หลังเลนส์ในดงลึก : เจ้าหัวบาก

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

กลางเดือนกรกฎาคม ห่างจากสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ไปทางทิศเหนือราวๆ 20 กิโลเมตร 16:45 น. ท้องฟ้าแจ่มใส ฝนทิ้งช่วงไปกว่าหนึ่งสัปดาห์ กระรอกส่งเสียงกระชั้นถี่ๆ ฝูงนกมูมซึ่งกำลังเกาะรวมฝูงอยู่บนกิ่งไม้แห้งๆ เพื่อเตรียมกินน้ำในสายน้ำเล็กๆ ซึ่งไหลรินๆ แตกฮือบินย้อนกลับไปทางทิศตะวันตก

เสียงกระทืบเท้ากับผืนดินดัง “ตุบ ตุบ” ผมขยับตัวมองผ่านช่องมองของซุ้มบังไพรที่เปิดไว้เพียงช่องเล็กๆ อุณหภูมิในซุ้มสูงถึง 36 องศาเซลเซียส ทั้งๆ ที่อยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเล 996 เมตร นอกจากเสียงกระทืบเท้าแล้วไม่มีเสียงอื่น กระรอกเงียบโดยประสบการณ์ผมรู้ว่าคงมีสัตว์ผู้ล่าเข้ามาในบริเวณ อาจเป็นเสือโคร่งหรือไม่ก็เสือดาว เพราะเกือบทุกครั้งเมื่อเฝ้ารออยู่บริเวณแหล่งอาหารของเหล่าสัตว์กินพืช หากมีสัตว์ผู้ล่าเข้ามา บรรดา “ยาม” ส่งเสียงเตือนสัตว์ทุกชนิดต่างรับฟัง

หากเป็นเสือ โอกาสที่มันจะออกมาในที่โล่งมีไม่มากเพราะมันรู้ดีว่าทุกๆ ชีวิตที่นี่รับรู้การมาของมันแล้ว

กระนั้นก็เถอะ หลายๆ ครั้งผมพบว่าเสือเลือกที่จะออกมาในที่โล่งๆ นั่งหรือนอนพัก มันคงคิดว่าไหนๆ ก็รู้ตัวกันแล้วถือโอกาสนั่งๆ นอนๆ พักในที่โล่งๆ อาบแดดเสียเลย

และเหตุการณ์ในบริเวณนั้นก็ดำเนินไปตามปกติ ใช่ว่าสัตว์ผู้ล่าจะ “ฆ่า” ทุกครั้งที่พบเห็นเหยื่อ สัตว์ที่อยู่ในสภาพของความเป็น “เหยื่อ” รู้ความจริงนี้ดี

ทุกครั้งที่เห็นสัตว์ผู้ล่าอยู่ในอาการผ่อนคลาย ผมนึกถึงความจริงอย่างหนึ่ง สัตว์ผู้ล่าอย่างเสือนั้นวิถีปกติเมื่อเติบโตเต็มวัยแล้วคืออยู่ลำพัง ในวิถีของมันไร้ผู้ช่วย

ต่างจากเหล่าสัตว์กินพืช เมื่อสัตว์ผู้ล่าไปถึงไหน การส่งเสียงเตือนก็จะเกิดขึ้น

อยู่เพียงลำพังคือวิถีปกติ แต่ยามใดเมื่ออยากเข้าใกล้สิ่งใดก็ตามชีวิตต่างๆ หลีกหนี

นี่อาจเป็นเรื่องเศร้าอย่างหนึ่งของสัตว์ผู้ล่าเช่นเสือ

 

เสียงกระทืบดินหายไป จากช่องมองต้นเหตุของการที่กระรอกส่งเสียงเตือนปรากฏขึ้น กวางรุ่นๆ ตัวหนึ่งวิ่งออกมาที่โล่ง

หมาไนสองตัวตามมาติดๆ เจ้าตัวอยู่ข้างหน้ากระโดดงับคอกวาง อีกตัวเข้ามาด้านหลังแต่ต้องคอยหลบตีนกวางที่ดีดด้วยอาการดิ้นรน

