“พวงเพ็ชร” ดึงพลังสายมู-สายบุญ ลุยสร้างซอฟต์พาวเวอร์เชิงศาสนา-อุปถัมภ์สงฆ์ให้มั่นคง

หลายคนอาจจะพอทราบมาบ้างว่า ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับการขนานนามว่า “มาดามสายมู” ที่บ้านสวนบางเขนนั้นมี “พระราหู” ซึ่งผ่านการทำพิธีปลุกเสกแบบเต็มรูปแบบ จนเหล่านักการเมือง นักธุรกิจ เซเลปพากันเข้าออกบ้านมาขอพรกันไม่ขาดสาย ซึ่งไม่ได้แค่มูเตลูเท่านั้น “สายธรรม” ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อน เพราะเจ้าตัวนั้นเป็นผู้นำกลุ่มก๊วนทัวร์ทำบุญไหว้พระอยู่เป็นประจำ เรียกว่าการได้มากำกับดูแล “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” นั้นถือว่าเข้ามือสุดๆ เพราะเป็นแพชชั่น (passion) ของเจ้าตัวโดยตรง


“อารามภิรมย์
เที่ยวทางธรรม
ตามรอยพลังแห่งศรัทธา
กระตุ้นซอฟต์พาวเวอร์     

ดร.พวงเพ็ชร เผยว่า ประเทศไทยเรามีภาคการท่องเที่ยวเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งในบรรดาวัดทั่วประเทศกว่า 40,000 วัดนั้นต่างก็มีจุดเด่นหลายด้าน เช่น บางวัดมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม บางวัดมีความเก่าแก่กว่าร้อยปี บางวัดตั้งอยู่ในภูมิทัศน์ที่สวยงาม มีพุทธพิธีที่มีสตอรี่ (story) เป็นของตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถผลักดันให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมะ สร้าง “พลังศรัทธาทางศาสนา” ต่อยอดสนับสนุนการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เชิงศาสนา ดึงดูดผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ร่วมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย

นำมาสู่โครงการ “อารามภิรมย์” ซึ่งทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินการ “พัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนและเป็นแหล่งท่องเที่ยว” เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าวัดมากขึ้น เห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนาที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต  โดยให้วัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ กระจายรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่

โดยมีแผนเเปิดตัววัดที่เข้าร่วมโครงการในระยะที่ 1 จำนวน 571 วัด ระยะที่ 2 จำนวน 2,622 วัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยจะมีการแบ่งความโดดเด่นของวัดที่เข้าร่วมโครงการออกเป็น 4 ประเภท คือ

1.วัดที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่น 2.ตามรอยเส้นทางศรัทธา คือ วัดที่มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง 3.มรรคา ธรรมชาติสงบ คือ วัดที่มีพื้นที่ธรรมชาติที่สวยงาม สงบ ร่มรื่น และ 4.พบวิถีแห่งธรรม คือ วัดที่มีชื่อเสียงในด้านการสอนปฏิบัติธรรม โดยตัวอย่างวัดเด่นน่าเที่ยวที่ห้ามพลาดได้แก่

วัดถ้ำผาแด่น ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน บ้านดงน้อย ต.ดงมะไฟ อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร เป็นวัดเก่าแก่ ภายในบริเวณวัดร่มรื่นไปด้วยต้นไม้และโขดหินขนาดใหญ่ เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนา ในอดีตมีพระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐานหลายองค์มาจำพรรษาและปฏิบัติธรรมที่วัดนี้ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

ภายในวัดมีประติมากรรมแกะสลักหินทรายขนาดใหญ่ เช่น พระพุทธสีหไสยาสน์ พุทธประวัติประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน รอยพระพุทธบาทจำลอง หลวงปู่ทวดองค์ใหญ่ ซึ่งแกะจากหินขนาดใหญ่ทั้งก้อน พญาครุฑเวสสุวรรณ ด้านบนมีเจดีย์ตั้งอยู่บนก้อนหินสีทองโดดเด่น เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุตามคติในศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา และยังมีลานชมทิวทัศน์ที่มองเห็นตัวเมืองสกลนครและทะเลสาบหนองหารได้แบบ 180 องศา

นากจากนี้ ยังสามารถดูรายชื่อวัดในโครงการ “อารามภิรมย์” ทั่วประเทศ
ได้โดยสแกน QR CODE นี้

“พระคิลานุปัฏฐาก-กุฏิชีวาภิบาล”
เพื่อสงฆ์ไทยสุขภาพดี จนวาระสุดท้าย

อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) แล้ว ในวงการสงฆ์เองก็เช่นกัน เมื่อสังขารร่วงโรย โรคภัยเริ่มมาเยือน จากรายงานของโรงพยาบาลสงฆ์ ปี 2566 พบว่าทั่วประเทศมีพระสงฆ์-สามเณรราว 240,000 แสนรูป กว่าร้อยละ 50 เป็นผู้สูงอายุ-อาพาธโรคเรื้อรัง โดยในจำนวนนี้เป็นพระอาพาธระยะท้ายจำนวนกว่า 9,000 รูป

