นับถอยหลังสู่ ‘ซีเกมส์ 2023’ กีฬาพื้นฐานครื้นเครงอาเซียน

นับถอยหลังเข้าสู่การแข่งขันมหกรรมกีฬาแห่งภูมิภาคอาเซียน ในศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ซึ่ง ประเทศกัมพูชา ได้รับหน้าที่ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันภายในกรุงพนมเปญ ช่วงระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคมนี้ ภายใต้ชื่อการแข่งขันว่า “แคมโบเดีย 2023”

ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกัมพูชา ที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาซีเกมส์อย่างเป็นทางการ หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อปี 1963 กัมพูชาถูกกำหนดให้เป็นเจ้าภาพ แต่ต้องเลื่อนการแข่งขันออกไป เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในขณะนั้น

“แคมโบเดีย 2023” กลายเป็นซีเกมส์ครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของทั้งมหกรรม และชาติเจ้าภาพ เนื่องจากมีการเหรียญรางวัลชิงชัยถึง 608 เหรียญทอง จากทั้งหมด 36 ชนิดกีฬา

ซึ่งถือเป็นมหกรรมกีฬาซีเกมส์ที่มีการชิงชัยเหรียญมากที่สุดในประวัติศาสตร์กว่า 64 ปี

 

อย่างไรก็ตาม ในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ 2023 ในครั้งนี้ เจ้าภาพกัมพูชาจัดการออกระเบียบข้อบังคับของแต่ละชาติในการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการชิงชัยในแต่ละชนิดกีฬาค่อนข้างเยอะ พร้อมกับตัดโอกาสของหลายชาติในการแย่งชิงเหรียญไปในตัว

ยกตัวอย่าง มวยสากล จัดชิงชัย 17 เหรียญทอง แบ่งเป็นชาย 12 รุ่น และหญิง 5 รุ่น โดยเจ้าภาพกำหนดว่าชาติอื่นจะส่งนักกีฬาได้แค่ ชาย 8 จาก 12 รุ่น ส่วนหญิงได้ 3 จาก 5 รุ่นเท่านั้น ขณะที่เจ้าภาพสามารถส่งได้ครบทุกรุ่นอย่างเต็มพิกัด

ขณะที่กีฬาถนัดของไทย เซปักตะกร้อ จัดชิงชัย 10 เหรียญทอง โดยเจ้าภาพกำหนดว่าแต่ละประเทศ จะส่งแข่งทีมชายได้แค่ 3 จาก 6 อีเวนต์ และหญิงได้แค่ 2 จาก 4 อีเวนต์เท่านั้น และนักกีฬาที่ใช้จะต้องไม่เกิน 12 คนอีกด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาพื้นบ้าน “กุนแขมร์” ศิลปะการต่อสู้ประจำชาติของกัมพูชา ที่เจ้าภาพตัดสินใจบรรจุเข้าชิงชัยแทนที่การแข่งขัน “มวย” หรือ “มวยไทยสมัครเล่น” ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากหลายๆ ชาติภาคีซีเกมส์

ฝ่ายจัดของกัมพูชายืนยันเพิ่มโปรแกรมชิงเหรียญกุนแขมร์ จากเดิม 17 เหรียญทอง เพิ่มเป็น 19 เหรียญทอง ภายใต้การรับรองจาก สหพันธ์กุนแขมร์นานาชาติ ที่มีชาติสมาชิกทั้งอินโดนีเซีย, ลาว, อัฟกานิสถาน, มาเลเซีย, รัสเซีย, อิหร่าน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน สหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ ประกาศห้ามไม่ให้ชาติสมาชิก 6 ชาติในอาเซียน ทั้งสิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และไทย ส่งนักกีฬาเข้าร่วมชิงชัยในกุนแขมร์ มิเช่นนั้นจะมีบทลงโทษตามมา 1-2 ปี

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงของ 2 กีฬาต่อสู้ศิลปะประจำ 2 ชาติอย่างกุนแขมร์ และมวยไทย บนเวทีมหกรรมกีฬาแห่งอาเซียน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เป็นรากฐานของกีฬาต่อสู้ทั้ง 2 ชนิดนี้ แต่สำหรับมวยไทยไปไกลระดับโลกสู่เป้าหมายในโอลิมปิกเกมส์แล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการบรรจุกีฬาประเภทต่อสู้อีกหลายอีเวนต์ ทั้ง กุน โบกาตอร์, อาร์นิส, ยูยิตสู, คิกบ๊อกซิ่ง, มาร์เชียลอาร์ต เกาหลีใต้ และโววีนั่ม รวมถึงกีฬาพื้นบ้านมากมาย ทั้ง ฟิน สวิมมิ่ง, วิ่งฝ่าอุปสรรค และมีกีฬาสาธิตอย่าง เทคบอล อีกด้วย

นอกจากนี้ แคมโบเดีย 2023 ยังตัด เพาะกาย ออก เพราะก่อนหน้านี้นักกีฬาเพาะกายกัมพูชา 2 ราย โดนสหพันธ์กีฬานานาชาติ แบนจากการตรวจพบใช้สารสเตียรอยด์ ระหว่างกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ปีก่อน ทำให้กัมพูชาขาดนักกีฬา จึงยกเลิกชิงชัยไป

รวมทั้ง แบดมินตัน ซึ่งกัมพูชา เพิ่มอีเวนต์ประเภททีมผสม บรรจุชิงชัยเป็นครั้งแรกในศึกกีฬาซีเกมส์ แต่เจ้าภาพกลับสั่งห้าม 5 ชาติร่วมแข่งขัน ประกอบด้วย ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และสิงคโปร์ โดยยกเหตุผลของการเป็นเจ้าภาพอย่างหน้าตาเฉย

ส่วนกีฬาใหม่ที่กำลังมาแรงอย่าง อีสปอร์ต กลับถอด Fifa Online และ ROV ออกจากการชิงชัย พร้อมกับใส่ Valorant ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกัมพูชาเข้าไปแข่งขัน และมีนักกีฬาพร้อม

ทำให้ชาติต่างๆ ถอนตัวแล้ว เพราะมองว่าไม่มีความเหมาะสมเลย

 

ด้านการถ่ายทอดสดซีเกมส์ครั้งนี้ เจ้าภาพกำหนดยิงสดพิธีเปิด-ปิด รวมถึง 16 ชนิดกีฬาเท่านั้น จากทั้งหมด 36 ชนิดกีฬา ได้แก่ กรีฑา (ลู่และลาน), กีฬาทางน้ำ (ว่ายน้ำ และกระโดดน้ำ), ฟุตบอล, เปตอง, วอลเลย์บอล, กุนแขมร์, แบดมินตัน, เซปักตะกร้อ-ชินลง, คาราเต้, เทควันโด, มวยสากล, บาสเกตบอล, ปันจักสีลัต, ฮอกกี้, เทเบิลเทนนิส และอีสปอร์ต

อย่างไรก็ตาม โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หรือ “ทีวีพูล” ซึ่ง คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ มอบสิทธิ์ให้ทำหน้าที่ถ่ายทอดสดซีเกมส์ครั้งนี้ต้องเจรจาในรายละเอียดกับเจ้าภาพอีกครั้ง

เพื่อให้แฟนกีฬาชาวไทยได้รับชมชนิดกีฬามากกว่านี้

 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นความได้เปรียบของเจ้าภาพกัมพูชา ซึ่งพยายามแก้ไขเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้หลายต่อหลายครั้ง และจัดการแก้ระเบียบการแข่งขันของแต่ละชนิดกีฬา หรือเทคนิคอล แฮนด์บุ๊ก เพื่อสร้างความได้เปรียบในการชิงชัยเหรียญ สู่เป้าหมายเจ้าเหรียญทอง

“แคมโบเดีย 2023” จะกลายเป็นมหกรรมกีฬาซีเกมส์ครั้งประวัติศาสตร์ของกัมพูชาในการเป็นเจ้าภาพครั้งแรก และจะจัดออกมาได้อย่างยิ่งใหญ่ ตามแบบฉบับของมหกรรมกีฬาพื้นบ้านสุดครื้นเครงในย่านภูมิภาคอาเซียน ที่อาจจะไม่สามารถต่อยอดพัฒนาไปสู่ระดับเอเชีย และในระดับโลกต่อไปได้

มหกรรมกีฬาซีเกมส์ยังคงวนลูปอยู่กับการที่ชาติเจ้าภาพจัดแบบยิ่งใหญ่ เพื่อหวังครองเจ้าเหรียญทองแห่งอาเซียน ซึ่งไม่สามารถพัฒนากีฬาของชาติตัวเองได้อย่างแท้จริง และยังเป็นอีกครั้ง (ครั้งสุดท้าย?) ที่ไม่สามารถมูฟออนออกจากกีฬาพื้นบ้านไปสู่กีฬาสากลในระดับนานาชาติได้… •

 

เขย่าสนาม | เมอร์คิวรี่

[email protected]