมู่บ้านโคกตานาค ต.ดอนกรวย อ.ดำเนินสะดวก เป็นที่ประกอบศาสนกิจของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านได้พร้อมใจกันก่อสร้างขึ้น เมื่อแรกก่อตั้งมีกุฏิ 2 หลัง ชาวบ้านนิมนต์พระภิกษุมาจำพรรษา

ต่อมาในราวปี พ.ศ.2454 เมื่อหลวงพ่อรัตน์จำพรรษา ทำนุบำรุงและก่อสร้างวัดขึ้นมาเป็นหลักเป็นฐาน มีการสร้างอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิเพิ่มเติม และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2456

พ.ศ.2501 หลังจากที่หลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติสมาคม มรณภาพลง จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลท่านัด

พ.ศ.2506 รับตำแหน่งพระครูชั้นประทวน

พ.ศ.2514 รับตำแหน่งพระครูชั้นสัญญาบัตรที่ พระครูมงคลรัตนาภิรักษ์

 

เป็นพระเกจิที่มีวิทยาคมเข้มขลัง กระทั่งหลวงพ่อสาย วัดหนองสองห้อง ยังยกย่องว่าเก่งกาจหาใครเทียบได้ยาก

นอกเหนือจากเรียนวิชาอาคมกับพระอธิการวัดแก้วแล้ว ยังร่ำเรียนวิชาจากพระอธิการแจ้ง พระกรรมวาจาจารย์ ซึ่งมีชื่อด้านการทำน้ำมนต์และมหาอุด เรียนวิชาการทำตะกรุดโทน เสื้อยันต์ และผ้ายันต์จากพระวินัยธรกล่อม วัดดีบอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เรียนวิชาคงกระพันชาตรีจากหลวงพ่อพวง วัดเอียน อ.บางแพ จ.ราชบุรี

ยังมีเรื่องราววัตถุมงคลที่ได้รับการกล่าวขาน คือ “ธงกันฝน” ที่มีอิทธิปาฏิหาริย์การหยุดลมหยุดฝน ธงกันฝนถือว่ายอดนักแล หลายต่อหลายครั้งที่แสดงให้คนได้เห็นว่าลมฝนมาแรงๆ ก็ให้เอาธงมาเสก เพียงไม่นานลมฝนหยุดทันตา

มีเรื่องเล่าว่า ตอนที่สร้างอุโบสถหลังใหม่เอาธงขึ้นไปแขวน ฝนไม่ตกบริเวณนั้นเป็นปี จนชาวบ้านเริ่มจะเดือดร้อน ลูกศิษย์ต้องมาขอร้องให้เอาธงลง ฝนถึงได้ตกตามปกติ

ศิษย์ใกล้ชิดคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนตอนที่สร้างเหรียญเพื่อหาเงินทำบุญ ได้เดินทางไปด้วย โดยทำหน้าที่ขับรถให้ท่านเวลาไปไหนมาไหนอยู่เป็นประจำ

มีอยู่วันหนึ่งไปที่ปราณบุรีเพื่อหาผ้าป่า ชาวไร่สับปะรดถามว่า เหรียญท่านแน่จริงหรือ ท่านจึงให้ศิษย์แขวนเหรียญเอาไว้ แล้วให้ชาวไร่สับปะรด ลองเอาปืนมายิง ปรากฏว่าปืนยิงไม่ออก จนเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้าน ต่างพากันมาขอเหรียญหล่อ แต่ก็ไม่ให้ใครเลยสักเหรียญ และเดินทางกลับวัดเสียดื้อๆ

ปรากฏว่าวันงานผ้าป่าที่วัดมีคณะผ้าป่า เดินทางมาจากปราณบุรีด้วยกันถึงสองคันรถบัส เมื่อมาถึงชาวบ้านปราณบุรีเหล่านั้น ก็ได้ช่วยกันถากหญ้าพัฒนาวัด และร่วมทำบุญ เพื่อจะขอเหรียญเอาไปบูชา

 

เป็นพระเถระที่ให้ความสำคัญของการศึกษา จะรับเลี้ยงเด็กกำพร้าและส่งให้เรียนหนังสือจนจบ มีหลายคนที่ได้ดิบได้ดี ส่วนที่มาบวชเป็นพระมีอีกหลายรูปได้เป็นเจ้าอาวาส

แม้กระทั่งหลวงพ่อพร เจ้าอาวาสรูปต่อมา ก็คือเด็กกำพร้าหนึ่งในจำนวนมากที่ส่งเสียให้เรียนหนังสือ

มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2515

สิริอายุ 73 ปี พรรษา 50 •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]