เมอร์คิวรี่ : ตราสัญลักษณ์ใหม่ทัพ “ช้างศึก” ยุคสมัยใหม่วงการ “ลูกหนังไทย”

คอลัมน์เขย่าสนาม

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ประกาศผลการประกวดต้นแบบสัญลักษณ์ใหม่ของ “ช้างศึก” “ทีมชาติไทย” ซึ่งเป็นผลงานของ “ต่อพงศ์ บูรณพิเชษฐ์” นักออกแบบชาวไทยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการตัดสินของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยสัญลักษณ์ใหม่ก็ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็น “ช้างศึก”

จากการเปิดการประกวดโลโก้ใหม่ของทีมชาติไทยมีผู้สนใจออกแบบผลงานส่งเข้าประกวดกว่า 1,000 ผลงาน ก่อนที่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะพิจารณาจากความสวยงาม, ความร่วมสมัย และความคิดสร้างสรรค์ และคัดเลือก 5 ผลงานสุดท้ายนำมาเปิดให้แฟนบอลมาร่วมกันโหวตคัดเลือกผลงาน

จากกว่า 1,000 ผลงาน ท้ายที่สุดแล้วตราสัญลักษณ์ช้างศึกที่ดุดันภายใต้รูปลักษณ์อันล้ำสมัยของ “ต่อพงศ์ บูรณพิเชษฐ์” ได้รับการโหวตทางออนไลน์จากแฟนบอลที่โหวตให้มากถึง 42.96 เปอร์เซ็นต์

โดยเฉือนชนะอันดับ 2 ผลงานของ “อาดิเอ็ต เฟอร์มานส์ยาห์” นักออกแบบชาวต่างชาติที่ได้รับโหวต 40.23 เปอร์เซ็นต์

 

หลังจากนี้สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จะร่วมมือกับ “อินเตอร์แบรนด์” บริษัทที่ปรึกษาเรื่องการสร้างแบรนด์ระดับโลก เพื่อต่อยอดสัญลักษณ์ใหม่ทีมชาติไทย ซึ่งถือเป็นบริษัทที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก และเชี่ยวชาญด้านการวางกลยุทธ์, วิเคราะห์, สร้างมูลค่า บริหารแบรนด์ รวมถึงการออกแบบอัตลักษณ์องค์กรและตราสินค้า ซึ่งมีสำนักงานอยู่ 24 แห่งใน 17 ประเทศ

อินเตอร์แบรนด์จะเข้ามาพัฒนาและสร้างสรรค์ตราสัญลักษณ์ทีมชาติไทยแบบใหม่ โดยจะรวบรวมแนวคิด ต้นแบบบางส่วนหรือทั้งหมดจากผลงานการประกวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นแบบที่ได้รับการโหวตจากแฟนบอลทั้ง 5 แบบ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ และมีรูปแบบเฉพาะตัวขึ้นมา ซึ่งโลโก้ใหม่ช้างศึกจะมีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้

อย่างไรก็ตาม มีแฟนบอลบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้โลโก้ใหม่ เนื่องจากต้องการเห็น “ตราพระมหามงกุฎ” ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ.2458 มาประดับบนหน้าอกซ้ายของชุดแข่งขันทีมชาติไทย เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบิดาแห่งลูกหนังสยาม

สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ได้ชี้แจ้งเรื่องนี้ว่า สำหรับตราพระมหามงกุฎนั้น สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ได้มีการปรึกษากับผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านแล้ว ซึ่งต่างก็ลงความเห็นว่าสมควรจะใช้เฉพาะในโอกาสสำคัญ และอยู่ในจุดที่สูงส่งสง่างามเพื่อความสมเกียรติเท่านั้น

อีกทั้งในการที่ทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ ซึ่ง “สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ” (ฟีฟ่า) ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ชาติสมาชิกจะต้องยินยอมให้ฝ่ายจัดการแข่งขันสามารถนำตราสัญลักษณ์ทีมชาติไปใช้โปรโมตการแข่งขันได้ทันที

ทำให้สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เล็งเห็นว่า เป็นเรื่องที่ไม่ควร หากเกิดกรณีที่ตราพระมงกุฎถูกนำไปวางไว้ในตำแหน่งอันไม่เหมาะสม

แต่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ก็ยังคงให้ความสำคัญกับตราพระมหามงกุฎเช่นกันด้วยการนำไปประดับในจุดอันเหมาะสมบนชุดแข่งขันทีมชาติไทย รวมทั้งยังคงใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของสมาคมสำหรับกิจการ ในลักษณะทางการ

อีกทั้งที่ผ่านมาเคยใช้ตราพระมหามงกุฎติดอกชุดแข่งขันขันทีมชาติไทย ชุดคิงส์คัพ ครั้งที่ 44 เมื่อปี 2559 เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ มาแล้วด้วย

 

สําหรับประวัติสัญลักษณ์ทีมชาติไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ตราพระมหามงกุฎ” ซึ่งมีลักษณะเป็นตราพระมงกุฎครอบลูกฟุตบอล เป็นสัญลักษณ์ทีมชาติไทย เมื่อปี 2458 และใช้มาถึงปี 2475 ซึ่งได้มีการเปลี่ยนการปกครอง จึงได้เปลี่ยนสัญลักษณ์ทีมชาติไทยมาเป็น “ธงไตรรงค์”

หลังจากนั้นมาจนถึงปี 2545 สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จึงได้จัดการประกวดออกแบบสัญลักษณ์ทีมชาติไทยขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้เข้าสู่ยุคของฟุตบอลสมัยใหม่ที่ทีมชาติทั่วโลกต่างมีโลโก้ประจำทีมชาติของตัวเอง ซึ่งในขณะนั้นมีแฟนบอลจำนวนมากต่างสนใจส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 4,000 ผลงาน

จากผลงานกว่า 4,000 ผลงาน มีจำนวนกว่า 2,700 ผลงานที่มีการออกแบบโลโก้เข้ามาเป็นรูปช้าง ซึ่งถือเป็นสัตว์ประจำชาติไทย จนกลายเป็นฉายา “ช้างศึก” โดยท้ายที่สุดแล้วผลงานที่ชนะการประกวดเป็นของ “บำรุง อิศรกุล” ซึ่งนับเป็นบุคคลประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลที่เป็นผู้ออกแบบโลโก้ทีมชาติไทยคนแรก

สัญลักษณ์ทีมชาติไทยดังกล่าวนั้นเป็นรูปหัวช้างที่ชูงวง และมีลูกฟุตบอลอยู่บนงวง ภายใต้พื้นหลังเป็นธงไตรรงค์ในสีแดง, ขาว และน้ำเงิน ก่อนที่จะมีการปรับแต่งโลโก้ดังกล่าวขึ้นเพื่อเพิ่มความดุดันมากยิ่งขึ้นให้สมกับการเป็นช้างศึก

โดยมีการนำโลโกช้างศึกมาใช้ครั้งแรกในฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน “ไทเกอร์ คัพ 2002” และทีมชาติไทยก็สามารถคว้าแชมป์ได้

 

โลโก้ช้างศึกถูกนำมาใช้ต่อเนื่องยาวนานถึง 15 ปีมาจนถึงในปี 2560 สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ยุคใหม่จึงได้จัดการประกวดออกแบบสัญลักษณ์ทีมชาติไทยขึ้นใหม่อีกครั้ง เพื่อเสริมสร้างให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น และจากผลงานกว่า 1,000 ผลงานก็ได้ต้นแบบใหม่ของสัญลักษณ์ทีมชาติไทยดังกล่าวนี้

“พาทิศ ศุภะพงษ์” รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ และโฆษกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ระบุว่า กระบวนการหลังจากนี้อินเตอร์แบรนด์จะนำต้นแบบจากการประกวดไปพัฒนาต่อยอด โดยสมาคมจะให้อิสระในการออกแบบทั้งหมด และเขาจะนำผลงานกลับมาเสนอสมาคม 10 แบบ เพื่อให้เลือก ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤศจิกายนตามสัญญา

“หลังจากที่ได้โลโก้ใหม่ของทีมชาติไทยแล้วเราก็จะนำเสนอให้แฟนบอลได้เห็นว่ามีการนำไปใช้อย่างไร รวมทั้งสมาคมจะต้องนำตราสัญลักษณ์ใหม่นี้เข้าที่ประชุมใหญ่วิสามัญสมาคม เพื่อให้มวลหมู่สมาชิกได้ลงมติเห็นชอบ เพื่อให้เป็นทางการ ซึ่งไทม์ไลน์ที่เราวางไว้โลโก้ใหม่จะถูกนำไปใช้ในชุดแข่งขันใหม่ของทีมชาติไทยในปีหน้า”

พาทิศกล่าว

 

ในปัจจุบันวงการฟุตบอลได้มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ซึ่งวงการฟุตบอลไทยก็จะต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากทุกวันนี้โลกลูกหนังมีมูลค่าทางการตลาดค่อนข้างสูงมาก ทำให้ทุกส่วนประกอบจะมีความสำคัญ รวมทั้งโลโก้ทีมชาติไทยด้วยที่หากปรับให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ก็จะสร้างมูลค่าได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม โลโก้ช้างศึกกำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งจากในอดีตที่ผ่านมาทีมชาติไทยได้เปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์ทีมชาติไทยมาอย่างต่อเนื่องตามยุคตามสมัย มาจนถึงโลโก้ช้างศึกยุคใหม่นี้ที่ในช่วงแรกอาจดูแปลกตาแฟนบอลชาวไทยไปบ้าง แต่สุดท้ายแล้วจะกลายเป็นโลโก้ช้างศึกที่สง่างามแน่นอน

แม้ว่าโลโก้ช้างศึกยุคใหม่จะแปลกตาไปจากที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าจะถือเป็นจุดเริ่มต้นยุคสมัยใหม่ของวงการฟุตบอลไทยที่จะมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น

และเชื่อว่าจะต่อยอดพัฒนาวงการฟุตบอลไทยก้าวไปสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต…