ดร.พิชิต มองหมาก การเมืองไทย เมื่อ ‘ไทยไม่ทน’ ลดรูป ‘ราษฎร’ ศึก 3 ก๊ก พปชร.-เพื่อไทย-ก้าวไกล ถ้า ‘เลือกตั้ง’ วันนี้ ใครชนะ?/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ดร.พิชิต มองหมาก การเมืองไทย

เมื่อ ‘ไทยไม่ทน’ ลดรูป ‘ราษฎร’

ศึก 3 ก๊ก พปชร.-เพื่อไทย-ก้าวไกล

ถ้า ‘เลือกตั้ง’ วันนี้ ใครชนะ?

 

ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ประสานสอดคล้อง ช่วง 2 เดือนกว่าที่ผ่านมา นับจากแกนนำคณะราษฎรถูกจับกุม และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีเงื่อนไข รวมทั้งการเกิดกลุ่มไทยไม่ทนฯ นำโดย “ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ที่ไปจับมือกับอดีตคนยุคพฤษภาทมิฬ 2535 หรืออดีตคนเสื้อเหลือง ในการเคลื่อนไหวขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้พ้นจากนายกฯ

จากนั้นเกิดสถานการณ์โควิดระลอกที่ 3 ท่ามกลาง “วิกฤตศรัทธา” ของรัฐบาล ทำให้ “โทนี่ วู้ดซัม” ใช้จังหวะนี้ออกมาเคลื่อนไหว พร้อมพุ่งเป้าโจมตีไปยัง พล.อ.ประยุทธ์เช่นกัน

ท่ามกลาง “สัญญาณยุบสภา” ที่ชัดขึ้นเรื่อยๆ

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองปรากฏการณ์กลุ่มไทยไม่ทนฯ กับกลุ่มคณะราษฎร 63 ว่า กลุ่มของนายจตุพรหรืออดีตคนเสื้อเหลือง มองได้ 2 แง่มุม คือ พล.อ.ประยุทธ์นั้นคือตัวปัญหา ภายใต้โครงสร้างเผด็จการ ถ้าเอา พล.อ.ประยุทธ์ออกไปได้ โครงสร้างเผด็จการที่อยู่เบื้องหลังก็จะสั่นคลอน

“แต่ก็มีข้อสงสัยในการออกมาของกลุ่มไทยไม่ทนฯ ซ้อนกับกระแสของนักเรียน-นักศึกษา ที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบัน จะเป็นการแยกประเด็นออกไปหรือไม่ เป็นการลดรูปประเด็นทางการเมืองหรือไม่ เท่าที่ดูจากคำปราศรัยบนเวทีของกลุ่มไทยไม่ทนฯ ก็พุ่งเป้าไปที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์เป็นหลัก ว่าล้มเหลวเรื่องการบริหาร ความสุจริต ความโปร่งใส โดยไม่ได้แตะโครงสร้างที่อยู่โดยรอบ พล.อ.ประยุทธ์” ดร.พิชิตกล่าว

ส่วนการต่อสู้ของกลุ่มราษฎรและแกนนำนักศึกษาจะเป็นอย่างไรต่อไป รศ.ดร.พิชิตมองว่า การเคลื่อนไหวเฉพาะหน้าคงต้องเลื่อนไปก่อน เพราะมีวิกฤตโควิด สิ่งที่ทำได้คือการเคลื่อนไหวกลุ่มเล็กๆ 2-3 คน ซึ่งไม่ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ผมคิดว่าวาระของการเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันจะยังคงอยู่

นอกจากนี้ ดร.พิชิตยังได้วิเคราะห์การเคลื่อนไหวกลุ่มราษฎรและกลุ่มไทยไม่ทนฯ ว่าไม่สามารถมาร่วมกันได้ เพราะเส้นทางคนละเส้น กลุ่มคนเข้าร่วมก็คนละกลุ่มกัน แม้ในช่วงแรกจะมีกลุ่มคนเสื้อแดงที่เคยร่วมเคลื่อนไหวกับนักศึกษา มาร่วมกับกลุ่มไทยไม่ทนฯ แต่ดูช่วงหลังๆ มาก็ซาไป และแกนนำก็คนละกลุ่ม คงจะแยกกันเดิน

 

ในฟากฝั่งพรรคเพื่อไทยก็ขยับเช่นกัน โดยเฉพาะคู่พี่น้อง “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ผ่านช่องทางคลับเฮาส์ รศ.ดร.พิชิตมองว่า เป็นยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยเพื่อเตรียมการเลือกตั้งที่จะมาถึงช่วงปลายปี 2564-2565 หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใหญ่ไม่ผ่าน ทำให้เขาต้องหวังกับการเลือกตั้ง โดยชูจุดแข็งของพรรคเพื่อไทยในอดีต คือประสบการณ์ในการบริหารเศรษฐกิจในยุครัฐบาลทักษิณ-พรรคไทยรักไทย นำกลับมาขายฝัน โดยการขายชื่อทักษิณ เพราะยังไม่มีตัวชูโรงหรือผู้นำพรรครุ่นใหม่หรือคนใหม่ ที่เป็นนักธุรกิจ มีสมองเพชรอัจฉริยะ ที่เข้ามาสร้างพรรคเพื่อไทยขึ้นมาใหม่ จึงต้องเอาของเก่ามาขาย ถ้าอยากจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจและโควิดได้อย่างรวดเร็ว ก็ต้องเอานายทักษิณ และถ้าอยากได้นายทักษิณ ก็ต้องเลือกพรรคเพื่อไทย

ทั้งนี้ ภายในพรรคเพื่อไทยเองก็มีความพยายามปรับโครงสร้าง นำเอาคนรุ่นใหม่เสริมทัพเข้ามา เอาคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูก-หลานนักการเมืองท้องถิ่น และที่เป็น ส.ส.เข้ามา

พยายามจัดกลุ่มเวิร์กช็อปเสวนา เอานักธุรกิจรุ่นใหม่เข้ามา เพื่อทำให้พรรคเพื่อไทยมีภาพของคนรุ่นใหม่มากขึ้น และภาพพรรค ส.ส.เขี้ยวลากดินน้อยลง

ผนวกกับปัญหาเศรษฐกิจและโควิด เพื่อให้คนหันมามองว่าพรรคเพื่อไทยคือทางออก และเพื่อสะท้อนว่าทนไม่ไหวแล้ว ดังนั้น เลือกตั้งคราวหน้า ก็เลือกพรรคเพื่อไทย และจะได้คนที่มาเป็นนายกฯ แม้อาจเป็นนอมินีของนายทักษิณก็ตาม

แน่นอนว่าการสร้างคนรุ่นใหม่ ย่อมต้องแย่งฐานเดียวกับขั้วอนาคตใหม่ ซึ่ง รศ.ดร.พิชิตมองว่า พรรคเพื่อไทยต้องการจะแย่งเสียงคืน เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ทำให้พรรคเพื่อไทยรู้ว่าพลาดฐานเสียงตรงนี้ไป โดยเป็นฐานเสียงที่อดีตพรรคอนาคตใหม่เข้ามาเก็บเกี่ยวได้ จนได้ ส.ส.มาถึง 80 คน

โดยพรรคเพื่อไทยมองว่ายังมีคนรุ่นใหม่อีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ไปทางอดีตพรรคอนาคตใหม่หรือพรรคก้าวไกล โดยเป็นคนรุ่นใหม่ที่กลางๆ ทำมาหากิน ทำธุรกิจ เป็นลูกจ้าง เป็นพนักงาน ที่ไม่ได้มีเรื่องการเมืองมาก ไม่ได้ใส่ใจการเมืองหรือเรื่องโครงสร้าง แต่เป็นห่วงเรื่องการทำธุรกิจและปากท้อง ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก

ทำให้พรรคเพื่อไทยตั้งใจเข้ามาเก็บเกี่ยว เพื่อทดแทนฐานเสียงคนรุ่นเก่าอายุ 60-70 ปีขึ้นไป ที่ทยอยเสียชีวิต

และต้องยอมรับว่าอีกส่วนหนึ่ง คือช่วงอายุ 50-60 ปี ก็ย้ายฐานไปเลือกพรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ.ประยุทธ์ อีกทั้งการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยก็เสียฐานเสียงในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือไปหลายจุด จึงต้องไปหาฐานเสียงใหม่เข้ามาเสริมแทน

“มีการคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่พรรคก้าวไกลอาจจะโดนยุบเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งถ้าพรรคก้าวไกลโดนยุบเมื่อไหร่ ฐานเสียงของพรรคก้าวไกลจะไปไหน ส่วนหนึ่งก็ต้องมาพรรคเพื่อไทย ที่ยังอยู่ อันนี้ผมคาดเดา ผมไม่ได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยเขานั่งแช่งให้พรรคก้าวไกลโดนยุบ รวมทั้งกรณีหากเกิดการยุบพรรคก้าวไกลขึ้นมาแล้ว ไม่สามารถตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาได้ทัน ฐานเสียงส่วนหนึ่งย่อมไม่มีที่ไป นอกจากไปพรรคเพื่อไทย” ดร.พิชิตกล่าว

