สุรชาติ บำรุงสุข : หกตุลารำลึก – ปฐมฤกษ์แห่งสงคราม

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หกตุลารำลึก (4) ปฐมฤกษ์แห่งสงคราม!

ย้อนอ่านตอน (3) สงครามระหว่างพรรคพี่น้อง

“ความแพ้ชนะของสงคราม ที่สำคัญนั้นชี้ขาดด้วยเงื่อนไขทางการทหาร ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางธรรมชาติของคู่สงคราม นี่ไม่เป็นปัญหา แต่ว่าไม่แต่เพียงเท่านี้ มันยังชี้ขาดด้วยความสามารถในการชี้นำทางอัตวิสัยของคู่สงครามด้วย”

ประธานเหมาเจ๋อตุง

เมื่อตัดสินใจที่จะเป็นนักวิชาการ ทำให้ผมต้องหาลู่ทางที่จะไปเรียนหนังสือต่อในต่างประเทศ ว่าที่จริงแล้ว แทบไม่เคยมีความคิดที่จะเป็นอาจารย์อยู่ในหัวเลย เพราะด้วยชีวิตของการเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่การเคลื่อนไหวก่อน 14 ตุลา จนถึงการล้อมปราบในปี 2519 นั้น ชีวิตผมอยู่นอกห้องเรียนมากกว่านั่งเรียนในชั้น

และช่วงสำคัญหนึ่งในชีวิตคือ การไปอยู่กับพี่ๆ กรรมกรที่อ้อมน้อย ผมเป็นคนหนึ่งที่เติบโตมาจากงานกรรมกร และกลับเข้ามามีบทบาทเคลื่อนไหวเรื่องฐานทัพสหรัฐ จนได้รับเลือกตั้งเป็นอุปนายกฝ่ายกิจการภายนอกของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีฐานะเป็นกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยโดยตำแหน่ง

ผมใช้ชีวิตเป็นนักเคลื่อนไหวมาตลอด

ในที่สุดผมก็จบการศึกษาหลังจากการนิรโทษกรรมด้วยคะแนน 2.75 เท่านั้น คนเป็นอาจารย์จะต้องได้คะแนนเกียรตินิยม

ดังนั้น เมื่อเป็นอาจารย์แล้ว จึงมักมีเรื่องตลกร้าย ในการทำประวัติอาจารย์ เจ้าหน้าที่คณะมักจะใส่วงเล็บเกียรตินิยมท้ายวุฒิปริญญาตรี และผมต้องคอยแก้ไข เพราะจบด้วยคะแนนแบบนักกิจกรรม ซึ่งถือว่าสูงมากแล้วครับ

ผมออกไปต่างประเทศในตอนกลางปี 2523 ด้วยความคิดว่าจะกลับมาเป็น “นักวิจัย” และพกคำถามหลายประการติดไป ด้วยในขณะนั้นเพื่อนหลายคนกลับออกมาจากป่าแล้ว

แน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้กลับเข้ามาทำงานจัดตั้งและเคลื่อนไหวในเมืองแบบที่ฝ่ายความมั่นคงสงสัย

หากพวกเขากลับมาด้วยความผิดหวัง และหลายคนเสียใจกับการตัดสินใจในวันที่เดินทางเข้าสู่ชนบท

สิ่งเหล่านี้เป็นแนวโน้มที่บ่งบอกว่า สงครามปฏิวัติกำลังปิดฉากลง…

ทำไมสงครามในไทยจึงจบลงอย่างรวดเร็ว เกิดอะไรกับยุทธศาสตร์การปฏิวัติไทย

คำถามเหล่านี้กลายเป็นเรื่องราวที่ผูกมัดชีวิตนักปฏิวัติรุ่นเก่าและรุ่นใหม่อย่างเพื่อนผมหลายคนที่เข้าร่วมการต่อสู้หลังปี 2519 มาโดยตลอด

จุดเริ่มต้นพรรค

ผมเคยถามกับตัวเองเล่นๆ ว่า ถ้าเราเป็นฝ่ายนำของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยแล้ว เราควรจะตัดสินใจอย่างไรในสงครามเวียดนาม-กัมพูชา

ผมตระหนักดีว่าการตัดสินใจในสถานการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

และในวันที่ต้องสอนวิชานโยบายต่างประเทศไทยที่คณะ ผมบอกกับนิสิตเสมอว่า การตัดสินใจของตัวผู้นำมีผลผูกมัดกับอนาคตของทุกประเทศไม่แตกต่างกัน และการตัดสินใจที่เกิดขึ้นมีสิ่งที่เรียกว่า “ปัจจัยนำเข้า” (input) หลายประการที่ต้องคิดคำนึง และปัจจัยนำเข้าที่ผู้นำให้ความสำคัญในแต่ละสถานการณ์ก็มีความแตกต่างกัน

แต่สุดท้ายแล้ว ผลของการตัดสินใจเลือกในนโยบายมีเพียงสองประการเท่านั้นคือ ความสำเร็จหรือความล้มเหลวที่รออยู่เบื้องหน้า

และในการดำเนินนโยบายนั้น ไม่มีใครให้หลักประกันได้ว่า นโยบายที่เกิดขึ้นจะประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลว

นโยบายที่ดีจึงต้องยืดหยุ่นและสอดรับกับสภาวะแวดล้อมที่เป็นจริง เพื่อให้เรารักษาผลประโยชน์ได้มากที่สุด

การตัดสินใจเลือกในกระบวนการทำนโยบายจึงเป็นความท้าทายเสมอ เพราะในความเป็นผู้นำที่มีอำนาจในการตัดสินใจในนโยบาย ย่อมต้องการความรอบรู้และความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่คำกล่าวเช่นนี้มีความเป็นทฤษฎีอย่างยิ่ง

เพราะสุดท้ายแล้ว การตัดสินใจอาจเป็นผลจากความผูกพันทางประวัติศาสตร์ หรือเป็นผลจากการหล่อหลอมของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งๆ ถ้าเช่นนั้นแล้วผู้นำพรรคไทยจะตัดสินใจเลือกที่จะยืนกับจีนหรือกับเวียดนามในสถานการณ์สงครามระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ที่เริ่มขึ้นในต้นปี 2522

หากพิจารณาจากบริบททางประวัติศาสตร์แล้ว พรรคไทยมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นทั้งกับพรรคจีนและพรรคเวียดนาม ดังที่กล่าวแล้วว่าการตัดสินใจในนโยบายเป็นความท้าทายเสมอ ไม่ว่าจะมองในบริบทของผู้นำรัฐไทย หรือผู้นำพรรคไทยก็ไม่แตกต่างกัน เพราะผลของการตัดสินใจที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะกระทบต่อทั้งสงครามภายนอกและภายในอย่างมาก และในอีกด้านหนึ่งผู้นำรัฐไทยเองก็ต้องตัดสินใจเลือกทางเดินในนโยบายที่ต้องเผชิญหน้าอยู่เช่นกัน

และผลที่เกิดขึ้นเป็นเสมือน “จุดเปลี่ยน” ของสถานการณ์การเมืองและการทหารของไทยในเวลาต่อมาอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลย

กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์สยาม

ในช่วงทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ผมมีโอกาสอ่านวิทยานิพนธ์ของวิทยาลัยการทัพบกหลายเล่มเกี่ยวกับสงครามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย

แต่ก็ไม่มีรายละเอียดในจุดเริ่มต้น และโดยทั่วไปแล้ว เรามักจะคิดว่าพรรคไทยมีจุดเริ่มต้นมาจากพรรคจีน แต่หากเราได้อ่านงานของอาจารย์เออิจิ มูราชิมา อาจารย์ชาวญี่ปุ่นที่เขียนหนังสือเรื่องกำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์สยาม (พ.ศ.2473-2479) [แปลโดยโฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์, สำนักพิมพ์มติชน, 2555]

ในรายละเอียดเรากลับพบว่าต้นรากของเรื่องมาจากการกำเนิดของพรรคคอมมิวนิสต์สยาม (พคส.) เป็นดังนี้

“วันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2473 โฮจิมินห์จัดการประชุมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สยาม (ศัพท์ในสมัยนั้นเรียกว่า “คณะคอมมิวนิสต์สยาม”) ขึ้น ที่ห้องห้องหนึ่งของโรงแรมตุ้นกี่ใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง…”

แม้งานวิจัยบางส่วนอาจจะถือว่าจุดเริ่มต้นของพรรคไทยเริ่มมาจากคณะกรรมการสยามแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาทะเลใต้ (คณะกรรมการภาคหนานหยางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน) แต่ในความเป็นจริงก็คือ “พรรคคอมมิวนิสต์สยามก่อตั้งโดยสหายโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นตัวแทนของสากลที่สาม มาติดต่อตัวแทนของคอมมิวนิสต์เวียดนามในสยาม รวมทั้งชาวคอมมิวนิสต์จีนในสยาม คัดเลือกมารวมตัวกันก่อตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์สยามรุ่นแรก…”

