แลกเรือดำน้ำ! | สุรชาติ บำรุงสุข

ปัญหาเรือดำน้ำจีนเป็นเรื่องที่ “คาราคาซัง” ในรัฐบาลไทย และเป็นปัญหาที่ “น่าอึดอัด” สำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นปัญหาที่ดูจะ “ตีบตัน” ในตัวเองอย่างยิ่ง เพราะสุดท้ายแล้ว ปัญหานี้ไม่ใช่แค่เรื่องภายในของไทย หากผูกโยงกับรัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างจีน ที่ผู้นำไทยเองดูจะมีความ “เกรงอกเกรงใจ” อย่างมาก

ดังจะเห็นได้ว่าตั้งแต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน (S-26T) เข้าประจำการในราชนาวีไทยแล้ว ปัญหานี้กลายเป็น “ข้อถกเถียงทางการเมือง” ชุดใหญ่ในสังคม จนบัดนี้ก็ยังไม่จบ และยังไม่มีแนวโน้มที่จะจบด้วย แม้มีความพยายามอย่างมากที่ต้องการทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการจัดหา จบลงก่อนที่รัฐบาลใหม่จะเข้ามารับตำแหน่งหลังการเลือกตั้ง 2566 เพราะกองทัพเรือตระหนักดีว่า หากเกิดการเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว ปัญหาเรือดำน้ำไทยน่าจะเป็นเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องนำมาพิจารณา และอาจนำไปสู่การทบทวนด้วย

ว่าที่จริง ปัญหาเรือดำน้ำเกิดเป็นข่าวในสื่อมวลชนมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันอย่างชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลจีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ให้แก่เรือดำน้ำที่ราชนาวีไทยสั่งต่อ กล่าวคือ จีนไม่สามารถทำตามเงื่อนไขสัญญาที่ต้องใช้เครื่องยนต์ของเยอรมนี (MTU 396) ในเรือดำน้ำดังกล่าว หรืออาจกล่าวในทางสัญญาจัดซื้อจัดหาคือ เกิดการที่ผู้รับสัญญาไม่อาจดำเนินการตามข้อตกลง TOR ที่ลงนามไปแล้วนั่นเอง

หากเราติดตามข่าวสารมาอย่างต่อเนื่องจะเห็นได้ว่าในรัฐบาลชุดที่แล้วนั้น ปัญหาเรือดำน้ำกลายเป็น “ความคลุมเครือ” ที่กระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือ ไม่เคยมีคำตอบอย่างแท้จริงให้แก่สังคม ซึ่งอาจเป็นเพราะเกิดสภาวะ “กลืนไม่เข้า-คายไม่ออก” เพราะการตัดสินใจครั้งนี้อาจส่งผลกระทบทางการเมืองได้ด้วย

ดังนั้น เมื่อปัญหา “เรือไร้เครื่อง” เกิดขึ้น สิ่งที่ปรากฏเป็นข่าวคือ มีความพยายามอย่างมากที่จะหาหนทางประนีประนอมกับจีน เพื่อแก้ปัญหานี้ ด้วยการหาทางเปลี่ยนสัญญาจัดซื้อจาก “เครื่องยนต์เยอรมัน” ไปเป็น “เครื่องยนต์จีน” (CHD 620) แทน ซึ่งแน่นอนว่า การเปลี่ยนเช่นนี้ย่อมมีนัยทั้งทางกฎหมาย และทางทหาร (ปัญหาทางยุทธการ) ควบคู่กันไป ทั้งยังจำเป็นต้องอาศัย “มติคณะรัฐมนตรี” ในการดำเนินการ เนื่องจากกองทัพเรือโดยกระทรวงกลาโหมไม่สามารถดำเนินการได้เองโดยพลการ ภาวะเช่นนี้ทำให้ปัญหาเรือดำน้ำเป็น “บททดสอบ” ที่ท้าทายต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาล โดยเฉพาะตัวรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ที่เป็นพลเรือน

