“ทักษิณ-ฮุนเซน” เพื่อนร้าย? เพื่อนรัก อดีตที่ปรึกษาส่วนตัว และก็อดบราเธอร์

(Photo by AFP)

ความสัมพันธ์ของนายทักษิณ ชินวิตร กับสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา นั้นได้ชื่อว่าเป็นเพื่อนรักกันมากอย่างยาวนาน

ฮุน เซน แต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ (ยศในขณะนั้น) อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวและที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจรัฐบาลกัมพูชา ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2552 (ตรงกับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนบางกลุ่มว่าไม่เหมาะสม

กระทั่งต่อมาในปี 2553 รัฐบาลกัมพูชาได้ระบุว่า ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณแล้ว หลังพ.ต.ท.ทักษิณ ได้ลาออกจากการเป็นที่ปรึกษารัฐบาลด้วยเหตุผลปัญหาส่วนตัว
อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูเส้นทางมิตรภาพของทั้งคู่ ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความราบรื่นแต่แรก ออกจะไปทาง “การแปรศัตรูเป็นมิตร” เสียด้วยซ้ำ
(Photo by TANG CHHIN SOTHY / AFP)

ฮุน เซน :
บนทางวิบากสู่ฐานะผู้นำ

สมเด็จฮุน เซน เคยผ่านเส้นทางชีวิตมายาวไกลจากลูกชาวนาจังหวัดกำปงจาม ต้องเร่ร่อนออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 13 ปี อาศัยกินอยู่ในวัด และเรียนหนังสือด้วยความยากลำบาก

ในปี 2513 เมื่ออายุ 18 ปีเข้าร่วมกองทัพปฏิวัติ (เขมรแดง) กับเจ้านโรดมสีหนุ (อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในขณะนั้น) แย่งชิงอำนาจจาก นายพลลอน นอล (Lon Nol) ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง อันเป็นการร่วมขบวนการปลดแอกจากมหาอำนาจ ทำให้เขมรแดงได้ครองประเทศในปี 2518-2521

ปี 2520 หนีการไล่ล่าของเขมรแดงไปอยู่เวียดนาม ในปี 2522 เมื่อทหารเวียดนามเข้ายืดครองกัมพูชา ฮุน เซน ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ปี 2525 ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีและในปี 2528 ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยวัยเพียง 33 ปี

ฮุนน เซน เป็นผู้กล้าที่มีประสบการณ์การสู้รบมาอย่างโชกโชน เป็นผู้ชาญฉลาดสามารถใช้กองกำลังเวียดนามเป็นเครื่องหนุนส่งให้ตนเองมีอำนาจปกครองกัมพูชาได้อย่างยาวนาน

ผ่านการต่อสู้ท้าทายกับกลุ่มชนชั้นศักดินาและกองกำลังทหารที่เคยแย่งชิงอำนาจหลายครั้ง เป็นผู้นำพรรคประชาชนกัมพูชา หรือ CPP ที่ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชามานานถึง 38 ปี และประกาศจะลงจากตำแหน่งนายกฯ พร้อมถ่ายโอนอำนาจให้ ฮุน มาเนต บุตรชายคนโต ในวัย 71 ปี

แต่ในอดีตนั้นเคยประกาศเป็นนายกฯ ไปจนถึงอายุ 90 ปี

 

ผูกขาดทางเศรษฐกิจ

ครอบครัว ฮุน เซน และผู้บริหารพรรคซีพีพีครองที่ดิน และทรัพยากรต่างๆ มากมาย เป็นนายหน้าค้าประโยชน์จากการท่องเที่ยว และการลงทุน จากนานาชาติที่หลั่งไหลสู่กัมพูชา รวมทั้งจากนักลงทุนชาวไทย

อำนาจการปกครองถูกแปลงสภาพนำมาใช้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจจากคนในชาติและคนต่างชาติ เช่น การซื้อขายตำแหน่ง การเลื่อนชั้นบรรดาศักดิ์ของผู้คน การแปลงสัญชาติให้กับชาวต่างชาติ และที่สำคัญ คือ การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์จากการผูกขาดสัมปทานกิจการต่างๆ ในกัมพูชา อันเป็นช่องทางสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองและพรรคพวกของผู้นำคนนี้

กลยุทธ์ทางการเมืองกึ่งเชิงการรบ ถูกนำมาใช้กับผู้ใดก็ตามที่คิดหมายท้าทายอำนาจของผู้นำ เป็นที่ร่ำลือกันว่า ขบวนการเผาสถานทูตไทย และทำลายสถานประกอบการทางธุรกิจของคนไทยในกรุงพนมเปญในปี 2546 คือตัวอย่างหนึ่งในเกมอันแยบยลสำหรับการสยบนักธุรกิจต่างชาติในกัมพูชาที่เคยคิดท้าทายอำนาจของ ฮุน เซน

และเป็นวีธีการตีเมืองขึ้นทางธุรกิจที่ได้ผลชะงัดจนทุกฝ่ายต้องศิโรราบให้กับผู้นำเลือดนักรบผู้นี้

ธุรกิจที่แยกไม่ออกจากการเมือง
“แปรศัตรูเป็นมิตร”

การเลือกตั้งกัมพูชา ปี 2536 (เป็นการเลือกตั้งที่สหประชาชาติเป็นผู้สนับสนุนตามกระบวนการสันติภาพ หลังจากกัมพูชาต้องเผชิญสงครามกลางเมืองมานาน จนกระทั่งกลุ่มเขมรแดงล่มสลาย) พรรคฟุนซินเปกนำโดยเจ้ารณฤทธิ์ “นโรดม รณฤทธิ์” ชนะเลือกตั้ง

แต่ฮุน เซน ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งนี้ ต่อมามีการเจรจาต่อรอง จนฮุน เซนยอมรับดำรงตำแหน่งนายกฯ ร่วมกับเจ้ารณฤทธิ์ ถือเป็นครั้งแรกในกัมพูชาที่มีนายกรัฐมนตรีถึงสองคน

จนกระทั่งภายหลังทั้ง 2 ขัดแย้งกัน จนเกิดรัฐประหารในปี 2540 เพื่อโค่นล้มเจ้ารณฤทธิ์ โดยฮุน เซนได้รวบอำนาจไว้แต่ผู้เดียว

อย่างไรก็ตาม เจ้ารณฤทธิ์พยายามกลับมามีอำนาจอีกหลายครั้ง ระหว่างที่ทั้งสองขับเขี้ยวกันอยู่

พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งมีธุรกิจหลายอย่างที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชา โดยเฉพาะกิจการด้านการสื่อสารที่มีมูลค่าสูง เป็นผู้ทรงอิทธิพลที่เคยถูกตั้งข้อสงสัยว่าเข้าไปมีส่วนในความพยายามโค่นล้มรัฐบาล ฮุน เซน ในช่วงปี 2540

จนกระทั่งถูกลบเหลี่ยมด้วยเหตุการณ์มวลชนเขมรบุกเผาบริษัทชินวัตร เทเลคอมมูนิเคชั่น สาขาพนมเปญ ในช่วงการจลาจลเผาสถานทูตไทยในปี 2546

หลังจากนั้นก็กลับสำหันมาใช้ยุทธวิธี “แปรศัตรูเป็นมิตร” สานสร้างสัมพันธไมตรีกับผู้นำอันเป็นการยอมรับความจริงว่า ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงพนมเปญผู้นี้ได้วางรากฐานการเมืองการรวบรวมกองกำลัง การรวมกลุ่มขั้วอำนาจ และการสร้างความนิยมจากประชาชนกัมพูชาไว้อย่างแน่นหนา มั่นคงจนยากที่ใครจะต่อกรได้กัมพูชาแทน

เมื่อความสัมพันธ์ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณกับฮุน เซน แน่นแฟ้นขึ้น มูลค่าการลงทุนของตระกูลชินวัตรในกัมพูชาก็เพิ่มพูนขึ้นอีกหลายเท่าตัว

 

ปี 2555 “พาทักษิณกลับบ้าน”
ประโยคที่กึกก้องในสังคมไทย

ช่วงปี 2555 เป็นครั้งหนึ่งที่นายทักษิณ ประกาศผ่านสื่อไทย-สื่อเทศ อย่างค่อนข้างหนักแน่นกว่าทุกครั้งว่า “พร้อมเดินทางกลับไทย” หลังต้องรอนแรมไปกินนอนตามประเทศต่างๆ ติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 4 ปี

