อุดมการณ์ — สามัญชน — อมตะ ที่ตัดปะแต่งปกโดย “นักรบ มูลมานัส”

อุดมการณ์ — สามัญชน — อมตะ

ที่ตัดปะแต่งปกโดย “นักรบ มูลมานัส”

 

“อุดมการณ์ สามัญชน อมตะ”

คือสามคำจาก “นักรบ มูลมานัส” มอบให้กับตัวอักษรที่เรียงร้อยขึ้นเป็นเรื่องราวจากปลายปากกาของเสนีย์ เสาวพงศ์ทั้ง 3 เล่มนั่นคือ คนดีศรีอยุธยา-ปีศาจ-ความรักของวัลยา ซึ่งเขาได้เป็นผู้ออกแบบปกในเวอร์ชั่นล่าสุด เขาได้กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้เป็นผู้ออกแบบปกทั้ง 3 เล่มว่า

“งานของคุณเสนีย์ก็เป็นงานตัวอย่างเสมอมาที่นำเสนอยุคสมัยยุคหนึ่งๆ ของวรรณกรรมไทยได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นเราก็ทั้งดีใจที่ได้มาทำซีรีส์ของคุณเสนีย์นี้ แต่มันก็มาด้วยความกดดัน ความยากบางประการที่จะออกแบบออกมาให้ได้สวยและมีคุณค่าเพียงพอที่จะเป็นหีบห่อของงานเขียนอันทรงคุณค่า”

นักรบพาเราเดินทางไปพูดคุยถึงเรื่องราวของแต่ละปกซึ่งตัดปะความหมายลงไปแฝงฝังเอาไว้อย่างน่าสนใจ ไปดูกันว่าแต่ละปกที่ออกแบบด้วยศิลปะแห่งการตัดปะในสไตล์แบบนักรบ จะชวนสนทนาถึงมุมมองต่างๆ อย่างไรบ้าง

1

อุดมการณ์

…ในชีวิตของดิฉันนี้มีความปรารถนาอยู่ประการเดียวก็คือการได้ถูกเรียกชื่อว่าเป็นศิลปินของประชาชน…

ประโยคนี้คงจะบอกความเป็น “วัลยา” ได้ชัดเจนว่าเธอคือนักศึกษาสาวผู้รักในศิลปะและอุดมการณ์เพื่อมวลชนมากเพียงใด

ความรักของวัลยา คืออีกหนึ่งอมตะนิยายโดยเสนีย์ เสาวพงศ์ที่ฉายภาพ “ความรัก” ซึ่งเกิดขึ้นในห้วงเวลาแห่งความหวัง ความฝัน ความเจ็บช้ำ และการฉายโฉนของอุดมการณ์ในการเดินทางครั้งสำคัญของวัลยาสู่ใจกลางเมืองปารีสซึ่งเป็นการเดินทางที่พาเธอไปพบเจอบรรดาหนุ่มสาวต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างวัย ต่างอาชีพ ต่างสถานะ ต่างทรรศนะ ในมหานครอันเป็นศูนย์กลางจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติและความเท่าเทียม

นักรบ มูลมานัสเดินทางไปยังปารีสเช่นกันกับวัลยา ครั้งนั้นเขาได้รับทุนของรัฐบาลฝรั่งเศสไปทำงานศิลปะที่ปารีสซึ่งเป็นเวลาเดียวกันอย่างพอดิบพอดีที่ได้ออกแบบปกความรักของวัลยาเวอร์ชันล่าสุด ซึ่งเขาบอกว่าการได้หยิบเล่มนี้ขึ้นมา “อ่านอีกครั้ง” เพื่อทำงานนี้ในช่วงยามนั้นทำให้ “รู้สึกว่าได้ซึมซับอะไรได้มากขึ้น”

นักรบพูดถึงภาพของปารีสและฝรั่งเศสที่ปรากฏขึ้นมาในความคิดเมื่อจะออกแบบหนังสือเล่มนี้และสีแดงอันเข้มข้นร้อนแรงซึ่งเป็นสีหลักของเล่มว่า

“เรื่องนี้พูดถึงปารีส การเมือง มีการหลั่งเลือดเนื้อเพื่อเสรีภาพและการปลดแอก ปกสีแดงก็ให้อารมณ์ความเข้มข้นของอุดมการณ์”

เมื่อถามถึงความเป็นคอลลาจซึ่งเป็นศิลปะแห่งการตัดปะกับเนื้อหาภายในเล่มว่าเชื่อมโยงถึงกันอย่างไร นักรบก็ได้ให้คำตอบอย่างน่าสนใจว่า

“ถ้าจะพูดความเป็นคอลลาจที่เชื่อมโยงกับเนื้อหาเล่มนี้ก็คือการที่วัลยาที่เป็นนักเรียนนอก เขาแบกความเป็นผู้หญิงไทยแล้วเขาก็ไปอยู่ในเมืองที่มีอุดมการณ์คุกรุ่น มันก็จะมีการยึดโยงบ้านเมืองอื่นกับบ้านเมืองของเรา ชวนให้ตั้งคำถามว่าตัวตน ตำแหน่งแห่งที่ของวัลยาอยู่ตรงไหน ก็อาจมองได้ว่ามันเป็นการตัดปะองค์ประกอบหนึ่งลงในภาพที่ใหญ่”

หน้าปกสีแดงคอลลาจที่ตัดปะหญิงไทยผู้เปี่ยมอุดมการณ์ลงในภาพใหญ่จึงเป็นการชวนให้เข้าไปถึงเรื่องราวได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

2

สามัญชน

ในวาระครบรอบ 105 ปี “เสนีย์ เสาวพงศ์” นวนิยาย คนดีศรีอยุธยา ได้หวนกลับมาตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 8 เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่จะพาย้อนไปอ่านเรื่องเล่าที่ไม่เคยมีการกล่าวถึงที่ไหน ฉายเรื่องเล่าของคนธรรมดาสามัญผู้หยัดยืนด้วยหัวใจมิพ่ายในสายธารประวัติศาสตร์อันแล้งร้างว่างเปล่าที่มิอาจจารึกชื่อนามของพวกเขา-พวกเธอไว้

นักรบได้กล่าวถึงภาพแรกที่ผลุบโผล่ขึ้นมาในความนึกคิดเมื่อได้อ่านและแรกเริ่มที่ได้รับโจทย์ในการทำปกหนังสือเล่มนี้ว่า

“สิ่งที่มากับชื่อโดยที่ยังไม่อ่านหนังสือเลยคือภาพฉากกรุงศรีอยุธยาราชธานีเก่า บ้านเมืองระส่ำระส่ายตอนยุคปลายกรุงศรีอยุธยา เสนีย์พยายามพูดถึงวีรกรรมของสามัญชน เราก็เลยเห็นภาพของคนเหล่านี้ในซากปรักหักพักของกรุงศรีอยุธยา”

เขายังกล่าวอีกว่าตัวเล่มคุมโทนสีเขียวเป็นสีหลักเป็นการพยายามฉายบรรยากาศของเรื่องซึ่งตัวละครเดินทางบุกป่าฝ่าดงในป่าใหญ่ โดยแก่นแก่นสำคัญที่เก็บมาไว้ในปกด้วยนั้นคือการที่มีต้นหญ้าเล็กๆ ที่โผล่ขึ้นมาท่ามกลางป่าใหญ่นั้น ซึ่งเปรียบได้กับ สามัญชนที่ไม่ได้ถูกจดจำในประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่พวกเขานั้นยืนหยัดอยู่ทั่วกรุงศรีอยุธยา

ในฐานะนักอ่าน นักรบยังชื่นชอบการกล่าวถึงตัวละครหญิงในวรรณกรรมเรื่องนี้ที่เสนีย์ได้ก่อร่างตัวละครหญิงอย่างมีชีวิตจิตใจ มีมิติของความเป็นมนุษย์ที่น่าสนใจ ตลอดจนมีบทบาทไม่ต่างและไม่น้อยไปจากตัวละครชาย

