‘ซาอุดี โปร ลีก’ ความสำเร็จที่สร้างได้ด้วยเงิน?

‘ซาอุดี โปร ลีก’ ความสำเร็จที่สร้างได้ด้วยเงิน?

 

ตอนที่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ แข้งซูเปอร์สตาร์ชาวโปรตุกีส ตัดสินใจย้ายไปค้าแข้งกับ อัล นาสเซอร์ ใน ซาอุดี โปร ลีก ของประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ หลังจากมีปัญหากับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้สร้างความประหลาดใจให้กับสื่อ แฟนบอล และคนในแวดวงลูกหนังไม่น้อย

เมื่อ ฟอร์บส์ นิตยสารด้านการเงินระดับโลกรายงานว่า แข้งวัย 38 ปี ได้ค่าเหนื่อยจากสังกัดใหม่ตกปีละ 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,475 ล้านบาท) ไม่รวมรายได้นอกสนามอีกต่างหาก ทำให้หลายคนมองว่าเขาอาจตัดใจจากสถิติและความสำเร็จในวงการลูกหนังระดับท็อปแล้ว หรือไม่ก็มา “พักร้อน” 1 ฤดูกาลก่อนย้ายไปที่อื่น

อย่างไรก็ตาม โรนัลโด้ทำให้ใครๆ แปลกใจอีกครั้งเมื่อประกาศว่าตั้งใจจะค้าแข้งกับอัล นาสเซอร์ จนครบสัญญาอีก 1 ปี

พร้อมแสดงความเห็นว่า ถ้ามีนักเตะดังๆ ฝีเท้าดีทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ตบเท้าไปเล่นที่นั่น และเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ใช้เวลา 5 ปี ลีกซาอุดีอาระเบียจะกลายเป็น 1 ในลีกลูกหนังระดับท็อป 5 ของโลกได้อย่างแน่นอน

 

จากบทสัมภาษณ์ที่เหมือนแค่เอาใจต้นสังกัด ตามมาด้วย “ปรากฏการณ์” ที่ทำให้วงการฟุตบอลสั่นสะเทือน เมื่อสโมสรซาอุฯ ทยอยทาบทามและเซ็นสัญญากับนักเตะดังๆ จากลีกยุโรป อาทิ คาริม เบนเซม่า, เอ็นโกโล่ ก็องเต้, รูเบน เนเวส และอีกหลายคนที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา

จุดเด่นของทีมจากแดนเศรษฐีน้ำมันคือสัญญาค่าตอบแทนสูงๆ (เช่นกรณีเบนเซม่ากับก็องเต้ที่ร่วมทีม อัล อิตติฮัด มีข่าวว่าได้ค่าเหนื่อยปีละ 100 ล้านยูโร หรือ 3,700 ล้านบาท) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกลุ่มทุนที่รัฐเป็นเจ้าของอย่าง พับลิก อินเวสต์เมนต์ ฟันด์ (PIF) เข้าไปถือหุ้น 75 เปอร์เซ็นต์ของ 4 สโมสรใหญ่ของประเทศ ได้แก่ อัล อิตติฮัด, อัล ฮิลาล, อัล อาห์ลี และอัล นาสเซอร์

รายงานข่าวบอกว่า ผู้บริหารสโมสรในยุโรปต่างตื่นตระหนกกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่ อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ให้สัมภาษณ์สื่อดัตช์เกี่ยวกับการดึงนักเตะแบบบ้าระห่ำของลีกซาอุฯ ว่า สโมสรฟุตบอลยุโรปไม่มีอะไรต้องกลัว เพราะทัวร์นาเมนต์สำคัญที่สุด ลีกสำคัญที่สุด ยังคงอยู่ในยุโรป แค่การ “ช้อปปิ้ง” นักเตะอย่างเดียวไม่ทำให้ลีกซาอุฯ พัฒนาขึ้นมาได้ อีกทั้งมองว่าผู้เล่นระดับท็อปที่อายุยังน้อยไม่มีใครเลือกไปลีกซาอุฯ มีแต่แข้งมีชื่อที่ย้ายไปรับเงินก้อนโตในช่วงสุดท้ายของชีวิตการค้าแข้งเท่านั้น

ที่น่าสนใจคือนักวิเคราะห์มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่าจะลงเอยด้านบวกหรือลบโดยมีโมเดลลีกกีฬาอาชีพที่สร้างด้วยกำลังทรัพย์เป็นหลักเป็นตัวอย่างของทั้ง 2 ฝั่ง

 

ในฝั่งที่ประสบความสำเร็จนั้น คือ อินเดียน พรีเมียร์ลีก (IPL) ลีกคริกเก็ตอาชีพของอินเดียที่ถือกำเนิดเมื่อปี 2007

IPL เป็นทัวร์นาเมนต์ที่จัดขึ้นในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี เปิดโอกาสให้นักคริกเก็ตมือท็อปสมัครเข้าร่วมแข่งให้ทีมต่างๆ 10 ทีมที่มีมหาเศรษฐีเป็นเจ้าของมา “ประมูล” เข้าทีมตามเรตราคาที่ตัวนักกีฬากำหนด จากนั้นก็มาแข่งขันกัน

IPL ได้ชื่อว่าเป็นลีกคริกเก็ตอาชีพที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก ทำสัญญาลิขสิทธิ์ถ่ายทอด 4 ปี มูลค่า 6,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (211,200 ล้านบาท) หรือเฉลี่ยนัดละ 13.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (442.2 ล้านบาท) ซึ่งมีเพียงเกมอเมริกันฟุตบอลเอ็นเอฟแอลเท่านั้นที่มีมูลค่าต่อนัดสูงกว่า

นอกจากนี้ นัดชิงชนะเลิศ IPL ปีนี้ ยังมีผู้ติดตามการสตรีมมิ่งสดๆ ถึง 32 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งสูงเป็นสถิติโลกเลยทีเดียว

 

สําหรับตัวอย่างฝั่งที่ล้มเหลวเข้าข่ายภาวะ “ฟองสบู่แตก” ของวงการกีฬา คือลีกฟุตบอล ไชนีส ซูเปอร์ลีก (CSL) ของจีน โดยเฉพาะช่วงปี 2015-2017

ย้อนไปในขณะนั้น ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ต้องการให้จีนมีลีกกีฬาอาชีพที่มีศักยภาพและสร้างความสนใจให้ผู้คนเหมือนที่สหรัฐอเมริกามีลีกบาสเกตบอลเอ็นบีเอ หรือลีกอเมริกันฟุตบอลเอ็นเอฟแอล บรรดาภาคเอกชนจึงขานรับด้วยการทุ่มงบประมาณซื้อนักเตะ จ้างโค้ช และปรับปรุงสนามครั้งใหญ่

ในตลาดซื้อขายปี 2016 เคยเกิดปรากฏการณ์ที่สโมสรในลีก CSL ทำลายสถิติซื้อขายสูงสุดถึง 3 ครั้งในระยะเวลาเพียง 10 วัน และช่วงนั้นก็มีนักเตะดังๆ สัญชาติอเมริกาใต้ไปค้าแข้งที่จีนหลายคน อาทิ คาร์ลอส เตเวซ, ฮัลก์, รามิเรส, ออสการ์

อย่างไรก็ตาม กระแสความนิยมใน CSL ยังจุดไม่ติด ผลตอบรับไม่ดีเท่าที่ควร ถึงจุดหนึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ส่งสัญญาณปรับเปลี่ยนนโยบาย ทุกอย่างจึงล่ม บรรดาทีมต่างๆ ทยอยล้มละลาย และวงการลูกหนังจีนก็ต้องกลับไปนับหนึ่งกันใหม่

 

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์เชื่อว่า กรณีของลีกฟุตบอลซาอุดีอาระเบียอาจจะไม่ได้ลงเอยแบบเดียวกับจีนเสียทีเดียว ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ระยะทางซึ่งค่อนข้างใกล้กับยุโรปทำให้นักเตะยุโรปหลายคนไม่รู้สึกว่าต้องคิดหนักมากถ้าต้องไปค้าแข้งที่นั่น ขณะที่มาตรฐานลีกก็ไม่ได้แย่ เคยมีทีมเป็นแชมป์เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก มาแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรวิเคราะห์สถิติกีฬา ทเวนตี้เฟิร์สต์ กรุ๊ป ชี้ว่า ถ้าวัดเฉพาะคุณภาพนักเตะต่างชาติ ลีกซาอุฯ เหนือกว่าเจลีกของญี่ปุ่นเสียอีก แต่เมื่อรวมผู้เล่นท้องถิ่นเข้าไปด้วย มาตรฐานเจลีกจะสูงกว่าค่อนข้างมาก (อันดับ 22 กับ 54 จากการจัดอันดับของทเวนตี้เฟิร์สต์ กรุ๊ป)

นั่นคือโจทย์สำคัญที่ผู้บริหารลีกซาอุฯ ต้องตีให้แตกว่านอกจากการซื้อผู้เล่นนอกประเทศเก่งๆ ชื่อดังๆ ร่วมลีกแล้ว ก็ต้องยกระดับฝีเท้าของผู้เล่นในประเทศควบคู่กันไปด้วย

ถ้าทำได้จริง สิ่งที่โรนัลโด้ประกาศไว้ว่าอีก 5 ปี ซาอุดี โปร ลีก จะติดท็อป 5 ลีกฟุตบอลของโลก อาจไม่ใช่ราคาคุยอีกต่อไป •

 

 

Technical Time-Out | SearchSri