คุยกับทูต | ดาโต๊ะ โจจี แซมูเอล ครบรอบ 66 ปี วันชาติมาเลเซีย

สําหรับชาวมาเลเซียแล้วการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของทุกปี คือการฉลองวันชาติมาเลเซียซึ่งตรงกับวันที่ 31 สิงหาคม ชาวมาเลเซียยังเรียกวันนี้ว่า วันเมอเดคา (Merdeka Day) ซึ่งแปลว่าวันแห่งอิสรภาพนั่นเอง โดยในปีนี้ตรงกับปีที่ 66 ของการเฉลิมฉลองวันชาติมาเลเซีย

“มาเลเซียฉลองวันชาติครบรอบ 66 ปีอย่างภาคภูมิใจ มาเลเซียได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1957 และหกปีต่อมา ในวันที่ 16 กันยายน 1963 มาเลเซียก่อตั้งขึ้นโดยรวมกับรัฐซาราวักและซาบาห์”

ดาโต๊ะ โจจี แซมูเอล (H.E. Datuk Jojie Samuel) เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย และในปัจจุบันรับหน้าที่เป็นคณบดีคณะทูต ให้สัมภาษณ์มติชนสุดสัปดาห์เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 66 วันชาติมาเลเซีย

“ในมาเลเซีย การเฉลิมฉลองจะเน้นไปในรูปแบบต่างๆ เช่น ขบวนพาเหรด การชักธงชาติมาเลเซียตามบ้าน ที่พักอาศัย ยานพาหนะ และสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเราจะอยู่ ณ ที่แห่งใด จิตวิญญาณของการเฉลิมฉลองเนื่องในวันชาตินี้จะอยู่คู่กับชาวมาเลเซียทุกคนตลอดไป”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ สถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำกรุงเทพฯ ได้ริเริ่มในการร่วมมือกับตึกใบหยกและสยามพารากอนด้วยการแสดงธงชาติมาเลเซียวันที่ 31 สิงหาคม โดยพิธีชักธงจะจัดขึ้นในวันเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรวมใจในความรักชาติของชาวมาเลเซียที่พำนักอยู่ในกรุงเทพมหานคร”

มาเลเซียกับความสำเร็จและความก้าวหน้า

“เส้นทางการเป็นเอกราชของมาเลเซียในช่วงหกทศวรรษที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วจากการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงอันน่าทึ่ง ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากมาย จนขับเคลื่อนประเทศไปสู่ขนาดในปัจจุบัน”

“ความก้าวหน้าของมาเลเซียในด้านเศรษฐกิจ แต่เดิมจากเศรษฐกิจที่มีฐานเกษตรกรรมเป็นสำคัญ มาเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมอย่างโดดเด่นหลายอย่าง”

“นับตั้งแต่ได้รับเอกราช GDP ของมาเลเซียก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 109.77 พันล้านเหรียญสหรัฐระหว่างปี 1960-2022 การเติบโตนี้ถึงจุดสูงสุดในปี2022 โดยมีมูลค่า 406.31 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตรงกันข้ามกับ 1.90 พันล้านเหรียญสหรัฐที่บันทึกไว้ในปี 1961”

“ข้อพิสูจน์ที่สำคัญในความก้าวหน้าของมาเลเซียอยู่ที่ความพยายามจนประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับความยากจน อัตราความยากจนลดลงอย่างมากจากร้อยละ 52.4 ในปี 1970 เป็นร้อยละ 6.2 อย่างน่าชื่นชมในปี 2022 เรากำลังทำงานอย่างขยันขันแข็งเพื่อลดตัวเลขนี้ต่อไป โดยสอดคล้องกับตัวชี้วัด (Indicators) ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG)”

“การมุ่งมั่นอุทิศตนให้แก่การศึกษาของประเทศได้ให้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งเช่นกัน จากอัตราการรู้หนังสือของเราที่ 50% ในปี 1957 กลับเพิ่มขึ้นเป็น 95.71% อย่างน่าประทับใจในปี 2021 ความสำเร็จนี้เน้นย้ำถึงประสิทธิภาพของนโยบายที่ก้าวหน้าและความมุ่งมั่นที่ไม่เปลี่ยนแปลงของเราที่จะพุ่งชนเป้าหมายเพื่อความก้าวหน้า”

“ในปี 2007 เราเฉลิมฉลองความสำเร็จของการมีนักบินอวกาศคนแรกของเรา ชีก มูซาฟาร์ ชูกอร์ (Sheikh Muzaphar Shukor) โดยการขึ้นบินในภารกิจโซยุซ ทีเอ็มเอ-11/10 (Soyuz TMA-11/10) สู่สถานีอวกาศนานาชาติ ความสำเร็จดังกล่าวนี้รวมถึงด้านอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงการแสวงหาความก้าวหน้าและความเป็นเลิศอย่างไม่เปลี่ยนแปลงของมาเลเซีย”

เข้าร่วมการเดินทางของคณะทูต กลุ่มประเทศมุสลิม 10 ประเทศ ไปยังจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยระหว่างวันที่ 25 – 27 กรกฎาคม 2023

ความสัมพันธ์ทวิภาคีมาเลเซีย-ไทย

“ความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างมาเลเซียและไทยมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง ความสัมพันธ์ทางการทูตก่อตั้งขึ้นหลังจากมาเลเซียได้รับเอกราชเพียง 5 วัน เป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญ”

“ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างประเทศ เจริญรุ่งเรือง ครอบคลุมทั้งการปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและประชาชน ความสำเร็จครั้งล่าสุดในการเดินทางครั้งนี้คือการเยือนของนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม (Prime Minister Anwar Ibrahim) เมื่อวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนถึงเจตนารมณ์ร่วมกันในการขยายความร่วมมือในหลากหลายสาขา”

“การแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงยังคงดำเนินต่อไป ทำให้สามารถแบ่งปันประสบการณ์และความสำเร็จได้ แต่ถึงแม้จะประสบความสำเร็จดังที่ว่ามา ในขอบเขตของความร่วมมือที่หลากหลาย โดยยังคงมีศักยภาพที่จะเจริญเติบโตต่อไป”

“ก้าวต่อไป มาเลเซียและไทยพยายามที่จะกระชับความสัมพันธ์ โดยเน้นที่ความร่วมมือข้ามพรมแดนและความคิดริเริ่มด้านเศรษฐกิจชายแดน ความพยายามนี้มีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคี ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาร่วมกัน”

เข้าร่วมการเดินทางของคณะทูต กลุ่มประเทศมุสลิม 10 ประเทศ ไปยังจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยระหว่างวันที่ 25 – 27 กรกฎาคม 2023

ตําแหน่งคณบดีคณะทูต (Dean of the Diplomatic Corps)

คือเอกอัครราชทูตต่างประเทศที่มีระยะเวลาประจำการในประเทศใดประเทศหนึ่งนานที่สุดในบรรดาเอกอัครราชทูตคนอื่นๆ เอกอัครราชทูตต่างประเทศที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประจำประเทศไทยที่มีลำดับอาวุโสสูงสุดจะเข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะทูตด้วย ซึ่งลำดับอาวุโสพิจารณาจากลำดับวันและเวลาเข้ารับหน้าที่โดยเอกอัครราชทูตที่ถือว่าได้เข้ารับหน้าที่ของตนในรัฐผู้รับเมื่อได้ยื่นสาส์นตราตั้ง หรือเมื่อได้แจ้งการมาถึงของตนและเสนอสำเนาสาส์นตราตั้งของตนต่อกระทรวงการต่างประเทศของรัฐผู้รับ ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติทางการทูตจะได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะทูตานุทูตต่างประเทศในประเทศนั้นๆ เมื่อเอกอัครราชทูตต่างประเทศที่เข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะทูตครบวาระประจำการและเดินทางออกจากประเทศไทย เอกอัครราชทูตต่างประเทศที่มีลำดับอาวุโสถัดมาจะเข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะทูตต่อไป (สลค.สาร)

บทบาทคณบดีคณะทูต ของดาโต๊ะ โจจี แซมูเอล เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย

“ในฐานะคณบดีคณะทูต ผมมุ่งมั่นในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชุมชนทางการทูตทั้งหมด โดยให้การสนับสนุนรัฐบาลไทย และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักการทูตกับประเทศเจ้าภาพ” •

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin