ทร.-ทอ. แข็งข้อ ขวางอำนาจ ‘บิ๊กตู่’ ดัน ‘บิ๊กดุง-บิ๊กไก่’ สู้ ‘บิ๊กวิน-บิ๊กหนึ่ง’ ศึก 2 ลุง ชิง กห.

ทร.-ทอ. แข็งข้อ ขวางอำนาจ ‘บิ๊กตู่’ ดัน ‘บิ๊กดุง-บิ๊กไก่’ สู้ ‘บิ๊กวิน-บิ๊กหนึ่ง’ ศึก 2 ลุง ชิง กห. ‘เสธ.หนุ่ย’ ข้ามห้วย

โผทหารช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เปลี่ยนนายกรัฐมนตรี อีกทั้งประกาศวางมือทางการเมืองแล้ว ไม่ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกแล้ว พลังอำนาจของบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็แผ่วลงทันที

ปรากฏชัดจากการที่ ผบ.เหล่าทัพส่อไม่ฟังคำแนะนำ และข้อทักท้วงในเรื่องการจัดทัพ จัดวางตัว ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.หน่วยสำคัญๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ยึดตามที่ได้เสนอมา โดยไม่ยอมให้มีเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะ ทร. และ ทอ.

เนื่องจากมีการหารือกันนอกรอบอย่างไม่เป็นทางการกันมาหลายครั้ง จนที่สุดมาเคาะครั้งสุดท้ายเมื่อ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่กลาโหม ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

เพราะต้องไม่ลืมว่า ผบ.เหล่าทัพชุดปัจจุบัน แม้กำลังจะเกษียณ แต่ก็ล้วนเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 22 ด้วยกันหมด ทั้งบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. บิ๊กจ๊อด พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. และบิ๊กตุ๊ด พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทอ.

หากจับมือกันในการโหวตลงคะแนน ในการประชุมบอร์ดแต่งตั้งโยกย้ายนายพล หรือ 7 เสือกลาโหม ผบ.เหล่าทัพ ก็จะมีถึง 3 เสียง ที่มากกว่าฝ่ายการเมือง ที่มีแค่ รมว.กลาโหม และ รมช.กลาโหม

ส่วนปลัดกลาโหม บิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ (ตท.24) และบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด รุ่นพี่ ตท.21 ก็คงจะงดออกเสียง มากกว่าที่จะโหวตช่วย พล.อ.ประยุทธ์ เพราะจะเป็นการก้าวก่ายเหล่าทัพอื่น ดังนั้น ผบ. 3 เหล่าทัพจะชนะ หากต้องโหวต

แต่เพื่อไม่ให้เสียบรรยากาศในความสัมพันธ์พี่น้องสายเลือดเตรียมทหาร บอร์ด 7 เสือกลาโหม ก็หลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องถึงขั้นโหวต และไม่เคยถึงขั้นต้องโหวต

อีกทั้งตลอด 4 ปีที่เป็น รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่เคยล้วงลูกโผทหาร เพราะจะให้อำนาจ ผบ.เหล่าทัพ ยกเว้นในบางกรณีที่เห็นว่าไม่เหมาะสม ไม่ชอบธรรม จนหลายครั้งทำให้เกิดปัญหาตามมา

พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข,พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์,พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม,พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์

ที่ถูกจับตาที่สุด คือ ผบ.ทร. ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า พล.ร.อ.เชิงชาย ตัดสินใจที่จะเสนอชื่อบิ๊กดุง พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.กองเรือยุทธการ ขึ้นเป็น ผบ.ทร.คนใหม่ ตามแรงสนับสนุนของบิ๊กเฒ่า พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย อดีต ผบ.ทร. ผู้มีพระคุณ ที่เป็นคนแต่งตั้งให้เป็น ผบ.ทร.

และจะถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี ที่มี ผบ.กองเรือยุทธการ ขยับตรงขึ้นมานั่งเป็น ผบ.ทร.เลย จากเดิมที่ต้องขยับขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทร.ก่อน

แต่เพราะ พล.ร.อ.อะดุง เหลืออายุราชการแค่ปีเดียวเท่านั้น และเป็นตัวเลือกที่มีคอนเน็กชั่นกับบ้านป่ารอยต่อฯ และอดีตบิ๊กๆ ทร. จึงมีแรงหนุนมากกว่า เสธ.โอ๋ พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสธ.ทร. เพื่อน ตท.23 ที่มีอายุราชการเหลือ 2 ปี

แม้ พล.ร.อ.เชิงชาย จะมีความสนิทสนมส่วนตัวกับ พล.ร.อ.ชลธิศ ก็ตาม แต่ก็ต้องยอมเลือก พล.ร.อ.อะดุง มาสู้กับ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข ผช.ผบ.ทร. รุ่นน้อง ตท.25 ที่มีอายุราชการเหลือ 2 ปี และอาวุโสกว่า เพราะติดยศพลเรือเอก และพลเรือโทก่อน แถมเติบโตมาในสายคอมแมนด์ทุกตำแแหน่ง

แต่ทว่า พล.ร.อ.เชิงชาย ก็ยกเหตุผลการเป็นรุ่นพี่ และติดยศพลเรือตรี จะไม่ใช่ตำแหน่งหลักก็ตาม แม้ว่าในทางทหารจะนับอาวุโสก่อน พล.ร.อ.สุวิน แม้ว่าเปรียบเทียบอาวุโส จะดูจาก พลเอก พลโท ใครติดยศก่อน แต่หากพร้อมกัน ก็ให้ไล่ลงไปดูยศพลตรี

แต่มีการต่อรองให้ พล.ร.อ.อะดุง ซึ่งเป็นรุ่นพี่ เกษียณ 2567 เกษียณก่อน ขณะที่ พล.ร.อ.ชลธิศ และ พล.ร.อ.สุวิน เกษียณ 2568 พร้อมกัน จึงขอให้ พล.ร.อ.อะดุง เป็นก่อน

ดังนั้น พล.ร.อ.เชิงชาย จึงแข็งข้อ ยืนยันชื่อที่เสนอเดิม ไม่ใช่เสนอเพื่อไปอ้างกับผู้มีพระคุณเท่านั้น แต่หวังผลจริง เพราะมี “ทีมกุนซือ” ที่เป็นอดีต ผบ.ทร. เป็นกองหนุน ไม่ให้ยอมเหมือนการแต่งตั้ง ผบ.ทร.หลายยุคที่ผ่านมา

พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม,พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์,พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์

ด้วยเพราะรู้จุดอ่อนของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่หาก ผบ.เหล่าทัพไม่ยอม ก็จะไม่ฝืน แม้ว่าที่ผ่านมา จะเคยไฟเขียวให้บิ๊กอุ้ย พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร. เปลี่ยนชื่อ ผบ.ทร. มาเป็นบิ๊กเฒ่า พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย รองปลัดกลาโหม ข้ามกลับไปเป็น ผบ.ทร.มาแล้ว และต่อมาก็ไฟเขียวให้ พล.ร.อ.สมประสงค์ ดึง พล.ร.อ.เชิงชาย กลับจากรอง เสธ.ทหาร มาเป็น ผช.ผบ.ทร. แล้วขึ้น ผบ.ทร.

กล่าวกันว่า งานนี้ พล.ร.อ.เชิงชาย มีความแยบยลในการเจรจาต่อรองกับ พล.อ.ประยุทธ์ จากที่เห็นว่า พล.ร.อ.สุวิน มีความเหมาะสมในการเป็น ผบ.ทร.มากกว่า ทั้งอาวุโส และเส้นทางรับราชการในสายประดู่เหล็ก แต่มีการแย้งเรื่องรุ่นพี่รุ่นน้อง ตท.23 และ ตท.25 แม้ว่าจะเกษียณเท่ารุ่นพี่ก็ตาม

ผลออกมาจึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยอมพบกันครึ่งทาง คือ ยอมให้ พล.ร.อ.อะดุง เป็น ผบ.ทร. 1 ปี แล้วให้ พล.ร.อ.สุวิน ขึ้นรอง ผบ.ทร.จ่อไว้

แต่ก็ยังวางหมากให้ พล.ร.อ.ชลธิศ ขยับจาก เสธ.ทร. ขึ้น ผช.ผบ.ทร. เพื่อรอชิง ผบ.ทร.ในปีหน้า กับ พล.ร.อ.สุวิน อีกครั้ง ที่เปรียบเสมือนช่วงพักยก แล้วมาสู้กันใหม่ในปลายปีหน้า เพราะในเวลานั้น พล.ร.อ.สุวิน จะอาวุโสที่สุดอีกครั้ง

พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข,พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์

แต่ทว่า การวางหมากของ พล.ร.อ.เชิงชาย และ พล.ร.อ.สมประสงค์ นั้นได้วางตัวบิ๊กน้อย พล.ร.อ.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง หัวหน้าคณะนายทหารฝ่าย เสธ.ประจำ ผบ.ทร. ขึ้นมาเป็น ผบ.กองเรือยุทธการ เพื่อรอขึ้น ผบ.ทร. ต่อจาก พล.ร.อ.อะดุง เพราะทั้ง พล.ร.อ.สุวิน พล.ร.อ.ชลธิศ และ พล.ร.อ.วรวุธ เกษียณกันยายน 2568 พร้อมกัน ที่จะชิง ผบ.ทร.ในกันยายนหน้าอย่างเข้มข้น

ในเวลานั้น หากพลังของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่แข็งแกร่ง หรือหมดอำนาจ สัญญาใจที่มีกับ พล.ร.อ.เชิงชาย ก็คงสิ้นสลายไปด้วย เพราะ พล.ร.อ.อะดุง ไม่ได้ไปสัญญิงสัญญาอะไรกับ พล.อ.ประยุทธ์ไว้

หากดูที่สายสัมพันธ์ พล.ร.อ.สมประสงค์ อดีต ผบ.ทร. ผู้มีพระคุณของ พล.ร.อ.เชิงชายแล้ว มีความแนบแน่นกับ พล.ร.อ.วรวุธอย่างมาก เพราะเคยเป็นฝ่าย เสธ. สมัยที่บิ๊กห้าว พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ เป็น ผบ.ทร.มาด้วยกัน

พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม

นอกจาก ตท.23 จะพยายามยึดทุกเก้าอี้ ผบ.เหล่าทัพ แต่ก็ไม่อาจมองข้ามพลังของ ตท.24 ที่มี พล.อ.สนิธชนก และ พล.อ.ทรงวิทย์ เป็นแกนนำ ที่จะดันเพื่อนร่วมรุ่นขึ้นด้วย

จึงทำให้ชื่อของบิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี พัฒนกุล ผช.ผบ.ทอ. แกนนำ ตท.24 มาแรงในตำแหน่ง ผบ.ทอ.คนใหม่ หลังจากที่มีข่าวสะพัดว่า พล.อ.อ.อลงกรณ์ เสนอชื่อ พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี เป็น ผบ.ทอ.คนใหม่ ด้วยเพราะโผแรกเสนอชื่อบิ๊กณะ พล.อ.อ.ณรงค์ อินทชาติ เสธ.ทอ. เป็น ผบ.ทอ. ตามสัญญาใจที่มีกับบิ๊กป้อง พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ อดีต ผบ.ทอ. ผู้มีพระคุณ

แต่เมื่อไม่ผ่านด่านแรก เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการนายทหารที่เก่งด้านยุทธการ มาแก้ปัญหาเครื่องบินรบของ ทอ. อย่างบิ๊กหนึ่ง พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา รอง ผบ.ทอ. และยังอาวุโสที่สุดด้วย

