SearchSri : รัสเซียกับปัญหาท้าทาย ใน “บอลโลก” และ “โอลิมปิกเกมส์”

คอลัมน์ Technical Time-Out


ปี2018 ที่เพิ่งมาถึงนี้มีอีเวนต์ใหญ่ระดับโลกให้แฟนกีฬาได้ติดตามกันหลายรายการ ที่ใหญ่ที่สุดในจำนวนนั้นย่อมไม่พ้นศึก “ฟุตบอลโลก 2018” ที่ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน-15 กรกฎาคมนี้

เวิลด์คัพเที่ยวนี้ในแง่ของความน่าดูโดยภาพรวมอาจลดทอนอรรถรสไปประมาณหนึ่งเนื่องจากยักษ์ใหญ่วงการลูกหนังอย่าง “อิตาลี” อดีตแชมป์โลก 3 สมัย, “เนเธอร์แลนด์” อดีตรองแชมป์โลก 3 สมัย และ “ชิลี” แชมป์โกปา อเมริกา 2 หนหลังสุด ต่างตกรอบคัดเลือกชนิดพลิกความคาดหมาย

โดยเฉพาะในรายของอัซซูรี่ซึ่งจะห่างหายจากการแข่งขันรายการนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปีเลยทีเดียว

สำหรับทีมที่เหลืออยู่นั้น แน่นอนว่าตัวเต็งแชมป์ยังคงเป็นหน้าเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็น “บราซิล เยอรมนี อาร์เจนตินา สเปน ฝรั่งเศส”

โดยมีตัวสอดแทรกที่หลายคนจับตามองอย่างโปรตุเกส แชมป์ยุโรปทีมล่าสุด รวมทั้งเบลเยียม ซึ่งมีนักเตะชื่อดังและประสบความสำเร็จในระดับสโมสรเล่นอยู่มากมาย

 

ในส่วนของเจ้าภาพ “รัสเซีย” นั้น แม้ไม่ได้มีความหวังอะไรมากมาย แต่กำลังโดนเพ่งเล็งจากวงการกีฬาโลกอย่างใกล้ชิดสืบเนื่องจากปัญหาเชิงลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่ไหนแต่ไรมา ลีกฟุตบอลของรัสเซียมักจะปรากฏปัญหาเรื่องการเหยียดผิวนักกีฬาผิวสีที่ค้าแข้งในประเทศ รวมถึงกระแสเหยียดเพศที่ 3 ในสังคมโดยรวม ซึ่งเป็นประเด็นที่พูดกันมาตั้งแต่ตอนเมืองโซชิเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาวเมื่อปี 2014 แล้ว

มาคราวนี้กลับมีปัญหาใหม่เพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากรายงาน “แม็กลาเรน รีพอร์ต” ว่าด้วยการตรวจสอบการใช้สารต้องห้ามในวงการกีฬารัสเซีย ซึ่งได้ข้อสรุปว่ามีการทำกันเป็นขบวนการ และรัฐบาลก็รู้เห็นรวมถึงสนับสนุนในเรื่องนี้เพื่อให้นักกีฬาของตัวเองทำผลงานได้ดีในระดับนานาชาติ

แม้ว่าความเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะมีกลิ่นอายการเมืองระดับโลกแฝงอยู่เบื้องหลัง แต่ฝ่ายรัสเซียเองก็ไม่สามารถชี้แจงหรือปฏิเสธได้เต็มปากเต็มคำว่า ทุกอย่างนั้นใสสะอาดบริสุทธิ์

จึงเป็นที่มาของการลงโทษแบนแบบปูพรมของ “คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี)” องค์กรสูงสุดด้านการกีฬาของโลกเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยไอโอซีไม่อนุญาตให้นักกีฬาแดนหมีขาวร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาว 2018 ที่เมืองพยองชาง ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 9-25 กุมภาพันธ์ ในนามประเทศรัสเซียหรือติดธงชาติของตัวเอง

แต่ยอมให้นักกีฬาบางส่วนที่ผ่านการคัดกรองแล้วเข้าร่วมแข่งขันภายใต้ธงโอลิมปิกในนาม “นักกีฬาโอลิมปิกจากรัสเซีย” (OAR)

 

หลังบทลงโทษดังกล่าว ทางรัฐบาลรัสเซียยืนยันว่าข้อกล่าวหาเรื่องการใช้สารต้องห้ามในหมู่นักกีฬารัสเซียนั้นไม่เป็นความจริง และระบุว่าการลงโทษของไอโอซีมีสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลัง และแม้รัฐบาลจะไม่มีคำสั่งห้ามนักกีฬาของตัวเองร่วมแข่งขัน “พยองชางเกมส์” แต่นักการเมืองหลายคนก็เรียกร้องให้นักกีฬาหมีขาวบอยคอตการแข่งขันทั้งหมด คล้ายๆ กับการประท้วงทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นกับมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติทั้งน้อยใหญ่เมื่อในอดีต

ผู้สังเกตการณ์บางส่วนแสดงความเป็นห่วงว่า การเอาจริงของไอโอซีจะส่งผลกระทบใดๆ กับการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียจะเป็นเจ้าภาพหรือไม่

เพราะที่ผ่านมา “สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า)” รวมถึงฟุตบอลลีกของประเทศต่างๆ ไม่ค่อยได้ใส่ใจจริงจังกับเรื่องการควบคุมการใช้สารต้องห้ามมากนัก

นานๆ ครั้งจึงจะมีข่าวเรื่องการตรวจสอบหรือบทลงโทษนักกีฬาที่ละเมิดกฎสักทีหนึ่ง แล้วรัสเซียที่มีแผลเก่าจากโอลิมปิกเกมส์อยู่แล้วจะโดนจับตาในจุดนี้หรือไม่

เป็นอีกประเด็นที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงเช่นกัน