แก้ปัญหาผู้ตัดสินอย่างไร เมื่อวีเออาร์ก็ช่วยไม่ไหว

ดูเหมือนว่า “วีเออาร์” หรือการใช้วิดีโอเข้ามาช่วยในการตัดสินฟุตบอลจะขาดความน่าเชื่อถือมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ลีกลูกหนังที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของโลก เพราะมีปัญหาจากกรรมการวีเออาร์จนต้องออกมาขอโทษถึงความผิดพลาดให้เห็นอยู่เรื่อยๆ

ล่าสุด แมตช์ที่ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เอาชนะ ลิเวอร์พูล ได้ 2-1 ก็มีจังหวะปัญหาที่ หลุยส์ ดิอาซ ยิงเข้าไปแต่ถูกวีเออาร์ริบเพราะเป็นจังหวะล้ำหน้าไปก่อน

แต่หลังจากที่มีการตรวจสอบหลังจบเกม องค์กรผู้ตัดสินฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ ได้ออกแถลงการณ์ว่าการตัดสินของผู้ตัดสินในเกมนี้ผิดพลาดอย่างร้ายแรง และมันควรเป็นประตู

แต่เมื่อเกมจบไปแล้ว สเปอร์สได้ 3 แต้มไปเป็นที่เรียบร้อย และไม่มีการเปลี่ยนแปลงผลการแข่งขันอะไรได้ ทีมที่เสียคือลิเวอร์พูล และการออกมาขอโทษก็ไม่ได้ช่วยให้ทีมหงส์แดงกลับมาได้ประโยชน์อะไรเลย

เมื่อรวมกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายคนมองว่านี่คือ “วิกฤต” ของทีมงานผู้ตัดสินแล้ว ทั้งๆ ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงมาช่วย แต่การตัดสินดูจะผิดพลาดแบบไม่น่าพลาดกว่าเดิม

 

องค์กรผู้ตัดสินฟุตบอลอาชีพของอังกฤษมักจะให้เหตุผลของความผิดพลาดว่า “มาจากการผิดพลาดของคน” แต่แฟนบอลก็ตีความไปแล้วว่ามันอาจจะเกี่ยวโยงกับ “การคอร์รัปชั่น” เพราะมันเป็นการคุยกันระหว่างคนไม่กี่คนที่มีผลต่อการตัดสินเกมนั้นๆ

มีการเสนอว่า การสื่อสารกันระหว่างผู้ตัดสินวีเออาร์และผู้ตัดสินในสนาม “ควรจะ” เปิดเผยสู่สาธารณชนให้รับฟังพร้อมกันไปได้ เพื่อไม่ให้มีความข้องใจสงสัยของคนดูฟุตบอล นักเตะในสนาม โค้ชข้างสนาม หรือใครก็ตามที่ติดตามฟุตบอลแมตช์นั้นๆ อยู่

การจะยกเลิกวีเออาร์ออกไปนั้น ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด เพราะหลายครั้งก็ทำให้การตัดสินถูกต้อง สมเหตุสมผลเช่นกัน หรือจะบอกว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสียก็ไม่ผิดนัก แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าวีเออาร์เข้ามาช่วยให้การตัดสินบริสุทธิ์ยุติธรรมขึ้น ไม่ใช่ให้ต้องมาถกเถียงกันแบบนี้

 

มาร์ก ฮาลซี่ อดีตผู้ตัดสินพรีเมียร์ลีก บอกว่า วีเออาร์ไม่ผิด แต่คนใช้ต่างหากที่มีประสิทธิภาพมากพอหรือยัง?

ฮาลซี่เองก็เห็นด้วยกับการที่จะให้เปิดเผยการพูดคุยของกรรมการทั้งสองฝั่งให้ทุกคนได้รับฟังให้ชัดเจน เพื่อคลายความสงสัยในเหตุการณ์นั้นๆ ออกไป ส่วนการปรึกษาหารือของกรรมการก็ควรต้องมีความเป็นทางการ มีโค้ดที่สื่อสารกันโดยตรงแบบเดียวกับที่คริกเก็ตและรักบี้ทำให้เห็นมาแล้ว เพราะการที่พูดกันแบบสนิทสนมมากเกินไป มีโอกาสที่จะสร้างความสับสนได้

การฝึกและเรียนรู้เพิ่มเติมเป็นอีกเรื่องที่ฮาลซี่เสนอให้ผู้ตัดสินต้องทำ เพราะก่อนเปิดฤดูกาล ผู้ตัดสินทุกคนจะต้องเรียนรู้กฎ ระเบียบ เทคนิค แนวทางต่างๆ เพิ่มเติมเป็นเวลา 4 วัน แต่มันอาจจะน้อยเกินไป ถ้าเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างฤดูกาล

“ผู้ตัดสินไม่ได้ถูกเทรนมาให้ดูภาพในจอทีวีแล้วตัดสินได้ทันที ต่างกับผู้บรรยายหรือนักวิเคราะห์ฟุตบอลที่ทำเป็นอาชีพอยู่แล้ว ดังนั้น พวกเขาก็อาจจะตัดสินจังหวะต่างๆ ได้ถูกต้องแม่นยำกว่าผู้ตัดสิน” ฮาลซี่บอกไว้แบบนี้

 

การเพิ่มคนที่มีความคุ้นเคยกับสถานการณ์ต่างๆ ในห้องวีเออาร์ก็เป็นสิ่งที่น่าเอามาพิจารณา เช่น อดีตนักเตะที่เข้าใจถึงจังหวะการทำแฮนด์บอล การทำฟาวล์ ด้วยประสบการณ์ที่เคยอยู่ในสนาม หรืออดีตผู้ตัดสินที่แม่นกฎมากๆ มาช่วยเป็นอีกมือไม้ในการพิจารณาประกอบเพื่อให้ถูกต้องแม่นยำมากกว่าที่เป็นอยู่

เชื่อว่าในอีกไม่กี่วันข้างหน้า การตัดสินก็จะมีปัญหาให้ต้องมาเป็นประเด็นกันอีก จะมีทีมที่ได้ประโยชน์-เสียประโยชน์แบบที่เห็นกันจนเกือบจะชินตา ขึ้นอยู่กับว่า พรีเมียร์ลีก รวมทั้งทุกลีกทั่วโลกที่ใช้วีเออาร์ และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) จะรับฟังและเร่งปรับแก้ได้ตรงจุดแค่ไหน

ถ้าลิเวอร์พูลพลาดแชมป์พรีเมียร์ลีกจากลูกล้ำหน้าที่ไม่ล้ำหน้าของดิอาซ เดอะค็อปคงงอนผู้ตัดสินไปอีกนาน •

 

Technical Time-Out | จริงตนาการ

[email protected]