จริงตนาการ แตกต่างไม่แตกแยก ความสัมพันธ์ในทีมของชาติหลากภาษา


“เบลเยียม” ทีมเต็งแชมป์ฟุตบอลโลก 2018 มีนักเตะระดับโลกหลายคนอยู่ในทีม และกำลังกรุยทางเข้าสู่รอบลึกๆ กันอยู่ อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เบลเยียมไม่มีภาษาของตัวเอง และใช้ภาษาของเพื่อนบ้านเป็นภาษาหลัก คือ เยอรมัน, ดัตช์, ฝรั่งเศส แล้วแต่ว่าจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ใด ใช้ภาษาอะไรเป็นหลักในท้องถิ่นนั้นๆ ภาษาที่บรรพบุรุษในตระกูลได้ใช้สืบต่อกันมา

ภาษาดัตช์เป็นภาษาที่ชาวเบลเจียนนิยมใช้มากที่สุด ประมาณ 59 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ เรียกว่า “ฟลานเดอร์ส”

ผู้พูดภาษาฝรั่งเศสได้รับความนิยมรองลงมา 49 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่า “วอลลูนส์” และเยอรมัน 1 เปอร์เซ็นต์

มีประเด็นน่าสนใจว่า ในทีมเบลเยียม นักเตะทั้ง 23 คนใช้ภาษาอะไรในการสื่อสารเป็นภาษากลาง

ขณะที่เฮดโค้ชอย่าง “โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ” เป็นชาวสเปน “เควิน เด บรอยน์” เพลย์เมกเกอร์ตัวเก่ง ใช้ภาษาดัตช์เป็นหลัก ส่วน “เอเดน อาซาร์” กองหน้าคนสำคัญ พูดภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่ แต่ก็สามารถเล่นด้วยกันได้อย่างเข้าขา “โรเมลู ลูกากู” พูดได้ 6 ภาษา อังกฤษ ดัตช์ ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส สวาฮิลี หรือ “แว็งซอง ก็อมปานี” พูดได้ 5 ภาษา เนื่องจากมาจากครอบครัวที่อพยพมาจากประเทศอื่น

มีข้อกำหนดว่าทั้งทีมจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางเวลาอยู่ในสนาม เนื่องจากชาวเบลเจียนส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีอยู่แล้ว ยิ่งมาร์ติเนซเคยทำทีมในอังกฤษมานาน และนักเตะหลายคนเล่นในอังกฤษ ความแปลกแยกด้านภาษาจึงไม่เป็นปัญหา

“ซูซานน์ ฟานฮุยมิสเซ่น” ผู้สื่อข่าวของบีบีซีชาวเบลเยียม บอกว่า การใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในทีมก็เพื่อไม่ให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของแข้งเบลเยียมนั่นเอง


นอกจากเบลเยียมแล้ว “สวิตเซอร์แลนด์” ก็เป็นอีกชาติที่มีความหลากหลายของภาษาที่ใช้ อิตาเลียน, เยอรมัน, ฝรั่งเศส, โรมัน ความต่างของภาษาที่ใช้ในทีมจากแดนนาฬิกาเคยทำให้เกิดการแยกโต๊ะอาหารกันมาแล้ว

“ราม่อน เวก้า” อดีตนักเตะทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างปี 1993-2001 เล่าว่า ช่วงนั้นนักเตะคนไหนใช้ภาษาอะไรก็จะแยกกันไปรวมกลุ่มกินข้าวเที่ยงและข้าวเย็น

“รอย ฮอดจ์สัน” กุนซือของทีมในเวลานั้นมีกฎว่าภาษากลางของทีมเป็นฝรั่งเศส เพื่อให้สื่อสารกันเข้าใจอย่างทั่วถึง

แต่เอาเข้าจริง เมื่อต้องการจะสื่อสารให้แต่ละคนเข้าใจมากที่สุดก็ต้องพูดในภาษาที่นักเตะคนนั้นใช้เป็นภาษาแม่เท่านั้น

มีคนสังเกตว่าทำไมนักเตะเบลเยียมถึงไม่ค่อยร้องเพลงชาติก่อนการแข่งขัน

เดอะซัน สื่ออังกฤษให้คำตอบว่า เพลงชาติเบลเยียมที่ชื่อว่า “ลา บราบองซอนน์” เป็นภาษาฝรั่งเศส และไม่ใช่ว่าทุกคนในประเทศนี้จะใช้ภาษาฝรั่งเศสได้ จึงต้องมีเพลงชาติที่ไม่เป็นทางการในภาษาต่างๆ ด้วย

ทำให้เนื้อร้องอย่างเป็นทางการของลา บราบองซอนน์ ไม่ค่อยถูกจดจำนัก ขนาดว่า อีฟส์ เลอแตร์เม อดีตนายกรัฐมนตรีเคยลืมเนื้อเพลงชาติมาแล้ว

เคลาส์-เจอร์เก้น นาเกล” ผู้เชี่ยวชาญด้านชาตินิยมของมหาวิทยาลัยปอมเปอู ฟาบรา ในเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน บอกว่า ชาวสวิสทั้งหมดยอมรับในความเป็นประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แม้จะมีความแตกต่างทางภาษาหรือชาติพันธุ์ แต่เบลเยียมนั้นต่างออกไป นักกีฬาจะไม่ค่อยมองว่าตัวเองเล่นในฐานะชาวเบลเยียม แต่เล่นเพื่อถิ่นฐานของตัวเองมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ความต่างของภาษาพูดไม่ได้ทำให้สร้างความแปลกแยกในทีมเบลเยียมแต่อย่างใด โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ บอกว่า ตั้งแต่ที่คุมทีมในอังกฤษ เขาไม่มีปัญหากับการซื้อนักเตะเบลเยียมมาเสริมทีม เพราะทุกคนสามารถปรับตัวได้ดี ไม่มีปัญหาในเรื่องการสื่อสาร และไม่มีความต้องการอยากจะเป็นคนสำคัญในทีม เมื่อเข้ามาทำทีมชาติเบลเยียมแล้ว รู้สึกได้ว่าการเข้าแคมป์ทีมชาติแต่ละครั้ง ทุกคนเหมือนได้กลับมาเลี้ยงรุ่น ทำให้มั่นใจอย่างมากว่าทุกคนมีความสุขที่ได้มารวมทีมกัน และห่วงใยซึ่งกันและกัน

ที่สำคัญกว่านั้น ผลงานของเบลเยียมและสวิตเซอร์แลนด์ก็ไปได้สวยในฟุตบอลโลก 2018 ดีไม่ดีอาจไปถึงแชมป์โลกที่มีนักเตะพูดได้หลายภาษามากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ก็ได้