สุจิตต์ วงษ์เทศ : แรกนาขวัญ มาจากนาตาแฮก 2 พันปี

นาตาแฮก ราว 2,500 ปีมาแล้ว (ต้นตอของพิธีแรกนาขวัญ) ประกอบด้วยรูปต่างๆ ดังนี้ (1.) ต้นข้าวเป็นกลุ่มแถวเหมือนนาดํามีระบบทดน้ำ (2.) คนทําท่าต่างกัน คนหนึ่งกางแขนกางขาเหมือนถูกฆ่าบูชายัญ อีกคนหนึ่งทําท่ายิงหน้าไม้เหมือนจะฆ่าควายบูชายัญ (3.) วัวควาย (4.) ฝ่ามือประทับของเจ้าแม่ผู้คุ้มครองชุมชน (5.) ลายจักสานแบบเรขาคณิตสัญลักษณ์ขวัญของสิ่งมีขวัญ (ลายเส้นคัดลอกโดยกรมศิลปากร จากภาพที่ผาหมอนน้อย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี)

 

แรกนาขวัญ

มาจากนาตาแฮก 2 พันปี

 

นาตาแฮก คือนาจําลองเพื่อทําพิธีบูชายัญทางศาสนาผีก่อนลงมือเพาะปลูกต้นข้าวทํานาจริงของชุมชนชาวนาดึกดําบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว ที่ยังสืบเนื่องประเพณีตราบจนทุกวันนี้โดยเฉพาะแถบลุ่มน้ำโขง

ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยาประเพณีนาตาแฮกถูกปรับเปลี่ยนเป็นที่รู้ทั่วไปในนาม “แรกนาขวัญ” โดยมีกำหนดเดือน 6 ทางจันทรคติตรงกับปฏิทินสากลเป็นเดือนพฤษภาคม

“นาตาแฮก” ตรงกับ นาตาแรก (แฮก เป็นคําลาว ตรงกับไทยว่า แรก) แรกนาขวัญ คือ แฮกนาขวัญ ความหมายเดียวกับนาตาแฮก

“ต้นข้าว” เป็นที่มาของแม่ข้าวหรือแม่โพสพ ซึ่งจําเริญเติบโตมีเมล็ดข้าวหนาแน่นจากเลือดมนุษย์ที่ถูกบูชายัญ

“บูชายัญ” (เป็นชื่อสมมุติสมัยหลัง) หมายถึงพิธีฆ่ามนุษย์ตัวเป็นๆ หรือคนจริงๆ เพื่อเอาเลือดคลุกเคล้าชโลมดินปลูกข้าว โดยเชื่อว่าเลือดมนุษย์ในดินหล่อเลี้ยงต้นข้าวเจริญเติบโตมีเมล็ดข้าวคับคั่งเลี้ยงคนในชุมชนดึกดําบรรพ์หลายพันปีแล้ว และยังทําสืบเนื่องอีกนาน แต่ปรับเปลี่ยนจากฆ่ามนุษย์เป็นฆ่าสัตว์ เช่น วัว ควาย เป็นต้น

พิธีบูชายัญเมื่อหลายพันปีมาแล้ว พบหลักฐานโบราณคดีสนับสนุน ได้แก่ (1.) ประติมากรรมบนหน้ากลองสําริด (ปัจจุบันไทยเรียกกลองมโหระทึก) พบที่มณฑลยูนนาน (ในจีน) สมัยนั้นไม่เป็นจีนฮั่น แต่เป็นพื้นที่ต่อเนื่องส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์โบราณ (2.) ภาพเขียนบนเพิงผาที่ลุ่มน้ำโขง (จ.อุบลราชธานี) และ (3.) จดหมายเหตุจีน พรรณนาว่ามีพิธีบูชายัญมนุษย์ทุกปีที่ลึงคบรรพต บริเวณปราสาทวัดพู (แขวงจําปาสักในลาว)

 

“นาตาแฮก” หลายพันปีมาแล้ว

พื้นที่เฮี้ยนบนผาหมอนน้อย (อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี) มีภาพเขียนอายุประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว เป็นรูปต่างๆ เกี่ยวกับการทํานา แต่ไม่รู้ต้องการเล่าว่าอะไร?