อย่างไรก็ตาม ผู้นำทหารบางส่วนดูจะมีท่าทีแบบ “ยอมจำนน” กล่าวคือเมื่อเกิดปัญหาขึ้น จีนจะเสนออะไร ผู้นำทหารไทยก็ต้องยอมรับ โดยไม่คำนึงว่า ข้อเสนอนั้นจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัญญาจัดซื้อเพียงใด และจะมีผลในทางกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ท่าทีแบบยอมจำนนเช่นนี้ ทำให้ไทยมีสถานะ “ผู้ซื้อที่ไร้อำนาจต่อรอง”

ภาวะของการจัดซื้อแบบเป็น “เบี้ยล่าง” เช่นนี้ ทำให้ไทยกลายเป็นผู้ซื้อที่ต้องหาหนทางประนีประนอมกับจีน แบบยอมจำนน ทั้งที่ปัญหาไม่ได้เกิดจากฝ่ายไทย จนทำให้เกิดคำถามตามมาลับหลังว่า ผู้ขายให้อะไรเป็นผลประโยชน์ตอบแทนแก่บรรดา “ผู้นำทหารในระดับบน” ตลอดรวมถึงผู้เกี่ยวข้องที่มีอำนาจในกองทัพไทยหรือไม่ …

คำถามเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดการตีความจากสังคมว่า “เรือใต้น้ำ” กลายเป็น “เรือใต้โต๊ะ” ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อกองทัพเรือ และต่อกองทัพโดยรวม เพราะสังคมเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพ กล่าวคือถูกมองว่าเป็นปัญหา “ความอื้อฉาวเรื่องอาวุธ” (arms scandal) ในกระบวนการจัดซื้อ

นอกจากนี้ น่าแปลกใจว่าราชนาวีไทยไม่เคยแสดงบทบาทเป็น “smart buyer” ซึ่งส่งผลให้เมื่อผู้ขายผิดสัญญาในสาระสำคัญในกรณีการเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำนั้น ฝ่ายทหารเรือไทยบางส่วนที่เป็นผู้ซื้อกลับยอมคิดตอบรับตามข้อเสนอของจีนแบบง่ายๆ ว่า “ปลอดภัย-ไร้กังวล” ทั้งที่การเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นประเด็นที่ผู้ซื้อต้องวินิจฉัยด้วยความ “ใคร่ครวญและรอบคอบ” และต้องไม่เริ่มคิดด้วยความต้องการเฉพาะหน้า ที่มีความต้องการเรือดำน้ำแบบด้านเดียว และยืนอยู่บนคำอธิบายของยุทธศาสตร์ทางทะเลประการเดียวว่า ทร. ไทย จะต้องมีเรือดำน้ำ ถ้าปราศจากเรือดำน้ำแล้ว ทร. จะไม่มีพลังอำนาจ หรือเกิดการเสียสมดุลของกำลังรบทางทะเล

สิ่งที่ราชนาวีไทยจะต้องตอบให้ได้คือ เครื่องยนต์จีนมีประสิทธิภาพเท่ากับเครื่องยนต์เยอรมันจริงหรือไม่… การเอาเครื่องเรือรบบนผิวน้ำมาใช้กับเรือดำน้ำตามข้อเสนอของจีน เป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่… หากเกิดปัญหาทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพและความปลอดภัยของชีวิตลูกเรือไทยแล้ว ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ (ดังจะเห็นได้จากปัญหาเรือหลวงสุโขทัยจม จนถึงบัดนี้ยังไม่ปรากฏความรับผิดชอบที่สังคมจะได้เห็น!)

