พิศณุ นิลกลัด : ทีมฟุตบอลพลังผักทีมแรกของโลก

พิศณุ นิลกลัด

เดือนพฤศจิกายนของทุกปี ในหลายประเทศทั่วโลกจัดให้เป็น World Vegan Month หรือเดือนวีแกนโลก

เช่นใน อเมริกา, อังกฤษ, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

คล้ายกับเทศกาลกินเจของไทย ที่เพิ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 20-28 ตุลาคมที่ผ่านมา

World Vegan Month มีขึ้นเพื่อสร้างจิตสำนึกให้คนลดการรับประทานอาหารที่มาจากสัตว์ทุกชนิด ซึ่งนอกจากจะรักษาชีวิตสัตว์แล้ว ยังเป็นการรักษาสุขภาพของตัวเองด้วย

นักมังสวิรัติหรือเว็จเจ็ทเทเรี่ยน (Vegetarian) กับวีแกน (Vegan) ไม่ทานเนื้อสัตว์ด้วยกันทั้งคู่

แต่วีแกนเคร่งกว่า เพราะไม่ทานไข่ เนย นม รวมถึงน้ำผึ้ง เพราะเป็นอาหารที่มาจากสัตว์

วีแกนที่เคร่งสุดขีด จะไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ เช่น เครื่องหนังทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าหนัง กระเป๋าหนัง ผ้าไหม ผ้าวูล และเสื้อขนสัตว์

รวมถึงเครื่องสำอางที่ทำจากไขมันสัตว์หรือทดลองกับสัตว์

 

มีคนบางกลุ่มเข้าใจว่าพอเป็นวีแกนแล้วร่างกายจะขาดสารอาหารหลักอย่างโปรตีน โดยเฉพาะคนที่เป็นนักกีฬานั้นไม่ควรทานอาหารแบบวีแกน เพราะการเล่นกีฬาต้องใช้พละกำลังสูงมาก ถ้าเป็นวีแกนแล้วจะทำให้ไม่มีเรี่ยวแรงในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดีเท่ากับการรับประทานเนื้อ

เรื่องนี้มีนักกีฬาและนักเพาะกายสายธรรมชาติหลายๆ คนได้ออกมาแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่เป็นความจริง

เพราะถ้าเลือกทานอาหารวีแกนอย่างถูกต้องในปริมาณที่เหมาะสม เราก็สามารถเล่นกีฬาที่ใช้ความอึดและสร้างกล้ามเนื้อได้ดีไม่แพ้คนที่ทานเนื้อสัตว์เลย

เช่น ริช โรลล์ (Rich Roll) วัย 51 ปี ผู้ที่กลายเป็นยอดนักวิ่งอัลตร้ามาราธอน หลังจากผันตัวมาเป็นวีแกน และ ทอร์เร่ วอชิงตัน (Torre Washington) นักเพาะกาย ชาวอเมริกันวัย 42 ปี ซึ่งเริ่มเป็นวีแกนตั้งแต่ปี 1998

 

ที่กลอสเตอร์เชอร์ (Gloucestershire) มณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอังกฤษ มีสโมสรฟุตบอลเล็กๆ อยู่สโมสรหนึ่งที่เขียวทั้งชื่อ ทั้งชุดแข่ง และนักเตะก็ยังมีหัวใจสีเขียวด้วย

สโมสรนี้ชื่อ ฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส (Forest Green Rovers) ฤดูกาลล่าสุดเพิ่งได้เลื่อนชั้นขึ้นมาแข่งขันอยู่ใน League Two หรือฟุตบอลดิวิชั่น 4 ของอังกฤษ

ที่บอกว่านักเตะหัวใจสีเขียวเพราะ Forest Green Rovers เป็นสโมสรแรกและสโมสรเดียวของโลกที่แข่งฟุตบอลด้วยพลังจากผักและผลไม้ล้วนๆ ไม่มีเนื้อสัตว์

พูดง่ายๆ ก็คือ นักเตะเป็นวีแกนกันทั้งทีม

ที่มาที่ไปเริ่มจาก เดล วินซ์ (Dale Vince) ประธานสโมสรคนปัจจุบันและเจ้าของบริษัท Ecotricity บริษัทผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม ซึ่งเป็นสปอนเซอร์หน้าอกเสื้อให้กับทีม ได้เกิดไอเดียให้สโมสรฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส เป็นตัวอย่างของสโมสรที่ใส่ใจธรรมชาติอย่างแท้จริงทั้งเรื่องอาหารการกิน และการใส่ใจสิ่งแวดล้อม

เดล วินซ์ บอกว่าในโลกของฟุตบอลนั้นแทบไม่มีใครที่จะออกมาพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เราคิดว่าวิธีนี้เป็นช่องทางที่เราจะได้ประกาศให้ผู้คนได้เห็นคุณค่าและหันมาตระหนักถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างยั่งยืนในแบบที่ทุกคนคาดไม่ถึง

 

ก่อนที่จะมาเป็นเจ้าของทีมฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส เดล วินซ์ ไม่ได้สนใจเรื่องฟุตบอลสักเท่าไหร่ แต่ในช่วงที่สโมสรยังไม่ได้เลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในลีก 2 และอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเกือบต้องยุบทีม ด้วยความที่ เดล วินซ์ เป็นคนในท้องถิ่น เขาได้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือด้วยการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทีมในปี 2010 พอปี 2011 เขาสั่งห้ามนักเตะทุกคนรับประทานเนื้อสัตว์ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อสุขภาพของตัวนักเตะ

และจากประสบการณ์ที่ทำงานใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อม เขาได้ปรับเปลี่ยนหลายๆ สิ่งในสโมสรให้พึ่งพาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในสนาม เก็บน้ำฝนรดหญ้าในสนาม และติดตั้งสถานีชาร์จพลังไฟฟ้าให้กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของแฟนบอลและแขกที่มาเยี่ยมเยือน

เท่านั้นยังไม่พอ บริษัท Ecotricity ซึ่ง เดล วินซ์ เป็นเจ้าของ มีโครงการจะสร้าง Eco Park บนพื้นที่ 253 ไร่ ในเขตสเตราด์ (Stroud) และสโมสรฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์สมีแผนจะสร้างสนามฟุตบอลแห่งใหม่ใน Eco Park โดยจะใช้ไม้เป็นโครงสร้างเกือบทั้งหมดเพื่อลดปริมาณคาร์บอน ผู้ชนะประกวดแบบสนามแห่งใหม่คือบริษัทซึ่งมีผลงานออกแบบสนามฟุตบอลโลกปี 2022 ที่กาตาร์ และออกแบบศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งลอนดอน (London Aquatics Centre)

สนามแห่งใหม่มีความจุ 5,000 ที่นั่ง ซึ่งน้อยกว่า The New Lawn สนามปัจจุบันอยู่ 140 ที่นั่ง แต่ต่างกันตรงที่สนามในปัจจุบันมีโซนเก้าอี้ให้แฟนบอลนั่งได้แค่ 2,000 ที่ ส่วนที่เหลือเป็นที่ยืนเชียร์

 

ในปี 2015 สโมสรฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส ได้กลายเป็นสโมสรวีแกนแบบเต็มตัวสโมสรแรกของโลก เพราะแม้แต่ร้านและซุ้มขายอาหารในสนามก็เป็นเมนูสุขภาพที่ปลอดเนื้อสัตว์ด้วย

อย่างเมนูเด็ดคือพายเนื้อเทียมกับกระเทียมต้น (Quorn and leek pie) ปรุงรสด้วยซอสเบชาเมล (B?chamel sauce) ที่ทำจากน้ำเต้าหู้ ได้รางวัลพายมังสวิรัติยอดเยี่ยมอันดับ 3 จากพายทั้งหมดกว่า 40 ร้านที่ส่งเข้าประกวดในงาน British Pie Awards เมื่อเดือนมีนาคม 2017

เดล วินซ์ บอกว่า สำหรับอาหารหลักๆ ของนักเตะในทีมนั้นไม่ใช่แค่พายรสเด็ดการันตีรางวัลอย่างที่ขายในสนามเท่านั้น

ก่อนลงสนามไม่กี่ชั่วโมง นักฟุตบอลทุกคนยังต้องเน้นทานอาหารคาร์โบไฮเดรตสูงๆ เช่น Jacket Potato (มันฝรั่งอบ) และพาสต้า

ทั้งนี้ กฎที่ให้นักเตะทานแบบวีแกนนั้นบังคับทานเฉพาะตอนที่นักเตะใช้เวลาอยู่ร่วมกับทีม เช่น ตอนซ้อมและตอนแข่งขัน พอเลิกงานกลับบ้านแล้วก็ไม่ได้บังคับว่า นักเตะจะต้องทานวีแกน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละคน แต่ก็มีนักเตะบางคนที่ได้รับแรงบันดาลใจและเปลี่ยนวิถีชีวิตในการทานอาหารของตัวเองไป อย่าง แซม เวดจ์บิวรี่ (Sam Wedgbury) นักเตะตำแหน่งกองกลาง บอกว่าเขารู้สึกดีขึ้นหลังจากได้ทานอาหารแบบวีแกน และได้นำเมนูบางอย่างกลับไปทำทานเองที่บ้านด้วย ซึ่งแซมทราบว่าเพื่อนๆ ในทีมบางคนก็ทำเหมือนกับเขา

เขาคิดว่าการทานอาหารวีแกนเป็นสิ่งดี และสิ่งต่างๆ ที่สโมสรฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส ได้เปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนนั้น เขาคิดว่าหลายๆ สโมสรน่าจะเริ่มหันมาลองทำตามดูบ้าง