ดังนั้น พล.อ.อ.อลงกรณ์ จึงเสนอชื่อ พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี ที่มีอายุราชการ 2 ปี และเก่งงานยุทธการ และทำโครงการเอฟ 35 มาก่อน ชึ้นมาเสนอสู้แทน ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับครอบครัวนายกฯ ด้วย

แต่แหล่งข่าวใกล้ชิดยืนยันว่าไม่มีคอนเน็กชั่นกับนายกฯ แต่อย่างใด

พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี พัฒนกุล

ในการเจรจาจัดโผทหารครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เจอของแข็ง เพราะทั้ง ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ. ไม่ยอมฟังเหตุผลใดๆ อาจเพราะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำลังจะหมดอำนาจ และวางมือทางการเมือง

แต่หลังจาก ส.ว.สาย พล.อ.ประยุทธ์ โหวตเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี แบบท่วมท้น ในขณะที่ ส.ว.สายบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พี่ใหญ่ ส่วนใหญ่งดออกเสียง มีแค่บางคนที่โหวตเห็นชอบเท่านั้น อันเป็นการสะท้อนพลังภายในของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำให้พรรคเพื่อไทยมั่นใจ จนให้ความสำคัญกับพรรครวมไทยสร้างชาติ และขั้วอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์

จนมีข่าวว่า พรรคเพื่อไทยไว้วางใจให้ พล.อ.ประยุทธ์คุมกองทัพให้ เพื่อถอดสลักรัฐประหาร แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเคยเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ และเพื่อคานอำนาจทหารในสาย พล.อ.ประวิตร

เพราะฝ่าย พล.อ.ประวิตร ก็ต้องการต่อรอง ขอคุมกองทัพ เพราะวางตัวบิ๊กน้อย พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา น้องรัก เป็น รมว.กลาโหม

แต่มีแนวโน้มว่า พรรคเพื่อไทยที่จะยึดโควต้า รมว.กลาโหม แต่จะเลือกนายทหารอาชีพมาเป็น รมว.กลาโหม

พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์

ก่อนหน้านี้ เคยมีชื่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ จะมาเป็น รมว.กลาโหม เพราะเป็นลูกทหาร ชอบเรื่องทหาร เคยจะสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร เป็นสายตรง พล.อ.ประยุทธ์ และบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. แต่เจ้าตัวปฏิเสธไปแล้ว

จนมีชื่อบิ๊กนัย พล.อ.สุนัย ประภูชะเนย์ อดีต ผช.ผบ.ทบ. และ ผบ.นสศ. แกนนำ ตท.21 เพื่อนร่วม พล.อ.เฉลิมพล และยังเป็นสายตรงบิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี และอดีต ผบ,ทบ.

แต่ที่ถูกจับตามองมากที่สุด บิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ อดีตเลขาฯ สมช. และอดีตรอง ผบ.ทบ. แกนนำ ตท.20 สายตรงที่ พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อมือเพราะทำงานร่วมกันมาตอนยุคโควิด เพราะถือเป็นทหารอาชีพ แต่ก็สะท้อนความสำคัญของฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์

ขณะที่โผทหารโผนี้ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ร่วมพิจารณาเป็นครั้งสุดท้าย ในฐานะ รมว.กลาโหม ก็ยังมีการวางตัวนายทหารมาดูแลกองทัพต่อ

นอกจาก พล.อ.เจริญชัย เป็น ผบ.ทบ.คนใหม่แล้ว ก็ยังส่งบิ๊กหนุ่ย พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ ที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. แกนนำ ตท.24 สายบูรพาพยัคฆ์คอแดง ข้ามจาก ทบ. ไปเป็นเสนาธิการทหาร ที่ บก.กองทัพไทย เพื่อจ่อคิวเป็น ผบ.ทหารสูงสุดคอแดง คนที่ 3 ต่อจาก พล.อ.ทรงวิทย์ ที่เกษียณ 2568

