แก๊สน้ำตาจาก ‘ลิมา’ ถึง ‘มาลัง’ 58 ปี ความสูญเสียที่ซ้ำรอย | Technical Time-Out : จริงตนาการ

แก๊สน้ำตาจาก ‘ลิมา’ ถึง ‘มาลัง’ 58 ปี ความสูญเสียที่ซ้ำรอย

 

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุโศกนาฏกรรมในสนามฟุตบอลที่มีความสูญเสียมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่ คานจูรูฮัน สเตเดี้ยม ในเมืองมาลัง ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลอินโดนีเซีย ซูเปอร์ลีก เมื่อเกิดเหตุการณ์แฟนบอลทีมเจ้าบ้าน อาเรม่า เอฟซี ก่อเหตุทะเลาะวิวาททำร้ายกองเชียร์ฝ่ายตรงข้าม เปอร์เซบาย่า สุราบาย่า หลังจากทีมพ่ายคาบ้าน จนทำให้เกิดเหตุความวุ่นวายและมีผู้เสียชีวิตแล้ว 174 ราย

ถ้านับจากยอดผู้เสียชีวิต เหตุการณ์ที่คานจูรูฮัน สเตเดี้ยม เป็นโศกนาฏกรรมในสนามฟุตบอลที่รุนแรงที่สุดอันดับ 2 ที่เคยเกิดขึ้น ในอดีตเคยมีเหตุการณ์สูญเสียที่ใหญ่กว่านี้ ที่สนาม เอสตาดิโอ นาซิอองนาล กรุงลิมา ประเทศเปรู ในปี 1964 ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 328 คน

เกมวันนั้นเป็นฟุตบอลรอบคัดเลือก โอลิมปิกเกมส์ 1964 ระหว่างเปรูกับอาร์เจนตินา มีแฟนบอลเข้าชมเกมในสนาม 53,000 คน ซึ่งมากกว่าความจุที่รองรับได้ อาร์เจนตินานำมา 1-0 จนถึงนาทีที่ 84 เปรูมาพังประตูตีเสมอได้ แต่ผู้ตัดสินชาวอุรุกวัย อังเคล ปาซอส ไม่ให้เป็นประตู ทำให้แฟนบอลเจ้าถิ่นไม่พอใจ บุกลงไปในสนาม จนตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาเพื่อยุติความชุลมุน

คนในสนามพยายามออกจากสนาม แต่จำนวนคนเรือนแสน ทำให้มีการเหยียบกันจนเรื่องสลด หลายคนตายจากการถูกเหยียบ จำนวนมากเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ และบาดเจ็บกว่า 500 คน

โฮเซ่ ซาลาส แฟนบอลที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นเล่าว่า หลังจากที่ไม่ได้ประตูอย่างที่แฟนบอลต้องการ มี แฟนบอล 2 คน วิ่งเข้าไปในสนามแล้วพยายามที่จะทำร้ายผู้ตัดสิน แต่โดนตำรวจจับตัวไว้แล้วลากออกจากสนาม ไป อย่างไรก็ตาม เอดิแบร์โต้ คูเอนก้า หนึ่งในแฟนบอลที่วิ่งเข้าไปในสนาม ถูกตำรวจทุบตีจนได้รับบาดเจ็บหนัก ทำให้แฟนบอลที่เห็นเหตุการณ์โกรธมาก รวมทั้งตัวเขาเองด้วย จนมีการโยนสิ่งของใส่ตำรวจ

เมื่อความรุนแรงหนักขึ้นเรื่อย ตำรวจเริ่มยิงปืน และยิงแก๊สน้ำตาใส่ฝูงชน แฟนบอลจำนวนหนึ่งต้องการออกจากสนาม แล้ววิ่งไปประตูที่เป็นอุโมงค์ตัดออกไปนอกสนาม แต่ตามระเบียบแล้วประตูนี้จะถูกปิดก่อนเกมไปจนจบเกม ทำให้คนเหล่านั้นต้องวิ่งสวนออกมา ขณะที่แฟนบอลจำนวนมากก็กำลังลงมาจากอัฒจันทร์

เมื่อคนรวมตัวกันอย่างแออัด ประกอบกับแก๊สน้ำตาที่คละคลุ้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

แก๊สน้ำตาที่เอสตาดิโอ นาซิอองนาล และคานจูรูฮัน สเตเดี้ยม ถูกใช้ห่างกัน 58 ปี แต่สร้างความสูญเสียรุนแรงเหมือนกัน

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ระบุว่า ห้ามใช้แก๊สน้ำตาในการระงับเหตุความวุ่นวายในสนามฟุตบอล เพราะคนในสนามไม่มีพื้นที่ให้ไป ซึ่งมีผู้อยู่ในเหตุการณ์ยืนยันว่า ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาขึ้นไปอัฒจันทร์จนสร้างความตื่นตระหนกให้แฟนบอล และมีความวุ่นวายตามมาด้วยความสูญเสีย

โอเว่น เวสต์ อาจารย์ด้านวิชาการตำรวจ ของมหาวิทยาลัยเอดจ์ ฮิลล์ ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า การใช้แก๊สน้ำตาเป็นเรื่องที่อันตรายมากๆ ในเหตุการณ์ที่อินโดนีเซีย เพราะแก๊สจะกระจายตัวไปในวงกว้าง ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเจ้าหน้าที่ตัดสินใจใช้ยุทธวิธีแบบนี้ได้อย่างไร

ไม่ว่าจะที่ลิมาหรือมาลัง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นรอยแผลในใจของทุกคนที่สูญเสีย

ติโต้ ดวิเมาลูดี้ หนึ่งในแฟนบอลที่อยู่ในคานจูรูฮัน สเตเดี้ยม ในวันนั้น บอกว่า “ผมจะไม่ไปดูฟุตบอลที่สนามอีกต่อไป และพยายามสวดมนต์ขอพรจากพระเจ้าว่าขอให้เหตุการณ์แบบนี้ไม่เกิดขึ้นอีก”

ขอให้เรื่องราวแบบนี้ไม่เกิดขึ้นอีก ไม่ว่าจะในพื้นที่ไหนของโลกก็ตาม •

 

Technical Time-Out | จริงตนาการ

[email protected]