ข้อสังเกตในการกำเนิดพรรคของอาจารย์มูราชิมาน่าสนใจอย่างมากเมื่อกล่าวเปรียบเทียบอิทธิพลจีนและเวียดนามว่า

“จำนวนคนจีนในสยามมีมากกว่าคนเวียดนามอย่างน้อย 100 เท่า ซึ่งต่างกันราวฟ้ากับดิน ทว่า นับตั้งแต่ปี 1930 (พ.ศ.2473) ซึ่งเป็นปีก่อตั้งพรรค จนถึงปี 1936 คนเชื้อสายเวียดนามมีอิทธิพลอย่างสูงต่อ พคส. โดยอยู่ในระดับที่เหนือกว่าสัดส่วนของจำนวนคนที่มีเป็นอย่างมาก”

และแม้ต่อมาเมื่อมีการประชุมสมัชชาครั้งที่ 1 เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

ในตอนปลายปี 2485 แล้ว ก็ยังคงมีคนไทยเชื้อสายเวียดนาม 2 คนดำรงตำแหน่งกรรมการกลางของพรรค แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรรมการกลางอีกส่วนก็เป็นสายจีน และเป็นสายจีนที่เข้มแข็งด้วย

จุดเริ่มต้นสงคราม

การเคลื่อนไหวของชาวคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในไทยตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475

น่าสนใจว่าพวกเขาไม่ได้ยอมรับคณะราษฎร ในใบปลิวที่ออกแจกจ่ายในวันที่ 30 กันยายน 2475 นั้น พวกเขาเรียกร้องให้โค่นล้มคณะราษฎรในฐานะของการเป็น “รัฐบาลเผด็จการใหม่” และเรียกร้องให้ดำเนินนโยบาย “ตามแนวทางสังคมนิยมคอมมิวนิสต์” (ดูงานของมูราชิมา)

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ในยุคสงครามเย็น ที่จอมพลเฉิน ยี่ (Chen Yi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวในเดือนมกราคม 2508 ว่า การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธจะเกิดขึ้นในประเทศไทยเร็วๆ นี้

และประเทศนี้ [ไทย] จะเป็นพื้นที่ลำดับต่อไปสำหรับสงครามปลดปล่อยแห่งชาติ คู่ขนานกับการกระจายเสียงของสถานีวิทยุปักกิ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2507

ถึงเดือนมกราคม 2508 ที่เรียกร้องให้มีการจัดตั้ง “องค์กรแนวร่วม” เพื่อเตรียมการสงครามที่จะเกิดขึ้นในไทย คำประกาศนี้เท่ากับบอกถึงการมาเยือนไทยของ “สงครามประชาชน” ที่เป็นรากฐานทางความคิดการทหารในสงครามปฏิวัติของจีน

รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร มองคำประกาศนี้ด้วยความกังวล และตีความว่าจีนแผ่นดินใหญ่ได้ประกาศสถานะสงครามกับไทยแล้ว

ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงไทยชี้ให้เห็นว่า ก่อนราวปี 2503 นั้น ความสนับสนุนจากปักกิ่งต่อพรรคคอมมิวนิสต์ไทยมีไม่มากนัก

แต่หลังจากช่วงดังกล่าวแล้ว การสนับสนุนมีมากขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านอาวุธและการฝึก

และหลังจากมีนาคม 2505 สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ซึ่งเป็นสถานีวิทยุของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่ตั้งอยู่ในจีน ได้เริ่มออกอากาศเป็นภาษาไทย โดยมีเนื้อหาสอดรับกับวิทยุปักกิ่ง

และเมื่อรวมกับคำประกาศจัดตั้งแนวร่วมของวิทยุปักกิ่ง จนถึงคำประกาศของรัฐมนตรีเฉิน ยี่ แล้ว รัฐบาลไทยจับตามองการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ในประเทศมากขึ้น

ในฐานะของการเป็น “ภัยคุกคามหลัก”

วันเสียงปืนแตก!

