สุรชาติ บำรุงสุข : หกตุลารำลึก – สงครามระหว่างพรรคพี่น้อง

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หกตุลารำลึก (3) สงครามระหว่างพรรคพี่น้อง

“การปฏิวัติไม่ใช่เชิญแขกมากินเลี้ยง ไม่ใช่แต่งความเรียง ไม่ใช่วาดภาพ หรือเย็บปักถักร้อย จะทำอย่างประณีต ไม่รีบไม่ร้อน สุภาพเรียบร้อย หรืออย่างละมุนละม่อม เมตตากรุณา พินอบพิเทา เสงี่ยมเจียมตัว และอารีอารอบไม่ได้”

ประธานเหมาเจ๋อตุง

ผมได้รับนิรโทษกรรมในตอนกลางเดือนกันยายน 2521

มีเพื่อนสนิทบางคนที่เข้าร่วมการต่อสู้ในชนบท ติดต่อมาขอพบ

ผมเริ่มรับรู้ถึงสถานการณ์การต่อสู้ในสิ่งที่คนรุ่นผมเรียกด้วยคำอันศักดิ์สิทธิ์ว่า “การปฏิวัติ” นั้น ดูจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่พวกเราคิดฝันไว้เท่าใดนัก

ชีวิตในเขตป่าเขาไม่ง่ายด้วยตัวของมันเอง

และขณะเดียวกันก็ไม่ง่ายสำหรับบรรดานักศึกษาที่เคยเคลื่อนไหวในเขตเมืองเป็นด้านหลัก

แต่พยายามนึกเปรียบเทียบว่า การปฏิวัติในโลกไม่ว่าที่ใดล้วนต้องผ่านความยากลำบากทั้งสิ้น

และการปฏิวัติไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นแต่อย่างใด

ผมกลับเข้ามาเรียนต่ออีกเทอมจึงสำเร็จปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชีวิตตอนกลับมาเรียนอบอุ่นมาก กลายเป็น “พี่ใหญ่” ของน้องๆ อาจารย์ในคณะหลายคนก็ให้ความกรุณามาก

ผมไม่ได้ถูกมองว่าเป็น “หัวหน้าฝ่ายซ้ายหัวรุนแรง”

ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผมกับอาจารย์ในยุคก่อน 6 ตุลา ไม่ได้มีปัญหากันมาก

เมื่อผมจบการศึกษาแล้ว จึงตัดสินใจทำงานวิชาการ…

เริ่มต้นด้วยการทำงานกับอาจารย์เขียน ธีระวิทย์ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำสถาบันเอเชีย และต่อมาย้ายไปทำงานกับอาจารย์วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ เป็นนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยสังคม

ความขัดแย้งระหว่างพรรคพี่น้อง

ชีวิตช่วงนี้เปิดโอกาสให้ผมทำงานวิชาการอย่างจริงจัง ความฝันที่จะเป็นปลัดอำเภอเมื่อตอนคิดเรียนรัฐศาสตร์เป็นอันว่าจบไปเลย

ผมได้พบกับนักวิชาการรุ่นใหม่ในยุคนั้นหลายคน จนมีโอกาสเป็นคนหนึ่งที่ก่อตั้ง “กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง” ขึ้นที่สถาบันวิจัยสังคม

และต่อมาได้มีโอกาสสำคัญในชีวิต จากประสบการณ์ของการเขียนบทความในระหว่างที่ถูกคุมขัง ผมเริ่มเขียนบทความลง “มติชนรายวัน” (ต้องขอขอบคุณพี่เสถียร จันทิมาธร และพี่ขรรค์ชัย บุนปาน สำหรับโอกาสการเป็นนักเขียนมติชนมาจนทุกวันนี้)

ในขณะที่ชีวิตทางวิชาการของผมกำลังเริ่มก่อตัวขึ้น ชีวิตทางการเมืองของผมและเพื่อนๆ กลับกำลังถูกท้าทายจากสงครามที่เรานึกไม่ถึง

สงครามระหว่างเวียดนามและกัมพูชาที่มีปัญหาต่อเนื่องมาตั้งแต่การสิ้นสุดการปฏิวัติในปี 2518 และขยายตัวเป็นปัญหาความรุนแรงใหญ่ในเดือนธันวาคม 2521

ต่อมาในเดือนมกราคม 2522 เวียดนามก็ตัดสินใจบุกโค่นล้มรัฐบาลเขมรแดง และนำไปสู่การยึดครองกัมพูชาต่อมานานเป็นเวลาถึง 10 ปี

สงครามระหว่างพรรคพี่น้องในอินโดจีนทำให้เกิดคำถามในทางทฤษฎีอย่างมาก

เราถูกสอนให้เชื่อว่าความเป็นพี่น้องของชาวสังคมนิยมจะต้องก้าวข้ามความขัดแย้งของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งเรื่องชาตินิยม

ไม่มีทางที่ชาวสังคมนิยมจะยอมรับเรื่องชาตินิยมในลักษณะเช่นนี้ได้เลย

ความสมานฉันท์ของชาวสังคมนิยมจะต้องมาก่อนความขัดแย้งแบบชาตินิยม

แต่สงครามครั้งนี้กลายเป็นคำถามใหญ่ในทางทฤษฎีว่า ในที่สุดแล้วสำหรับรัฐในเอเชีย ชาตินิยมมาก่อนสังคมนิยมใช่หรือไม่

หรือว่าในความเป็นจริงก็คือ ฐานล่างสุดของลัทธิสังคมนิยมในเอเชียก็คือลัทธิชาตินิยม…

(วารสาร Bulletin of Concerned Asian Scholars ฉบับ ๖ ตุลาฯ )

นักสังคมนิยมคนสำคัญในเอเชียล้วนแต่เติบโตมาจากนักชาตินิยมทั้งสิ้น

ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้น พวกเราแทบไม่เคยรับรู้เลยว่า สงครามนี้ไม่ใช่เพียงเป็นเรื่องของการรบทางทหารอย่างต่อเนื่องเท่านั้น หากแต่ขอบเขตเป็นการรบที่มีขนาดใหญ่

เช่น การโจมตีทางทหารขนาดใหญ่ของรัฐบาลเขมรแดงต่อเวียดนามในเดือนเมษายน 2520

และในปลายปีนั้น เวียดนามก็เปิดการตอบโต้ทางทหารขนาดใหญ่ต่อกัมพูชา

ซึ่งหลายครั้งของการรบที่เกิดขึ้นเป็นการใช้กำลังระดับกองพล อีกทั้งยังมีการใช้กำลังทางอากาศโจมตีเป้าหมายในกัมพูชาด้วย

ซึ่งต้องถือว่าเป็นการรบขนาดใหญ่สำหรับประเทศในภูมิภาคนี้

ในขณะที่ช่วงปี 2520 ดูจะเป็นช่วงขาขึ้นของการปฏิวัติไทย หลายคนฝันหวานว่าอีกไม่นานโดมิโนจะล้มลงที่กรุงเทพฯ

แต่เมฆหมอกแห่งสงครามกำลังพัดครอบคลุมอินโดจีนอีกครั้ง

และไม่ใช่สงครามต่อต้านจักรวรรดินิยม แต่เป็นสงครามระหว่างพรรคสังคมนิยมด้วยกันเอง

ในตอนปลายปี 2521 ผู้นำเวียดนามตัดสินใจที่จะล้มรัฐบาลกัมพูชา ด้วยขนาดของกำลังพลแล้วกัมพูชาไม่มีทางที่รับมือการรุกของเวียดนามได้เลย

กองทัพเวียดนามมีกำลังพล 615,000 นาย พร้อมรถถัง 900 คัน เครื่องบินรบ 300 ลำ

ขณะที่กัมพูชามีกำลังพลทางบก 70,000 นาย มีรถหุ้มเกราะ 200 คัน มีรถถังหลังและกำลังทางอากาศไม่มากนัก

ท่ามกลางสถานการณ์สงครามเช่นนี้ จีนพยายามที่จะเป็นคนกลาง แต่ไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด แม้จะมีการเจรจาลับระหว่างผู้นำเวียดนามกับกัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน

ความตึงเครียดทวีมากขึ้นจากกรณีกำลังทหารของกัมพูชารุกเข้าไปในดินแดนของเวียดนาม และสังหารประชาชนเวียดนามประมาณ 3,000 คน (หรือที่เรียกว่าการสังหารหมู่ที่ Ba Chuc)

ในขณะที่ปี 2520 ต่อเข้าปี 2521 พวกเราแทบไม่รับรู้เรื่องเหล่านี้มากนัก หรือบางทีก็ถูกสร้างให้เชื่อว่า เป็นข่าวปล่อยของ “จักรวรรดินิยมอเมริกา”

หรือในอีกด้านก็มีคำอธิบายตามทฤษฎีสามโลกของจีนว่า เป็นการขยายอำนาจของ “ลัทธิครองความเป็นเจ้า” ของสหภาพโซเวียต

จีนแสดงบทบาทเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลกัมพูชาอย่างเต็มที่ โดยส่งทั้งที่ปรึกษาทางทหาร อาวุธหนักต่างๆ ตลอดรวมเครื่องกระสุน

ประมาณว่าจีนมีที่ปรึกษาทั้งทางทหารและพลเรือนอยู่ในรัฐบาลกัมพูชามากถึง 10,000-20,000 นาย

สงครามระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์

เมื่อล่วงเข้ากลางปี 2521 ทั้งสองฝ่ายต่างอยู่ในภาวะเตรียมกำลัง ในช่วงเวลานี้มีรายงานข่าวว่าเรือของโซเวียตได้ลำเลียงอาวุธหนักและเครื่องกระสุนลงที่ฐานทัพเรือที่คัมรานห์ กำลังรบของเวียดนามมีความพร้อมรบแล้ว ทั้งยังมีการย้ายกำลัง 3 กองพลของเวียดนามในลาวมาไว้ที่ชายแดนลาว-กัมพูชา

ในตอนกลางเดือนธันวาคม รัฐบาลปักกิ่งได้ออกถ้อยแถลงเตือนรัฐบาลฮานอยว่า การโจมตีกัมพูชาจะถูกลงโทษ (จากจีน) ในแบบ “ไม่มีขีดจำกัด” (unbridled fashion)

แล้วการทดสอบกำลังรบข้าศึกเกิดขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม 2521 เมื่อกำลังเวียดนาม 2 กองพลรุกเข้าตีกำลังรบของกัมพูชาที่เมืองชายแดน

แม้รัฐบาลเขมรแดงจะได้รับความสนับสนุนจากจีนอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่อาจรับมือการเข้าตีของเวียดนามได้

ในวันที่ 25 ธันวาคม ของปีนั้น กองทัพเวียดนาม 13 กองพลด้วยกำลังประมาณ 150,000 นายเคลื่อนกำลังบุกกัมพูชา

เวียดนามเปิดสงครามตามแบบเต็มรูป มีการใช้รถถัง การยิงปืนใหญ่สนับสนุน และการโจมตีด้วยกำลังทางอากาศ

และในวันที่ 7 มกราคม 2522 กองทัพเวียดนามก็ยึดพนมเปญได้ และประกาศจัดตั้งรัฐบาลนิยมเวียดนามขึ้น รัฐบาลเขมรแดงถอนตัวออกมาตั้งรับตามแนวชายแดนไทย

สงครามนี้มีมุมมองได้หลายประการ

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการแข่งขันในความเป็นผู้นำของโลกสังคมนิยมระหว่างสหภาพโซเวียตกับจีน

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับเวียดนามที่มีมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์

ปัญหาความขัดแย้งและความหวาดระแวงระหว่างกัมพูชากับเวียดนาม

และความขัดแย้งชุดนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีลัทธิชาตินิยมเป็นฐานรองรับ

แต่สำหรับนักปฏิวัติไทย (ไม่ว่าจะเป็นสหายรุ่นเก่าและสหายรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมการต่อสู้หลังปี 2519) จะมองปัญหาสงครามชุดนี้อย่างไร

และปัญหาที่ละเอียดอ่อนที่สุดคือ นักปฏิวัติไทยจะต้องเลือกข้างในคู่ขัดแย้งนี้หรือไม่ และมีใครในขณะนั้นประมาณการหรือไม่ว่า การตัดสินใจเลือกจะส่งผลอย่างไรต่ออนาคต… ทั้งต่อตัวบุคคลและต่อสงคราม

หลังสงครามเวียดนาม-กัมพูชาในช่วงกลางปี 2522 แล้ว เริ่มมีเพื่อนที่กลับออกมาจากชนบทมาพบ และเล่าเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย

โดยเฉพาะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างพวกเราที่เป็นสหายรุ่นใหม่กับพรรค

และยังเล่าถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญที่พรรคไทยเลือกที่จะเข้าร่วมสงครามครั้งนี้กับจีน

โดยส่วนตัวด้วยวุฒิภาวะในขณะนั้น ผมได้แต่เพียงนั่งดูสถานการณ์ แต่ก็คาดไม่ถึงว่าสงครามนี้จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการปฏิวัติไทยที่ในปี 2520 ทำท่าว่าจะขยายตัวเป็นสงครามกลางเมือง

แต่ทิศทางในช่วงกลางปี 2522 เป็นต้นมา กลับแสดงให้เห็นถึงภาวะถดถอย

แล้วในที่สุดพรรคไทยตัดสินใจครั้งใหญ่ที่จะเข้าร่วมในฝ่ายจีน

หากย้อนกลับไปพิจารณาในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว คงต้องยอมรับว่าการตัดสินใจของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่จะยืนในฝ่ายจีนนั้น เป็นดังการ “เดิมพัน” การปฏิวัติไทยครั้งสำคัญ

และปฏิเสธไม่ได้เลย ผลที่เกิดขึ้นมีนัยสำคัญทั้งกับสงครามภายในของรัฐไทย เท่าๆ กับผลต่อสงครามภายนอกของรัฐไทยด้วย

และสุดท้ายแล้วย่อมมีผลต่อชีวิตของพวกเราแต่ละคนที่ตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตนักปฏิวัติในวัยหนุ่มสาว

ดังจะเห็นได้ว่าจากกลางปี 2522 ต่อเข้าปี 2523 เป็นต้นไป มีผู้คนทยอยออกจากป่าอย่างต่อเนื่อง

จนสภาวะเช่นนี้ถูกเรียกว่า “ป่าแตก” ซึ่งในช่วงต้นของปรากฏการณ์นี้ เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงอาจจะไม่ค่อยเชื่อมากนัก เพราะเกรงว่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อย้ายเอาคนเข้ามาทำงานในเขตเมือง

ว่าที่จริงแล้วก็แทบไม่น่าเชื่อเพราะพวกเราเพิ่งตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้หลังเหตุการณ์ปี 2519 และไม่กี่ปีถัดพาพวกเราก็กลับออกจากชนบท เรื่องราวเช่นนี้จึงกลายเป็นดัง “ตำนานของคนเดือนตุลา”… ตำนานชีวิตแห่งการปฏิวัติของหนุ่มสาวไทย

หลังจากป่าเริ่มแตกในปี 2523 แล้วอีกไม่กี่ปีถัดมาสงครามปฏิวัติก็เดินไปถึงจุดจบ สงครามจบลงเร็วกว่าที่กว่าทุกคนคิด!

ชีวิตหลังสงครามที่พ่ายแพ้

จากป่าแตกจนถึงการสิ้นสงครามปฏิวัติก็คือ การปิดตำนานของคนหนุ่มสาวที่ชีวิตเดินทางผ่านการต่อสู้ในเดือนตุลาคมและจบลงด้วยสงครามในชนบท

หลังจากนี้จึงเป็นชีวิตที่เดินทางไปตามเส้นทางของแต่ละคน การดำรงชีพก็เป็นไปตามทักษะและความปรารถนาของแต่ละคน คงไม่แปลกนักที่จะกล่าวเป็นข้อสังเกตว่า ชีวิตแห่งความเป็นหนุ่มสาวแห่งเดือนตุลาจบไปนานแล้ว

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานวิชาการที่พยายามจะศึกษาเรื่องราวของคนเหล่านี้ในยุคหลังสงครามปฏิวัติ จึงตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ไม่เป็นจริงแต่อย่างใด

เพราะถ้าเรายอมรับความเป็นจริงที่ว่า ความเป็นนักต่อสู้จากเหตุการณ์ในเดือนตุลาคม 2516 และตุลาคม 2519 เป็นประวัติศาสตร์ของยุคสมัย หรืออีกนัยหนึ่งความเป็นนักปฏิวัติของคนเหล่านี้ก็จบลงด้วยการสิ้นสุดของสงครามปฏิวัติ…

สงครามจบไปแล้ว ที่เหลือจึงมีแต่เพียงชีวิตของทหารผ่านศึกที่ต้องอยู่ให้ได้ในโลกหลังสงคราม

หากมีจะทำวิจัยเรื่องชีวิตคนในยุคเดือนตุลา ก็คงเป็นดังการสำรวจสำมะโนประชากรว่า หลังออกจากชนบทเมื่อสิ้นสงครามปฏิวัติแล้ว ใครทำอะไร ทำที่ไหน

ส่วนจะมีความคิดทางการเมืองอย่างไรก็เป็นเรื่องของแต่ละคน หรือจะมีชีวิตทางการเมืองอย่างไรก็สิทธิ์ของแต่ละคน

และเรื่องเช่นนี้ก็อาจจะไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับความเป็นคนในยุคเดือนตุลาอีกแล้ว

ดังนั้น จุดยืนทางการเมืองในช่วงเวลาจากรัฐประหาร 2549 จนถึงปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องของแต่ละคน หรืออาจจะมีนัยของความเป็นกลุ่มที่เกาะกันจากการมีชีวิตร่วมกันในฐานที่มั่นแต่ละแห่ง

แต่ก็มิใช่ชีวิตภายใต้ “จัดตั้ง” ในแบบเดิมอีกต่อไป (แม้บางคนจะผูกกับจัดตั้งเดิมก็ตาม) จนอาจกล่าวด้วยทฤษฎีของการศึกษาตัวบุคคลในทางการเมืองว่า ช่วงเวลาของการหล่อหลอมชีวิต (หรือที่ในทางทฤษฎีเรียกว่า formative years) นั้น ไม่ได้มีแค่ช่วงในอดีตของยุคสงครามปฏิวัติเท่านั้น

หากแต่ยังมีช่วงหลังสงครามที่ละเลยไม่ได้ด้วย

และการหล่อหลอมในช่วงหลังต่างหากที่มีนัยต่อบทบาททางการเมืองของพวกเขาแต่ละคนในปัจจุบัน การมองคนในยุคเดือนตุลาแบบหยุดนิ่งที่ผูกชีวิตคนพวกนี้ไว้กับยุคสมัยเดิมจึงเป็นความผิดพลาดทั้งในความเป็นจริงและในทางวิชาการ งานเช่นนี้จึงมีลักษณะที่ผิดสมมติฐานตั้งเริ่มต้น

ถ้าเราหันกลับพิจารณาชีวิตในยุคหลังแพ้สงคราม ไม่ว่าจะเป็นในระดับรัฐหรือในระดับตัวบุคคล อาจจะไม่แตกต่างกัน ทั้งรัฐและตัวบุคคลล้วนแต่ตกอยู่ในสภาพที่ต้องดิ้นรนเพื่อให้สามารถทรงตัวอยู่ได้กับเงื่อนไขของสถานการณ์ใหม่ ชีวิตและอุดมการณ์เป็นการต่อสู้อีกชุดหนึ่งในอีกบริบทหนึ่ง

ชีวิตของรัฐไทยโชคดีที่ไม่เคยผ่านขั้นตอนของการแพ้สงคราม ผู้คนในสังคมจึงไม่เคยมีประสบการณ์ที่อยู่ในสภาวะของการเป็นผู้แพ้…

ไทยเป็นหนึ่งในตัวแบบของรัฐที่ชนะสงครามคอมมิวนิสต์ แต่ในอีกด้านหนึ่งผู้คนอีกส่วนกลับมีบาดแผลของความเป็นผู้แพ้สงคราม!