เงาปีศาจ : ปีจอ 2561 จับตากีฬาไทย ไคลแมกซ์ “อชก.-ยูธ อลป.”

คอลัมน์เขย่าสนาม

ปีพ.ศ.2561 ยังคงเป็นอีกปีหนึ่งสำหรับวงการกีฬาไทยที่น่าติดตามยิ่งนัก

นอกจากฟุตบอลลีกอาชีพของเมืองไทยอย่าง ฟุตบอลไทยลีก, วอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีก ฯลฯ จะพัฒนายกระดับจนฮิตติดลมบนไปแล้ว

จั่วหัวปีจอแฟนกีฬาไทยต้องคอยลุ้นกันว่า ฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซีย ช่วงกลางปี แฟนฟุตบอลชาวไทยจะได้ชมการถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีหรือไม่ เพราะ ณ ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกว่า 1,200 ล้านบาทว่าใครจะซื้อ ระหว่างรัฐบาล หรือภาคเอกชน เพราะภาคเอกชนคงไม่มีใครกล้าซื้อเพราะติด “กฎมัสต์แฮฟ (Must Have)” ที่ออกมาโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หากลงทุนไปก็สุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุนย่อยยับ

แต่ว่ากันว่า รัฐบาลไทยเกลี้ยกล่อมบริษัทเอกชนบริษัทหนึ่งไปเจรจากับฟีฟ่าอยู่ในเวลานี้ และคาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงเดือนมกราคม 2561 เป็นการเปิดประเด็นร้อนแรงตั้งแต่ต้นปีจอ

 

สําหรับมหกรรมกีฬาในปี 2561 นักกีฬาไทยมีโปรแกรมต้องไปร่วมแข่งขัน 4 มหกรรมใหญ่ เริ่มจากต้นปี 2561 “กีฬาโอลิมปิกเกมส์ ฤดูหนาว ครั้งที่ 23” ระหว่างวันที่ 9-25 กุมภาพันธ์ ที่เมืองพยองชาง ประเทศเกาหลีใต้

ไคลแมกซ์ของทัพนักกีฬาไทยในปี พ.ศ.2561 อยู่ที่การเข้าร่วมการแข่งขันกีฬา “เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 18” ระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม-2 กันยายน ที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยเจ้าภาพจัดการแข่งขันที่กรุงจาการ์ตา เป็นเมืองหลัก และมีปาเล็มบัง กับบันดุง เป็นเมืองที่ช่วยในการชิงชัยครั้งนี้

ย้อนกลับไปเล็กน้อย ก่อนหน้านี้เดิมทีกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม รับหน้าที่จัดในครั้งที่ 18 แต่ด้วยปัญหาด้านเศรษฐกิจ และงบประมาณ ทำให้เวียดนามต้องถอย ยกเลิกการเป็นเจ้าภาพไปในที่สุด จนสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) ในฐานะเจ้าของเกม ต้องมีการคัดเลือกเมืองที่จะรับหน้าที่จัดกันใหม่ และสุดท้ายก็เป็นกรุงจาการ์ตา ของอินโดนีเซีย ที่ได้เป็นเจ้าภาพ

กรุงจาการ์ตา ของอินโดนีเซีย เคยจัดกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 4 ในปี ค.ศ.1962 มาแล้ว ครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย ที่ได้จัดเกมใหญ่ในระดับเอเชีย เอเชี่ยนเกมส์ ที่จะเริ่มในเดือนสิงหาคม

เจ้าภาพอินโดนีเซีย กำหนดจัดการแข่งขัน 39 ชนิดกีฬา ได้แก่ กีฬาทางน้ำ (กระโดดน้ำ, ว่ายน้ำ, ระบำใต้นำ และโปโลน้ำ), ยิงธนู, กรีฑา, แบดมินตัน, เบสบอล (เบสบอล และซอฟต์บอล), บาสเกตบอล, บริดจ์, โบว์ลิ่ง, มวยสากลสมัครเล่น, เรือแคนู, (สปรินต์ และสลาลม), จักรยาน (บีเอ็มเอ็กซ์, เสือภูเขา, ถนน และลู่), ขี่ม้า (ขี่ม้า, ศิลปะบังคับม้า และกระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง), ฟันดาบ, ฮอกกี้, ฟุตบอล, กอล์ฟ, ยิมนาสติก (สากล, ลีลา และแทรมโพลีน), แฮนด์บอล, ยูโด, กาบัดดี้, คาราเต้โด, กีฬาศิลปะการป้องกันตัว (ยูยิตสู, ปันจักสีลัต และวูซู), ปัญจกีฬาสมัยใหม่, เรือพาย, รักบี้, เรือใบ, เซปักตะกร้อ, กีฬาปีนหน้าผา, ยิงปืน, สควอช, เทเบิลเทนนิส, เทควันโด, เทนนิส (เทนนิส และซอฟต์เทนนิส), ไตรกีฬา, วอลเลย์บอล (ในร่ม และชายหาด), ยกน้ำหนัก, มวยปล้ำ, เจ็ตสกี และร่มร่อน

ชิงชัยรวม 426 เหรียญทอง

 

จบจากเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 18 เป็นธรรมเนียมที่จะต้องจัดแข่งขันกีฬาคนพิการ” “เอเชี่ยนพาราเกมส์ 2018″ ที่ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 6-13 ตุลาคม โดยเจ้าภาพคาดว่าจะมีนักกีฬา 4,000 คน จาก 42 ชาติสมาชิกเข้าร่วมแข่งขันใน 17 ชนิดกีฬา อยู่ในปฏิทินของปี 2018 อีกด้วย

มหกรรมใหญ่สุดท้ายของทัพนักกีฬาไทยคือ” “ยูธ โอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 3” ระหว่างวันที่ 6-18 ตุลาคมนี้ ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา สำหรับกีฬาโอลิมปิกเยาวชน เป็นมหกรรมกีฬานานาชาติในระดับเยาวชนที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) เจ้าของเกม มุ่งหวังให้มีการพัฒนากีฬาในระดับเยาวชน ซึ่งในปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ต่อจากครั้งแรก ที่ประเทศสิงคโปร์ ในปี 2010 และครั้งที่ 2 ที่เมืองหนานจิง ประเทศจีน ปี 2014 ซึ่งนักกีฬาสายเลือดใหม่ทีมชาติไทย เข้าร่วมการแข่งขันมาอย่างต่อเนื่อง และทำผลงานในแต่ละครั้งออกมาได้ดี เป็นที่น่าชื่นชมมากทีเดียว

“บัวโนสไอเรส 2018” เจ้าภาพอาร์เจนตินา จัดให้มีการแข่งขัน 31 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย กรีฑา, กอล์ฟ, กีฬาทางน้ำ (กระโดดน้ำ และว่ายน้ำ), ขี่ม้า, คาราเต้, จักรยาน, ไตรกีฬา, เทควันโด, เทนนิส, เทเบิลเทนนิส, บาสเกตบอล, แบดมินตัน, ปัญจกีฬาสมัยใหม่, ปีนผา, ฟันดาบ, ฟุตซอล, มวยปล้ำ, มวยสากลสมัครเล่น, ยกน้ำหนัก, ยูโด, ยิงธนู, ยิงปืน, ยิมนาสติก (กายกรรม, แทรมโพลีน, ลีลา และศิลป์), รักบี้ฟุตบอล 7 คน, เรือแคนู, เรือใบ, เรือพาย, ลีลาศ, วอลเลย์บอลชายหาด, แฮนด์บอลชายหาด และฮอกกี้

ชิงชัยรวม 239 เหรียญทอง

 

เรื่องการเตรียมความพร้อมนักกีฬาไทย “บิ๊กเสือ” “สกล วรรณพงษ์” ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมนักกีฬาไทย เล่าว่า โอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาว กกท. ได้เตรียมงบประมาณในการส่งนักกีฬาเข้าร่วมคัดเลือก 15 ล้านบาท เกมนี้ ไทยเราเข้าร่วมชิงชัยอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าเรามีมาตรฐานที่หลากหลาย แม้ไม่ได้อยู่ในเขตหนาวก็ตาม

โดยเวลานี้มีกีฬาสกีผ่านการคัดเลือกแล้ว 3 คน และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มจากนี้ โดยยังต้องรอการประกาศผลอย่างเป็นทางการต่อไป ส่วนเอเชี่ยนเกมส์ กกท. ใช้งบประมาณในการเตรียมนักกีฬาร่วมกับโครงการโรดทูโตเกียว โอลิมปิกเกมส์ 2020 อยู่ที่ประมาณ 717 ล้านบาท ซึ่งนักกีฬาเตรียมการฝึกซ้อมมาต่อเนื่อง

และจากผลงานเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ไทยเราได้ 12 เหรียญทอง เป็นอันดับ 6 ของเอเชีย ครั้งนี้ต้องไม่น้อยไปกว่าเดิม แต่โอกาสที่จะขยับเป็นอันดับ 5 คงต้องใช้เวลา เพราะครั้งก่อน อิหร่านที่ได้อันดับ 5 ได้ไปมากถึง 21 เหรียญทอง มากกว่าเราเท่าตัว อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้มีการแข่งขันกลุ่มกีฬาต่อสู้เยอะ ก็ต้องเร่งให้กลุ่มกีฬานี้พัฒนาให้มากกว่าเดิม

“บิ๊กเสือ” บอกต่อไปว่า ยูธ โอลิมปิกเกมส์ กกท. สนับสนุนงบประมาณในการเตรียมทีม 80 ล้านบาท นักกีฬาของสมาคมกีฬาต่างๆ เริ่มทยอยผ่านการคัดเลือก ไม่ว่าจะเป็น ยกน้ำหนัก, เทเบิลเทนนิส และแฮนด์บอล เป็นต้น โดยคาดว่าประมาณเดือนมิถุนายนนี้จะทราบจำนวนทั้งหมดที่แน่นอนของทัพไทย ส่วนเป้าหมายครั้งที่แล้ว ไทยได้สิทธิ์ไปแข่ง 37 คนใน 13 ชนิดกีฬา ทำไปได้ 3 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 3 เหรียญทองแดง อยู่อันดับ 18 แน่นอนว่าครั้งนี้ต้องทำให้ได้ไม่น้อยไปกว่าเดิม

ส่วนเอเชี่ยนพาราเกมส์ ใช้งบประมาณเตรียมนักกีฬา 70 ล้านบาท ครั้งที่แล้วได้ 21 เหรียญทอง อยู่ในอันดับ 6 ของเอเชีย ครั้งนี้น่าจะขยับขึ้นไปอยู่ท็อป 5 ของเอเชียได้

 

“บิ๊กจา” “พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์” รองประธานและเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคฯ ในฐานะประธานคัดเลือกและส่งนักกีฬาไทยไปแข่งขันรายการนานาชาติ บอกว่า ของขวัญปีใหม่ที่อยากได้ที่สุดจากวงการกีฬาไทยในปีจอนี้คือ เหรียญทอง จากการแข่งขันทุกมหกรรม

เหรียญทองเป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งชาติ โดยเฉพาะมหกรรมสำคัญอย่างเอเชี่ยนเกมส์ที่อย่างน้อยนักกีฬาไทยต้องทำผลงานได้ไม่ต่ำกว่า 12 เหรียญทองเท่ากับครั้งก่อนที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้

นี่เป็นภาพรวมกีฬาไทยตลอดปีจอ 2561 ที่แฟนกีฬาตัวจริงห้ามพลาด…