“ในเรื่องมีพูดถึงตัวละครหญิงที่มีบทบาททัดเทียมกับชาย ในปกจึงมีตัวละหญิงและชายยืนอยู่อย่างทัดเทียมกัน”

ทั้งนี้นักรบยังได้เชื่อมโยงมุมมองว่าด้วยศิลปะแบบคอลลาจซึ่งเป็นศิลปะแห่งการตัดปะกับกลวิธีทางภาษาที่เสนีย์ เสาวพงศ์ใช้ในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้อย่างน่าสนใจว่า

“ในแง่เนื้อหาเราจะเห็นงานตัดปะของคุณเสนีย์ที่พยายามเอาวรรณกรรมอยุธยา วรรณคดีที่เก่าแก่มาแปะก่อนเข้ากับแต่ละบท ทำให้ได้อรรถรสของการอ่าน ทำให้เห็นทั้งความเป็นกวี ความเป็นภาพศิลปะในที และการหยิบสิ่งที่เก่าแก่มาใช้อีกครั้งในบริบทที่ต่างกันเหมือนกับการตัดปะในงานแบบคอลลาจ”

3

อมตะ

…ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก…โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน…

ถ้อยแถลงอมตะ ในนวนิยาย ปีศาจ ที่ไม่ว่าจะหวนกลับมาพูดคุยกับยุคสมัยใดก็ยังคงกึกก้อง สากลในมโนสำนึกของผู้คน ทั้งยังทำงานหลอกหลอนผู้ยึดครองอำนาจอันไม่ชอบธรรมในสังคมอยู่เสมอ

“ภาพที่เราคิดไว้คือคำว่า ‘ปีศาจ’ มันแข็งแรงและสะกิดใจ เห็นเป็นภาพได้ง่าย โจทย์ของเราก็คือว่าจะทำภาพปีศาจออกมาแบบไหน” นักรบกล่าวพร้อมเล่าต่อถึงคอนเสปต์ของงานคอลลาจที่ยึดโยงกับความหมายในเนื้อหาของนวนิยายว่า

“ปีศาจมีสายสีมาที่ไป pop-up อยู่ในดงศักดิมา อาจจะดูไม่เข้ากับบริบทตรงนั้นในการที่เขามองตัวเองหรือศักดินามองเขา ในแง่หนึ่งคอลลาจมันก็เป็นการตัดปะอะไรที่สวยงามดูเข้ากันมาอยู่ด้วยกัน แต่มันก็มีอะไรที่ไม่เข้ากันด้วย เรามองว่าปีศาจเชื่อมโยงกับตรงนั้น…ปกปีศาจก็เลยฉายความมลังเมลืองของห้อง มีความหรูหราของชนชั้นศักดินา ในขณะเดียวกันถ้ามองไปที่ประตูจะเห็นปีศาจหรืออะไรก็ไม่รู้ที่อยู่ตรงนั้น”

เรื่องราวบนปกยังคงทำงานร่วมกับเนื้อหาในนวนิยายทั้งสามเล่มที่อยู่ในมือของผู้อ่าน และแม้ทั้งสามเล่มจะแตกต่างกันในทางเนื้อหา ทว่าแก่นแกนของ “อุดมการณ์” ที่หยัดยืนอยู่อย่าง “สามัญชน” จะยังคงปะติดอยู่ในเนื้อหาของงานเสนีย์ เสาวพงศ์อยู่เสมอเป็น “อมตะ” เหนือกาลเวลา ดังที่นักรบกล่าวว่า

“ปีศาจและความรักของวัลยามีอุดมการณ์บางอย่างที่ซ้อนทับกัน ส่วนคนดีศรีอยุธยาอุดมการณ์บางอย่างก็มีส่วนที่ดำรงอยู่และส่วนที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ว่าทั้งหมดทั้งมวลเราจะเห็นทุกงานเขียนของคุณเสนีย์ที่เขาพูดถึงเรื่องสามัญชน พูดถึงเรื่องความยิ่งใหญ่ของคนธรรมดา” •

 

รายงานพิเศษ | ศิรินญา สุวรรณโค