พรรคทหาร ตอบตัณหา ไม่ใช่ตอบโจทย์

ไฟ (ฟ้า) ลามทุ่ง เล่นเอา “ประยุทธ์” ไปแทบไม่เป็น

พลันที่ “ค่าไฟ” พุ่งปรี๊ดจนชาวบ้านร้านช่องผู้ประกอบการเล็กใหญ่พากันร้องจ๊าก รัฐบาลประยุทธ์ซึ่งช่ำชองการโยนความผิดให้กับอดีตก็ผลิตวาทกรรมโบ้ยใส่รัฐบาลเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้ทันที

แต่มีผู้รู้ทัน-โปรดอ่านอีกครั้ง!

“สฤณี อาชวานันทกุล” นักวิชาการชื่อดัง “ขาสวน” เจ้าประจำตอกกลับว่า รัฐบาลทหารอยู่มา 9 ปี เหตุใดแก้ปัญหาไม่ได้ จึงใคร่เตือนความจำว่า เหตุการณ์ดังต่อไปนี้เกิดขึ้นใน “สมัยประยุทธ์” ทั้งสิ้น

1. ออกคำสั่ง คสช. ปลดเลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้วแต่งตั้ง กกพ.ใหม่ทั้งชุด

2. ตั้งแต่ทำรัฐประหาร 2557 มาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีการเปิดประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) อีกเลย

3. ระหว่างทาง มีการอนุมัติให้ RATCH สร้างโรงไฟฟ้าใหม่มาทดแทนของเก่า แต่สร้างใหญ่กว่าเดิม หลังจากนั้นขายหุ้นครึ่งหนึ่งของโรงนี้ให้กับ GULF ในราคาพาร์ (!) ได้เงินไม่ถึง 2 ล้านบาท

4. ช่วงวิกฤตโควิด-19 โรงไฟฟ้ามากถึง 7-8โรงจาก 12 โรง ไม่ต้องเดินเครื่องเลย (ไปดูว่าเป็นของใครบ้างที่ไม่เดินเครื่อง แต่ได้เงิน)

5. รัฐบาลทหารไม่เคยคิดจะปรับโครงสร้างพลังงานหรือเจรจาแก้ไขสัญญาใดๆ กับเอกชนให้ยุติธรรมกับประชาชนมากขึ้นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

6. ช่วงหกเดือนสุดท้ายก่อนยุบสภา มีการอนุมัติให้ กฟผ.ลงนามซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแม่โขงใหม่ (ที่ยังไม่ได้สร้าง) อีก 3 แห่ง กำลังผลิตรวมหลายพันเมกะวัตต์ ทั้งที่ไฟสำรองทะลุ 50%

7. สัญญาซื้อไฟฟ้า (PPA) จากเขื่อนหลวงพระบางในลาว 1 ใน 3 เขื่อนใหม่ ที่อนุมัติยาวถึง 35 ปี นานเป็นประวัติการณ์ (ก่อนหน้านี้ PPA ไซยะบุรียาว 31 ปีก็นานแล้ว)

8. ผลการเปิดประมูลพลังงานหมุนเวียนรอบล่าสุดที่เพิ่งประกาศผลก่อนสงกรานต์ มี “เอกชนหน้าเดิม” กวาดโคต้าไปมากมาย ท่ามกลางความกังขาทั้งวงการ

 

“ทหาร” และ “พรรคทหาร” ไม่ใช่คำตอบสำหรับการพัฒนาทุกด้านของประเทศ แต่หลังรัฐประหารทุกครั้ง ผู้นำรัฐประหารจะต้องจัดตั้งพรรคทหาร หรือจัดหาพรรคนอมินีของทหาร เพื่อปูทางสู่การสืบทอดอำนาจ

ประวัติศาสตร์การเมืองชี้ชัดมาตั้งแต่ท่านผู้นำ “ป.พิบูลสงคราม” ตั้ง “พรรคเสรีมนังคศิลา” ขึ้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2498

“เสรีมนังคศิลา” เป็น “ต้นแบบ” พรรคทหาร!

จอมพล ป. เป็นหัวหน้าพรรค ขนาบข้างซ้ายขวาด้วย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นรองหัวหน้าพรรค

ความจริงแล้ว “ป.พิบูลสงคราม” ได้ลิ้มชิมรสความเป็น “ท่านผู้นำ” มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2481 เป็นนายกรัฐมนตรี, ผบ.ทบ., เป็นรัฐมนตรีกลาโหม, เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย และเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ยากที่จะมีใครเช่นนี้ทำได้

กระทั่งปี พ.ศ.2498 ภายหลังออกไปท่องโลก เยี่ยมเยือนสหรัฐอเมริกาและยุโรป จอมพล ป.กลับมาก็จัดตั้ง “พรรคเสรีมนังคศิลา” เพื่อ “จะไปต่อ” ในฐานะผู้นำที่มาจากฉันทานุมัติของประชาชน

ในการเลือกตั้ง “กุมภาพันธ์ 2500” พรรคเสรีมนังศิลา ชนะขาด ได้ ส.ส. 85 ที่นั่ง จาก 160

จอมพล ป.ได้จัดตั้งรัฐบาล ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่มีการชุมนุมประท้วงว่า เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดครั้งประวัติศาสตร์ มีทั้งการคุกคามฝ่ายตรงข้าม ดักทุบตีทำร้าย ลอบยิง โกงบัตรเลือกตั้ง และดับไฟโกงนับคะแนน

สถานการณ์กลายเป็นเงื่อนไขให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหาร 16 กันยายน 2500

 

“จอมพลสฤษดิ์” สั่งยุบพรรคเสรีมนังคศิลาให้ไปรวมกับพรรคสหภูมิ แล้วจดชื่อใหม่ว่า “ชาติพัฒนาสังคม” แล้ว “สฤษดิ์” ก็นั่งเป็นหัวหน้า “จอมพลถนอม กิตติขจร” เป็นรองหัวหน้าพรรค

หลังจากสฤษดิ์ตาย ถนอมก็รับช่วงต่อ

แต่ก่อนจะมีการเลือกตั้งในปี 2512 จอมพลถนอมก็จัดตั้งพรรคใหม่ในชื่อว่า “สหประชาไทย” แล้วขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ให้ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร เป็นรองหัวหน้า และ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ เป็นรองหัวหน้า

ผลการเลือกตั้งในปี 2512 “พรรคสหประชาไทย” ก็ชนะขาด และ “ถนอม” ก็ต้องได้เป็นนายกรัฐมนตรีตามคาด แต่ทนอยู่ได้ไม่นาน 17 พฤศจิกายน 2514 “ถนอม” ก่อการช็อกโลกด้วยการ “ยึดอำนาจตัวเอง”

พอกันทีระบอบ “กึ่งทหาร” ที่ใช้การเลือกตั้งและรัฐสภาบังหน้า

เอา “ระบอบทหาร” กลับคืนมา ฉีกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกพรรคการเมือง ไม่ต้องมี ส.ส. ไม่ต้องมีฝ่ายค้าน ไม่ต้องการให้ตรวจสอบ ไม่ชอบให้มีการชุมนุมทางการเมือง

เส้นทางอำนาจ “ถนอม-ประภาส” มาสะดุดจากเหตุการณ์วันวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ทำให้ต้องเดินทางออกนอกประเทศ

 

ประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ทหารทำรัฐประหารอีก พอถึงปี 2535 ก็เกิด “พรรคสามัคคีธรรม” มีณรงค์ วงศ์วรรณ นั่งหัวหน้า

เตรียมรองรับการเลือกตั้งในปีเดียวกัน

และด้วยอิทธิฤทธิ์ “พรรคสามัคคีธรรม” ชนะเลือกตั้งจริงๆ

แต่แทนที่นายณรงค์จะได้ขึ้นเป็น “นายกฯ” จู่ๆ ชื่อหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมก็โดนแบล็กลิสต์อเมริกา พล.อ.สุจินดา คราประยูร 1 ในผู้นำรัฐประหารคนสำคัญที่สุด “หล่อขึ้นทันที”

“สุจินดา” เคยประกาศหลังจากยึดอำนาจว่าไม่รับ ไม่เป็น ไม่ทะเยอทะยานอยาก มาบัดนี้ “ยอมเสียสัตย์เพื่อชาติ”

เมื่อมีผู้คนรู้ทัน ก็เป็นชนวนไฟลามสู่การชุมนุมประท้วงคัดค้าน

มิคาด “ทหาร” เคลื่อนพลพร้อมกำลังอาวุธเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง ล้มตายบาดเจ็บนับพันคนจนเกิดเหตุ “พฤษภาทมิฬ 2535”

ควรได้บทสรุปว่า กองทัพยับเยินด้วยน้ำมือ “ทหารการเมือง”!

ทิ้งช่วงยาว 14 ปีล่วงผ่าน วันที่ 19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ทำรัฐประหารอีก

จากนั้นในปี 2552 ก็ตั้ง “พรรคมาตุภูมิ” ลงสู้ในสนามเลือกตั้ง ประกาศเปิดเผย “อยากจะไปต่อ”

แต่ไม่สำเร็จ ทหารการเมืองบ่นว่า เยี่ยวไม่สะเด็ดน้ำ ทำเสียของ

 

22 พฤษภาคม 2557 “คสช.” นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อรัฐประหารขึ้นอีก พร้อมคำประกาศ “ขอเวลาไม่นาน”

ในระหว่างที่มีอำนาจล้นฟ้า รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช.ก็ออกมาจัดตั้ง “พรรคพลังประชารัฐ” ก่อนหน้าเลือกตั้งในปี 2562

เป็นไปตามคาด ถึงแม้ “พลังประชารัฐ” จะไม่ได้ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 แต่ก็สามารถช่วงชิงการเป็นฝ่ายได้จัดตั้งรัฐบาล

พรรคพลังประชารัฐผนึกกำลังกับ ส.ว. 250 คนที่หัวหน้า คสช.แต่งตั้งเอาไว้ยกมือให้ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในขณะที่ “นโยบาย” ซึ่งประกาศไปก่อนหน้านี้ “ไม่ทำแม้แต่ข้อเดียว” เช่น “มารดาประชารัฐ” ใครตั้งท้อง รัฐจ่ายให้ 3,000/เดือน คลอดแล้ว ยังจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรอีก 2,000/เดือน “เด็กจบใหม่” เว้นภาษี 5 ปี เพื่อให้มีเวลาได้ตั้งตัว “จบ ป.ตรี” เงินเดือนสตาร์ตที่ 20,000

“พรรคทหาร” เป็นสูตรสำเร็จของนักรัฐประหาร ไม่เคยมีแม้แต่ครั้งเดียวที่นำพาประเทศสู่ความเจริญมั่งคั่ง!?!!!