เจ้าตัวที่กัดคอไว้มันกัดแน่นไม่ยอมปล่อยจนกระทั่งกวางค่อยๆ อ่อนแรงหัวทิ่มล้มลง มีเสียงดังสั้นๆ ก่อนสิ้นใจ

งานของนักล่าผู้มีประสิทธิภาพที่สุดของป่าเสร็จไปอีกครั้ง พงหญ้าบังกวางที่ล้มลงแล้ว กวางตัวโตซึ่งเป็นแม่ของกวางที่ตายเดินเข้ามาใกล้มองดูสักพักหันหลังเดินกลับไป เสียงกระทืบดินมาจากกวางตัวแม่ กวางจะทำเช่นนี้เมื่อมันได้กลิ่นหรือเผชิญหน้ากับสัตว์ผู้ล่า

หมาไนฝูงนี้คงพบเจอกวางแม่ลูก พวกมันจะเข้าล้อมไล่แยกตัวลูกออกมา หมาไนใช้วิธีล่าชนิด “หมาหมู่” วิ่งไล่ ล้อม กระโดดเข้ากัดทำให้เหยื่อสับสน แต่ตอน “ลงเขี้ยว” เพื่อจัดการขั้นสุดท้ายนั้นมักเป็นหน้าที่ของตัวเดียว

กวางล้มลง เจ้าตัวที่กระโดดงับคอกวางอย่างไม่ยอมปล่อยเดินโผล่ออกมาจากพงหญ้า ตรงมาทางที่ผมอยู่ ไม่ใช่หมาล่ำสันบึกบึนอะไร ดูจะผอมๆ เสียด้วยซ้ำ แต่มันเพิ่งล้มเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่ามันเกือบเท่าตัว

ตรงหน้าผากเป็นแผลใหญ่ ขนสีแดงๆ หายไปน่าจะเป็นผลมาจากโดนตีนกวางดีดใส่

“ไอ้หัวบาก” ผมถือวิสาสะตั้งชื่อนี้ให้มัน

 

ไอ้หัวบากและเพื่อนๆ อีก 2 ตัววิ่งตรงเข้ามาและหยุดหันหน้าไปคนละทิศ นอนหมอบในหมู่โขดหินระเกะระกะที่พื้นมีน้ำแฉะๆ มันอ้าปากหอบ หน้าที่ต่อมาของมันคือเป็นยามคอยดูว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ ซึ่งเป็นวิถีปกติของระเบียบฝูง ที่ซากมีการลงมือกิน หลายตัวกินซากที่เพิ่งสิ้นใจอย่างชุลมุน

ดูจากหน้าที่ของเจ้าหัวบากมันคงมีสถานะไม่สูงนักในฝูง เพราะเมื่อล้มซากได้ก็ต้องมาทำหน้าที่ยามต่อ ไม่ได้กินซากทันที ปล่อยให้พวกที่มีลำดับชั้นสูงๆ กว่ากินก่อน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสอยู่ในเหตูการณ์ล่าของหมาไน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กัน เหยื่อซึ่งเป็นวัวแดงรุ่นๆ โดนฆ่าด้วยวิธีการแบบเดียวกัน ต่างกันที่วัวแดงส่งเสียงโหยหวนตลอดเวลา ครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความเงียบ

อีกประการที่แตกต่างคือ ผู้ลงมือครั้งนั้นคล้ายจะเป็นตัวหัวหน้า รูปร่างล่ำสันบึกบึนรวมทั้งมันได้กินลูกนัยน์ตาของวัวแดง ผมถือวิสาสะเช่นกันที่เรียกมันว่า “ไอ้แดงเพลิง” จากลักษณะสีขนค่อนข้างเป็นสีแดงเข้มๆ

ผมมองเจ้าหัวบากพลางคิดถึงเจ้าแดงเพลิง เชื่อว่าด้วยความจริงจังในหน้าที่และห้าวหาญเช่นนี้ไม่นานมันคงจะได้เลื่อนสถานะ

 