แต่มีการจัดโควต้าแลกเปลี่ยนใหม่ เพราะเมื่อ พล.อ.ทรงวิทย์ ขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุดคนใหม่ ทำให้ ทบ.ไม่ต้องส่งพลเอกมาเป็นรอง ผบ.ทหารสูงสุด แต่ให้เป็นโควต้าของคนใน เพราะ พล.อ.ทรงวิทย์ มาอยู่ บก.ทัพไทย ในโควต้า ทบ.

แต่จะมีแลกเปลี่ยนคือ เมื่อส่ง พล.อ.ธราพงษ์ มาเป็น เสธ.ทหาร แล้วก็ต้องรับพลเอกกลับไป ทบ. โดยคาดว่าจะเป็นบิ๊กบุ๋ม พล.อ.สุวิทย์ บุตรศรี ผอ.ศปร. มาเป็นที่ปรึกษาพิเศษ ทบ.

ดังนั้น หากสายตรง พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็น รมว.กลาโหม ก็จะได้ดูแลกองทัพต่อเนื่อง และจะได้ร่วมจัดโผทหารต่อ

และจะเป็นคนคุมเกม คุมความมั่นคงให้รัฐบาลของนายเศรษฐา เพราะก็ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็นคนสำคัญ สนับสนุน และทำให้นายเศรษฐาได้เป็นนายกรัฐมนตรี จากเสียง ส.ว.สาย พล.อ.ประยุทธ์

พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ

รอยร้าวของพี่น้อง 2 ป. ที่ร้าวลึกขึ้นจากการจัดตั้งรัฐบาล การจัดสรรเก้าอี้ รมต. และการโหวตนายกฯ ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในเสถียรภาพของรัฐบาลเศรษฐา 1 ได้ เพราะไม่อาจหยั่งรู้แผนของ พล.อ.ประวิตร เพราะแม้จะร่วมรัฐบาล แต่อาจไม่พอใจเรื่องเก้าอี้ รมต. และความหมางใจกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่ยอมจับมือกันเพื่อต่อรอง

ไม่แค่นั้น ยังถูกมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สนับสนุน พล.อ.ประวิตร ให้เป็นนายกฯ ทั้งๆ ที่โอกาสใกล้เข้ามา เพราะหาก ส.ว.ทั้งสาย 2 ลุง ไม่โหวตให้นายเศรษฐา โอกาสจะมาถึงพรรคภูมิใจไทย พรรคอันดับ 3 และเชื่อว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล จะไม่เป็นนายกฯ เอง หากได้เก้าอี้ มท.1 และ รมว.คมนาคม แต่จะให้ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ

แต่ทุกอย่างพังทลายเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไฟเขียว ส.ว.ให้โหวตหนุนนายเศรษฐาเป็นนายกฯ นั่นเอง

แต่ด้วยศักดิ์ศรีความเป็นพี่ใหญ่ แม้จะถูกมองว่า บารมี อำนาจถดถอยลง โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นมามีบารมีแทนที่ก็ตาม แต่ พล.อ.ประวิตร คงยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เพราะก็ยังมีคอนเน็กชั่นกับในหลายองค์กร ที่อาจแสดงอิทธิฤทธิ์ หรือแผลงฤทธิ์ในวันใดวันหนึ่งก็เป็นได้

แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถอยไปอยู่เบื้องหลังแล้ว ยังคงคุมเชิงกองทัพอยู่ ก็จะเป็นหลักประกันของรัฐบาลเศรษฐาได้ โดยไม่ต้องเจอจุดจบแบบ 2 พี่น้องชินวัตร อดีตนายกฯ

นั่นหมายถึง การยอมเอาอนาคตไปฝากไว้กับ พล.อ.ประยุทธ์เลยทีเดียว