หากย้อนกลับไป นายทักษิณ ต้องเร้นกายอยู่ต่างแดนนาน 1 ปีครึ่ง หลังโดนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก่อนได้กลับมา “จูบแผ่นดินเกิด” โดยความช่วยเหลือของรัฐบาล “สมัคร สุนทรเวช” ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551

ทว่าจากนั้น ต้องจากเมืองไทยไปอีกครั้ง เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2551 โดยขออนุญาตศาลว่าต้องเดินทางไปกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เพื่อร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2008 ตามคำเชิญของเจ้าภาพ

แต่หลังเสร็จกิจ “นายกฯ คนที่ 23” ก็หายไปพร้อมไฟคบเพลิง ไม่ได้เดินทางกลับประเทศไทย

เสียง “พาทักษิณ” กลับบ้าน ค่อยๆ แผ่วเบาลง และบอดสนิทเมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ปรับโหมดเป็นไล่ล่านำตัว “นักโทษชาย” มาลงโทษแทน

ทางการไทยขอตัว “ทักษิณ”
“ฮุน เซน” ไม่ให้

ปี 2552 ไทยได้ยื่นหนังสือขอตัวส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้กับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา แต่ทางการกัมพูชาทำหนังสือยืนยันการไม่ส่งตัวนายทักษิณ กลับไทย ด้วยเหตุผลเรื่องกระบวนการยุติธรรมของไทย

โดยมีการออกแถลงการณ์จากรัฐบาลกัมพูชา และมีย่อหน้าหนึ่งระบุว่า “ในกรณีของทักษิณ กัมพูชาเห็นว่ามีเหตุทางการเมืองอย่างชัดเจนในการโค่นทักษิณลงจากตำแหน่งด้วยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ในขณะที่อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ที่องค์การสหประชาชาติ คดีความมากมายที่ตามมาหลังจากนั้น รวมทั้งการตัดสินลงโทษต่อตัวท่านทั้งสิ้น ล้วนเป็นเรื่องการเมืองทั้งสิ้น”

จากนั้น นายอภิสิทธิ์ นายกฯ ในขณะนั้น กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า “เสียใจที่กัมพูชาไม่ปฏิบัติตามกฎสากล หลังจากนี้ จะทบทวนความร่วมมือต่างๆ เพิ่มเติม รวมทั้งมิติความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ ด้วย แต่ยืนยันว่าจะไม่ปิดพรมแดนไทย-กัมพูชา และจะไม่มีการให้ใช้กำลัง รวมทั้งจะเข้มงวดในการเข้าออกพรมแดน เพื่อเป็นการปรามไม่ให้คนไทยไปเล่นการพนัน หลังจากปล่อยปละมานาน”

“วันนี้พ.ต.ท.ทักษิณ น่าจะรู้ตัวดีว่าเป็นคนสร้างปัญหาให้สองประเทศ” นายอภิสิทธิ์กล่าว

กัมพูชาแดนกำเนิดวรรคทอง
“Let it be, ช่างแม่มัน”

กระทั่ง “อภิสิทธิ์” ตัดสินใจยุบสภาจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ 3 กรกฎาคม 2554 เสียงเรียกร้องให้พานายทักษิณกลับบ้าน ก็กลับมาอีกครั้ง

กลายเป็นกระแสที่ถูกจุดขึ้นมาปลุก “โหวตเตอร์” ทั้งบนเวทีปราศรัยทั้งของพรรคเพื่อไทย (พท.) และเวทีคู่ขนานของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กลายเป็น “จุดแข็ง” ส่วนหนึ่งที่ทำให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” พา พท. เข้าวิน-หิ้วผู้แทนฯ เข้าสภา 265 เสียง

