ผ่าแผน”อาเซียน”จัด”บอลโลก” “ความฝัน-ความหวัง-ความจริง”

 

การแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ชิงชัยกันเข้มข้นที่ประเทศรัสเซีย ซึ่งถือเป็นฟุตบอลโลกครั้งประวัติศาสตร์ที่มีสีสันเกิดขึ้นใหม่มากมาย และได้รับความสนใจจากผู้คนกว่าสี่พันล้านคนทั่วโลก

ทำให้เป็นการสร้างมาตรฐานให้กับฟุตบอลโลกครั้งต่อไปในปี 2022 ที่ประเทศกาตาร์จะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพครั้งแรก

มองข้ามไปถึงฟุตบอลโลก 2026 *สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ* (ฟีฟ่า) ได้มีมติเลือกให้ *สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, เม็กซิโก* 3 ชาติจากทวีปอเมริกาเหนือให้เป็น 3 เจ้าภาพร่วมครั้งแรกในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของมหกรรมลูกหนังโลกให้แตกต่างไปจากที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง

ถือเป็นการสร้างความฮือฮา และสร้างความหวังให้ชาติอาเซียนมีโอกาสร่วมมือกันจัดฟุตบอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์เช่นกัน

เนื่องจากย้อนกลับไปชาติอาเซียนไม่เคยจัดฟุตบอลโลกมาก่อนเลย ใกล้เคียงที่สุดคือ 2 ชาติเอเชียอย่าง *เกาหลีใต้* และ *ญี่ปุ่น* เคยร่วมกันจัดเมื่อปี 2002 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้ว

ชาติอาเซียนอย่าง *อินโดนีเซีย, ไทย* และ *เวียดนาม* ต่างแสดงความสนใจ และพร้อมใจกันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2034 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า

ขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์ อีก 2 ชาติชั้นนำอาเซียนเคยให้ความสนใจ แต่กลับถอนตัวไปจากโปรเจ็กต์ใหญ่นี้

สําหรับแนวคิดที่ชาติอาเซียนจะร่วมมือกันจัดฟุตบอลโลก 2034 เคยมีการหยิบยกมานำเสนอเครั้งแรก เมื่อเดือนมกราคม ปี 2011 ในสมัยของ *ไซนุดิน นอร์ดิน* อดีตนายกสมาคมฟุตบอลสิงคโปร์ ได้รายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกอาเซียน จนกลายเป็นประเด็นฮือฮามาแล้ว

แต่เรื่องก็ค่อยๆ เงียบหายไป

ถัดมาเมื่อปี 2013 ไซนุดิน นอร์ดิน และ *โมฮาเหม็ด ไฟซอล ฮัสซาน* ประธานสเปเชียลโอลิมปิกของมาเลเซีย ปัดฝุ่นไอเดียดังกล่าวนี้ให้ชาติอาเซียนตื่นตัวอีกครั้งในการร่วมกันจัดฟุตบอลโลก ซึ่งตามข้อกำหนดของฟีฟ่าจะวนรอบไปมีโอกาสจัดในทวีปเอเชียได้อีกครั้งในปี 2034

แต่เวลาต่อมาทางมาเลเซียถอนตัวจากการเป็นหัวหอกอาเซียน ทั้งที่เป็นชาติแรกที่เสนอแนวคิดนี้ขึ้นมา

จากนั้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2017 ชาติอาเซียนได้มีการเสนอโปรเจ็กต์ดังกล่าวนี้ต่อ *จานนี่ อินฟานติโน่* ประธานฟีฟ่า ซึ่งเดินทางมาเยี่ยมดูงาน ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า

หลังจากเมื่อมาเลเซียถอนตัวไป ทำให้อินโดนีเซียและไทย ออกตัวเป็นหัวเรือใหญ่แทน รวมกับเวียดนาม อีกหนึ่งชาติที่เข้ามาเป็นพันธมิตรเตรียมพร้อมจับมือกันยื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034

ซึ่งถือเป็นการออกตัวเป็นเจ้าแรกก่อนชาติอื่นอีกด้วย

อินโดนีเซียเป็นชาติแรกจากเอเชีย และชาติเดียวของอาเซียนที่เคยเข้าร่วมฟุตบอลโลกปี 1938 แข่งขันแบบน็อกเอาต์ 16 ทีม แต่ลงเตะเพียงนัดเดียว แพ้ฮังการี 0-6 ขณะที่ไทย และเวียดนาม ยังไม่เคยไปสัมผัสฟุตบอลโลก อินโดนีเซียจึงเสนอตัวเป็นแกนหลัก เพราะพอจะมีดีกรีให้อ้างถึงได้ไม่มากก็น้อย

แต่นอกเหนือ 3 ชาติอาเซียนแล้ว ยังมี 3 ชาติมหาอำนาจเอเชียอย่าง *จีน, เกาหลี* และ *ญี่ปุ่น* ออกมาประกาศความสนใจที่จะเสนอตัวจัดฟุตบอลโลก 2034 แล้วเช่นกัน โดยจีนคาดหวังเป็นอย่างมากกับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งแรก ขณะที่เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ต่างหวังที่จะจัดฟุตบอลโลกเป็นสมัยที่ 2 ของตัวเอง

*ชุง มอง กิว* นายกสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ ได้ยื่นข้อเสนอย้ำกับสมาคมฟุตบอลเกาหลีเหนือ, สมาคมฟุตบอลจีน และสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ในการประชุมฟีฟ่า คองเกรส 2018 ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า เกาหลีใต้, เกาหลีเหนือ, จีน และญี่ปุ่น หวังที่จะร่วมกันจัดศึกเวิลด์คัพ 2034

นอกจากนี้ ยังมีซิมบับเว ชาติจากทวีปแอฟริกากลางก็ให้ความสนใจบิดเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034 เช่นกัน โดยเมื่อปี 2014 วัลเตอร์ เอ็มเซมบี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมกิจการบริการของซิมบับเวในขณะนั้น เคยเปิดเผยแผนการยื่นเสนอเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกมาแล้วด้วย

โอกาสของชาติอาเซียนในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกถือว่ามีความเป็นไปได้อยู่พอสมควร แต่สิ่งสำคัญจะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการแข่งขันให้ยกระดับเพิ่มขึ้นให้ได้ตามมาตรฐาน โดยเฉพาะเรื่องสนามแข่งขัน และสถานที่รองรับคนที่จะเข้ามาเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

ในส่วนของประเทศไทย *พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง* นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้มีการเข้าหารือกับ *วีระศักดิ์ โควสุรัตน์* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถึงกรณีความเป็นได้ในการที่ประเทศไทยจะจับมือกับชาติอาเซียนในการร่วมกันจัดฟุตบอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์นี้

นายกลูกหนังไทยได้มอบแผนพัฒนาฟุตบอล 20 ปีให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมกับได้มีการนำเสนอเรื่องการสร้างสนามกีฬาที่ได้มาตรฐาน เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรายการต่างๆ ในอนาคต อาทิ ฟุตบอลโลก 2034 ซึ่งควรจะต้องมีระบบขนส่งมวลชนที่เข้าถึง และระบบสาธารณูปโภคที่ครบครัน

พล.ต.อ.สมยศระบุว่า ความเป็นไปได้ที่ชาติอาเซียนจะร่วมกันจัดฟุตบอลโลก 2034 นั้น เชื่อว่าจากนี้วัฒนธรรมการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจะเปลี่ยนไปหลังฟุตบอลโลก 2026 มีถึง 3 ชาติ หากการเป็นเจ้าภาพวนกลับมาที่เอเชีย แน่นอนว่าจีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น ย่อมมีโอกาสมาก แต่ชาติเล็กอย่างไทยจะต้องมีการรวมกัน และต้องมีความพร้อมเสียก่อน

“ก่อนอื่นเราต้องพร้อมในด้านต่างๆ เสียก่อน โดยเฉพาะเรื่องการสร้างสนามกีฬาที่มีมาตรฐาน ซึ่งผมได้มารายงานต่อรัฐบาลแล้ว เพราะเท่าที่ทราบตอนนี้ความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยมีเพียงสนามราชมังคลากีฬาสถานแห่งเดียวที่ได้มาตรฐานเท่านั้น ผมจึงเตรียมพร้อมไว้เพื่ออีก 10-20 ปีข้างหน้า” พล.ต.อ.สมยศกล่าว

ไม่ว่าความเป็นไปได้ที่ชาติอาเซียนจะได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2034 จะเป็นเช่นไร แต่อย่างน้อยก็ยังได้มีการคิดริเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อก้าวเดินไปสู่อนาคตข้างหน้าในอีก 16 ปี และในระหว่างทางนี้ก็จะสร้างความตื่นตัวในการยกระดับวงการลูกหนังอาเซียนได้อย่างแน่นอน

ท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2034 ในย่านอาเซียนจะเป็นเพียง “ความฝัน” แต่แนวคิดนี้จะเป็น “ความหวัง” ในการยกระดับพัฒนาวงการลูกหนังอาเซียนให้ก้าวเดินร่วมกันไปข้างหน้าไปตาม “ความจริง”

แม้ว่า “ความฝัน” จะไม่เกิดขึ้นเป็น “ความจริง” แต่เชื่อว่า อนาคตจะได้เห็นความตื่นตัวในวงการฟุตบอลอาเซียนช่วง 16 ปีต่อจากนี้อย่างแน่นอน…

แม้ว่า “อาเซียน” จะไม่ได้เป็นเจ้าภาพจัด “ฟุตบอลโลก” แต่เชื่อว่า อนาคตจะมีตัวแทนจากอาเซียนผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกเป็นทีมต่อไปได้อย่างแน่นอน…