‘Save Thai-League’ ความหวังลมๆ แล้งๆ ของบอลไทย

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่าวงการฟุตบอลไทยในระดับลีก มันต้องมาหวังพึ่งอะไรกันแบบลมๆ แล้งๆ เสียแล้ว ทั้งๆ ที่ฟุตบอลเหลืออีกเพียงไม่ถึงเดือนก็จะเปิดฤดูกาลกัน

ความเดิมจากตอนก่อนคือมีผู้ยื่นขอซื้อ ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีก ทั้งระบบ ด้วยเม็ดเงินเพียง 50 ล้านบาทเท่านั้น ลดฮวบไปจากปีก่อน (400 ล้านบาท) ถึง 8 เท่าด้วยกัน

จนทำให้เกิดมาตรการที่บรรดา 16 สโมสรไทยลีก ขอสิทธิในการถ่ายทอดสดจาก สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และ บริษัท ไทยลีก จำกัด มาบริหารด้วยตัวเอง เพื่อนำเอาเงินที่หามาได้ แบ่งกันโดยไม่ต้องส่งกลับมายังสมาคม หรือไทยลีก เป็นผู้แบ่งอีก

แม้ว่าทาง “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จะพยายามย้ำอย่างชัดเจนว่า สมาคมและไทยลีก ไม่ได้ล้มเหลวในการหาผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทย เราบรรลุข้อตกลงเรียบร้อยได้มากกว่าปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำ (ปีก่อนรับอยู่ 400 ล้านบาท) แต่มันไปไม่สุดทางซึ่งก็ไม่อยากบอกเหตุผลว่าเกิดจากอะไร ไม่อยากให้เป็นปัญหาฟ้องร้องกัน แต่ยืนยันว่าเราบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ด้วยซ้ำ แค่มันไปไม่สุดทางเท่านั้นเอง

แต่ก็อยากจะบอกกับนายกว่า ไม่สำเร็จก็คือไม่สำเร็จ ถ้าบรรลุเป้าหมาย คือตอนนี้เราต้องได้ผู้ถือลิขสิทธิ์ไปแล้ว ไม่ใช่ต้องมานั่งดิ้นรนกันแบบนี้

 

ขณะที่มาตรการตอนนี้ ที่บรรดา 16 ทีม ตกผลึกกันมา ก็คือการใช้ระบบการถ่ายทอดสดแบบ OTT (รับชมผ่านอินเตอร์เน็ต) ให้แฟนบอลจ่ายเงินเพื่อดูผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ จะทำให้ทีมเล็กๆ ได้รับเงินมาหมุนเวียนในสโมสรตลอดทั้งฤดูกาล จึงมองว่าจะทำแพ็กเกจ “Save Thai-League” แล้วเชิญแฟนบอลของทุกทีมเข้ามาสมัคร เพื่อให้รายได้กระจายสู่สโมสรโดยตรง แต่ทุกสโมสรก็ตั้งมั่นที่จะพัฒนาตัวเอง จัดแคมเปญต่างๆ ในวันแข่งขัน เพื่อจะทำให้ไทยลีกมีสีสันมากกว่าเดิม และเชื่อว่าแต่ละทีมมีการเสริมทัพที่ดี ทำให้แฟนบอลน่าจะให้ความสนใจอยากชมการแข่งขันมากขึ้น

การทำงานระบบ OTT จะทำให้สโมสรได้เงินอย่างไรนั้น ยกตัวอย่างเช่น แพ็กเกจ “Save Thai-League” เป็นแพ็กเกจที่แฟนบอลต้องจ่าย 50 บาทต่อเดือนเพื่อดูฟุตบอลไทยลีกได้ครบทุกคู่ หากแฟนบอลซื้อแพ็กเพจ 1,000,000 คน เท่ากับเดือนละ 50,000,000 บาท รวมทั้งฤดูกาลเตะ 10 เดือน 500,000,000 บาท (ห้าร้อยล้านบาท) จากนั้นหักเปอร์เซ็นต์ให้กับ OTT อย่างเช่น ถ้าเป็นทรูที่รับไปถ่ายทอดสด ตกลงกันที่จะแบ่งรายได้แบบ 80-20 ให้สโมสร 80 ทรูรับไป 20 ก็จะเท่ากับทรูได้ 100 ล้านบาท และสโมสรได้ 400 ล้านบาท หารกัน 16 ทีม จะได้ทีมละ 25 ล้านบาท

แต่นั่นก็ดูเหมือนเป็นการฝากชีวิตไว้กับอะไรที่มันลมๆ แล้งๆ หรือไม่ เพราะอย่างที่รู้กันดีว่านิสัยคนไทย ไม่ชอบเสียเงินในการดูฟุตบอลอยู่แล้ว ไม่งั้นจะมีช่องทางธรรมชาติผุดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องแบบนี้เหรอ

จากที่ตั้งเป้าเอาไว้สวยหรูว่าจะมีสัก 1 ล้าน Subscribe แต่ทำไปทำมามันอาจจะไม่ถึง 50,000 คนเอาก็ได้นะ

 

ต่อให้คณะทำงานวางโปรแกรมการแข่งขันใหม่ กระจายบิ๊กแมตช์ให้มันไม่อยู่ภายในวันเดียวกัน เพื่อให้คนได้ดูกันแบบเต็มอิ่มทุกคู่ แต่ตราบเท่าที่ประเทศไทยยังมีช่องทางธรรมชาติอยู่ แฟนบอลเขาก็ไม่มาจ่ายเงินเพื่อดูฟุตบอลกันหรอก

ในขณะที่วิธีนี้ คนที่แฮปปี้มากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นแพลตฟอร์มที่จะถูกไปเช่าพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นทรู หรือเอไอเอสก็ตาม เพราะเท่ากับตอนนี้พวกเขาไม่ต้องลงทุนอะไรเลย อยู่ดีๆ ก็มีฟุตบอลมาถ่ายในช่องทางของตัวเอง แล้วก็รอรับเงินส่วนแบ่งจากค่า Subscribe

จากที่บอกกันว่าการแยกตัวออกมาครั้งนี้นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ไม่ต้องไปผูกติดกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่สุดท้ายเมื่อไทยลีกยังไม่มีช่องทางที่เป็นของตัวเอง ไม่ได้สร้างแอพพลิเคชั่นมาเพื่อรองรับการดูฟุตบอลไทยลีกด้วยตัวเอง สุดท้าย เราก็ยังต้องเอาชีวิตไปผูกกับคนอื่นอยู่ดี

คราวนี้หนักข้อขึ้น เพราะต้องไปผูกติดกับแฟนบอลด้วย ต้องมานั่งลุ้นกันให้มีคน Subscribe กันเยอะๆ

 

หลายคนอาจจะสงสัยว่า เราสามารถเปิดช่องของไทยลีกในยูทูบ เพื่อให้คน Subscribe แบบที่หลายๆ ช่องเขาทำกัน แต่นั่นเพราะว่าส่วนแบ่งที่ยูทูบต้องการจากค่า Sucscribe นั้น อยู่ที่ 50/50 คงต้องไว้เป็นแบบวิธีสุดท้ายจริงๆ ที่จะหารายได้เพิ่ม จึงจะเลือกใช้วิธีนี้

แล้วลองคิดสภาพ ขนาดไทยลีก 1 ยังหัวปั่นขนาดนี้ ก็ได้ยินข่าวลือมาว่าไทยลีก 2 อยากเจริญรอยตามไทยลีก ขายลิขสิทธิ์ด้วยตัวเองด้วยเช่นกัน ไม่อยากรอพึ่งเม็ดเงินที่ไม่รู้ว่าจะได้เท่าไหร่และเมื่อไหร่ จากสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ

แต่มันจะมีคนจ่ายเงินเพื่อดูบอลไทยลีก 2 กันอย่างงั้นเหรอ ไทยลีก 1 ยังหาได้ยากเลยนะ

หลังจากนี้สิ่งที่จะต้องทำคือแต่ละสโมสรก็ต้องไปคิดแคมเปญในการขายยอด Subscribe ให้ได้มากที่สุด อย่างเช่น ทีมใหญ่อย่าง บุรีรัมย์, บีจี ปทุม หรือ การท่าเรือ ก็อาจจะต้องคาดหวังว่ามีคน Subscribe หลักหลายหมื่นคน แต่ถ้าเป็นสโมสรเล็กๆ อย่างเช่น นครปฐม ยูไนเต็ด หรือ ตราด เอฟซี อาจจะต้องหวังให้มียอด Subscribe อยู่ราวๆ 1-2 พันคนให้ได้ เป็นต้น

ในมุมมองของสโมสรคงคิดว่าดีกว่าอยู่เปล่าๆ ไม่ทำอะไร รอรับเงินอย่างเดียว อย่างน้อยได้ดิ้นรน ได้สู้สักที ให้รู้กันไปว่ากระแสฟุตบอลไทยไม่ได้ตก

ส่วนจะหมู่หรือจ่า รอดูสักครึ่งฤดูกาลเดี๋ยวก็รู้เอง •

 

เขย่าสนาม | เด็กเก็บบอล

[email protected]