ภาพเขียนบนผาหมอนน้อยเมื่อเทียบเคียงภาพลักษณะเดียวกันซึ่งพบทั่วภูมิภาคอุษาคเนย์โบราณ ก็ชวนให้น่าเชื่อว่าเป็นรูปพิธีนาตาแฮกของบรรพชนที่ตายนานแล้ว แต่ผีขวัญยังดํารงวิถีเป็นปกติเหมือนเมื่อยังไม่ตายอยู่ในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งจับต้องไม่ได้มองไม่เห็น จึงวาดรูปแบบเหนือธรรมชาติไม่เหมือนจริง เพราะทั้งหมดเป็นผีขวัญของบรรพชน

นาตาแฮก โดยรวมของภาพเขียนบนเพิงผาหมอนน้อยเป็นพิธีนาตาแฮก (ต้นแบบพิธีแรกนาขวัญในปัจจุบัน) คือนาจําลองใช้ทําพิธีก่อนลงมือทํานาจริง มีคําอธิบายของจิตร ภูมิศักดิ์ ดังนี้

“ชาวนาแต่ก่อน เมื่อจะลงมือดํานาจะต้องสร้างนาจําลองขนาดสักหนึ่งตารางเมตรขึ้นก่อน แล้วดํากล้าลงในนานั้นห้าหกกอ นาจําลองนั้นเรียกว่าตาแรก หรือตาแฮก (ตา=ตาราง; แรก คือแรกเริ่มดํา) ถ้าบํารุงข้าวในนาตาแรกนั้นได้งาม ข้าวในนาทั้งหมดก็จะงามตามไปด้วย” (จากหนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา สํานักพิมพ์ไม้งาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2526 หน้า 350)

ต้นข้าว ในภาพเขียนเป็นกอข้าวหรือกกข้าวกลุ่มแรกหรือกกแรก ตามประเพณีลาวเรียก “ปักกกแฮก” (ปักกกแรก) ในนาตาแฮก มีการจัดระเบียบเป็นแถวเป็นกลุ่มคล้ายนาดํา (แต่บอกไม่ได้ชัดๆ ว่าเป็นนาดําจริงหรือไม่?)

นาดํา เป็นนาที่ปลูกข้าวโดยการถอนต้นกล้าไปปลูกในนาจริงที่เตรียมไว้ (ดําเป็นคํากริยา แปลว่า มุดลงไป, ดํานา หมายถึง ใช้นิ้วหัวแม่มือกดโคนต้นกล้าที่มีรากติดอยู่ให้ปักลึกมุดดินโคลนเลนซึ่งเป็นพื้นที่เตรียมไว้แล้ว ส่วนต้นกล้าคือต้นอ่อนของข้าวที่เพาะไว้ล่วงหน้าสําหรับใช้ดํานา) แต่ที่สําคัญคือนาดําต้องรู้เทคโนโลยีก้าวหน้า ได้แก่ การทดน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงต้นกล้าให้เติบโตเป็นต้นข้าวแข็งแรงมีเมล็ดข้าวหนาแน่นติดรวง ซึ่งส่งผลให้สังคมมีการจัดตั้งองค์กรเข้มแข็ง (มีอธิบายเพิ่มอีกมากในหนังสือ ความไม่ไทยของคนไทย ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ สํานักพิมพ์มติชน พ.ศ.2559 หน้า 34-40)

มือแดง สัญลักษณ์อำนาจของเจ้าแม่ผู้คุ้มครองเผ่าพันธุ์

ขวัญ บนภาพเขียนเป็นลายตารางแบบเรขาคณิต (คล้ายลายขัดเครื่องจักสาน) วาดกระจายเป็นหย่อมๆ

คน นาตาแฮกมีพิธีฆ่าคนบูชายัญเอาเลือดคลุกเคล้าชโลมดินเพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าวงอกงามเติบโตมีเมล็ดข้าวหนาแน่นติดรวงแข็งแรง รูปคนยืนท่ามกลางกอข้าวนาตาแฮก น่าจะหมายถึงคนที่ถูกฆ่าแล้วสมมติเป็นแม่ข้าว (คือ ผีต้นโคตรของข้าว)

