ผู้กล้าตั้งคำถาม-กล้าปกป้องสิทธิ์ผู้อื่น-ไม่เคยวางตัวเหนือใคร ศ.นิธิ ในความทรงจำ ‘พวงทอง ภวัครพันธุ์’

“ก็รู้สึกใจหาย แม้ว่าเราจะพอรู้อยู่แล้วว่าอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ป่วยมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ได้ไถ่ถามคนใกล้ชิดเสมอ ก็ทราบว่าในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สุขภาพอาจารย์แย่ลง แต่พอถึงเวลาที่ได้รับรู้ข่าวการสูญเสียก็รู้สึกใจหาย แม้ว่าจะเตรียมทําใจมาสักพักหนึ่งแล้ว เพราะว่าบุคคลที่เราเคารพมากขนาดนี้ ไม่ได้มีหรือหาพบได้บ่อยๆ”

คือความรู้สึกของ ศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการที่ติดตามผลงาน ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาอย่างยาวนานต่อการสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงวิชาการ

นิธิ เ​อี​ยว​ศรี​วงศ์

รู้จัก-พบเจอ ศ.นิธิ ครั้งแรก

ศ.พวงทองเผยว่า ได้ยินชื่อ อ.นิธิตั้งแต่ตอนเข้าเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงปี 2525 เป็นช่วงเวลาที่ผลงานของ อ.นิธิทยอยออกมาเยอะมาก ในวงวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ก็จะมีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับงานของ อ.นิธิอย่างมาก ซึ่งได้ยินบรรดานักวิชาการพูดถึงงาน อ.นิธิบ่อยครั้ง

แล้วก็มีโอกาสรู้จัก อ.นิธิในแง่พบเจอจริงๆ ก็คือสมัยมีกลุ่มนักวิชาการตั้งกลุ่มขึ้นมาอย่างไม่เป็นทางการในนาม “กลุ่มจักรวาลวิทยา” ที่มีอาจารย์จากหลายสถาบัน จัดสัมมนากันทุกปี

อ.นิธิก็เป็นสมาชิกหนึ่งของกลุ่มนี้ด้วย จึงมีโอกาสแลกเปลี่ยนได้ฟังความเห็นของ อ.นิธิอยู่เสมอ

จากนั้นดิฉันเริ่มทํางานในฐานะเป็นอาจารย์ ช่วงปี 2548 หลังจากนั้นไม่นานเป็นช่วงเวลาที่เมืองไทยมีความขัดแย้งสูงมากเรื่องเสื้อเหลือง เสื้อแดง แล้วปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือปัญหาของการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ในการฟ้องร้องกล่าวโทษคนทั่วไปซึ่งปรากฏว่าคดีที่เกี่ยวข้องในมาตรานี้พุ่งขึ้นสูงมากนับร้อยคดี ทั้งที่ก่อนหน้านั้นต่ำกว่า 10 คดี ก็เป็นปัญหาที่มีการถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการ

จากนั้นคณะนิติราษฎร์ได้เกิดขึ้น และมีการพูดคุยเรื่องนี้ในมหาวิทยาลัย มีการจัดสัมมนา มีการเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไข ม.112 โดยใช้ร่างแก้ไขที่คณะนิติราษฎร์ร่างขึ้นมา อ.นิธิก็เข้าร่วมสนับสนุนในกิจกรรมเหล่านี้อยู่เสมอ

อ.นิธิไม่เคยปฏิเสธเลยเวลาที่ได้รับเชิญมาร่วม ไม่ว่าจะในฐานะผู้อภิปราย คนลงชื่อ รวมถึงติดต่อผู้ใหญ่ที่อาจารย์รู้จักมาร่วมลงชื่อแก้ไข ซึ่งในช่วงเวลานั้น การพูดถึงเรื่องกฎหมายนี้ มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนแล้วก็คนส่วนใหญ่กลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการที่จะพูดเรื่องนี้มีน้อยและยากมาก

แต่ อ.นิธิเป็นคนแรกๆ ที่กล้าที่จะพูดเรื่องนี้ในเวทีสาธารณะ ซึ่งก่อนหน้านี้เวลาพูดถึงเรื่องกฎหมายนี้มันจะถูกจํากัดอยู่แต่ในเว็บบอร์ด ที่มีเพียงคนไม่เปิดเผยตัว เพราะฉะนั้น จะหาคนที่จะยินดีมาคุยเรื่องนี้ในเวทีสัมมนาแบบเปิดยากมากๆ

แต่ อ.นิธิก็จะยินดีที่จะมาพูดเรื่องนี้ทุกครั้ง

ผลงานที่ประทับใจ

มีอยู่ 2 ชิ้น

ชิ้นแรกที่อ่านแล้วช่วยเราอย่างมากในการทําความเข้าใจกับวิธีการทางประวัติศาสตร์คือ ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา ซึ่งเป็นการวิพากษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทย ว่ามันมีปัญหาอย่างไร เป็นส่วนที่ทําให้ดิฉันหันมาสนใจศึกษางานด้านประวัติศาสตร์