 

สุดท้าย ดร.พิชิตได้วิเคราะห์อนาคตพรรคพลังประชารัฐ จะมีจุดจบอย่างไร อนาคต “3 ป.” และ “สเป๊กทายาททางการเมือง” ว่า การบอกว่า 3 ป.จะหมดอำนาจนั้นไม่จริง ซึ่งตนมองว่า 3 ป.ยังอยู่อีกนาน การที่ 3 ป.อยู่ได้ เพราะมีกองทัพและเครือข่ายหนุนหลัง หากคนใดคนหนึ่งใน 3 ป.ไม่อยู่แล้ว ก็จะมีคนมาแทน เพราะเครือข่ายนี้ยังคงอยู่ เพื่อแบ๊กอัพให้ พล.อ.ประยุทธ์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าและครั้งต่อๆ ไป เท่าที่ พล.อ.ประยุทธ์จะไปไหว และแกนหลักของ พปชร.ยังคงอยู่

“แต่ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐคือการมีหลายมุ้ง และแต่ละกลุ่มก็มีผลประโยชน์และตำแหน่งแย่งชิงกัน และตกลงกันไม่ได้ ดังนั้น เมื่อมีการเลือกตั้ง พปชร.จึงมีโอกาสที่จะแตกออกเป็นพรรคเล็ก อีกทั้งกติกาเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเอื้อต่อการตั้งพรรคเล็ก จึงเป็นแรงจูงใจทำให้พรรคใหญ่แตกเป็นพรรคเล็ก เพื่อกวาดคะแนนให้ได้เก้าอี้ ส.ส.มากขึ้น ไปต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี และ พปชร.มีโอกาสจะเล็กลง เป็นปัญหาเดียวกับพรรคเพื่อไทย โดยสิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะต้องเผชิญในอนาคตคือ จะมีกลุ่ม ส.ส.แตกออกมา เช่น กลุ่มของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ออกมาตั้งพรรคไทยสร้างไทย เป็นต้น” ดร.พิชิตกล่าว

ดร.พิชิตมองอีกว่า “หากวันนี้มีการเลือกตั้ง ชัยชนะก็ยังเป็น พปชร.และพรรคเล็ก โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของ พปชร. และพรรคเล็กเครือข่าย ได้ขยายฐานในภาคอีสานและภาคใต้ไปได้เยอะ และในการเลือกตั้งครั้งหน้า ผมเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะเสียฐานเสียงภาคอีสานไปอีกพอสมควร หลังจากที่ พปชร.และพรรคเครือข่ายได้ลงพื้นที่ไปทำงาน รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากอำนาจรัฐ เพราะการเป็น ส.ส. พรรครัฐบาลนั้นได้เปรียบทุกอย่าง โดยได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่น ซึ่งการเป็น ส.ส. พรรคฝ่ายค้านในพื้นที่ อยู่ได้ยากกว่า”

“ดังนั้น ผมขอตั้งคำถามพรรคเพื่อไทย ที่ประเมินว่าจะได้ ส.ส.ทั้งเขตและปาร์ตี้ลิสต์ 250-260 คน ซึ่งตนมองว่ายาก”

 

ทั้งหมดนี้สะท้อนภาพ “การเมือง” ที่มีทั้ง “ความซับซ้อน” และ “ขบเหลี่ยม-สอดรับ” กัน โดยมีเป้านิ่งสำคัญอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เปรียบเป็นจุดศูนย์กลางของโครงสร้างที่เรียกว่า “ระบอบประยุทธ์” ที่มีเครือข่ายผนึกกำลังกับกองทัพอย่างเหนียวแน่น จึงไม่เป็นปัญหาสำหรับการจะมี “ทายาทการเมือง” ขึ้นมาสืบต่อในอนาคต

แต่ก็ใช่ว่าขั้ว 3 ป.จะชะล่าใจได้ จึงใช้เน็ตเวิร์กลงไปปูฐานการเมืองไว้

ทว่าภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีเดิมพันกับการฉีดวัคซีนและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งให้เปิดแผนรัฐบาลอีก 1 ปีข้างหน้า ว่าจะทำอะไรและแก้อะไรมาแล้วบ้าง ซึ่งต้องมีผลสำเร็จจับต้องได้ จึงถูกตีความว่าเป็น “สัญญาณยุบสภา”

อย่าได้กะพริบตา!!