หลังเลนส์ในดงลึก/ ปริญญากร วรวรรณ / ‘ช่วงเวลา’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือโคร่ง - เมื่ออยู่ห่าง ในระยะที่มันอนุญาต เสือจะเขม้นมอง และเลือกที่จะเดินจากไป

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

‘ช่วงเวลา’

ผมบอกกับหลายคนเสมอๆ ว่า “ข้อเสีย” ของการทำงานแบบ “ฝังตัว” ณ ป่าแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นเวลานานๆ ครั้งละ 3-4 ปี หรืออาจยาวไปถึง 5 ปีนั้น มีอยู่ประการหนึ่ง

นั่นคือ มันจะมีช่วงเวลาอันยากลำบากมากเมื่อต้องลาจาก

กับอดิเทพ คู่หูในป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันตก ผู้ร่วมงานกันมานาน หลังจากสวมกอดบอกลา ผมหันหลังเดินมาขึ้นรถโดยไม่กล้าหันกลับไป

หลายครั้ง ผมนึกถึงเหล่าลูกสัตว์ป่า เมื่อถึงเวลาซึ่งต้องออกจากร่มเงาของแม่ จากฝูง ตามวิถีทางที่ถูกกำหนดไว้

นั่นย่อมไม่ใช่ช่วงเวลาที่ง่ายดาย

ไม่ง่ายหรอก เมื่อต้องบอกลา…

 

กลางเดือนสิงหาคม สองปีก่อน

ผมใช้เวลาไม่นานกับการเดินทางสู่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ในป่าห้วยขาแข้ง เส้นทางราบเรียบเพราะได้รับการปรับปรุงอยู่เสมอๆ ไม่มีร่องลึกๆ ให้เห็น พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินลูกรัง ต่างกันราวหน้ามือและหลังมือ กับเส้นทางในป่าทุ่งใหญ่ที่ผมเพิ่งจากมา

ป่าห้วยขาแข้งไม่เพียงเป็นแหล่งอาศัยอันสมบูรณ์ของสัตว์ป่า

สภาพป่าเบญจพรรณและเต็งรัง มีโป่งและแหล่งอาหารมาก พบเห็นตัวสัตว์ป่าไม่ยาก การเดินทางระหว่างสำนักงานเขต กับหน่วยพิทักษ์ป่าต่างๆ ทำได้ตลอดปี

ว่าตามจริง ก็ไม่ได้สะดวกสบายนักหรอก แต่หากเทียบกับป่าทุ่งใหญ่ซึ่งอยู่ใกล้ๆ มีชายแดนติดกันแล้ว คนในป่าทุ่งใหญ่จะพูดแบบขำๆ ว่า

ในป่าทุ่งใหญ่ โครงสร้างดินส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว ขึ้น-ลงเขา เส้นทางชันๆ มาก รวมทั้งปริมาณน้ำฝนมากกว่า ทำให้การเดินทางช่วงฤดูฝนต้องใช้เวลามากขึ้น

ป่าห้วยขาแข้ง ในเวลาหนึ่งปี มีฤดูแล้งยาวนานถึง 8 เดือน เป็นพื้นที่อันเรียกได้ว่า อยู่ในเงาฝน

 

ออกจากสำนักงานเขตมาไม่นาน ผมก็เห็นวัวแดงกว่า 10 ตัวในป่าเต็งรังด้านซ้ายมือ

พวกมันยืนมองมาทางผมชั่วครู่ ก่อนวิ่งเหยาะๆ จากไป

ตั้งแต่ครั้งที่ผมเริ่มทำงานกว่า 20 ปีก่อน มาถึงปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

สัตว์ป่าเพิ่มจำนวนประชากร วัวแดง, นกยูง คือสัตว์ที่พบเจอได้เป็นปกติ

การดูแลปกป้องพื้นที่อย่างเอาจริงของคนทำงานเห็นเป็นผลชัด

 

วัวแดงไม่มีอาศัยอยู่ในป่าทุ่งใหญ่ ที่พื้นที่มีความลาดชันมาก สภาพป่าค่อนข้างรก สัตว์ฝูงขนาดใหญ่มีเพียงกระทิง

ผมอยู่ในป่าห้วยขาแข้งนานหลายปี เห็นถึงความชุกชุมของเหล่าสัตว์ป่า

เมื่อทำงานอยู่ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จึงมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นว่า

เพราะผืนป่ารอบๆ นี่เอง ทำให้ป่าห้วยขาแข้งมีจำนวนประชากรสัตว์ป่ามากเช่นนี้…

 

ผมพบกับความเปลี่ยนแปลงแรกเมื่อถึงสถานี

บ้านที่เราเรียกว่า บ้านหลังสูง อันเป็นที่พักของน้าหมุดและครอบครัว ถูกรื้อออก เหลือเป็นลานโล่งๆ