คนถูกบูชายัญนอกจากภาพเขียนที่ผาหมอนน้อย (จ.อุบลราชธานี) ยังพบหลักฐานเนื่องในพิธีกรรมตามความเชื่อเดียวกันบนหน้ากลองสําริด พบที่มณฑลยูนนาน

วัวควาย ตัวใหญ่สุดมีคนทําท่ายิงหน้าไม้ใส่บริเวณคอ น่าจะเป็นวิธีฆ่าควาย “บูชายัญ” เอาเลือดเซ่นผี (ตามความเชื่อที่ยังสืบเนื่องถึงปัจจุบันในกลุ่มชาติพันธุ์หลายเผ่า)

 

แรกนาขวัญ

นาตาแฮกเป็นต้นตอพิธีแรกนาขวัญก่อนลงมือทํานาของทุกปี ปัจจุบันหลายท้องที่ยังทําสืบเนื่อง แต่ส่วนมากเลิกทําแล้ว

ข้าวมีขวัญ เป็นความเชื่อในศาสนาผีของชาวนาดั้งเดิมอุษาคเนย์ ดังนั้น ข้าวมีชีวิตไม่ต่างจากคน คือต้นข้าวตายได้ ส่วนขวัญข้าวไม่ตาย แต่เคลื่อนไหวอยู่ในอีกมิติหนึ่งที่จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น (เช่นเดียวกับขวัญของคน) เรื่องนี้มีนักปราชญ์บอกไว้นานแล้วว่าชาวนาสมัยโบราณทั่วโลกนับถือข้าวมีชีวิตเหมือนคนที่มีกําเนิดและเติบโตแล้วก็ตาย

เลือดของแม่ให้กําเนิดลูกโดยหล่อเลี้ยงจนเติบโตในครรภ์แล้วคลอดออกมาเป็นตัวตน ซึ่งจากประสบการณ์ตรงเหล่านี้หล่อหลอมกล่อมเกลาให้ชาวนาดั้งเดิมเชื่อว่าต้นข้าวจะงอกงามแล้วเติบโตมีเมล็ดข้าวสมบูรณ์ก็ต้องได้หล่อเลี้ยงเยี่ยงเดียวกับคน ด้วยเหตุนี้จึงมีการฆ่าคน (ตัวเป็นๆ ที่ถูกสมมุติเป็นผีดินผีน้ำ หรือแม่ดินแม่น้ำ) เรียกสมัยหลังต่อมาว่าพิธีฆ่าคน “บูชายัญ” เอาเลือดคลุกเคล้าชโลมดิน ด้วยความเชื่อว่าเมื่อหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไปต้นข้าวจะงอกงามแล้วเติบโตตามต้องการ

[แนวคิดบูชายัญมนุษย์เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร (หรืออีกนัยหนึ่งเลือดเนื้อซึ่งเป็นชีวิตของมนุษย์ คือความอุดมสมบูรณ์นั้นหมายถึงอีกชีวิตหนึ่งเช่นกัน) ผู้รู้แนะนําเพิ่มเติมว่ามีในตําราคลาสสิคทางมานุษยวิทยาชื่อ The Golden Bough ของ Sir James Frazer พิมพ์ครั้งแรกระหว่าง พ.ศ.2433-2458 (ตรงกับแผ่นดินปลาย ร.5-ต้น ร.6)]

การไถนาก่อนทํานาหว่านข้าวชาวนาดั้งเดิมเชื่อว่าคือการใช้ของมีคม (ได้แก่ ผาลไถนา) ตัดเส้นเลือดของแม่ดินขาดจากกันให้เลือดนองไหลเป็นน้ำเลี้ยงข้าวในนา ความเชื่อว่าดินกับน้ำคือชีวิตของแม่ที่มีคุณต่อข้าวปลาอาหาร ยังพบสืบเนื่องในประเพณีลอยโคมขอขมาแม่ดินแม่น้ำในฤดูน้ำหลาก (สมัยอยุธยา) ระหว่างเดือน 11-12 (ราวตุลาคม-พฤศจิกายน) ปัจจุบันเรียกประเพณีลอยกระทง กลางเดือน 12