ความมั่นคงด้านการท่องเที่ยว | สุรชาติ บำรุงสุข

เหตุการณ์การใช้อาวุธปืนกราดยิงของเยาวชนชายในบริเวณห้างใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อเย็นวันที่ 3 ตุลาคม จนมีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง ไม่ใช่เป็นข่าวใหญ่แค่ในสังคมไทยเท่านั้น หากแต่เป็นรายงานข่าวที่ปรากฏในสื่อระหว่างประเทศหลายสำนัก รวมทั้งสื่อจีน รายงานข่าวเช่นนี้เป็นภาพสะท้อนที่สำคัญของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ที่ข้อมูลข่าวสารจะแพร่ไปอย่างรวดเร็วในเวทีโลก โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็น “ข่าวร้าย”

ในเหตุการณ์กราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าครั้งนี้ ผู้เสียชีวิตเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน และมีผู้บาดเจ็บชาวไทยอีกจำนวนหนึ่ง … ภาพของข่าวร้ายจากการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในยามนี้ ส่งผลกระทบต่อนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลอย่างแน่นอน

เหตุร้ายในครั้งนี้เกิดในช่วงที่รัฐบาลของนายกเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นรัฐบาลใหม่ของไทยพยายามอย่างมากที่จะพลิกฟื้นการท่องเที่ยวในยุคหลังโควิด-19 จนถึงขนาดที่เปิด “ฟรีวีซ่า” ให้แก่ชาวจีนในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และเป็นความหวังที่สำคัญว่า การเปิดให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาโดยไม่ต้องทำวีซ่านั้น จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ที่ยังจำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากเศรษฐกิจภาคบริการที่มีการท่องเที่ยวเป็นเสาหลัก

ฉะนั้น เหตุร้ายที่มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตเช่นนี้ จึงเป็นความท้าทายโดยตรงต่อการจัดการของภาครัฐ และท้าทายอย่างมากต่อแนวคิดในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เนื่องจาก “สงครามการท่องเที่ยว” ที่มีความหมายถึง การแย่งชิงนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาใช้จ่ายในประเทศของตนนั้น มีการแข่งขันสูง และทุกประเทศพยายามที่ดึงรายได้จากชัยชนะในสงครามการท่องเที่ยวให้ได้

การจะเอาชนะในสงครามการท่องเที่ยวนั้น บางทีรัฐบาลอาจจะต้องคิดมากขึ้นในเรื่องความ “ปลอดภัย” ของการเดินทางท่องเที่ยวในไทย มากกว่าจะเน้นอยู่กับเรื่องของการทำ “โปรโมชั่น” กล่าวคือ รัฐบาลไทยอาจต้องคิดเพิ่มเติมว่า ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยของการทำโปรโมชั่นในตัวเอง

หากมองปัญหาในอีกมุมหนึ่ง เราอาจพิจารณาประเด็นนี้ในมิติของปัญหา “ความมั่นคงด้านการท่องเที่ยว” (Tourism Security) ที่มีความหมายถึง การให้ความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว และการเสริมสร้างความมั่นคงสำหรับการเดินทางสู่จุดหมายปลายทาง ซึ่งรัฐที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจะต้องคิดในเรื่องนี้ให้ได้ และทั้งยังต้องตระหนักว่า การตัดสินใจของนักท่องเที่ยวนั้น สะท้อนถึงความเชื่อมั่นว่า การเดินทางของพวกเขาจะต้องมีความปลอดภัยในจุดหมายปลายทาง เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติจะไปในจุดที่ไม่ใช่ประเทศของเขา และเขาจะไม่มีความคุ้นเคยกับพื้นที่ดังกล่าวทั้งในทางภาษาและวัฒนธรรมแต่อย่างใดเลย

ฉะนั้น รัฐเจ้าของพื้นที่จะต้องคิดให้ได้ มากกว่าที่จะยึดติดอยู่กับการนำเสนอภาพของ “การต้อนรับอย่างอบอุ่น” (hospitality) เท่านั้น หากแต่จะต้องหาทางลด “ความกังวล” ของนักท่องเที่ยว และทำให้พวกเขาจะต้องมั่นใจว่า พื้นที่ของการท่องเที่ยวนั้น ไม่มี “ความเสี่ยง” หรือหากมีความเสี่ยง ก็อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ เช่น คงไม่มีใครชักชวนกันไปเที่ยวในพื้นที่การรบ เนื่องจากสงครามเป็นความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้

เงื่อนไขเช่นนี้อาจกล่าวในทางรัฐศาสตร์ได้ว่า พื้นที่ที่มีสันติภาพและเสถียรภาพจะมีโอกาสพัฒนาเป็นจุดที่จะใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยนัยดังกล่าว ความมั่นคงจึงเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และจะเป็นส่วนของการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ เพราะหลักการที่ชัดเจนคือ ไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนอยากไปเที่ยวและพักผ่อนในประเทศที่ไร้เสถียรภาพและไม่มีสันติภาพอย่างแน่นอน หรือนักท่องเที่ยวคงไม่อยากไปท่องเที่ยวในประเทศที่เต็มไปด้วยอาชญากรรม ที่ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน

ภัยของความมั่นคงด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ อาชญากรรม การก่อการร้าย สงคราม โรคระบาด การจลาจล และความไม่สงบทางสังคมในพื้นที่ที่เป็นจุดหมายปลายทาง

ฉะนั้น การโปรโมทการท่องเที่ยวในมิติเช่นนี้คือ รัฐบาลจะต้องสร้าง “สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย” ให้แก่นักท่องเที่ยว แม้ในด้านหนึ่ง นักท่องเที่ยวอาจต้องเผชิญกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นตามแหล่งท่องเที่ยว แต่ก็มีหลักประกันว่า พวกเขาจะได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในการดูแลรักษาความปลอดภัย แม้พวกเขาที่เป็นคนต่างชาติที่อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีความแตกต่างทางสังคมอย่างมากก็ตาม หรือเมื่อเกิดเหตุจนนำไปสู่การบาดเจ็บ และเสียชีวิตแล้ว ก็จะได้รับการดูแลจาก “กองทุนความปลอดภัยนักท่องเที่ยว” ซึ่งรัฐบาลอาจจะจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันให้แก่นักท่องเที่ยว เป็นต้น
การกล่าวเช่นนี้ มิได้หมายความว่ารัฐบาลจะดูแลแต่ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และไม่สนใจคนในประเทศ ซึ่งว่าที่จริงแล้ว ความปลอดภัยโดยรวมของประเทศคือ ปัจจัยของการส่งเสริมการท่องเที่ยวในตัวเอง

ตัวอย่างที่เป็นสัญญาณเตือนในเรื่องของความมั่นคงด้านการท่องเที่ยวที่ชัดเจนคือ เหตุการณ์ในต้นเดือนกรกฎาคม 2561 เหตุการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ไทยเองเคยเผชิญกับปัญหาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวมาแล้วอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ กรณีเรือรับนักท่องเที่ยวที่พบกับพายุอย่างฉับพลัน และเกิดการอับปางลงที่จังหวัดภูเก็ต และทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนในเรือลำแรกเสียชีวิตมากถึง 47 คน
เหตุการณ์นักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิตจากเรือล่มที่ภูเก็ตครั้งนั้น จนถึงการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวจีนในเหตุกราดยิงครั้งนี้ ตลอดรวมถึงการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวหลายสัญชาติอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในหลายกรณี ต้องถือว่าเป็นสัญญาณเตือนให้รัฐบาลไทยคิดเรื่อง “ความมั่นคงด้านการท่องเที่ยว” อย่างจริงจังบนหลักการสร้าง “ความมั่นคงและปลอดภัย” สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย.