โทษตัดแต้มเอฟเวอร์ตัน สะเทือนถึงแมนฯ ซิตี้-เชลซี

ข่าวการลงโทษตัดแต้มสโมสร เอฟเวอร์ตัน 10 คะแนน จากการทำผิดกฎควบคุมการเงิน (ไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ หรือ FFP) ของพรีเมียร์ลีก เมื่อไม่นานมานี้ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งลีก โดยเฉพาะบรรดาทีมใหญ่ๆ ที่สุ่มเสี่ยงโดนพิจารณาโทษเช่นเดียวกันในอนาคต

เหตุผลสำคัญที่ทำให้การพิจารณาโทษตัดแต้มของทอฟฟี่สีน้ำเงินในครั้งนี้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่ว เพราะที่ผ่านมาพรีเมียร์ลีกยังไม่เคยนำบทลงโทษตัดคะแนนมาใช้กับทีมที่ทำผิดกฎ FFP มาก่อน

กรณีของเอฟเวอร์ตัน สืบเนื่องจากกฎ FFP ของพรีเมียร์ลีกระบุว่า แต่ละสโมสรจะขาดทุนสะสมในระยะเวลา 3 ปี ได้ไม่เกิน 105 ล้านปอนด์ (4,725 ล้านบาท)

แต่ผลประกอบการของทีมในฤดูกาล 2021-2022 ทำให้ยอดขาดทุนสะสมของเอฟเวอร์ตันเกินเกณฑ์ดังกล่าวไป 19.5 ล้านปอนด์ (877.5 ล้านบาท)

จึงโดนลงโทษในที่สุด

 

นักกฎหมายด้านกีฬาของอังกฤษหลายคนวิเคราะห์สถานการณ์นี้ว่า ทางหนึ่งมองว่าเป็นคำตัดสินที่เฮี้ยบและโหดมาก

เพราะยอดที่เกินเกณฑ์มายังไม่ถึงขั้นเกินเยียวยา (แต่ก็ยังเปิดช่องให้ทีมอุทธรณ์ได้อยู่)

แต่อีกทางก็มองว่านี่เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู หรือเป็นการบังคับใช้กฎอย่างจริงจังอย่างที่ควรจะเป็น ก่อนนำไปสู่คำถามต่อมาว่า ถ้าการทำผิดกฎใหญ่ๆ ข้อเดียวของเอฟเวอร์ตันนำไปสู่การตัดถึง 10 คะแนน

แล้วทีมอื่นที่เข้าข่ายทำผิดร้ายแรงกว่าล่ะ?

เช่นกรณีของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่เพิ่งสร้างประวัติศาสตร์คว้าทริปเปิลแชมป์เมื่อฤดูกาลที่แล้ว โดนพรีเมียร์ลีกระบุตั้งแต่เดือนมกราคมว่าทำผิดกฎ FFP ถึง 115 กระทงด้วยกัน

โดยข้อกล่าวหาส่วนใหญ่ระบุว่า เจ้าของทีมคือกลุ่มทุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั้น อัดฉีดเงินสนับสนุนให้ทีมโดยตรงแบบไม่อั้นผ่านรูปแบบของสปอนเซอร์ซึ่งก็เป็นองค์กรที่เจ้าของทีมเป็นเจ้าของเอง

ไหนจะ เชลซี ซึ่งโดนตรวจสอบบัญชีและการทำธุรกรรมการเงินย้อนหลังระหว่างปี 2012-2019 ในยุคที่ โรมัน อับราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย เป็นเจ้าของ โดยล่าสุดพบความผิดปกติที่เชื่อว่าเชลซีจ่ายเงินลับๆ ในการซื้อตัวนักเตะ เพื่อให้การบันทึกค่าตัวออกมาต่ำกว่าที่จ่ายจริง

เช่นกรณีซื้อ วิลเลียน กับ ซามูเอล เอโต้ จากทีม อันซี มาคัชคาลา สโมสรรัสเซีย เมื่อปี 2013

โดยพบหลักฐานการโอนเงินจากบัญชีนอกประเทศของโรมันเข้าบัญชีเจ้าของทีมอันซีโดยตรง

นักกฎหมายมองว่าถ้าเทียบความร้ายแรงความผิดของแมนฯ ซิตี้และเชลซีกับเอฟเวอร์ตันที่เพิ่งโดนตัดแต้มไปนั้น กรณีของ 2 ทีมใหญ่ถือว่าร้ายแรงกว่ามาก และเกิดจากการเจตนาที่จะหลบเลี่ยงการทำผิดกฎ

หากพบว่ามีความผิดจริง โทษที่เรือใบสีฟ้าและสิงห์บลูส์จะได้รับอาจมีตั้งแต่ตัดแต้มถึง 30 คะแนน, ริบแชมป์ในปีที่เป็นปัญหา หรือถึงขั้นโดนปรับตกชั้นก็ได้!

เรื่องบรรทัดฐานการตัดสินความผิดเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนจับตามอง เพราะปฏิกิริยาของ 2 ทีมนี้ต่อข้อกล่าวหานั้นแตกต่างกัน

กรณีแมนฯ ซิตี้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และว่าจ้างทีมกฎหมายฝีมือดีระดับประเทศมาช่วยว่าความ ขณะที่กุนซือ เป๊ป กวาร์ดิโอลา เคยปรารภว่า อยากให้เรื่องจบเร็วๆ ไม่ใช่คาราคาซังไปเรื่อยๆ

ส่วนกรณีของเชลซี เป็นฝ่ายเจ้าของทีมใหม่ นำโดย ท็อดด์ โบห์ลี่ นักธุรกิจชาวอเมริกัน ที่ส่งข้อมูลความผิดปกติทางการเงินให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ จนโดนสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ลงโทษปรับหนัก 8.6 ล้านปอนด์ (387 ล้านบาท) ไปก่อนหน้านี้

ท่าทีที่แตกต่างของทั้ง 2 สโมสรจะมีผลต่อการพิจารณาโทษหรือไม่เป็นประเด็นที่น่าติดตามเช่นเดียวกับระยะเวลาที่พรีเมียร์ลีกจะใช้ในการพิจารณาโทษ

เพราะกรณีของแมนฯ ซิตี้นั้นค้างคามานานมากจนเกิดการทวงถามจากแฟนบอลทีมอื่นอยู่เรื่อยๆ

 

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ทั้งแมนฯ ซิตี้และเชลซีต่างเป็นสมาชิกกลุ่ม “บิ๊ก 6” ทีมใหญ่ที่มีแฟนบอลทั่วโลก หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พรีเมียร์ลีกเป็นลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมมหาศาล โดยเฉพาะรายของแมนฯ ซิตี้ซึ่งตอนนี้กลายเป็นหน้าเป็นตาของลีกในแง่ผลงานไปแล้ว

บทสรุปของสถานการณ์นี้น่าจะเห็นภาพเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเมื่อมีคำตัดสินเรื่องการอุทธรณ์โทษตัดแต้มของเอฟเวอร์ตันออกมา ว่าพรีเมียร์ลีกจริงจังและจริงใจต่อการบังคับใช้กฎควบคุมการเงินขนาดไหน

เชื่อว่าทั้งแมนฯ ซิตี้และเชลซีคงติดตามสถานการณ์ดังกล่าวชนิดเกาะติดทีเดียว! •

 

Technical Time-Out | SearchSri