จีนหนุน “เจ้านครอินทร์” ยึดอยุธยาเพื่อจีน | สุจิตต์ วงษ์เทศ

จีนสนับสนุนเจ้านครอินทร์ กษัตริย์รัฐสุพรรณภูมิ ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มสยามสุพรรณภูมิลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ยึดกรุงศรีอยุธยาเพื่อผลประโยชน์ของจีน เริ่มประเพณี “จิ้มก้อง” ทางการเมืองระบบบรรณาการ

(1.) เพื่อผลประโยชน์มหาศาลทางการค้าของจีน ทำให้จีนต้องการมีอำนาจเหนือพื้นที่คาบสมุทร รวมทั้งเส้นทางข้ามคาบสมุทร ซึ่งทั้งหมดมีสถานีการค้าหรือท่าเรือเรียงรายสองฝั่งมหาสมุทร

(2.) แต่จีนยกกำลังทำการด้วยตนเองมิได้ จึงสนับสนุนกลุ่มสยามขยายอำนาจไปยึดอยุธยา เสริมสร้างความแข็งแกร่งเพื่อควบคุมพื้นที่รอบอ่าวไทยและคาบสมุทรมลายู

(3.) หากยึดอยุธยาสำเร็จก็เท่ากับได้สยามกับละโว้ไว้ในความคุ้มครอง เสมือนสยามกับละโว้ยอมอ่อนน้อมต่อจีน ซึ่งสอดคล้องเอกสารจีนมีบอกชัดเจนว่าจักรพรรดิจีนต้องการให้แม่ทัพนายกองยกไปปราบบ้านเมืองต่างๆ เช่น สยาม, ละโว้ ฯลฯ แต่ขุนนางชี้แจงแล้วแนะนำว่าบ้านเมืองเหล่านั้นไม่ใหญ่โตและไม่มีความสำคัญอันใดจึงหาประโยชน์มิได้ ถ้าจัดทัพไปปราบปรามก็เท่ากับทำลายชีวิตประชาชนโดยใช่เหตุ จึงควรส่งคนไปชักชวนเกลี้ยกล่อมบ้านเมืองเหล่านั้นให้อ่อนน้อมจะดีกว่า อนึ่ง เว้นเสียแต่บ้านเมืองใดแข็งข้อก็ยกทัพโจมตี ฝ่ายจักรพรรดิจีนเห็นชอบ แล้วให้ส่งทูตไปเกลี้ยกล่อมบ้านเมืองเหล่านั้นยอมอ่อนน้อม 20 แห่ง

[สรุปสาระสำคัญจากหนังสือความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน พ.ศ.1825-2395 (แปลจากเอกสารทางราชการของจีน) โดยคณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยเกี่ยวกับจีน ในเอกสารภาษาจีน สำนักนายกรัฐมนตรี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2523 หน้า 1]

จีนส่งกองเรือท่องสมุทรที่บัญชาการโดยเจิ้งเหอ (แม่ทัพขันทีแห่งยูนนาน) ได้แล่นผ่านอ่าวไทย แล้วส่งตัวแทนอุดหนุนกลุ่มสยามสุพรรณภูมิไปยึดอยุธยาเมื่อหลัง พ.ศ.1900 [รูปปั้นสลักหินแม่ทัพขันทีเจิ้งเหอ ขนาดสูง 8.5 เมตร ในอุทยานเจิ้งเหอ บนเนินเขาเย่วชัน ตำบลคุนหยาง มณฑลยูนนาน (ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ.2559 โดย Vmenkov จาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Kunyang_-_Zheng_He_Park_-_P1350467.JPG)]
จีนเมื่อต้องการควบคุมสยามกับละโว้มีความเคลื่อนไหวเห็นได้ตามลำดับ ดังนี้

1. หนุนกลุ่มสยามทำการค้ากับจีนตั้งแต่แรกที่จีนแต่งสำเภาออกค้าขายกับนานาชาติด้วยตนเองราวหลัง พ.ศ.1500 (ก่อนหน้านี้จีนไม่ออกค้าขายภายนอกด้วยตนเอง แต่ค้าขายผ่านกลุ่มมลายูในนามที่รู้จักทั่วไปว่า “ศรีวิชัย”) จึงพบความเคลื่อนไหวคึกคักของภาษาไทยทางลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง-เพชรบุรี

2. เลี้ยงดูสนับสนุนอย่างดีต่อเจ้านครอินทร์ กลุ่มสยาม-รัฐสุพรรณภูมิ เมื่อเจ้านครอินทร์ไปเมืองจีนซึ่งเป็นที่รู้ทั่วกันแล้ว

3. กดดันฝ่ายอยุธยา ด้วยการส่งกองเรือท่องสมุทร (ครั้งที่ 3) นำโดยแม่ทัพขันทีเจิ้งเหอ (ซำปอกง) ผ่านอ่าวไทย แล้วส่งตัวแทนเข้าไปเจรจากับราชสำนักอยุธยา ช่วงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสยามกับกษัตริย์อยุธยา

การคุกคามของจีนมีเสมอในลักษณะกดดันและใช้กำลังทหารจากกองเรือข่มขู่บ้านเมืองที่อ่อนแอกว่าเพื่อได้สิ่งที่ต้องการ รวมทั้งมีเหตุการณ์อย่างนี้ในอยุธยาด้วย จึงพบในเอกสารจีนว่าเจิ้งเหอออกคำสั่งรื้อถอนพระสถูปในอยุธยาอย่างน้อย 1 องค์ว่า “เป็นพระสถูปที่ปราศจากยอดและอยู่ทางเบื้องทิศตะวันตก โดยกล่าวว่าพวกชนป่าเถื่อน (ชาวอยุธยา) เหล่านี้สร้างพระสถูปจนสำเร็จอยู่ก่อน เจิ้งเหอได้บัญชาให้ปราบพระสถูปนี้จนราบเรียบ จนแม้ต่อมาจะมีความพยายามที่จะสร้างสถูปขึ้นอีก ก็ไม่สำเร็จอีกเลย”

4. ยึดอยุธยา มีขึ้นเมื่อพระรามราชา เชื้อสายรัฐละโว้ เสวยราชย์อยุธยา (ระหว่าง พ.ศ.1938-1952) ขัดแย้งรุนแรงกับเจ้านายขุนนางที่เป็นเชื้อสายรัฐสุพรรณภูมิ มีในพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ สรุปดังนี้

ตอนแรก พระรามราชาสั่งจับกุมเจ้าเสนาบดีที่รับราชการในราชสำนักอยุธยา ส่วนเจ้าเสนาบดีหนีรอดอยู่เมืองปท่าคูจาม (เวียงเหล็ก) ซึ่งเป็นขุมกำลังของสยาม

ตอนหลัง เจ้าเสนาบดีนัดหมายทางการเมืองกับเจ้านครอินทร์ รัฐสุพรรณภูมิ เมื่อถึงกำหนดเจ้าเสนาบดียึดอยุธยาโดยยกกำลังผู้คนเมืองปท่าคูจามกับสยาม-สุพรรณภูมิ แล้วเชิญเจ้านครอินทร์ขึ้นเสวยราชย์อยุธยา (ได้นามพระนครินทราธิราช) ฝ่ายพระรามราชาเชื้อสายละโว้ถูกกักขังไว้ในเมืองปท่าคูจาม (ขุมกำลังของกลุ่มสยาม) หรือเทียบได้ระหว่างเจ้าพ่อกับลูกน้อง

 

อยุธยา “จิ้มก้อง” จีน ในระบบบรรณาการ

จีนอุดหนุนเจ้านครอินทร์เป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ทำให้นับแต่นั้นกรุงศรีอยุธยากับจีนมีความสัมพันธ์ทางการเมืองในระบบบรรณาการหรือที่รู้จักทั่วไปในภาษาจีน (แบบไทย) ว่า “จิ้มก้อง” แปลว่าเครื่องราชบรรณาการ หรือเครื่องถวายจักรพรรดิจีน (ปัจจุบันถูกใช้เป็นคำสแลง หมายถึงเอาของไปกำนัลผู้มีอำนาจเหนือกว่า หรือติดสินบน)

ระบบบรรณาการ หมายถึงกระบวนการจัดสิ่งของมีค่าส่งให้ด้วยความเคารพนับถือต่อผู้รับที่มีอำนาจเหนือกว่า ซึ่งเป็นเรื่องของความไม่เสมอภาคระหว่างเจ้าประเทศราช (คือ จีน) กับประเทศราช (คือบ้านเมืองที่ยอมอ่อนน้อมต่อจีน ซึ่งในที่นี้คือกรุงศรีอยุธยา)

หรือเทียบได้ระหว่างเจ้าพ่อกับลูกน้องบริวาร

จีนถือว่าตนเป็นผู้ใหญ่หรือเจ้าประเทศราช ส่วนกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้น้อยหรือประเทศราช ทั้งนี้ ไม่ว่ากรุงศรีอยุธยาจะยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ตาม แต่จีนต้องอยู่ในฐานะเหนือกว่าเสมอ โดยจีนปฏิบัติอย่างนี้ด้วยกับบ้านเมืองอื่นๆ รอบอ่าวไทย

แต่โดยทั่วไปในความสัมพันธ์กับจีน เป็นที่รู้ว่าบรรณาการและการค้าเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้น การแสดงตนเป็นรัฐบริวารที่จงรักภักดีสม่ำเสมอ คือผลกำไรเพราะได้ยกเว้นภาษี

ด้วยพื้นฐานความคิดดังกล่าวทำให้มีประเพณี หรือพิธีการที่ผู้น้อยต้องปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ ได้แก่ (1.) กษัตริย์องค์เก่าสวรรคต ต้องรายงานจักรพรรดิจีน (2.) กษัตริย์องค์ใหม่เสวยราชย์ ต้องรับตราตั้งจากจักรพรรดิจีน (3.) ต้องการเทคโนโลยีใหม่ ต้องทำเรื่องร้องขอแล้วรอรับสิ่งเหล่านั้นจากจักรพรรดิจีน เช่น เครื่องชั่งตวงวัด เป็นต้น

 

เส้นทางข้ามคาบสมุทร

สยามเป็นชุมทางการค้าและเป็นจุดขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรระหว่างตะวันตก-ตะวันออก หรือระหว่างยุโรปกับจีนและญี่ปุ่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

จีนต้องการควบคุมเส้นทางข้ามคาบสมุทรเพื่อประโยชน์ทางการค้าของจีน ซึ่งมีหลายเส้นทางเชื่อมทะเลจีนอ่าวไทยกับทะเลอันดามันอ่าวเมาะตะมะ ดังนั้น จีนหนุนกลุ่มสยามทำการค้ากับจีนเพื่อสร้างความมั่งคั่งและเข้มแข็งให้กลุ่มสยามเอง ครั้นได้โอกาสอันควรก็หนุนกลุ่มสยามยึดอำนาจรัฐอยุธยาของกลุ่มละโว้ เพื่อควบคุมเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรและเมืองท่ารอบอ่าวไทยให้อยู่ในความคุ้มครองของจีน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเท่ากับจีนได้สยามกับละโว้ไว้ในอำนาจโดยไม่ต้องยกทัพปราบปราม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่พบในเอกสารของจีน และเท่ากับจีนมีส่วนสำคัญยิ่งในการสถาปนาและคุ้มครองกษัตริย์รัฐอยุธยา ด้วยเหตุดังนั้นกษัตริย์รัฐอยุธยานับแต่นี้ไปมีธรรมเนียมเมื่อขึ้นเสวยราชย์ต้องส่งเครื่องบรรณาการหรือ “จิ้มก้อง” จักรพรรดิจีน

เส้นทางข้ามคาบสมุทรเป็นที่รู้กันนานมากตั้งแต่การค้าระยะไกลสมัยแรกมีชื่อ “สุวรรณภูมิ” ราว 2,500 ปีมาแล้ว

สุวรรณภูมิเป็นดินแดนมีคาบสมุทรยื่นยาวลงทางทิศใต้สมัยโบราณเรียก “แหลมทอง” อยู่กึ่งทางระหว่างอินเดียกับจีน ขนาบด้วยทะเลอันดามันทางฝั่งตะวันตก และทะเลจีนใต้ทางฝั่งตะวันออก และเมื่อมีลมมรสุม 2 ทิศทาง ซึ่งเอื้อต่อการเดินเรือทะเลสมุทร

จีนต้องการควบคุมเส้นทางข้ามคาบสมุทร โดยเรียนรู้ปัญหาจากเรื่องราวในอดีตของ “สุวรรณภูมิ” แล้วปรับปรุงสมประโยชน์ ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกาที่ยากลำบากด้วยคลื่นลมรุนแรงกว่าที่อื่นๆ จึงมีอันตรายมากเพราะเสี่ยงเรือล่มเรือแตก นอกจากนั้น โจรสลัดชุกชุมคอยปล้นสะดมตลอดเวลา

2. ท่าเรือขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรเป็นที่รู้จักคุ้นเคยของบรรดาพ่อค้าลังกา, อินเดีย, จีน ฯลฯ มีเป็นระยะๆ ตั้งแต่ข้างบนลงข้างล่างของชายฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ได้แก่ ปราณบุรี, กุยบุรี, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, สงขลา, ปัตตานี, กระบี่, ตรัง, พังงา, ระนอง เป็นต้น

3. ลมมรสุมเหมาะสมต่อการเดินทางด้วยสำเภาจีนทั้งขาไปและขากลับ