ช่วงต้นปี 2555 นายทักษิณ บินมาอยู่ใกล้ประเทศไทยถี่ยิบ ข่าววงในระบุว่า 9-11 มีนาคม 2555 มาฮ่องกง นอนฝั่งเกาลูน พักผ่อน 2-3 วัน บินไปเยี่ยมเกลอเก่า “สมเด็จฮุน เซน” ที่กัมพูชา ตีกอล์ฟกันหนึ่งรอบ

จนสงกรานต์ปี 2555 ออกโปรแกรมทัวร์สงกรานต์นครเวียงจันทน์และเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก สปป.ลาว 3 วัน 2 คืน ก่อนบินต่อไปยังเมืองเสียมราฐ กัมพูชา

รายงานข่าวแจ้งว่า จำนวนคนเสื้อแดงที่มารวมตัวหน้าเวทีลานวัฒนธรรมเมืองเสียมราฐ “อังกอร์ จง ยู” เพื่อรอฟังการปราศรัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ล้นหลามเต็มหมดทั้ง 50,000 ที่นั่ง ทุกคนส่งเสียงไชโยโห่ร้องเมื่อเป็นเห็นอดีตนายกฯ ปรากฏตัวบนเวที” รายงานข่าวระบุ

ไฮไลต์หนึ่งของการปราศรัย คือ การร้องเพลง Let It Be ของวง The Beatles ร่วมกับแกนนำ

จุดเด่นของเพลง Let It Be ในเวอร์ชันนี้ คือ มีการแปลงเนื้อเพลงบางส่วนเป็นภาษาไทย โดยท่อนฮุคนั้นเปลี่ยนจากคำว่า “Let It Be” เป็นคำว่า “ช่างแม่มัน”

There will be an answer, ช่างแม่มัน (let it be)
ช่างแม่มัน ช่างแม่มัน ช่างแม่มัน ช่างแม่มัน

จะเป็นจะตายก็ช่างแม่มัน…ช่างแม่มัน

 

นายทักษิณ กล่าวว่า เพลงนี้ “เหมือนเพลงของคนเก็บกด ต้องอยู่เมืองนอกนาน ถ้าไม่รู้จักช่างแม่มันก็เครียดตาย”
นั่งประกบ “ฮุน มาเนต” บุตรชายคนโตของฮุน เซน นายกฯ คนต่อไปของกัมพูชา (Photo by AFP)

“ทักษิณ” ประกาศเลื่อนกลับไทย
แต่ร่วมวันเกิดบ้าน “ฮุนเซน” ชื่นมื่น

นายทักษิณ มีความอุ่นใจทุกครั้งในดินแดนกัมพูชา

เคยกล่าวว่า “ในอาเซียนมีพี่น้อง 3 คนที่รักกัน คือ สุลต่านบรูไน ตน และสมเด็จฮุนเซน เพราะตลอดเวลาที่ถูกรังแก ทั้ง 2 ประเทศเปรียบเสมือนบ้านอีกหลังของผมในยามยาก”

ล่าสุดในวันที่ 5 สิงหาคม 2566 ได้ร่วมเฟรมฉลองวันคล้ายวันเกิดครบ 71 ปี ของของฮุน เซน ที่เมืองตาเขมา จ.กันดาล ซึ่งเป็นบ้านเกิด

ฮุน เซน กล่าวกับผู้บริหารเฟรชนิวส์ว่า ทักษิณและยิ่งลักษณ์ ผู้เป็นน้องสาว ได้พักที่บ้านของเขาหนึ่งคืน พอเช้าวันถัดมาพวกเขาได้ทานอาหารเช้าร่วมกัน จากนั้นก็เดินทางออกจากกัมพูชา

พร้อมทั้งระบุด้วยว่า ตนและนายทักษิณ คือพี่ทูนหัว (god brother) ซึ่งมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมานาน ตั้งแต่ปี 2535 ก่อนนายทักษิณจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย

ขณะที่ในวันเดียวกัน เวลา 8.55น. ตามเวลาประเทศทไทย นายทักษิณ ทวีตข้อความระบุว่า “ผมขอเลื่อนวันเดินทางกลับไทยจากวันที่ 10 ไปอีกไม่เกินสองสัปดาห์วันเวลาจะแจ้งอีกครั้ง หมอเรียกให้ไปตรวจร่างกายก่อนครับ”

(Photo by AFP)