เสียงเลื่อย เสียงค้อน ดังจากทางด้านหลัง

ผมเดินไปดู พบทุกคนที่เป็นเจ้าหน้าที่สถานี อยู่กันพร้อมหน้า พวกเขากำลังเร่งสร้างบ้านลักษณะเป็นเรือนแถวยาว

“จัดเป็นโซนบ้านพักครับ หัวหน้าอยากให้เป็นระเบียบมากขึ้น”

หลังทักทายด้วยความยินดี ศรี อธิบายเรื่องบ้าน

ถาวรเดินยิ้มเข้ามา สีหน้าดีใจ เขาจับแขนผมแน่น เราอยู่ในป่าด้วยกันเสมอ เขาเป็นพ่อครัว ฝีมือจัดจ้าน และรู้จักใบไม้, ผัก และเห็ดต่างๆ ที่กินได้ทุกชนิด

“พี่อ่อนสาไปตั้งแคมป์ในป่าครับ ตอนนี้เปิดกรง” เขาบอก

หลายปีที่ผมอยู่ในทีมที่นำโดยอ่อนสาและถาวร

เราผ่านหลายช่วงเวลามาด้วยกัน

ทั้งเวลาที่ได้ใกล้ชิดกับเสือ

รวมทั้งวิ่งหลบช้างที่เราเดินไปพบกลางด่านอย่างกะทันหัน

“เสียดายเห็ดโคน ยังไม่มีครับ” ถาวรรู้ว่าเห็ดโคนที่เขานำมาต้มกับปลาร้าบอง เป็นเมนูที่ผมชอบ

ผมเดินต่อไปถึงบ้านชายป่า ซึ่งผมเคยใช้เป็นที่พัก

การมาที่นี่ครั้งนี้ นอกจากจะเยี่ยมเยือนเพื่อนๆ อีกสิ่งที่ผมตั้งใจคือมาเอาหนังสือจำนวนไม่น้อย ซึ่งผมเก็บไว้ในบ้านที่ใช้เวลาอยู่ร่วม 5 ปี…

 

“พี่อ่อนสาไม่อยู่ ช่วงนี้เปิดกรงครับ” ประโยคที่ถาวรบอก ทำให้ผมนึกถึงช่วงเวลาที่อยู่กับทีม

นี่เป็นช่วงเวลาที่อ่อนสาไม่รู้หรอกว่าเมื่อไหร่จะได้กลับ เมื่อใดงานจะเสร็จ

เพราะผู้กำหนดเวลาคือ เสือ

การเฝ้ารอเสือ ทำให้ผมรู้ความจริงอย่างหนึ่งว่า ยิ่งพยายามควบคุมสิ่งใด ดูเหมือนสิ่งนั้นจะ “ควบคุม” เรายิ่งกว่า

อีกอย่างที่จำได้ดีคือ ช่วงเวลาที่เสือให้เวลาทำงานราว 45 นาที ก่อนมันจะฟื้น

มีความตึงเครียดสูง นักวิจัยกังวลและระมัดระวังสูงสุด ต้องไม่ให้อุณหภูมิร่างกายเสือสูงมากเกินไป เราช่วยกันรักษาความเย็นให้ โดยช่วยพัด เอาน้ำประคบ โดยเฉพาะอุ้งตีน

ร่างกายเสือได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียด

ปลอกคอที่สวมไม่คับ หรือหลวมเกิน

หน้าที่ผมคือ บันทึกภาพ แต่ตอนนั้นก็ต้องละมือจากกล้อง เพื่อช่วยดูแลเสือก่อน

และนั่นคือช่วงเวลาที่ได้อยู่กับเสืออย่างใกล้ชิด

ได้สัมผัสขนนุ่มๆ สูดกลิ่นหอมจางๆ

 

ผมเดินขึ้นไปบนบ้านพัก มีน้องๆ ผู้หญิง 3 คนที่เข้ามาเป็นผู้ช่วยใช้บ้านหลังนี้แล้ว หนังสือและสิ่งของต่างๆ ของผมจัดใส่กล่องไว้อย่างดี

ผมมองรอบๆ ระเบียงที่เคยใช้ผูกเปล ที่นั่งเขียนหนังสือ บันไดสามขั้นที่ใช้นั่ง และบางคืน เสือดาวก็มานั่งเล่นตรงนี้ด้วย

เวลาร่วม 5 ปีในบ้านหลังนี้

นานพอที่จะทำให้การจากลาไม่ง่ายดาย

 

หลังทำงานเสร็จทุกขั้นตอน เสือถูกอุ้มไปอยู่ไกลๆ ด่าน ที่อาจมีสัตว์อื่นเดินมาพบ

ผมจำช่วงเวลานี้ได้ดี

เพราะได้รับโอกาสให้นั่งเฝ้าจนเสือฟื้น

เป็นแค่ “ช่วงเวลา” สั้นๆ เพราะเมื่อเสือลืมตา รู้สึกตัว มองเห็นผมนั่งอยู่ตรงหน้า

โลกแห่งความเป็นจริงระหว่างเราก็กลับมา

โลกจริงๆ ที่มีการพบและจากลา