กระแสลมอาจเปลี่ยนทิศทางหรือเกิดอะไรขึ้นสักอย่าง เจ้าหัวบากส่งเสียงสั้นๆ หมาไนทั้งหมดหยุดทำกิจกรรมที่ทำอยู่ พวกมันทุกตัววิ่งมาทางผมนำโดยเจ้าหัวบาก มันวิ่งผ่านซุ้มบังไพรไป และย้อนกลับมาเชิดจมูกสูดกลิ่น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกเช่นกันที่ผม “โดนล้อม” โดยฝูงหมาไน คราวนั้นผมพบซากควายป่าที่เสือโคร่งฆ่าไว้ซากอยู่กลางลำห้วย ผมทำซุ้มบังไพรริมตลิ่ง ซากผ่านมาหลายวัน

บ่ายวันหนึ่งหมาไนฝูงหนึ่งผ่านมาแวะกินซาก พวกมันรู้ว่าผมอยู่ใกล้ๆ จึงวิ่งเข้ามาล้อมอยู่สักพักก่อนผละไป

ผมพูดถึงบ่อยๆ เพราะตอนค่ำผมกลับถึงแคมป์และบอกประสงค์ เพื่อนร่วมทางว่าวันนี้กลัวหมาไนแทบแย่ จำเรื่องนั้นได้ดีเพราะประโยคที่ประสงค์พูด

“กลัวหมาไนตอนที่นั่งรอเสืออยู่นี่นะครับ”

 

หมาไนฝูงนี้ก็เช่นกันมันวนๆ อยู่สักพัก ก็กลับไปที่ซาก มีเพียงเจ้าหัวบากและอีกสองตัวที่นอนท้องแช่น้ำมองมาทางผมเขม็ง

สักพักเจ้าหัวบากลุกขึ้นเดินไปที่ซาก เป็นเวลาที่มันได้กิน

ผ่านไปกว่าชั่วโมงเจ้าหัวบากลุกไปกินซากอีกสองครั้งและกลับมาทำหน้าที่

นกยูงตัวผู้ที่หางยังสั้นเพราะอีกหลายเดือนจึงจะถึงฤดูกาลแห่งความรักของพวกมัน ถึงเวลานั้นนกยูงตัวผู้จะมีหางยาวสลวยเพื่อไว้รำแพนอวดความเข้มแข็งให้เหล่าตัวเมียเลือก นกยูงหยุดเดินชะเง้อคอดูกลุ่มหมาไนที่กำลังกินซากอยู่สักครู่ก่อนลดหัวลงเดินก้มจิกอาหารต่อไปด้วยท่าทีอันไม่สนใจการล่าและความตายที่อยู่ใกล้ๆ

หมาไนกลุ่มใหญ่ผละจากซากที่เหลือแต่กระดูกและหนัง เจ้าหัวบากลุกขึ้นเดินตามไป

พวกมันทั้งหมดหายลับเข้าชายป่า ทั้งบริเวณกลับคืนสู่สภาพปกติ

 

ผมนึกถึงแม่กวางที่เดินเข้ามาดูลูกอย่างยอมรับชะตากรรม นี่อาจไม่ใช่ครั้งแรกที่มันต้องสูญเสีย นึกถึงนกยูงที่เดินผ่านฝูงหมาไนที่กำลังกินซากอย่างไม่ใส่ใจ นึกถึงเจ้าหัวบากที่ทำหน้าที่อย่างเคร่งครัด

พลบค่ำขณะเดินขึ้นทางชั้นๆ เพื่อกลับหน่วยพิทักษ์ป่า งานที่ “ง่าย” ที่สุดคือการกดชัตเตอร์ของผมผ่านไปอีกหนึ่งวัน งานยากเป็นของเหล่าคนผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลแหล่งอาศัยของบรรดาสัตว์ป่าให้พวกมันได้ดำเนินไปตามวิถี

มีเครื่องมือและวิธีการมากมายในอันที่จะทำให้คนเข้าถึง “บทเรียน”

สิ่งที่ยากที่สุดดูเหมือนคือการนำบทเรียนนั้นมาใช้อย่างเข้าใจ