งานอีกชิ้นหนึ่งซึ่งดิฉันใช้เยอะมากในช่วงที่ทําปริญญาเอกคือปากไก่และใบเรือ

โดยเฉพาะบทแรกที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการก่อตัวของชนชั้นการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม

เล่มนี้เป็นเล่มที่เปิดใช้บ่อยและอ่านหลายรอบ

ความโดดเด่น-แตกต่างจากนักวิชาการอื่น

ดิฉันคิดว่าสิ่งสําคัญคือ อ.นิธิกล้าตั้งคําถามกับความเชื่อเดิมๆ ในประวัติศาสตร์ กล้าตั้งคําถามกับสิ่งต่างๆ แล้ว อ.นิธิไม่ได้มาผลิตซ้ำ ความคิด ความเชื่อเดิมตามประวัติศาสตร์แบบที่สายสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ที่จะมุ่งส่งเสริมแนวความคิด ความมั่นคงของชาติ ผ่านสถาบันหลัก แต่งานของ อ.นิธิไม่ได้เสนอหลักฐานใหม่ แต่ อ.นิธิต้องการทําให้เห็นว่าจากหลักฐานเดียวกันที่ใช้ ผ่านการตั้งคําถามใหม่ เพื่อนําไปสู่คําตอบใหม่ ในมุมมองใหม่ๆ

ดังนั้น การที่จะมีคําถามใหม่ได้ คุณต้องกล้าที่จะตั้งคําถามที่ท้าทายกับความเชื่อเดิม อันนี้คิดว่าคือสิ่งสําคัญในงานของ อ.นิธิ

ดิฉันคิดว่างานของ อ.นิธิได้ไปจับกับหลายเรื่อง โดยทำมาตลอดชีวิต สําหรับคนทั่วไปที่อาจจะไม่ได้อ่านงานวิชาการเป็นเล่ม ดิฉันคิดว่า 30 ปีที่ผ่านมาอาจารย์ได้เขียนบทความทั้งในศิลปวัฒนธรรม มติชนสุดสัปดาห์ รวมถึงหนังสือพิมพ์ต่างๆ เป็นงานที่ส่งผลต่อการมองปัญหาสังคม ปัญหาทางวัฒนธรรม และทางอุดมการณ์อย่างมาก ถือเป็นปัญญาชนที่มีอิทธิพลทางความคิดผู้คนอย่างมาก

คนจํานวนมากอาจจะไม่รู้ตัวว่าได้รับอิทธิพลจาก อ.นิธิ ที่ทำให้ต่อการมองปัญหาต่างๆ ได้มากขึ้น

อ.นิธิมักจะจับเรื่องทั่วไปที่เราไม่เคยรู้สึกว่ามันเป็นปัญหาขึ้นมาแล้วทําให้คนเห็นว่าเรื่องนี้มันมีอะไรซ่อนอยู่ข้างใน

เช่น การใช้อํานาจทางวัฒนธรรม ที่มันกดคุณไว้ การใช้อํานาจทางอุดมการณ์ที่ทําให้คุณเชื่อโดยไม่ตั้งคําถาม เช่น เรื่องแบบเรียน เครื่องแบบ เรื่องธงชาติ เรื่องเพลงชาติ เรื่องอนุสาวรีย์ การไหว้ครู สิ่งที่คนทั่วไปรับอิทธิพลมาราวกับว่าเป็นเรื่องปกติในชีวิต ไม่มีปัญหา

แต่ อ.นิธิสามารถหยิบยกขึ้นมาให้คนเห็นว่ามันมีหลายอย่างซ่อนอยู่ในนั้น

ทำไมงาน อ.นิธิไม่เคย OUT

เพราะว่าสังคมไทยมันไม่เปลี่ยนสักที จะบอกว่า อ.นิธิเป็นคนมาก่อนกาลหลายทศวรรษ ในขณะเดียวกันสังคมไทยมันไม่เคลื่อนไปไหน

สิ่งที่ อ.นิธิเขียนมา 20-30 ปีแล้ว ทุกวันนี้เราก็ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ เรื่องเครื่องแบบ พิธีกรรมไหว้ครู การห้ามทํานั่นนี่ เพราะมันจะละเมิดวัฒนธรรมไทย

จนเราเห็นได้ว่า อุดมการณ์ศักดินา มันฝังรากลึกมาก จนยากที่จะขุดรากถอนโคน แล้วมันก็ครอบงําคนส่วนใหญ่ในสังคมนี้ไว้

แต่การที่ อ.นิธิเขียน และทําให้คนทั่วไปคิดได้ก็ถือว่าเป็นหมุดหมายสําคัญแล้ว หากจะไปทําอะไรต่อ เคลื่อนไหวทางสังคมหรือใดๆ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะซึ่งถ้าการทำงานทางความคิดเกิดไม่ได้ เราจะยิ่งไม่มีความหวังว่าคนจะไปต่อสู้อะไรได้ต่อ

 

ความรู้จักในมุมส่วนตัว

ยิ่งรู้จักก็ยิ่งประทับใจ ยิ่งมีความนับถือมากยิ่งขึ้น อ.นิธิเป็นคนที่สนิทด้วยยาก จริงๆ แล้วท่านเป็นคนที่อาจจะทั้งสันโดษแล้วก็มีความเป็นปัจเจกสูง อาจารย์จะไม่พูดเรื่องส่วนตัว ที่สำคัญคือการให้เกียรติคนอื่น แม้ว่าเราจะอายุน้อยกว่า เวลาที่พูดคุยกัน อาจารย์จะตั้งใจฟังความเห็น

บ่อยครั้งเลยอาจารย์ก็ยอมรับความเห็นของคนที่เด็กกว่า หรือพูดง่ายๆ คืออาจจะด้อยความรู้กว่าแกด้วยซ้ำ แต่ว่ามีมุมมองที่แตกต่างไป อาจารย์เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองมีอภิสิทธิ์เหนือเด็กหรือคนอื่นๆ

เพราะเวลาเราพูดถึง “ผู้ใหญ่” ในสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมที่มีลําดับชั้น เน้นเรื่องอาวุโสเป็นสําคัญ แล้วมักจะคิดไปเองว่าคนรอบข้างต้องปฏิบัติต่อตัวเองในลักษณะเคารพ ต้องมีสิทธิที่จะต้องได้นู่นได้นี่ก่อนคนอื่น ซึ่งอาจารย์ไม่ใช่คนแบบนั้นเลย อาจารย์ไม่รบกวนคนอื่นเลย เช่น ตอนป่วยอาจารย์ปฏิเสธที่จะใช้อภิสิทธิ์ใดๆ ในฐานะที่เป็นคนดังแล้วมีหมอมาเสนอยินดีที่จะช่วยให้อาจารย์ได้รับยารักษาใหม่ซึ่งมันมีราคาแพง เพราะอาจารย์มองว่าถ้าอาจารย์รับ ก็เท่ากับอาจารย์กําลังใช้ภาษีของประชาชน ใช้อภิสิทธิ์ไปแย่งชิงเอาทรัพยากรจนกระทบกับคนอื่นๆ

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หายากในสังคมไทย

 

ยืน หยุด ขัง
มุมมองการต่อสู้-เคลื่อนไหว ยืนชูป้าย

แกไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นอาจารย์อาวุโส เป็นศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังจะต้องวางตัวเหนือสามัญชน ความพยายามที่จะเรียกร้องสิทธิ์ให้กับคนถูกขัง ถ้าแกทําไหว แกก็พร้อมที่จะทําเสมอ

ดิฉันคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่นักวิชาการในบ้านเราเขาจะไม่ทํากัน เพราะด้วยวิธีคิดว่าถ้าตัวเองอยู่สูงแล้วจะไม่ลงมาทําเรื่องพวกนี้

แต่อาจารย์แกไม่ได้มองตัวเองแบบนั้น แกพร้อมที่จะช่วยเหลือเรื่องต่างๆ เท่าที่จะทําได้ ในการปกป้องสิทธิ์ของคนอื่น

ตอนไปยืน แกก็ไปยืนเหมือนเป็นประชาชนคนหนึ่งที่ไปร่วมในกิจกรรมที่คนอื่นจัด ไปยืนเงียบๆ ไม่ต้องมีคนไปห้อมล้อม ไปอย่างเรียบง่าย

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนสะท้อนผ่านมาในตัวตนทั้งการแต่งกาย การปฏิบัติตัวในที่สาธารณะ จะเห็นว่าแกใส่เสื้อโปโล กางเกงขายาว ไม่เคยเห็นแกใส่เสื้อเชิ้ตเลย

แล้วแกไม่ได้รู้สึกว่าต้องทําตามระเบียบทางสังคมที่มุ่งให้ความสําคัญเกี่ยวกับเรื่องการแต่งตัว ความเจ้ายศเจ้าอย่าง ไม่เคยเรียกร้องลาภยศสรรเสริญ

ตั้งแต่ตอนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็ไม่สนใจการไต่เต้ามีตําแหน่งหน้าที่ในแวดวงราชการ

รวมถึงเมื่อเกษียณก็ไม่ได้สนใจที่อยากจะมีตําแหน่งเป็นที่ปรึกษารัฐบาล ไม่สนใจตําแหน่งทางการเมือง จะไปเป็นตุลาการศาลอะไร จึงทำให้แกสามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในแบบที่แกเชื่อได้ ต่อให้กิจกรรมนั้นจะเป็นกิจกรรมที่ท้าทายอํานาจรัฐ

ชมคลิป