นอกจากนี้ ในความเป็นจริงของธุรกิจอาวุธในเวทีโลกนั้น ตลาดไม่ใช่ผูกขาดเป็น “ตลาดผู้ขาย” เพียงฝ่ายเดียวเช่นในอดีต จนทหารไทยต้องยอมให้กับรัฐผู้ขายเสมอ เพราะต้องการอาวุธมาก แต่ตลาดอาวุธสมัยใหม่ เป็น “ตลาดผู้ซื้อ” ที่ผู้ซื้อมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น อันเป็นผลจากการแข่งขันของผู้ผลิตอาวุธในตลาดโลก ดังนั้น กระทรวงกลาโหมและผู้นำทหารไทยอาจต้องเปลี่ยนชุดความคิดให้เป็น “smart buyer” มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ยังมีข่าวสารที่ปรากฏในสื่อจีนว่า จีนจะให้ ทร. ไทยยืมเรือดำน้ำเก่า (เรือมือสอง) ของจีน (T 039A) มาใช้ “แก้ขัด” ไปพรางๆ ก่อน จนกว่าไทยจะมั่นใจที่จะยอมรับเครื่องยนตร์จีน เพื่อที่ไทยจะได้นำเรือดำน้ำดังกล่าวเข้าประจำการในอนาคต และสื่อจีนมองว่า ไทยตอนนี้ “หมกมุ่นเครื่องยนต์เยอรมัน” มากเกินไป … ข่าวนี้น่าจะเป็นดังการ “โยนหินถามทาง” อันเป็นสัญญาณว่า จีนต้องการแก้ปัญหาในแบบใด ซึ่งแนวทางเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับไทยแต่อย่างใด (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน “สื่อจีนเผยไทยขอเรือดำน้ำ Type 039A มือ 2 ใช้งานช่วงเปลี่ยนผ่าน ชดเชยผิดสัญญาเครื่องยนต์”, สำนักข่าวอิศรา, 8 กันยายน 2566)

ถ้าพิจารณาความต้องการเฉพาะหน้าแล้ว บางทีทางออกที่น่าสนใจน่าจะเป็นการ “แลกเรือ” ระหว่างเรือดำน้ำที่มีปัญหา กับ “เรือคอร์เวต” เพื่อทดแทนต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับเรือรบหลวงสุโขทัย เพราะแม้นว่าทร. จะประสบความสำเร็จในการกู้เรือดังกล่าวได้ แต่ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูให้เรือนี้กลับสู่ภาวะปกติ อาจจะมีมูลค่าสูง จนอาจจะเป็นภาระด้านงบประมาณอย่างมากในอนาคต

การแลกเช่นนี้ จะเป็นผลได้ของทุกฝ่ายคือ “win-win” ทั้งไทยและจีน และไทยไม่มีความจำเป็นต้องวิ่งไปขอร้องเยอรมนีเพื่อ “ขอเครื่องยนต์” ซึ่งอาจจะทำให้มีปัญหามากขึ้น และอาจทำให้เยอรมนีเกิด “ความอึดอัด” ในทางการทูต เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาระหว่างไทยกับจีน และเยอรมนีถูกลากให้เข้ามาเกี่ยวข้อง

ดังนั้น เพื่อที่จะหาทางยุติปัญหา “เรือไร้เครื่อง” แล้ว บางทีการมี “เรือคอร์เวต” เพื่อทดแทนเรือสุโขทัย ที่แม้จะไม่ใช่เรือในชั้น “รัตนโกสินทร์” ที่ต่ออู่จากสหรัฐ ก็อาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศทั้งสอง เพราะถ้าเราสามารถกู้เรือขึ้นมาได้จริง ค่าซ่อมบำรุงที่จะฟื้นเรือให้กลับมาเหมือนเดิม อาจจะเป็นจำนวนมาก และไม่คุ้มค่าโดยเฉพาะกับปัญหาอายุเรือที่ต่อมาตั้งแต่ปี 2527 แต่กระนั้น ก็จะต้องกู้เรือให้ได้ เพื่อเรียนรู้ถึงปัญหาที่นำไปสู่ความสูญเสีย และเป็นบทเรียนสำหรับชีวิตของนายทหารและลูกเรือของเรือรัตนโกสินทร์ที่ยังอยู่ในประจำการ

ฉะนั้น หลังจากเกิดเหตุการณ์กับเรือรบหลวงสุโขทัยแล้ว ถ้า ทร. สามารถแลกเรือดำน้ำกับ “เรือคอร์เวต” จากจีนมาทดแทนได้จริง ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาการวางแผนการจัดวางกำลังรบทางทะเลของ ทร. ไทย และอาจจะดีกว่าการยึดติดอยู่กับความต้องการมีเรือดำน้ำแบบตายตัวเท่านั้น เพราะปัญหา “ยุทธศาสตร์ทางทะเล” เฉพาะหน้าของไทยอาจจะไม่ใช่การมีเรือดำน้ำ มากเท่ากับการต้องเรือคอร์เวตทดแทนเรือหลวงสุโขทัย !