และเมื่อพระอาพาธ ส่วนใหญ่พระจะต้องลาสิกขาเพื่อออกไปรักษาตัว แต่พระชรา หรือพระที่มีพรรษานานไม่อยากสึก จึงนำไปสู่โครงการ “พระคิลานุปัฏฐาก” (อ่านว่า คิ-ลา-นุ-ปัด-ถาก) หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว) ช่วยให้การอภิบาลในหมู่สงฆ์สะดวกและง่ายขึ้น โดยปัจจุบันมีพระสงฆ์ที่ได้รับการอบรมพระคิลานุปัฎฐากแล้วมากกว่า 4,000 รูป

โดย ดร.พวงเพ็ชร เผยว่า ที่ผ่านมามีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคี ภายใต้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ร่วมกันผลักดันนโยบายด้านการดูแลพระสงฆ์อย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุมทั้งการให้ความรู้ส่งเสริมสุขภาพ และการเข้าถึงสิทธิการรักษา เช่น โครงการส่งเสริมพระคิลานุปัฏฐากดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น การจัดทำสมาร์ตการ์ดพระภิกษุและสามเณร ซึ่งนอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาพระปลอมแล้ว ยังเป็นการจัดเก็บข้อมูลเป็น Big Data สามารถเชื่อมโยงข้อมูลพระภิกษุและสามเณร ให้ได้รับการบริการสาธารณสุขและสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมี โครงการ “กุฏิชีวาภิบาล” เพื่อเป็นสถานที่ดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย โดยนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Virtual Hospital) มาสนับสนุนการให้บริการและพัฒนาศักยภาพพระคิลานุปัฏฐาก ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการอุปัฏฐากพระสงฆ์อาพาธที่เอื้อต่อพระธรรมวินัยให้กับบุคลากรในพื้นที่ และส่งเสริมบทบาทของพระสงฆ์ด้านสุขภาวะชุมชน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ก.พ. ที่ผ่านมา ดร.พวงเพ็ชร ได้ร่วมพิธีเปิดกุฏิชีวาภิบาลวัดจันทาราม (ท่าซุง) จ.อุทัยธานี เพื่อเป็นกุฏิชีวาภิบาลนำร่อง สำหรับดูแลพระสงฆ์อาพาธที่เอื้อต่อพระธรรมวินัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพระสงฆ์ที่มีภาวะพึ่งพิง มีพระสงฆ์เป็นผู้ดูแล ร่วมกับฆราวาส นักบริบาลและทีมสหวิชาชีพของ รพ.สต.น้ำซึม และรพ.อุทัยธานี โดยมีเป้าหมายจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาล อำเภอละ 1 แห่ง

 

 

เร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ์
แก้ปัญหา “ที่ดินวัด” ทั่วประเทศ

ประเด็น “เอกสารสิทธิ์ที่ดินวัด” เป็นประเด็นปัญหามาช้านาน เนื่องจากวัดหรือที่พักสงฆ์หลายแห่ง ปลูกสร้างในเขตที่ดินของทางราชการต่างๆ ทั้งในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพราะในสมัยก่อน ยังไม่มีการจัดระบบการออกเอกสารสิทธิ์ จึงทำให้วัดหลายแห่งไม่มีหลักฐานสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน

ซึ่งแม้ว่าที่พักสงฆ์เหล่านั้นจะมีถาวรวัตถุมั่นคง ครบถ้วน เพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถดำเนินการขอสร้างวัดตั้งวัดให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติของคณะสงฆ์ได้ ทั้งนี้ เพราะที่ดินตั้งวัดนั้นยังไม่ได้รับการอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ หรือกฎหมาย ของส่วนราชการนั้นๆ ดังนั้น  การสร้างวัดตั้งวัดในที่ดินของทางราชการจึงต้องดำเนินการขออนุญาตใช้ที่ดินจากทางราชการที่มีหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินนั้น ๆ ก่อน

โดยกรณีที่ถูกพูดถึงล่าสุดเกิดขึ้นที่ จ.สกลนคร ซึ่งมีการขออนุญาตใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อตั้งวัดตามกฎหมายในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ที่มีอยู่จำนวน 20 แห่ง และแม้วัดและที่พักสงฆ์ดังกล่าวได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 และได้ขออนุญาตใช้ที่ดินมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับพิจารณาแต่อย่างใด ทำให้พระสงฆ์และชาวบ้านในชุมชนไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาได้

จนกระทั่งล่าสุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ดร.พวงเพ็ชร เร่งแก้ปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด โดยได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย  กรมป่าไม้ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสกลนคร และได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาด้วยตนเอง จึงทำให้สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้คณะสงฆ์และประชาชนได้ทั้ง 10 แห่ง โดยนายกฯ ได้เข้าร่วมพิธีมอบใบอนุญาตทำประโยชน์ในพื้นที่ของราชการให้ในวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา

ถือได้ว่า จ.สกลนคร เป็นโมเดลหนึ่งในการแก้ไขปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินของวัด สามารถนำไปขยายผลในอีกหลายวัดทั่วประเทศ เป็นการบูรณาการเกื้อหนุนกันระหว่างวัด รัฐ ชุมชนอย่างแท้จริง