ในที่สุดแล้วสถานการณ์สงครามก็เริ่มขึ้นอย่างเป็นจริงในวันที่ 7 สิงหาคม 2508 โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยถูกโจมตีจากกองกำลังติดอาวุธที่ชื่อว่า “กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย” (ทปท.) ที่บ้านนาบัว อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม

เหตุการณ์วันนี้ถูกเรียกว่าเป็น “วันเสียงปืนแตก” หรือเป็นดังปฐมฤกษ์ของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในประเทศไทย

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือปฏิทินวันแรกของสงครามของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย… สงครามเริ่มจริงๆ แล้ว และรัฐไทยจะสู้ในสงครามนี้อย่างไร

ในมุมมองทางทฤษฎีความมั่นคงแล้ว วันนี้คือจุดเริ่มต้นของ “สงครามก่อความไม่สงบ” (Insurgency Warfare) ในไทย

และสงครามนี้ในบริบทโลก ถือได้ว่าเป็นแบบแผนหลักของการสงครามที่เกิดขึ้นในประเทศโลกที่สาม ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว สงครามเกือบทั้งหมดในประเทศเหล่านี้มีลักษณะเป็นสงครามก่อความไม่สงบ

ไม่ว่าจะปรากฏในรูปแบบของสงครามกองโจร (Guerrilla Warfare) สงครามปลดปล่อยแห่งชาติ (War of National Liberation) หรือสงครามประชาชน (The People”s War) ล้วนอยู่ในแบบแผนการสงครามเดียวกันทั้งสิ้น

หรืออาจเรียกในภาษาปัจจุบันว่า รัฐไทยในปี 2508 เผชิญกับ “สงครามอสมมาตร” (Asymmetric Warfare) ที่มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นคู่สงคราม

ฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่มีรัฐข้าศึกที่มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ให้เป็นเป้าหมายสำหรับการโจมตี ชุดความคิดทางการทหารแบบเดิมของผู้นำทหารไม่ตอบรับกับลักษณะของสงครามชุดนี้เลย

จุดต่างของสงคราม

สงครามในรูปแบบใหม่เช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นความคุ้นเคยสำหรับผู้นำทหารไทย ทหารในกองทัพไทยเติบโตมากับหลักสูตรของสงครามในแบบ (Conventional Warfare)

การศึกษาในโรงเรียนทหารไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการเรียนถึงสงครามตามแบบในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรชั้นนายร้อยหรือชั้นนายพัน ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรในโรงเรียนเสนาธิการหรือในวิทยาลัยการทัพ ก็ล้วนเป็นเรื่องของสงครามตามแบบทั้งสิ้น

เช่น เรียนเรื่องการยุทธ์ในระดับกองพัน ระดับกรม หรือระดับกองพล เป็นต้น ซึ่งก็คือการศึกษาเพื่อเตรียมรบในสงครามที่รัฐเป็นคู่สงคราม หรือรบใน “สงครามสมมาตร”

สงครามที่รัฐไทยต้องเผชิญหน้าหลังจากวันเสียงปืนแตกในปี 2508 จึงไม่ใช่สงครามในแบบที่ทหารถูกสอนมา

แต่เป็นสงครามนอกแบบ (Unconventional Warfare) ที่ไม่มีใครคุ้นเคยเลย แม้แต่กองทัพสหรัฐที่เป็นตัวต้นแบบของกองทัพไทยเอง ก็ไม่คุ้นกับสงครามชนิดนี้ เพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร

และถือได้ว่าเป็นตัวแบบสูงสุดของความเป็นสงครามในแบบ

หรือสงครามในเกาหลีก็มีลักษณะเป็นสงครามในแบบ หากแต่มีลักษณะเป็น “สงครามจำกัด” ที่การรบไม่ขยายพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และไม่ขยายวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่ต้องการการยอมแพ้ของรัฐข้าศึกอย่างไม่มีเงื่อนไข

สงครามในแบบรบด้วยอำนาจการยิงที่เหนือกว่าในการทำลายกำลังรบข้าศึก รุกด้วยการยึดครองพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของข้าศึก ชนะด้วยการทำลายพลังอำนาจรัฐของข้าศึก และจบลงด้วยการประกาศยอมแพ้ของผู้นำรัฐข้าศึก

แต่ในสงครามนอกแบบกลับไม่มีเงื่อนไขทั้งสี่ประการเช่นนี้เลย

การมาของแบบแผนสงครามใหม่ที่เป็นสงครามนอกแบบจึงเป็นความท้าทายทางยุทธศาสตร์โดยตรงต่อกองทัพไทย

คำถามเบื้องต้นจึงมีเพียงสองประการคือ จะรบอย่างไรในสงครามก่อความไม่สงบ และจะเอาชนะอย่างไรในสงครามนี้

หรือจะสู้ด้วยวิธีคิดเก่าที่เชื่อว่า หากเราทุ่มกำลังลงสู่สนามรบอย่างเต็มที่แล้ว เราจะยุติด้วยชัยชนะสงครามคอมมิวนิสต์ได้ในระยะเวลาสั้นๆ!